วิทิดา ดีทีเชอร์ : เพชรเม็ดงามวงการนักเขียนไทย

วิทิดา ดีทีเชอร์

      ปัจจุบันวิทิดาพำนักอยู่ที่ประเทศ เนเธอร์แลนด์กับครอบครัว คือสามีกับลูกสาว อีกหนึ่งคน อายุ 21 ปีแล้ว ด้วยเหตุของ โควิด-19 เธอจึงยังไม่สามารถเดินทางมา ประเทศไทยได้แม้แต่วันที่เธอต้องขึ้นเวทีรับ รางวัลชนะเลิศจากงานเขียนนวนิยายเรื่อง “รอยบาศ” วิทิดาอาจไม่ใช่นักเขียนมือใหม่หมาด ผ่านงานเขียนมากมายทั้งเรื่องสั้น นิยาย นวนิยาย ฯลฯ แต่ก็เรียกได้ว่าเป็น “มือรางวัล” คนหนึ่ง เธอเคยได้รับรางวัลแว่นแก้วของนานมีบุ๊คส์ และรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด จากเรื่อง “วันเกิดของ เค้าโมง” นับเป็นเพชรอีกเม็ด ของวงการนักเขียนไทย
 

      ความเป็นมาของเธอผู้นี้ เป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิด ขอไม่เปิดเผยวันเดือนปีเกิด แต่บอกได้ว่าปัจจุบันอายุ 50 ต้นๆ พ่อเป็นผู้พิพากษา มีภรรยาหลายคน แม่ของเธอเป็นหนึ่งในหลายคนนั้น สมัยเด็ก ๆ จึงแทบไม่เคย เห็นแม่ เห็นแต่ในรูป จึงโต มากับพี่เลี้ยง และเมื่อเข้าสู่วัยประถมศึกษาต้องย้าย โรงเรียนบ่อยเพราะมีปัญหากับโรงเรียน “ทำให้ดิฉันไม่ได้รับการอบรมให้เชื่อฟังผู้ใหญ่ ดูเป็นเด็กก้าวร้าว เป็นเด็กดื้อ ครูเขียนบทคาดโทษมา ในสมุดพกประจำ แต่ผู้ใหญ่ ที่บ้านก็ไม่ตอบสนองครู หรือ บางครั้งก็เขียนลงไปว่า ครูไม่ต้องเขียนมาอีก ถ้าครู จัดการเรื่องที่โรงเรียนเองไม่ได้ ก็ไม่ต้องมาฟ้องผู้ปกครอง คงพอเดาออกว่าดิฉันจะมีปัญหากับบรรดาครูมากแค่ไหน...” เธอว่าไว้ อย่างนั้น แต่ถึงอย่างไรวิทิดาก็จบปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และเคยเรียนสาขาวรรณกรรม ที่มหาวิทยาลัย Johannes Gutenberg ประเทศเยอรมนี (แต่ไม่จบ) ปัจจุบันเป็นแม่บ้านเต็มตัว แต่ไม่ค่อยทำงานบ้าน งานหลักคือ ดูแลต้นไม้และทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งไม่ได้ใหม่สำหรับคนอื่น แต่ใหม่สำหรับตัวเอง เช่น ลองทำน้ำปลา ทำซีอิ๊วขาว โดยเปลี่ยน สูตรไปต่าง ๆ นานา ความสนใจในตัวอักษรเริ่มมาตั้งแต่วัย เด็กเพราะเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ที่บ้านมีหนังสือเยอะมาก ตะลุยอ่านทุกเล่มที่มีอยู่ในบ้าน ทุกแนว ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ อ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับ อ่านทุกคอลัมน์ ทำให้สนใจเรื่องทุกแขนง “...การอ่านหนังสือ สำหรับดิฉันเหมือนการเล่นตุ๊กตา จมอยู่กับ หนังสือได้เป็นวันๆ กิจวัตรอย่างนั้นทำให้ดิฉัน รู้สึกว่าการเขียนหนังสือเป็นเรื่องธรรมดา ดิฉันจึงเขียนเรียงความได้ดี ในขณะที่เพื่อนๆ จะเขียนไม่ออก ดิฉันก็รับอาสาเขียนให้เพื่อนบางคนไปลอกเรื่องมาจากนิตยสาร เราอ่าน ปุ๊บก็รู้ว่าลอกตัวละครชื่อแมรี่ลู อะไรทำนองนี้ แต่ครูให้คะแนนไปเลยโดยไม่ติง ดิฉันในวัยเด็กจึงรู้สึกแปลก คนเป็นครูไม่รู้ได้ยังไง ดิฉันจึงไม่ค่อยเคารพครูอย่างที่เด็ก ๆ คนอื่นเขาทำ...” “...พอโตมาเห็นนิตยสารเล่มไหนรับเรื่องสั้น ดิฉันก็ส่งไป เป็นต้นว่า ต่วย’ตูน ขายหัวเราะ ดิฉัน แพรวสุดฯ ใช้นามปากกาไปเรื่อยโดยที่ตัวเองในปัจจุบันยังจำไม่ได้ ดิฉันไม่ได้มีความคิดอยากเป็นนักเขียน แค่เขียนได้ และได้รับค่าเรื่องเป็นธนาณัติส่งมาที่บ้าน ต้องไปขึ้นเงินที่ไปรษณีย์ข้างบ้าน ห้าร้อยบาทบ้าง พันบาทบ้าง มากที่สุดที่เคยได้คือสี่พันบาท ตอนนั้นรู้สึกว่าดีจัง แต่ไม่เคยบอกใครว่าเราเขียนหนังสือ เพราะไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องพิเศษ เหมือนคนทำงานขายของ ขายขนม ขายส้มตำ เขาก็ได้เงิน เราทำงานเราก็ได้เงิน หากจะถามเรื่องแรงบันดาลใจในงานเขียนมา จากอะไร ก็คงมาจากหนังสือทุกเล่มที่อ่านในวัยเด็ก นักเขียนทุกคนที่ดิฉันอ่านงานคือครู ของดิฉัน ดิฉันจำได้เสมอ และเคารพพวกท่านเสมอ ดิฉันได้รับการปรับทัศนคติจากหนังสือดีเหล่านี้ ยิ่งกว่าที่ได้รับจากผู้ใหญ่รอบตัว...”
 

      หลังจบบริหารธุรกิจ วิทิดาไม่ได้มุ่งหน้า ทำงานตามที่เรียนมา เพราะพ่อส่งตัวไป สมัครงานในบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งซึ่งเป็นบริษัทของเพื่อนพ่อ แต่เธอแค่ไปเขียนใบสมัคร ไม่ยอมไปสัมภาษณ์ ขณะเดียวกัน ก็แอบส่งใบสมัครไปยังสำนักพิมพ์นิตยสารต่างๆ เพราะอยากทำงานหนังสือ โชคดี ได้ทำงานที่แรกคือ นิตยสาร Thailand Executive Profile เป็นกองบรรณาธิการตัวเล็กๆ ที่ต้องตามบก.ไปสัมภาษณ์ แม้จะทำนิตยสารเล่มนั้นอยู่เพียงระยะเวลาสั้น ๆ แต่ประทับใจที่สุด เธอเล่าว่าได้รับมอบหมาย ให้ติดต่อคุณหญิงเบญจาภา ไกรฤกษ์ ซึ่งให้สัมภาษณ์ยากมาก แต่เมื่ออยากมีผลงานจึงเขียนเหตุผลเป็นข้อ ๆ ที่อยากเชิญคุณหญิงมาสัมภาษณ์ ซึ่งแน่นอนว่าถูกปฏิเสธกลับมาทุกครั้ง “...ครั้งที่สาม ดิฉันลองคุยกับท่านว่า ดิฉันเพิ่งเข้าทำงานบริษัทนี้เป็นเด็กใหม่ อยากสัมภาษณ์ท่านเป็นคนแรก ท่านปฏิเสธอีกเช่นเคย ดิฉันผิดหวังมาก รู้สึกว่าเราไม่เก่ง เลย หว่านล้อมคนมาสัมภาษณ์ไม่ได้ แต่หลังจากนั้นห้านาที คุณหญิงโทรศัพท์กลับมาและพูดว่า พร้อมให้สัมภาษณ์ได้ เพราะท่านเห็นใจ ที่ดิฉันเป็นเด็กเริ่มทำงาน อยากให้กำลังใจ นั่นคือความประทับใจอย่างที่สุดสำหรับเด็กใหม่อย่างดิฉัน...”
 

      หลังจากนั้นได้ทำงานกับนิตยสาร Silk Magazine ส่วนเล่มสุดท้ายคือ Telecom User Guide โดยรับตำแหน่งบรรณาธิการเป็นครั้งแรก ทั้งที่อายุยังน้อย แต่ได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากที่เคยทำงาน สายศิลปวัฒนธรรม กลายมาเป็นงานด้านเทคโนโลยี เวลานั้นคนไทยเพิ่งรู้จักโทรศัพท์ มือถือ เพิ่งรู้จักคำว่าดาวเทียม คนทำนิตยสารเองก็ปวดหัวมากกับการทำความเข้าใจเทคโนโลยีสื่อสารในเวลานั้น แต่สุดท้ายก็กลายมาเป็นความรู้ติดตัว ทำให้เข้าใจพื้นฐานของโลกการสื่อสารในทุกวันนี้
 

     ก่อนจะกลายเป็นเจ้าของรางวัลชมนาด วิทิดาบอกว่า เธอสนุกกับการเป็นแม่บ้าน จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้นึกอยากเขียนหนังสืออีกครั้ง แต่ยุคนี้เป็นยุคที่ไม่ค่อยมีนิตยสารอีกแล้วจึงเขียนในเว็บเด็กดี เขียนไปโดยไม่ได้คิดถึงเรื่องตีพิมพ์ ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะต้องตีพิมพ์ แค่อยากเขียนหนังสือให้ใครสักคนอ่าน แต่เขียนได้ประมาณหนึ่งปี “เป็นหนึ่งสำนักพิมพ์” ติดต่อเธออยาก ได้นิยายจีนที่เขียนในเว็บไปตีพิมพ์ กลายเป็นว่าเธอจึงได้ทำงานกับสำนักพิมพ์นี้มาโดยตลอด และเมื่อเห็นว่าประพันธ์สาส์นจัดโครงการประกวดนิยายจากนักเขียนหญิง จึงสนใจและส่งผลงานเข้าประกวดเป็นครั้งแรก ชื่อเรื่อง “รอยบาศ” เป็นนิยายที่มีการย้อนไปเกิดใหม่ในอดีต พล็อตนี้ไม่ใช่พล็อตใหม่ ถ้าตัดเรื่องการย้อนไปเกิดใหม่ของตัวละครเอก ออกไป รอยบาศก็คือการเล่าถึงชีวิตของผู้ หญิงหลายๆ คน ผ่านสายตา “นิรมล” และ “โบตั๋น” ตัวละครเอกในเรื่อง “...ดิฉันอยากเขียนถึงผู้หญิงในสังคมไทย ตั้งแต่คนรวย คนจน การศึกษาต่ำ การศึกษา สูง มีอาชีพการงานดี จนถึงคนที่ไม่มีทางออก คนเดินทางผิด รวมไปถึงคนที่มีโอกาสดีแต่ เลือกทำสิ่งที่ไม่ดี ผสมผสานไปกับแนวคิดของคนไทยที่ทุกสิ่งทุกอย่างไปเกี่ยวพันกับทางพุทธ เช่น เวลาดวงไม่ดีหรือได้รับแต่สิ่ง ไม่ดี เราก็คิดไปว่าเราทำกรรมอะไรมาในชาติ ก่อนหรือเปล่า เวลาอ่านข่าวสะเทือนขวัญ พี่น้องฆ่ากันตายเพราะแย่งมรดก เราก็จะพูด ว่า กรรม! เห็นคนได้ดิบได้ดีเราก็คิดในใจว่า เขาทำบุญด้วยอะไรนะ นี่คือสิ่งที่ติดอยู่ในกรอบความคิดของเราแทบตลอดเวลา รอยบาศจึงนำเสนอเรื่องราวที่ดูคล้ายจะเกี่ยวพันไปในทางพุทธ โดยไม่ได้มีเป้าหมายจะสอน เรื่องพุทธ เรื่องกรรม แต่อย่างใด เพราะในทางพุทธไม่มีการเกิดใหม่ในอดีต หรือแม้แต่ ย้อนไปแก้ไขอดีตก็ทำไม่ได้ รอยบาศเป็นเพียงการนำเสนอวิถีชีวิตแบบไทย ๆ ที่ยกเรื่องความ เชื่อทางพุทธมาพูดกันในชีวิตประจำวัน เช่น อุ๊ย ฉันเหยียบมดตาย ฉันบาป โดยที่ตัวเราอาจจะพูดอย่างขัน ๆ ไม่ได้สงสารมดตัวนั้น หรือไม่ได้เสียใจด้วยใจจริง เวลาเห็นคนได้ดีก็อาจจะพูดว่า ทำบุญด้วยอะไรมาหนอ ทำนองนี้ บังเอิญตัวละครหลักในรอยบาศพูดเรื่อง ทางพุทธบ่อย และโยงคนนั้นคนนี้ที่ตัวเอง เคยพบมาเกี่ยวข้องกับบุญกรรมไปหมด ทั้งที่พุทธไม่ได้สอนให้คนจมกับอดีต ไม่ได้สอน ให้คนอยากรู้อนาคต แต่สอนให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน รู้ทันความคิดของตัวเองในปัจจุบัน ตัวละครหลักในรอยบาศจึงเป็นชาวพุทธที่ ฟุ้งซ่าน แต่ถ้าเล่าเรื่องชีวิตผู้หญิงมาโดด ๆ มันก็จะไม่ตื่นเต้น ดิฉันจึงวางพล็อตให้ตัวเอกมาเกิดใหม่ในอดีต ทำให้เป็นปริศนาว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น...”


      เมื่อถามถึงไอดอลหรือนักเขียนในดวงใจ ทั้งไทยและเทศ วิทิดาบอกว่า เธอชอบนัก เขียนหลายคน นักเขียนไทยที่เธอมองว่าเป็นคนสอนให้มองโลกกว้าง คือ กฤษณา อโศก สินเพราะงานของกฤษณาไม่จำเป็นต้องมี พระเอกนางเอก พระเอกอาจเป็นคนที่ร้ายที่สุด นางเอกอาจเป็นคนที่ตัดสินใจอย่างโง่ที่สุด อ่อนแอล้มเหลวที่สุด แล้วก็จบลงด้วย การแยกย้าย หรือความตาย ซึ่งมันเป็นความจริงในสังคม ส่วนนักเขียนต่างประเทศ คือ Isaac Bashevis Singer ประทับใจการเล่า เรื่องแบบง่ายๆ ที่ได้อารมณ์ บางครั้งเป็นเรื่องเศร้า แต่ยังมีอารมณ์ขัน หรือเป็นเรื่องที่น่าจะดูตลก แต่กลับมีอารมณ์เหงา “...ดิฉันคง เป็นคนแบบเดียวกันนั้น เลยรู้สึกชอบงานของเขา...”


      นอกเหนือจาก “รอยบาศ” ที่ได้รับรางวัล แล้ว ยังมีผลงานอื่นๆ อีก ทั้งตีพิมพ์เป็นพ็อคเก็ตบุ๊กส์ ที่วางตลาดอยู่ปัจจุบัน อาทิ กาลครั้ง หนึ่ง กาลครั้งไหน, ฝ่าบาท หม่อมฉันเป็นนก ฮูก!, กระเรียนเหลืองลาลับไม่หวนคืน, สาวจอมคลั่ง ป่วนวังข้ามมิติ, คุณหนูใหญ่ตระกูล จางแต่งงาน (แล้ว) วิทิดาปิดท้ายบทสนทนาว่า เวลาเขียน หนังสือเธอไม่ได้คิดว่ามันจะต้องประทับใจ ใครอย่างไร เพราะความประทับใจขึ้นอยู่กับ ประสบการณ์ของผู้อ่าน เราจะเห็นว่า เพศ วัย เชื้อชาติ สังคม สภาพแวดล้อม รวมไป ถึงความละเอียดอ่อนในใจแต่ละคนมีผลมากต่อความรู้สึกเวลาอ่านหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง
 

“...ดิฉันไม่เคยคิดถึงการสร้างความประทับใจ แต่มีแนวคิดว่าหนังสือทุกเล่มต้องมีทางออก ที่มอบให้กับผู้อ่าน ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า ต้องจบดี จบสวย จบโดยสมบูรณ์แบบ เนื้อเรื่องอาจจะจบด้วยความไม่สมหวังตลกร้าย หรือเป็นโศกนาฏกรรมอย่างแรงก็ได้ แต่มันต้องมีอะไรบางอย่างที่บอกผู้อ่านว่า นี่คือธรรมดาโลก พระอาทิตย์ขึ้นทุกวันไม่ว่าชีวิต คุณจะเป็นอย่างไร ภาษิตจีนมีบอกไว้ประโยคหนึ่ง-- เพียงหันหลังก็เห็นฝั่ง หมายถึงว่า คนเราบางทีมองทะเลเวิ้งว้าง รู้สึกเหงา เศร้า โดดเดี่ยว ไม่มั่นคง ฯลฯ แต่ถ้าเรามองกลับมาอีกทาง เราก็จะเห็นฝั่ง เห็นพื้นดินที่เรากำลังยืนอยู่ เราสามารถก้าวต่อไป ต่อให้ล้ม เราก็ลุกได้ นี่คือสิ่งที่ดิฉันอยากบรรจุไว้ในหนังสือ ทุกเล่มที่เขียน...”

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ