ช่อมณี : ถ้าไม่สร้างเอกลักษณ์ให้ตัวเอง ก็จะเป็นได้แค่เงาของคนอื่น

ช่อมณี

ช่อมณี หรือมณีรัตน์ อัศวิศราภรณ์ เป็นอีกหนึ่งนักเขียนไทย ที่ฝากผลงานนิยายเอาไว้ให้อ่านกันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เธอมีผลงานรวมเล่มกับสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เรื่อง แปรดาว ซึ่งผลงานของช่อมณีเป็นนิยายร่วมสมัย และนอกจะให้ความเพลิดเพลินเธอยังมักจะสอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย และเกร็ดความรู้ต่างๆ อยู่เสมอ เรียกได้ว่าผู้อ่านได้หลายต่อเลยทีเดียว วันนี้ทางคอลัมน์คุยนอกรอบจึงไม่รอช้าพาช่อมณี มาพูดคุยถึงแนวคิด และแนวทางในการเขียนหนังสือ และเรื่องไลฟ์สไตล์ต่างๆ ของเธอ

ประเดิมด้วยการแนะนำตัว
ช่อมณี มีพี่น้องอยู่ด้วยกัน 5 คน เป็นหมอ 2 คน นักบัญชี 1 คน เป็นผู้สอบบัญชีอีก 1 คน แล้วก็รวมพี่ ที่เป็นนักกฎหมาย จบปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และสำนักอบรมทางกฎหมายแห่งเนติบัญฑิต เริ่มต้นการเขียนเนื่องจากเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือทุกประเภท มาอ่านพวกนิยายจริงๆ จังๆ เลยก็คือตอนอยู่มัธยม แล้วก็ชอบอ่านเรื่องประวัติศาสตร์มาก แล้วก็อ่านมาเรื่อยๆ แต่ยังไม่ได้ลงมือเขียนเพราะว่ายังเด็ก แต่ที่มาเริ่มฝึกหัดเขียนก็ต้องเตรียมตัวไปซื้อหนังสือหลักการเขียนนิยายทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศเพื่อที่จะได้ลงมือฝึกเขียน เริ่มลงมือฝึกเขียนจริงๆ ก็ตอนเรียนอยู่ปริญญาตรี ฝึกเขียนไปเรื่อยๆ พอระหว่างเรียนที่สำนักอบรม เราก็เขียนได้หลายเรื่องแล้ว เมื่อรู้สึกมั่นใจในบางเรื่อง เลยลองส่งไปที่สำนักพิมพ์ดอกหญ้า เรื่องแรกที่ส่งไปคือ “ไอรักไฟแค้น” แล้วเขาก็เห็นว่าเนื้อหาดี เขียนได้ดี ก็เลยส่งไปลงหนังสือกาญจนา ในเครือของหญิงไทยรายปักษ์ ในสมัยนั้น พอลงไปได้สักพักหนึ่ง หนังสือกาญจนาเขาก็ปิดตัว เราก็เลยคัดเลือกหมอกผลัดฟ้า ส่งไปให้ทางบางกอก แล้วก็ได้ลงพิมพ์ที่บางกอก พอลงจนครบตอนแล้ว ตอนนั้นก็มีสำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายก็ขอไปตีพิมพ์ ซึ่งเป็นเล่มแรกของช่อมณีที่ตีพิมพ์ และทำให้เป็นที่รู้จักอย่างมาก จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ประมาณ 8 ปี แล้วที่เขียนหนังสือมา

ผลงานที่ผ่านตา
ถ้าเป็นผลงานในนามปากกาช่อมณีก็จะมี หมอกผลัดฟ้า, ใต้เงาบาป,สนล้อลม , เล่ห์สวรรค์สาปรัก สานนคร, แปรดาว,ทายาทมนต์ดำ,นักล่าแต้มศูนย์,ซ่อนรัก รอยแค้น,รัดเกล้าพิศวง, ทายาทอำพราง,รักซ่อนลาย,บัญชารัก,หงส์สะบัดลาย, มนต์ชะตา,รากบุญ,ไม้ระบัดใบ,และ ลับแลใจ แต่ถ้าเป็นนามปากกาแพรดาวก็จะมี เรื่อง มุกเปื้อนทราย, พัดแพรรัก,กิเลสดาว,บ้านร้อยอักษร และ สายใยรัก ส่วนผลงานที่รวมเป็นเล่มแล้วมี หมอกผลัดฟ้า, สนล้อลม, รัดเกล้าพิศวง แล้วก็ แปรดาว

แนวเรื่องที่เขียน
เรื่องที่เขียนส่วนใหญ่จะเป็นแนวสะท้อนสังคม ลึกลับและสืบสวนสอบสวน แล้วก็จะสอดแทรกความรู้เรื่องกฎหมายเพราะว่าเรียนมาทางด้านกฎหมาย เวลาจะเขียนอะไรก็จะพยายามสอดแทรกเกร็ดกฎหมายเบื้องต้นเข้าไปในนิยายด้วย คนอ่านก็จะได้ทั้งความบันเทิงแล้วก็เกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ เพราะเกร็ดความรู้เรื่องกฎหมายบางเรื่องมันจะสนุก แล้วบางเรื่องคนก็ไม่เข้าใจ เราก็จะสอดแทรกเข้าไปในตัวละคร หลายเรื่องที่เขียนสอดแทรกเรื่องกฎหมายไว้ เช่น รักซ่อนลาย ก็จะเขียนเรื่องกฎหมายครอบครัวลงไป อย่างรากบุญ จะสอดแทรกสืบสวนกฎหมายในแนวลึกลับอีกด้วย

ช่อมณี

แรงบันดาลใจ.ในการเขียน
ถ้าเกี่ยวกับการวางพล็อตเรื่องจะได้มาจากการอ่านหนังสือ ดูทีวี ดูหนัง และฟังการเล่าประสบการณ์จากน้อง เพราะน้องมีหลายอาชีพ ทั้งหมอ ทั้งนักบัญชี พวกนี้จะมีประสบการเยอะ บางทีก็จากลูกค้า เพราะเราเป็นนักกฎหมาย เราก็จะมีประสบการณ์ด้านนี้ ก็จะเอามาผสมกันเป็นพล็อตเรื่อง เลือกมุมที่มันแปลกๆ ไม่ค่อยมีใครสนใจ แล้วก็หยิบขึ้นมาคิดเป็นพล็อต

เคยเขียนแล้วสะดุดคิดไม่ออกไหม
มันก็มีสะดุดบ้าง พอเขียนแล้วเกิดอาการตัน เราก็จะไปทำอย่างอื่นซะ เช่น ไปเล่นเปียโน หรือไปอ่านหนังสือให้กับคนตาบอด ซึ่งเราทำอยู่ มันจะช่วยให้เรามีสมาธิกลับมาใหม่อีกที อ่างถ้าไปอ่านหนังสือให้คนตาบอด เราก็จะได้ไอเดียผุดขึ้นมาระหว่างที่เราอ่าน

ผลงานที่ยากที่สุด
ที่รู้สึกว่ายากจริงๆ ก็จะเป็นเรื่องบ้านร้อยอักษร เพราะรู้สึกว่าต้องไปอ่านหนังสือใหม่ เพราะมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาษิตไทย เราก็ต้องไปเลือกสรรหาหยิบเอาภาษิตไทยมาใช้ เรื่องนี้ต้องใช้เวลาอ่านมากกว่าจะลงมือเขียน เพราะต้องเตรียมข้อมูลมาก แล้วจะเขียนอย่างไรให้มันสนุก เพราะว่าเราเอาภาษิตเขาไปใช้ ถ้าเกิดเขียนไม่ดีมันก็ไม่สนุก

แนวที่ชอบเขียนมากที่สุด
ชอบแนวสะท้อนสังคมและสอดแทรกกฎหมาย เพราะเขียนแล้วสนุก บางทีเราก็แทรกทั้งกฎหมาย แทรกทั้งการทำธุรกิจ มันจะทำให้เราเขียนได้สนุก มีการชิงไหวชิงพริบ

นอกจากนิยาย
ก็เคยเขียนพวกบทความลงในกรุงเทพธุรกิจเป็นบางครั้งบางคราว

ปัจจุบันทำอะไรอยู่บ้าง
เป็นที่ปรึกษากฎหมายของสำนักงานบัญชีเอแอนด์เอ แล้วตอนนี้มีเรื่องที่ลงอยู่ที่ภาพยนตร์บันเทิง คือเรื่อง ลับแลใจ

สไตล์การทำงาน
เวลาเขียนหนังสือจะเขียนในช่วงเย็นๆ ดึกๆ เพราะว่าตอนช่วงเช้าจะเป็นเวลาที่เราอ่านหนังสือ อ่านข่าว อ่านหนังสือพิมพ์ ทำกิจกรรมต่างๆ ที่จำเป็น ส่วนเวลาว่างๆ ก็จะชอบดูหนัง เพราะว่าดูพวกนี้แล้วมันจะทำให้เราเกิดไอเดีย พอดูแล้วเราอาจจะอยากให้มันเกิดนิยายสไตล์นี้บ้าง เราอ่านหนังสือมาเยอะ ก็จะรู้ว่านิยายมันมีแบบไหนบ้างในท้องตลาดบ้านเรา พอเรามาดูหนังเราก็อาจจะมาดูว่าในบ้านเรามันมีปัญหาหรือมีเรื่องราวคล้ายๆ แบบนี้ไหม ก็จะหยิบยกเอาแค่สไตล์ตรงนั้นมาใช้กับงานเขียนของเรา หรือจะเป็นวีนำเสนอ เช่นหนังฮ่องกงชุด หนังฝรั่ง เราจะเอาวิธีนำเสนอนั้นมาใช้ เพราะมันสามารถดึงดูดเราได้ ถ้าเราเอาไปใช้ให้เหมาะสมมันก็จะสามารถดึงดูดคนอ่านได้เหมือนกัน

พูดถึงโครงการชมนาด
สนใจตรงเงื่อนไขที่ว่าได้แปลเป็นภาษาอังกฤษส่งไปขายต่างประเทศ เพราะว่าอยากให้มีงานนิยายของไทยออกไปบ้าง เพราะเวลาที่ตัวเองอ่านเราก็จะอ่านแต่นิยายฝรั่ง นิยายจีน ซึ่งเขาก็แปลออกมาเป็นไทยแล้ว ก็เลยคิดว่าฝรั่งน่าจะมีโอกาสอ่านของไทยบ้าง แล้วนิยายจีน เกาหลี ญี่ปุ่น กับนิยายไทยก็มีคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน แต่ทำไมคนไม่รู้จักนิยายไทย เราก็เลยคิดว่าตรงนี้เป็นเงื่อนไขที่ดี ส่วนเงื่อนไขที่ว่าต้องเป็นผู้หญิงก็คิดว่าดี ในสายตาพี่เรียกว่าสร้างความแตกต่างมากกว่าสำหรับชมนาด แล้วก็ช่วยส่งเสริมบทบาทและความสามารถของผู้หญิงเฉพาะเจาะจงลงไปเลย

ความเป็นไปได้ที่หนังสือไทยจะไปนอก
มีความเป็นไปได้ถ้าเรารู้จัก 1. แปล แปลอย่างสมบูรณ์ 2. มีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก แล้วทั้ง 2 อย่างนี้ถ้าทำได้พร้อมกัน วรรณกรรมไทยไปได้แน่นอน ส่วนเรื่องคุณภาพที่ดูแล้วไม่ต่างกันเลยกับวรรณกรรมในเอเชียด้วยกัน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เราไม่ได้ด้อยกว่าใครเลย เพียงแต่เราขาดการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ในการแปลออกไปจำหน่ายต่างประเทศ มันก็เลยทำให้ไม่เป็นที่รู้จัก ไม่เหมือนประเทศที่กล่าวมาที่เขาสนับสนุนอยู่ตลอด อย่างไปที่ออสเตรเลียก็ยังไปหาอ่านวรรณกรรมของจีนได้ อย่างไปสิงค์โปร์ก็จะมีทั้งภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ซึ่งวรรณกรรมจีนจะหาอ่านได้ง่ายเพราะเขามีการส่งเสริมกันอย่างต่อเนื่อง แต่ของเรามันยังไม่มีการสนับสนุนเท่าไหร่ อย่างแรกเลยคือในร้านหนังสือของเราเองเราก็ควรจะมีเรื่องที่แปลเป็นภาษาอังกฤษไว้แล้ว จากนั้นจึงค่อยผลักดันให้ออกไปสู่ต่างประเทศ พี่คิดว่าเรื่องการส่งเสริมนี่เป็นเรื่องสำคัญมาก คนไทยเรายังไม่จริงจัง ยังทำแบบขาดๆ หายๆ อยู่

จำเป็นไหมที่นักเขียนต้องมีมุมมองที่อินเตอร์ขึ้น
ถ้าเป็นด้านวรรรณกรรม พวกนิยายเหล่านี้ เป็นตัวของเราเองเป็นแนวคิดของเราเป็นเอกลักษณ์ของคนๆ นั้น ดีที่สุด อย่างของคุณทมยันตี เขาก็จะมีเอกลักษณ์ของเขาเลย อย่างเรื่องคู่กรรม ไม่ว่าคุณจะไปญี่ปุ่น ไปอังกฤษ ไปเยอรมัน มันก็คือคู่กรรม คือมันเป็นมุมมองของเจ้าตัวต่อเหตุการณ์นั้นๆ คือฝรั่งเขาจะมองว่าเรามองปัญหานั้นอย่างไร เราต้องเสนอแนวคิดของเราเองมากกว่า คนตะวันตกเขาจะชอบฟัง ชอบดูว่าเรามีมุมมองแบบไหนกับปัญหานั้น ซึ่งเรื่องมุมมองที่แตกต่างกันเขายอมรับได้อยู่แล้ว เช่นเราเชื่อเรื่องผี เขาก็อยากรู้ว่าเราเชื่อเรื่องผีแค่ไหน เขาก็จะเอาความเชื่อเรื่องผีของไทยไปทำเป็นภาพยนตร์ได้ คือเขาจะเอามุมมองแปลกๆ เหล่านี้ไปนำเสนอในบ้านเมืองของเขา มันก็จะมาดังขึ้นมาเอง คือเป็นตัวของตัวเองจะดีที่สุดไม่ใช่ไปเลียนแบบความคิดของเขา คือเขาฟังมาเบื่อแล้วเขาถึงมามองเรา เพราะเขาต้องการหาความแตกต่าง

มองเรื่องอินเตอร์เน็ตกับนักเขียนหน้าใหม่
เท่าที่สังเกต งานเขียนที่เขียนออกมาเป็นวรรณกรรมแล้ว สำหรับนักเขียนหน้าใหม่หรือเด็กๆ ที่เข้ามาเขียนมันอาจจะไม่สละสลวยนัก ในสถานภาพของนักเขียนใหม่เป็นเรื่องธรรมดา มีการวิวัฒนาการในภาษาของเด็กรุ่นใหม่ ก็ไม่เป็นไร แต่พวกนี้เขาจะเปลี่ยนอยู่แล้วถ้าเขาเล่นแชท เล่น msn เขาก็จะใช้ภาษาอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าเขาจะมาเขียนเรื่องสั้นหรือนิยายลงในอินเตอร์เน็ตพี่เชื่อว่าเขาก็จะเรียบเรียงใหม่ จริงอยู่ที่มันอาจจะไม่สละลวยเหมือนนักเขียนเก่า แต่มันก็เป็นไปตามประสบการณ์ของเขา แต่ที่สำคัญคือ อินเตอร์เน็ตมันคือสนาม สนามที่เขาเปิดกว้าง และเขามีโอกาสเสนอศักยภาพของเขา แนวความคิดใหม่ๆ มันเป็นสิ่งที่ดีสำหรับนักเขียนใหม่ ซึ่งสมัยก่อนทำไม่ได้ บางทีคนเก่งก็ไม่มีโอกาสที่จะจะให้คนอื่นได้อ่านผลงานของตัวเอง เพราะสมัยก่อนผลงานเราต้องผ่านคนๆ เดียวเพื่อพิจารณา ถ้าเขาไม่ชอบรสนิยมแบบเรามันก็จะไม่ได้เกิด ทั้งๆ ที่เรื่องมันอาจจะแปลกตา น่าสนใจ แต่เวทีมันแคบ ไม่เหมือนกับปัจจุบันที่มีอินเตอร์เน็ต เหมือนกับช่วยในการเปิดสนาม ซึ่งอาจจะทำให้เราเห็นดาวดวงใหม่ในสนามนี้ก็ได้

ในขณะที่มีข้อดีมันก็ต้องมีข้อเสีย อย่างเรื่องลิขสิทธิ์ เรื่องการcopyงานไปส่งสำนักพิมพ์ ซึ่งเราก็ต้องหาวิธีแก้ไขกันไปเรื่อยๆ ผู้เขียนเองก็อาจจะต้องทำใจในตรงนี้ แล้วมาคิดดูว่าเราจะมีวิธีป้องกันอ่างไร หากเราคิดจะเขียนส่งสำนักพิมพ์ ก็อาจจะไม่ต้องลงทั้งหมดในอินเตอร์เน็ต อาจจะลงไว้สักครึ่งหนึ่งก่อนแล้วนำไปเสนอสำนักพิมพ์ ถึงแม้ว่าจะมีใครมาcopy งานเรา เขาก็เอาไปได้ไม่หมด ซึ่งตรงนี้เรียกว่าเราต้องปรับตัวไปตามความทันสมัยของโลก แล้วก็ต้องแก้ไขปัญหาควบคู่กันไป ของฝรั่งเขาก็เป็นเหมือนกันแต่เขาก็มีวิธีแก้ไขของเขา อาจจะเป็นการไปจดลิขสิทธิ์ แต่การจดลิขสิทธิ์อย่างเดียวมันก็ไม่ใช่หลักฐานเพราะว่าการจดลิขสิทธิ์เป็นแค่การบอกกล่าวให้คนอื่นรู้ว่างานชิ้นนี้เป็นของข้าพเจ้า แต่ไม่ถึงขั้นตรวจสอบว่าจริงหรือไม่ ดังนั้นเราต้องให้ความรู้กับคนเขียนว่าจะต้องเก็บอะไรไว้บ้าง เพื่อเป็นหลักฐานในการพิสูจน์ว่างานชิ้นนี้เป็นของเรา ทุกอย่างมันมีวิธีแก้ แต่ถ้าเรามัวไปกลัวเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เราก็จะไม่มีสนามลง นักเขียนใหม่ต้องการสนามอย่างมาก เหมือนนักมวยถ้าไม่มีเวทีให้ชกก็ไม่มีใครรู้ว่าเราฝีมือดี

ฝากถึงนักอยากเขียน(แต่เขียนไม่ออก)
เราต้องสร้างพื้นฐานที่ดีให้กับตัวเองถ้าเราอยากจะเป็นนักเขียน คือ อ่านมาก ฟังมาก ดูมาก จากนั้นก็มากล้าคิด กล้าเขียนให้แตกต่าง สร้างเอกลักษณ์ของตัวเอง เราไม่ต้องไปคิดว่าเขียนแล้วเราจะได้ตีพิมพ์หรือไม่ ยังไม่ต้องคิดไปถึงตรงนั้น เราต้องกล้าที่จะคิดที่จะเขียนให้แตกต่างออกมาก่อน เพราะถ้าเราไม่สร้างเอกลักษณ์ให้ตัวเองขึ้นมา เราก็จะไปตามเขา แล้วสุดท้ายก็จะเป็นได้แค่เงาของคนที่ประสบความสำเร็จไปแล้ว ซึ่งก็ไม่มีทางที่จะเด่นขึ้นมาได้ในแวดวงวรรณกรรม

 

โดย ฟีนิกซ์

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ