วราลี : ฟาร์มเอ๋ย...ฟาร์มรัก ไร่ล้อมรักของ

วราลี

จุดเริ่มต้นบนถนนวรรณกรรมของหนุ่มคนนี้คือหลงใหลในการอ่านหนังสือแนวรักและตลกเป็นชีวิตจิตใจ และเมื่อประสบการณ์การอ่านของ ‘จักรกฤษณ์ เหล่าเกียรติโสภณ’ ทวีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นเหตุให้เขาเริ่มคิดและลงมือที่จะเขียนผลงานอย่างจริงจังขึ้นมาบ้าง เพื่อพิสูจน์ข้อสันนิษฐานของตัวเองที่ว่า “อ่านมาเยอะ ก็น่าจะเขียนออกมาได้เหมือนกัน”

‘ฟาร์มเอ๋ย...ฟาร์มรัก’ ในนามปากกา ‘วราลี’ จึงถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางสายตาผู้อ่านหลายต่อหลายท่าน รวมถึงนิยายเรื่องนี้ยังได้ถูกสร้างเป็นละครอีกด้วย ความเอ๋ยความรักที่หลายคนบอกว่า ยากแก่การทำความเข้าใจ กำลังจะถูกย่อยให้เข้าใจง่ายผ่านปลายปากกาของนักเขียนชายหน้าใหม่คนนี้ เราอดไม่ได้จริงๆ ที่จะขอแลกเปลี่ยนทัศนคติเรื่องความรักกับ ‘วราลี’ ผ่านผลงานเขียนเล่มแรกที่เขาแสนจะภาคภูมิใจ

all : เป็นนักเขียนผู้ชาย แต่ทำไมถึงใช้นามปากกาว่า ‘วราลี’ ซึ่งดูเหมือนผู้หญิงมาก แล้ววราลีมีความหมายว่าอย่างไร
วราลี : ผมเป็นคนชอบพระจันทร์ เวลามองพระจันทร์ในบางทีมันรู้สึกได้ถึงอารมณ์ที่หลากหลายเอามากๆ แถมพระจันทร์ยังเป็นดาวที่อยู่ใกล้โลกและเปลี่ยนแปลงตัวเองในทุกๆ วันด้วย จากเสี้ยวไปจนถึงเต็มดวง แล้วกลับมาเป็นเสี้ยวอีกทีก็มี ทำให้ตัวเองลองมองดูว่า พระจันทร์มีความหมายอะไรบ้าง อย่างตอนที่ส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการนิว สตาร์ เดอะไรท์เตอร์ ผมใช้นามปากกาว่า ‘ปิ่นพระจันทร์’ ซึ่งก็เป็นพระจันทร์เหมือนกัน แต่ทีนี้ทางบรรณาธิการบอกมาว่า นามปากกา ‘ปิ่นพระจันทร์’ จะไปคล้ายกับคนอื่นนะ ขอเป็นชื่ออื่นได้ไหม ผมเลยยังคงความคิดเดิมที่ว่า จะไม่เปลี่ยนไปจากพระจันทร์แน่นอน เพราะ ‘พระจันทร์’ ในความคิดของผมน่าจะยังมีอยู่อีกหลายคำมากที่สื่อหรือเกี่ยวข้องกัน เลยไปลองค้นหาดูก็พบกับคำว่า ‘วราลี’ ที่แปลความหมายได้ว่า ‘พระจันทร์’ เหมือนกัน เลยใช้ชื่อนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และคำว่า ‘วราลี’ จะมองเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ได้ เพราะคำว่า ‘วราลี’ เองก็มีความเป็นกลางระหว่างเพศชายและหญิงอยู่ในชื่อๆ นั้น

all : พระจันทร์สื่อถึงตัวตนของนักเขียนอย่างไร หรือเป็นเพียงความชอบส่วนตัวเพียงอย่างเดียว
วราลี : จริงๆ แล้วมาจากความชอบส่วนตัวของผมเป็นหลักมากกว่า แต่ถ้าถามว่าเป็นตัวแทนหรือสื่อถึงผมอย่างไร ก็อาจจะเป็นในเรื่องของอารมณ์การเขียนที่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือรับมือได้กับการเขียนทุกแนว เหมือนอย่างที่พระจันทร์เปลี่ยนแปลงตัวเองได้ในทุกๆ วัน

all : เห็นแต่ผู้หญิงเขียนหนังสือ แต่นี่กลับเป็นผู้ชาย คิดว่าไม่เป็นภาพลักษณ์ที่ดูแปลกไปหน่อยหรือสำหรับตัวเอง
วราลี : เมื่อก่อนตอนที่เริ่มเขียนแรกๆ แอบมีคิดบ้างอยู่เหมือนกันครับ แต่พอได้มาอ่านนิยายมากขึ้น และคิดที่จะลงมือเขียนอย่างจริงจังถึงได้รู้ว่า นักเขียนชื่อดังที่เป็นผู้ชายก็มีอยู่เยอะเหมือนกัน แต่อาจจะมีน้อยกว่านักเขียนที่เป็นผู้หญิงอยู่นิดหนึ่ง เลยทำให้คิดว่าผู้ชายก็สามาถทำงานในสายอาชีพนี้ได้ และเรื่องของภาพลักษณ์ก็ไม่น่าจะใช่จุดสำคัญหรือเป็นจุดที่มีผลกระทบต่อการทำงานเขียนของเรา

all : จากประวัติทราบมาว่าเป็นพนักงานบริษัท แล้วอาชีพนักเขียนเกิดขึ้นมาในความคิดได้อย่างไร
วราลี : จริงๆ ต้องบอกก่อนว่า ตัวเองเป็นคนชอบอ่านหนังสือเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และทีนี้พออ่านมากๆ เข้า จึงเริ่มเกิดความรู้สึกที่ว่า เราเองก็น่าจะเขียนออกมาได้เหมือนกัน การอ่านเลยแปรมาเป็นการเขียนที่จริงจังมากขึ้น รวมไปถึงมีความอยากและกระตือรือร้นที่จะเขียนมากขึ้น ก็เลยลองเขียนดู และประจวบเหมาะกับทางพิมพ์คำสำนักพิมพืมีโครงการดีๆ อย่างนิว สตาร์ เดอะไรท์เตอร์เกิดขึ้น เลยมีโอกาสได้ลองส่งผลงานเข้าประกวดดู และได้เข้ารอบเพื่อไปอบรมต่อในที่สุด นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมได้เข้ามาทำงานในวงการวรรณกรรมแบบเต็มตัว

all : วราลีเคยปรามาสกับตัวเองไว้ว่า ‘จะเขียนได้เหรอ’ ก่อนที่จะลงมือเขียน ทำไมถึงมีคำถามแบบนั้นเกิดขึ้น เกิดความรู้สึกไม่มั่นใจหรืออย่างไร
วราลี : การเป็นนักอ่านกับการเป็นนักเขียน ผมว่ามันมีความแตกต่างกันเยอะมากครับ เพราะว่านักอ่านเป็นคนรับรู้เรื่องราวต่อจากคนต้นเรื่อง นั่นก็คือนักเขียน แต่คนที่เริ่มเรื่องอย่างแท้จริงคือ ตัวของนักเขียนเอง ความยากมันยากกว่ากันอยู่แล้ว ในเรื่องของกระบวนการทำงานว่าจะเริ่มเรื่องอย่างไร จะเดินเรื่องจากจุดนั้นไปยังจุดนี้ได้อย่างไร จุดสูงสุดหรือไคลแม็กซ์จะสร้างความประหลาดใจให้กับคนอ่านได้มากน้อยแค่ไหน ตอนท้ายเรื่องจะจบไปในทิศทางใด จะซาบซึ้งตรึงใจผู้อ่านหรือไม่ และท้ายสุดแล้วมีสารอะไรส่งไปถึงผู้อ่านบ้าง นั่นคือสิ่งที่นักเขียนต้องคิดและเขียนมันออกมา

all : การเขียนหนังสือให้ได้สักเล่ม ถือเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญสำหรับวราลี แล้วความยากในการเขียนที่วราลีสัมผัสได้คืออะไร
วราลี : มันยากตรงที่ว่า จะร้อยเรียงเรื่องจากบรรทัดหนึ่งไปสู่อีกบรรทัดหนึ่งอย่างไรให้มีความกลมกลืนกัน ตรงนี้แหละครับยากมาก เพราะเรื่องราวต่างๆ ถือเป็นสิ่งที่อยู่ในอากาศ เราหยิบคว้าเอามาผสมกัน แล้วมันลงตัวหรือไม่ มีเหตุผลสอดรับกันหรือเปล่า นั่นคือสิ่งที่เราต้องคิด ซึ่งในบางทีอาจจะต้องมีการปรับแก้หรือเพิ่มเติมบ้าง เช่น มีการเกลาภาษาให้สละสลวยมากขึ้น หรือทำให้เนื้อเรื่องกระชับ ไม่ยืดเยื้อไปกว่าเดิม เป็นต้น ก็เลยขอใช้คำว่า ‘ยากเย็นแสนเข็ญ’ มากครับกว่าที่หนังสือจะออกมาเป็นเล่มโดยสมบูรณ์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

all : ‘ฟาร์มเอ๋ย...ฟาร์มรัก’ ถือเป็นงานยากของคุณหรือไม่
วราลี : ยากและมีความกังวลอยู่บ้างครับ เพราะถือเป็นงานเขียนเล่มแรกของผม และผมเองก็คิดว่าน่าจะเป็นธรรมชาติของนักเขียนทุกคนที่จะมีความกดดันหรือกังวลอยู่บ้าง ว่าผลงานจะออกมาเป็นอย่างไร ผู้อ่านจะชอบหรือยอมรับงานเขียนของเราหรือเปล่า จะวิจารณ์กลับมาที่เราอย่างไร มีเรื่องให้คิดมากมาย แต่สุดท้ายแล้ว ผมก็คิดได้ว่า อย่างไรสิ่งที่เราคิดและเขียนขึ้นก็ถือเป็นผลงานชิ้นหนึ่งที่ตัวเองภาคภูมิใจ ก็เลยทำให้ตัดความกังวลเหล่านั้นออกไปได้

all : แรงบันดาลใจในการสร้าง ‘ฟาร์มเอ๋ย...ฟาร์มรัก’ มีที่มาจากอะไร
วราลี : แรงบันดาลใจมาจากเรื่องของธรรมชาติครับ จุดเริ่มเรื่องมาจากตอนที่ผมอ่านหนังสือเยอะๆ เคยคิดกับตัวเองไว้ว่าถ้าเราได้เขียนขึ้นมาจริงๆ อยากลองเขียนแนวอะไรออกมา เพราะเวลาคนอ่านหนังสือเยอะๆ จะเริ่มมีความรู้สึกอยากเขียนขึ้นมาบ้าง รวมไปถึงค้นหาเรื่องหรือแนวที่ตัวเองอยากถ่ายทอดออกมา เลยคิดถึงเรื่องของธรรมชาติเป็นลำดับแรก เพราะข่าวการทำลายธรรมชาติของมนุษย์มีมากขึ้น และเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากๆ ด้วย ทำให้ลองหยิบจับเรื่องราวดังกล่าวขึ้นมาเขียนดู และเป็นประเด็นตั้งต้นในผลงานเล่มแรกของตัวเอง โดยสร้างประเด็นคำถามขึ้นมาว่า ถ้ามีนักธุรกิจอยากจะเข้าไปซื้อพื้นที่ผืนหนึ่งซึ่งใหญ่มาก มีความเป็นธรรมชาติสูง เขาจะทำอย่างไร แล้วถ้าเขาได้พื้นที่ตรงนั้นมาแล้ว เขาจะจัดการพื้นที่ตรงนั้นอย่างไร เปลี่ยนเป็นสิ่งที่คนทุกวันนี้เรียกว่าศิวิไลซ์หรือไม่ อาจจะต้องตัดไม้หรือถมแม่น้ำที่สวยงามไป เขาจะยอมทำหรือเปล่า ซึ่งเป็นคำถามที่น่าสนใจ และลองเขียนดูว่าทิศทางของเรื่องจะออกมาในรูปแบบไหน

all : แสดงว่าการตั้งคำถามมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับจินตนาการในการเขียน อย่างเช่น คำว่า ถ้า... ที่คุณพูดถึงอยู่บ่อยๆ
วราลี : ใช่ครับ จริงๆ แล้วมันถือเป็นการเริ่มต้นที่ผมคิดว่าใช้ได้ดีมากๆ สำหรับนักลองเขียนทุกท่าน คือให้ลองตั้งหรือมีคำถามกับตัวเองก่อน แล้วลองหาคำตอบดู อย่างเช่น เรื่องต่อไปที่ผมกำลังเขียนเกี่ยวข้องกับเรื่องของการศัลยกรรม ก็จะเริ่มต้นจากคำถามที่ว่า ถ้าคนคนหนึ่งตื่นขึ้นมาในวันหนึ่ง แล้วพบว่าตัวเองสวยมาก อาจจะด้วยการศัลยกรรม หรือว่าพรจากพระเจ้า อะไรก็แล้วแต่ เขาจะทำอย่างไรกับชีวิตของเขาหลังจากนั้น

all : ชื่อเรื่องก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องราวของความรัก แล้ว ‘ฟาร์มเอ๋ย...ฟาร์มรัก’ ต้องการเน้นหนักความรักไปในรูปแบบไหน ระหว่างรักธรรมชาติหรือรักแบบโรแมนติค
วราลี : ถ้าไม่ได้มองแบบตีความ ผมคิดว่ารักโรแมนติคหรือรักระหว่างหนุ่มสาวแบบพระเอกกับนางเอก น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้อ่านเข้าถึงได้ก่อน ส่วนสารที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ หรือสิ่งที่ตัวเองอยากแทรกเข้าไป อาจจะไม่ได้บอกกันโต้งๆ หรือตรงๆ เลยซะทีเดียว แต่มันจะกลืนเป็นเนื้อเดียวกันภายในเรื่อง เพราะมนุษย์และธรรมชาติต่างก็ต้องอยู่ร่วมกันและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งถ้าไม่มีธรรมชาติ ก็จะไม่มีมนุษย์เกิดขึ้น และถ้าไม่มีมนุษย์ก็จะไม่มีอารมณ์ที่เรียกว่า ‘ความรัก’ เกิดขึ้น ดังนั้นแล้วสารที่ต้องการสื่อ ไม่ได้ต้องการเทน้ำหนักของความรักไปที่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง แต่มันเป็นความรักที่ผสมผสานและเข้ากันได้อย่างลงตัวระหว่างคนและธรรมชาติครับ

all : ในมุมมองของนักเขียน คิดหรือเชื่อว่ารักมีอยู่รอบตัวใช่หรือไม่ เห็นได้จากคำกล่าวของนักเขียนที่ว่า “ฟาร์มไม่ได้มีแค่วัวหรือต้นไม้ แต่อาจมี ‘ความรัก’ ซ่อนอยู่ต้ใบหญ้าก็เป็นได้”
วราลี : ใช่ครับ มีอยู่ทุกที่ในโลก อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะหาเจอหรือเปล่า ไม่ว่าจะสถานที่ไหนก็ตาม ในบ้าน ในโรงเรียน ในวัด หรือแม้กระทั่งในฟาร์มที่ผมเขียนขึ้นก็ตาม ทุกที่มันมีความรักอยู่ ผมว่าที่โลกของเราวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ อาจเป็นเพราะว่า คนในสังคมหาความรักกันไม่เจอ ซึ่งแท้จริงแล้ว ความรักเหล่านั้นมันมีอยู่รอบตัวหรือใกล้ตัวเราแค่นิดเดียวเอง

all : การเป็นพนักงานบริษัทและนักเขียนไปพร้อมๆ กัน ทำให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้นหรือไม่ อย่างไร
วราลี : ดีมากเลยครับ ผมว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติมากๆ เลย เพราะว่าเราสามารถสร้างผลงานที่ตอบคำถามอะไรให้กับสังคมและโลกใบนี้ได้ แถมยังเป็นเรื่องที่ดีงามด้วย ผมถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับผมนะครับ เพราะผู้อ่านจะได้รับสิ่งที่ดีไปจากสิ่งที่ผมเขียน แม้จะเล็กน้อยหรือมากมายมหาศาลแค่ไหนก็ตาม ผมถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เขียนมันออกมาและตอบข้อสงสัยของเหล่าผู้อ่านได้

all : ตกลงแล้ว งานเขียนถือเป็นงานที่ทำจริงจัง หรือเป็นเพียงงานอดิเรกเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง
วราลี : มันอยู่ก้ำกึ่งกันมากจริงๆ ครับ ระหว่างงานอดิเรกกับเป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จ เพราะถ้าเกิดมองว่าเป็นงานอดิเรกไปเลย เขียนไปเรื่อยๆ อาจจะไม่จบเรื่องก็ได้ เพราะฉะนั้นเวลาเขียนต้องมีเป้าหมายด้วยว่า จะให้งานเขียนของตัวเองสำเร็จหรือจบลงเมื่อไหร่ ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นการเขียนไปเรื่อยๆ มิหนำซ้ำอาจจะหาทางออกของเรื่องไม่เจอก็ได้

all : เรียกว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ ในอาชีพนักเขียนได้หรือไม่ เมื่อนิยายเล่มแรกของตัวเองถูกสร้างเป็นละคร
วราลี : ยังไม่ประสบความสำเร็จเลยครับ (หัวเราะ) และผมว่าเร็วไปนะ ถ้าเกิดจะวัดว่า ผลงานเล่มแรกออกมา ได้เป็นละครแล้ว คุณประสบความสำเร็จเลย ซึ่งถ้าเกิดคิดอย่างนั้น ผลงานเล่มต่อไปก็คงไม่มีออกมาแล้ว เพราะว่าประสบความสำเร็จแล้ว ไม่ต้องเขียนอะไรอีกแล้ว แต่ผมว่า ความสำเร็จจริงๆ น่าจะอยู่ที่ผู้อ่านได้รับสิ่งดีๆ จากหนังสือที่เราเขียนมากกว่า

all : จุดสูงสุดในการเป็นนักเขียนของวราลีอยู่ที่จุดใด
วราลี : จุดสูงสุดในการเป็นนักเขียนของผม คือยังสามารถเขียนงานไปได้เรื่อยๆ แก่แค่ไหนก็ยังสามารถเขียนงานได้อยู่ ไม่ตีบ ไม่ตันไปซะก่อน (หัวเราะ) และผู้อ่านก็ยังคอยให้การต้อนรับผมอยู่เสมอ ทำให้คิดว่า ถ้าเกิดได้ถึงขนาดนี้ ก็ถือเป็นจุดสูงสุดของผมแล้วครับ (ยิ้ม)

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ