รัตนโกสินทร์ : กำเนิดกรุงเทพฯ : งานเปิดตัวหนังสือ“รัตนโกสินทร์ : กำเนิดกรุงเทพฯ”

รัตนโกสินทร์ : กำเนิดกรุงเทพฯ

พิธีกร : สวัสดีแขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนทุกๆ ท่านที่มาร่วมงานเปิดตัวหนังสือนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ “รัตนโกสินทร์ : กำเนิดกรุงเทพฯ” ซึ่งไม่ใช่ผลงานของนักเขียนท่านไหนค่ะ เพราะถ้าเอ่ยนามถึง Paul Adirex แล้วทุกท่านคงจะรับทราบและ รู้จักกันดีนะคะ ในลำดับแรกนี้นะคะ จะขอเชิญทุกท่านร่วมฟังการเสวนาเรื่อง “รัตนโกสินทร์ : กำเนิดกรุงเทพฯ” ความเป็นมาเป็นอย่างไรนั้นต้องเรียนเชิญ ฯพณฯ ท่านปองพล อดิเรกสาร และดำเนินรายการโดย ท่าน ร.ต.อ.ดร. นิติภูมิ นวรัตน์ ค่ะ ขอกราบเรียนเชิญค่ะ

นิติภูมิ : สวัสดีครับทุกๆ ท่าน ผมเป็นแฟนตัวจริงของ ฯพณฯ ท่าน เพราะนอกจากจะติดตามงานของ ฯพณฯ ท่านแล้ว ก็ยังมีโอกาสไปกราบเรียนพบท่านที่บ้าน และมักจะได้คุยกันเรื่องงานเขียนต่างๆ ผมอยากจะเรียนถามท่านว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้ท่านเขียนเรื่อง รัตนโกสินทร์ : กำเนิดกรุงเทพฯ มาจากไหนครับ

 

รัตนโกสินทร์ : กำเนิดกรุงเทพฯ

 

ปองพล : ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณคุณหญิง ภรรยาท่านรัฐมนตรี ท่านรองนายก และพี่น้องเพื่อนฝูงทุกคนที่มาให้กำลังใจผม ในวันนี้ สำหรับเรื่อง รัตนโกสินทร์ : กำเนิดกรุงเทพฯ อยากจะเรียนว่าตั้งแต่ผมเป็นเด็ก วีรบุรุษในดวงใจของผมคือเจ้าพระยาสุรสีห์ ทุกท่านคงทราบดีว่าคือใคร ตอนหลังท่านเป็นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นพระอนุชาของรัชกาลที่ 1 ตั้งแต่ยังเด็กผมจะไปที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ซึ่งเป็นวังของท่าน พอหนุ่มขึ้นผมขับรถไปที่ลาดหญ้า ซึ่งเป็นที่เกิดของสงคราม เก้าทัพ ก่อนที่จะสร้างเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ แล้วก็ติดตามอ่านหนังสือของท่านมาตลอด เหตุโดยบังเอิญมันเกิดขึ้นโดย ไม่รู้ตัว เมื่อปี 2535 ผมจำได้ว่าปีนั้นมีการเลือกตั้งสองครั้ง เลือกตั้งครั้งแรกเดือนมีนาคม ผมได้รับเลือก ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่พอเลือกตั้งครั้งที่สองในเดือนกันยายน ผมสอบตกที่สระบุรี ก็ยังแปลกใจอยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้เสียใจ เพราะผมเชื่อว่าชีวิตทุกคนถูกลิขิตไว้ ผมก็ตั้งใจจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับวัดราชวรวิหารชั้นพิเศษ ซึ่งมีทั้งหมด 23 วัด ในกรุงเทพฯ มี 9 วัด ผมก็ขอรายการจากกรมการศาสนา วัดแรกคือวัดพระเชตุพน หรือวัดโพธิ์ วัดที่สองคือวัดมหาธาตุ วัดมหาธาตุเป็นวัดที่เจ้าพระยาสุรสีห์ท่านท่านบูรณะขึ้นมา แต่ปรากฏว่าผมได้ไปวัดโพธิ์ก่อน ไม่ได้ไปวัดมหาธาตุทั้งที่อยู่ใกล้แค่นั้น ผมกลับไปวัดเบญฯ วัดราชบพิตร ไปวัดหริภุญชัย ที่ลำพูน แต่ไม่ได้ไปวัดมหาธาตุ จนกระทั่งวันหนึ่ง 3 พฤศจิกายน 2535 วันนั้นอากาศดี ผมบอกคนขับรถว่าวันนี้จะไปวัดมหาธาตุ เขาส่งผมลงที่ด้านท้องสนามหลวง ผมเดินทะลุเข้าไปถึงวัด ไปถ่ายรูปตามโบสถ์ต่างๆ จนนึกขึ้นได้ว่ามีอนุสาวรีย์ของพระองค์ท่าน แต่ไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหน ก็เลยไปถามคนเฝ้าวัด เขาบอกให้ผมเดินออกไปตรงที่ที่เขากำลังมีงานอยู่ ผมนุ่งกางเกงยีนส์ เสื้อยืดมีปก หิ้วกระเป๋ากล้อง ผมก็เดินไป ปรากฏว่ามีคนแต่งชุดสีขาวและชุดสากลเต็มไปหมด บังเอิญผมไปพบท่านพลตำรวจโทจำรัส จันทร์ขจร ผมเรียนถามท่านว่ามาทำอะไรที่นี่ ท่านบอกว่าท่านเป็นประธานมูลนิธิมหาสุรสิงหนาท วันนี้เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของท่าน แปลกนะครับ ถ้าเกิดผมได้มีโอกาสมาวัดมหาธาตุในวันอื่น ผมก็จะไม่ได้มาในวันนั้น ผมก็เลยต้องไปคลุกเข่ากราบอนุสาวรีย์ของท่านในชุดนั้น หลังจากนั้นทุกวันที่ 3 พฤศจิกายน ถ้าผมจะอยู่กรุงเทพฯ ภรรยาผมจะทำพวงมาลาไปกราบพระบาทท่าน แต่ถ้าไปต่างประเทศก็จะระลึกถึงท่าน ผมทำเช่นนี้มาตลอด และก็มีแรงบันดาลใจว่าอยากจะเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระองค์ท่าน ผมลงมือค้นคว้า ผมอ่านประวัติของท่านมานาน เรารู้แต่ว่าท่านเป็นนักรบที่เก่งกล้า ในสิบห้าปีของกรุงธนบุรีท่านไปรบสิบหกครั้ง สมัยพระเจ้าตากท่านก็เป็นแม่ทัพเอกคู่กับรัชกาลที่ 1 สมัยต้นรัชกาลที่ 1 ท่านก็เป็นแม่ทัพเอกของรัชกาลที่ 1 ท่านไปรบทุกปี ท่านทั้งหลายก็คงนึกภาพออก ท่านไปรบที่ลำปาง ที่เชียงใหม่หลายครั้ง สมัยก่อนต้องนั่งช้างบ้าง เดินบ้าง ท่านไปรบที่จำปาศักดิ์ ต้องเดินผ่านดงพญาไฟไปถึงจำปาศักดิ์ ท่านก็ทรหดอดทน ท่านสู้ ผมก็เลยนำเอาความสัมพันธ์ของทั้งสามพระองค์ คือพระเจ้าตาก รัชกาลที่ 1 และเจ้าพระยาสุรีสีห์ มาเขียนเป็นนิยายประวัติศาสตร์ขึ้น ประวัติศาสตร์เราจะรู้ต้นกับจบ แต่เราไม่รู้ตรงกลางว่าเกิดอะไรขึ้น ผมก็เขียนเป็นนิยายแล้วก็แต่งเป็นเรื่องขึ้นให้มันสอดคล้องกัน ในประวัติจะรู้ว่าเจ้าพระยาสุรสีห์ท่านเป็นคนสุดท้ายที่หนีออกจากรุงศรีอยุธยาได้ในวันที่พม่าเข้า พม่าเข้าอีกทาง ท่านกับเพื่อนหนีออกอีกทาง พายเรือกันสี่คนหนีไปในความมืด ท่านเห็นกรุงศรีอยุธยาถูกเผาแดงฉาน ท่านอุตส่าห์พายเรือมาถึงบางกอก ซึ่งตอนนั้นเป็นแค่หมู่บ้าน ท่านขึ้นมาบนฝั่งเห็นวัดร้างอยู่แห่งหนึ่ง ท่านเข้าไปกราบพระประธานในวัดสลัก ปัจจุบันนี้คือวัดมหาธาตุ ท่านอธิษฐานต่อพระประธานว่า ถ้าท่านรอดพ้นไปและกลับมาท่านจะมาบูรณะวัดสลัก แล้วท่านก็ทำได้เช่นนั้นจริงๆ เรื่องของผมจะเกี่ยวกับท่านเจ้าพระยาสุรสีห์ ความสัมพันธ์ระหว่างสามองค์ และลงลึกไปในรายละเอียดว่าเมื่อสิ้นรัชกาลของพระเจ้าตากเกิดอะไรขึ้น นี่คือจุดเริ่มต้น

นิติภูมิ : ผมอยากจะเรียนถาม ฯพณฯ ท่านอย่างหนึ่งว่า โดยปกติการเขียนนวนิยายของท่านจะต้องเกี่ยวพันกับตัวท่านด้วยหรือเปล่า อย่างในครั้งนี้ทำไมท่านถึงใช้ตัวนำเป็นเลขานุการจากสถานฑูตจากสหรัฐอเมริกา

ปองพล :ผมเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษ ทุกเรื่องของผมที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษตัวเอกจะต้องเป็นชาวต่างชาติเข้ามาร่วม เรื่องจะได้น่าสนใจ ต้องไปอ่านหนังสือของผมดู เพราะผมค้นคว้าละเอียดมาก เขียนหนังสือเรื่องหนึ่งผมต้องอ่านหนังสือไม่รู้กี่เล่ม ยิ่งเรื่องนี้ผมต้องอ่านมากเลย เพราะมันเป็นเรื่องจริง ซึ่งคนไทยต้องอ่านมากที่สุด และทุกคนก็รู้ประวัติ ศาสตร์ เพราะฉะนั้นถ้าเราเขียนเรื่องราวสาระบิดเบือนจากความเป็นจริงมันไม่ได้

นิติภูมิ : เรื่องนี้ผมยืนยันได้นะครับ ผมเป็นคนหนึ่งที่ ฯพณฯ ท่านปองพลชวนขึ้นไปห้องหนังสือ ผมก็เห็นหนังสือของท่านเยอะมาก ผมพลิกดูหนังสือของท่านแต่ละเล่มส่วนมากจะเป็นหนังสืออ้างอิง ท่านสะสมหนังสืออ้างอิง ท่านต้องใช้หนังสือ อ้างอิงเยอะไหมครับในการเขียนหนังสือเล่มนี้

ปองพล : ใช้มากเลย ยิ่งเป็นฉากรบ ฉากสงครามที่รบพม่า ผมต้องไปศึกษาตำราพิชัยสงครามของพม่าและของไทยว่าพม่าจัดกระบวนรบอย่างไร ไทยจะกระบวนรบที่จะสู้อย่างไร มันมีกระบวนรบที่จะหักล้างกัน แล้วก็ไปอ่านเรื่องเพลงดาบ การฟันดาบ การใช้อาวุธโบราณต่างๆ หลายท่านอาจจะสงสัยนะครับว่า เน้นแต่เรื่องรบของเจ้าพระยาสุรสีห์ แล้วชีวิตรักของท่านเป็นยังไง เพราะท่านเป็นนักรบ สิบห้าปีรบสิบหกครั้ง ไม่มีเวลาจะไปจีบผู้หญิงที่ไหน อยู่ในสนามรบตลอดเวลา แต่ปรากฏว่าเจ้าพระยาสุรสีห์พบรักระหว่างรบ ตอนที่ท่านขึ้นไปตีลำปาง จากลำปางจะไปยึดเชียงใหม่ซึ่งพม่าปกครองมาสองร้อยปี ยุคของพระเจ้าตากกับต้นรัตนโกสินทร์ที่ประกาศอิสรภาพเอาเชียงใหม่คืนมาได้ รักแรกของท่านคือเจ้านางศรีอโนชา เป็นน้องสาวของพระเจ้ากาลวิละของเชียงใหม่ ตอนนั้นพระเจ้ากาลวิละยังครองลำปางอยู่ ในที่สุดก็ติดต่อกันแล้วก็เข้ากับฝ่ายไทย เป็นครั้งแรกที่เจ้าพระยาสุรสีห์ได้พบกับเจ้านางศรีอโนชา แต่อีกสามปีถึงจะได้แต่งงานกัน เพราะไปรบตลอด เมื่อแต่งแล้วอยู่กันได้หกเดือนก็ต้องไปรบที่จำปาศักดิ์ ชีวิตของท่านจะอยู่กับสนามรบ แต่ปรากฏว่าภายหลังตอนที่ท่านไปสถาปนาเป็นวังหน้าแล้ว ท่านมีชายาทั้งหมด ตามหลักฐานแล้ว 33 คนเท่านั้น ผมเล่าให้พวกฝรั่งฟัง เขาก็แปลกใจมากว่าทำไมเยอะขนาดนั้น ผมก็บอกว่าเป็นธรรมเนียมในสมัยนั้น เวลาไปรบชนะที่ไหน เจ้าเมืองที่แพ้ก็จะถวายลูกสาวถวายน้องสาวให้ ท่านก็รับมา แต่อัครชายาคือเจ้านางศรีอโนชา ถ้าท่านอ่านหนังสือเล่มนี้ ท่านจะเห็นว่าชีวิตบั้นปลายของเจ้าพระยาสุรสีห์ท่านเศร้ามาก เพราะว่าอายุ 60 เท่านั้นท่านก็สวรรคต ท่านประชวรด้วยโรคนิ่ว ครั้งสุดท้ายท่านไปรบเชียงใหม่ แต่ไปได้แค่เขินเท่านั้นเพราะท่านไปไม่ไหว ต้องให้ลูกไปรบแทนแต่ก็ชนะ กลับมาไม่นานท่านก็ประชวรและสวรรคต ก่อนท่านจะสิ้นท่านเอาดาบของท่านไปถวายเป็นราวเทียน ถวายเป็นพุทธบูชาที่วัดมหาธาตุ ชีวิตของท่านน่าศึกษามาก ผมถึงยกย่องให้เป็นวีรบุรุษในดวงใจของผม

นิติภูมิ : โดยปกติเวลาท่านเขียนหนังสือ ท่านมักจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษก่อน แล้วก็นำมาแปลเป็นภาษาไทย

ปองพล : เล่มนี้ รัตนโกสินทร์ ผมเขียนเป็นภาษาอังกฤษก่อน ใช้เวลา 1 ปี เปิดตัวไปแล้ว ผมเป็นคนเชื่อว่าทุกคนมีภารกิจในชีวิต ผมเชื่อว่าภารกิจของผมจะต้องมาเขียนพระราชประวัติของกรมพระราชวังบวร เพราะว่าเมื่อผมเริ่มเขียนหนังสือเล่มนี้ ผมมีความรู้สึกเหมือนกับท่านมาสั่งว่าเอ็งต้องเขียนให้จบนะ ถ้าไม่จบจะทำอย่างอื่นไม่ได้ แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อผมเขียนจบผมกำหนดว่าจะแนะนำหนังสือวันที่ 17 พฤศจิกายน 2547 ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน คุณหญิงท่านได้กรุณาเรียกผมไปบอกว่าให้มาเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย ที่มันแปลกก็คือว่า ในวันนั้นเราจะกำหนดกันว่าจะประกาศตัวผู้อำนวยการเลือกตั้งวันไหน ที่ประชุมบอกว่าเอาวันที่ 17 พฤศจิกายน แต่เป็นช่วงเช้า ช่วงเย็นผมจะแนะนำหนังสือ ภารกิจหนังสือของผมเสร็จพอดีแล้วก็มาเข้าสู่ภารกิจใหม่ คือเลือกตั้ง ผมถึงได้บอกว่าทุกคนมีภารกิจในชีวิต

นิติภูมิ:เท่าที่ผมได้ติดตามงานของท่านและได้อ่านหนังสือท่าน ท่านจะเอาประวัติศาสตร์ต่างๆ กับของจริงลงไป ซึ่งก็มีหนังสือประวัติศาสตร์ของไทยที่เป็นนิยายอยู่จำนวนไม่น้อย แต่เขียนเป็นภาษาไทย ของท่านเขียนเป็นภาษาอังกฤษและมีเรื่องราวในประเทศต่างๆ รอบๆ เรา ไม่ว่าจะเป็นเขมร พม่า เข้าไป ท่านคิดว่าจะกระทบความสัมพันธ์อะไรกับประเทศเหล่านั้นบ้างหรือเปล่า หรือมีคนมาบอกว่าประวัติศาสตร์ตอนนี้ไม่จริง ประวัติศาสตร์ตอนนี้น่าสงสัย มีจากเพื่อนบ้านบ้างไหมครับท่าน

ปองพล : ผมเรียนว่าผมเขียนตามพงศาวดาร ทุกอย่างมีหลักฐานหมด เพราะเรารู้ต้นกับจบของประวัติศาสตร์ ผมไม่เคยเปลี่ยนประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นประวัติศาสตร์เรารบกับใครมีบันทึกไว้ แต่รายละเอียดว่ารบอย่างไรเราถึงชนะ รบอย่างไรเราถึงแพ้ ผมเอานิยายมาใส่ ผมเขียนเป็นภาษาอังกฤษก่อน สี่เรื่องที่ผมเขียนก็มีคนแปล ทางประพันธ์สาสน์จ้างคนมาแปล แต่สำหรับเรื่องนี้ผมเขียนภาษาอังกฤษจบ ผมมาเขียนภาษาไทยเอง ไม่ได้แปล ใช้เวลาเขียนสี่เดือน เพราะมันเป็นการท้าทาย ผมต้องการจะสร้างตัวเองให้ได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนไทยที่สามารถเขียนได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ตอนนี้ก็ทำสำเร็จแล้ว

นิติภูมิ : ท่านมีอะไรจะเล่าเกี่ยวกับเรื่องหนังสือนี้ต่ออีกไหมครับ

ปองพล : ถ้าท่านทั้งหลายได้อ่านหนังสือเรื่อง รัตนโกสินทร์ : กำเนิดกรุงเทพฯ จบแล้ว ท่านคงจะรู้สึกเหมือนผม คนเราที่อยู่ ณ ปัจจุบันเป็นหนี้บุญคุณของสามพระองค์ คือพระเจ้าตาก สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ถ้าไม่มีทั้งสามพระองค์ ผมว่าเราไม่มีแผ่นดินอยู่ เพราะอย่าลืมว่าตอนกรุงศรีอยุธยาแตก อาจจะมีพระเจ้าตากที่มีบางสิ่งที่สมัยนี้เรียกว่าวิสัยทัศน์ ซึ่งยุคนั้นอาจจะเรียกว่ามีความรู้สึก ท่านถึงได้หนีออกจากกรุงศรีฯก่อนกรุงแตกสี่เดือน ท่านหนีออกมากับทหารห้าร้อยคน น่าแปลก ขณะที่พม่ามีกองทัพเป็นแสนคน เราสู้พม่าไม่ได้ แต่พระเจ้าตากหนีมากับทหารห้าร้อยคน จากห้าร้อยคนท่านสร้างกองทัพ จากระยองแล้วไปยึดเมืองจันทร์ จากห้าร้อยคนท่านสร้างเป็นห้าพันคน ในห้าพันคนท่านกลับมายึดธนบุรี กลับมายึดค่ายโพธิ์สามต้นจากพม่าไปได้ จากห้าพันคนขยายเป็นเจ็ดหมื่นคน รบกับพม่าชนะทุกครั้ง

นิติภูมิ : ตอนท่านไปท่านไปห้าร้อย ตอนกลับมาท่านกลับมาห้าพัน แสดงว่าสี่พันห้าร้อยคนต้องเป็นคนบ้านผมบ้าง

ปองพล : แน่นอน เพราะระหว่างทางที่ไปทุกคนมาสวามิภักดิ์กับพระเจ้าตาก แล้วท่านก็นำทหารไปทางเรือ ท่านไปยึดกรุงธนบุรีได้ ท่านเดินทางทางเรือผ่านอยุธยาขึ้นไปโพธิ์สามต้น ท่านลองนึกภาพดู ทุกคนอยู่บนเรือลำนั้นแล้วมองไปที่กรุงศรีอยุธยา เห็นภาพสลักหักพัง เจ้าพระยาสุรสีห์ท่านจะรู้สึกมากกว่าผู้อื่น เพราะท่านเป็นคนสุดท้ายที่หนีออกมา เพราะฉะนั้นในการรบที่โพธิ์สามต้นไม่มีการจับเชลย เพราะทหารไทยกำลังแค้น เพิ่งแล่นเรือผ่านกรุงศรีมาหยกๆ ก็เลยรบกันเต็มที่ เรื่องนี้ผมเขียนเพราะมีความนิยมและเทิดพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ในอดีต ทหารไทยทุกคนที่ได้มีส่วนในการจะสร้างบ้านสร้างเมืองมาให้เรา และผมเป็นคนที่เชื่อในเรื่องบุญบารมี ในเรื่องผมก็มีและเป็นเรื่องจริงด้วย คือขุนนางของพระเจ้าตากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือพวกขุนนางเดิมที่ตามพระเจ้าตากออกมาจากกรุงศรี อีกกลุ่มหนึ่งเป็นข้าราชการขุนนางเดิมของกรุงศรีอยุธยา นำโดยเจ้าพระยาจักรี คือรัชกาลที่ 1 กลุ่มขุนนางเดิมก็เพ็ดทูลพระเจ้าตาก มีศึกที่ไหนก็ส่งสองพี่น้องคือรัชกาลที่ 1 กับเจ้าพระยาสุรสีห์ให้ไปรบ หวังจะให้ไปตาย เพราะสมัยก่อนมันเสี่ยง เดินทางไปรบเป็นปี อย่าว่าแต่ไปรบเลย แค่ให้รอดจากโรคภัยไข้เจ็บก็ถือว่าบุญแล้ว ปรากฏว่าสองพระองค์รอดกลับมาทุกครั้ง เมื่อรอดกลับมาทำความดีความชอบก็ได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง ในที่สุดเจ้าพระยาจักรีก็ได้มาเป็นรัชกาลที่ 1 เจ้าพระยาสุรสีห์ก็ได้มาเป็นวังหน้า

นิติภูมิ : จะมีตอนสองของหนังสือเล่มนี้หรือเปล่าครับท่าน หรือว่าจบแล้ว ไม่มีตอนสอง

ปองพล : การเขียนนิยาย เวลาเราจบ ต้องจบให้ผู้อ่านระลึกถึง แล้วจบแค่นั้น เราค่อยไปเขียนเรื่องอื่นต่อ เรื่องของผมจบตอนที่กรมพระราชบวรท่านสิ้น

นิติภูมิ : มีคนมาติดต่อนำไปสร้างภาพยนตร์หรือยังครับ

องพล : ยัง ยังเร็วไป จริงๆ หนังสือที่ผมเขียน แม่โขงก็ได้เป็นละครทีวีแล้ว โจรสลัดแห่งตะรุเตาก็เขียนบทภาพยนตร์เสร็จแล้ว ส่วนเรื่องอื่นก็คงจะเป็นไปตามขั้นตอน แต่ขณะนี้ผมมีพล็อตอยู่อีกสองเรื่อง ผมได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่อง The Lord of the ring จินตนิยายของต่างชาติ แต่ของเราก็มีเทพของเราที่เรานับถือ เรื่องใหม่ของผมชื่อ สงครามหิมพานต์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสามโลก โลกใต้บาดาลคือพญานาค ตรงกลางคือมนุษย์ โลกข้างบนคือโลกหิมพานต์ พวกครุฑ พวกสัตว์หิมพานต์อยู่ ในแต่ละโลกจะมีสงครามมีข้อขัดแย้งระหว่างกัน รบกันระหว่างสามโลกด้วย จะเป็นเรื่องยาวพอสมควร

นิติภูมิ : ท่านเป็นนักการเมืองด้วย เขียนหนังสือด้วย ท่านแบ่งหน้าที่อย่างไรครับ

ปองพล :ความเป็นนักเขียนไม่เป็นอุปสรรคกับการเป็นนักการเมือง ผมว่าเกื้อกูลกันด้วยซ้ำไป เพราะว่าความเป็นนักเขียนมันลับสมอง หลายบทผมต้องเขียนแทนตัวละครสองคนหรือสามคนที่สนทนากัน โต้เถียงกัน เราจะลับสมองตลอด แล้วเราจะมีการวางแผน เพราะต้องเขียนจากพล็อต ความเป็นนักเขียนทำให้เรามองอะไรจนจบ ผมยกตัวอย่างตอนเลือกตั้ง เลือกตั้งครั้งที่แล้วเราต้องสู้กับพรรคชาติไทยใน 55 เขต ถามกันว่าจะทำยังไงถึงจะชนะชาติไทย ผมก็เรียนให้ทราบเป็นพล็ตอเลยว่าจะทำยังไง แล้วในที่สุดผลเลือกตั้งออกมาก็อย่างที่เห็นนะครับ ไม่ได้ฝนห่าใหญ่หรอกนะครับ เพียงแต่ชาติไทยเขาทำฝนแล้วมันไม่ตก หรือตกก็ลงทะเลไปหมด ก็เลยไม่ได้มา อย่าลืมว่าผมเขียนเรื่องนี้ผมอ่านตำราพิชัยสงครามทั้งของพม่าและของไทย มันฝึกเรื่องการรบ การเลือกตั้งถือเป็นการรบเหมือนกัน

นิติภูมิ : ฯพณฯ ท่านจะชอบคุยเรื่องพรรคชาติไทยให้ฟัง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ไม่ทราบว่าท่านจะส่งหนังสือไปให้ท่านบรรหารหรือไม่ครับ

ปองพล :ไม่ส่งหรอกครับ เพราะผมเคยส่งหนังสือไปให้ท่านเล่มหนึ่งแล้ว ชื่อว่า ลูกน้องกับนายสไตล์สามก๊ก หนังสือเล่มนั้นดีมากนะครับ เขาเอาตัวละครของสามก๊กมาให้เห็นว่า ตัวไหนเป็นนายที่ดีนายที่ไม่ดี ตัวไหนเป็นลูกน้องดีหรือไม่ดี ผมส่งไปให้ท่านแล้ว ที่คุณนิติภูมิถามว่าการเป็นนักเขียนไปได้กับนักการเมืองไหม ผมก็จะตอบว่ามันไม่ได้เป็นอุปสรรคหรอก เพราะมันช่วยลับสมอง บางคนถามว่าผมเอาเวลาที่ไหนมาเขียนหนังสือ ผมเขียนหนังสือทุกเรื่องตอนเป็นฝ่ายค้าน ปี 2535 สามปีเขียนหนังสือสามเรื่อง ปี 2540 เป็นฝ่ายค้านสมัย พล.อ.ชวลิต เป็นนายก เป็นฝ่ายค้าน 11 เดือนผมก็เขียนเรื่องพิษหอยมรณะ จบ

นิติภูมิ : ผมว่าตอนนี้บรรดาสมาชิกของพรรคไทยรักไทยคงจะกังวลใจถ้าท่านจะเขียนเล่มต่อไป เพราะตอนที่ท่านเขียน ท่านบอกว่าเป็นฝ่ายค้านทั้งสิ้น

ปองพล : ผมล้างอาถรรพ์ไปแล้ว เพราะเล่มนี้ผมเขียนตอนเป็นรัฐบาลครับ และจะเป็นได้ต่อไป

นิติภูมิ : วันนี้เป็นการเปิดตัวหนังสืออย่างเป็นทางการนะครับ ขอกราบขอบพระคุณท่านที่มาเสวนาในวันนี้ และขอบ พระคุณทุกท่านด้วยครับ

ปองพล : สำหรับวันนี้ผมต้องขอขอบคุณทางดิเอ็มโพเรี่ยมที่ได้กรุณาเอื้อเฟื้อจัดสถานที่ให้ ขอขอบคุณสำนักพิมพ์ประพันธ์-สาส์น ซึ่งพิมพ์หนังสือของผมทุกเล่มที่เป็นภาษาไทย ผมอยากจะฝากไว้ว่าถ้าท่านใดอยากจะเขียนนวนิยาย นิยายมันไม่มีขอบเขต มันขึ้นอยู่กับจินตนาการของเรา เพราะถ้าเขียนเรื่องจริงมันก็ลำบาก บางทีไปกระทบกระเทือนใครต่างๆ ถ้าเขียน นิยายผมว่าดี สุดท้ายต้องขอขอบพระคุณคุณหญิงที่กรุณามา ทุกท่านที่ได้มาในวันนี้ และแขกผู้มีเกียรติที่เป็นแฟนหนังสือผมนะครับ ขอขอบคุณอย่างยิ่งครับ

พิธีกร : ดิเอ็มโพเรี่ยม ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ และ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ขอกราบขอบพระคุณ ฯพณฯ ท่านปองพล อดิเรกสาร, ร.ต.อ.ดร.นิภูมิ นวรัตน์ และแขกผู้มีเกียรติทุกท่านที่มาร่วมงานในวันนี้ ขอบพระคุณและสวัสดีค่ะ

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ