ประสบการณ์ น้ำตา สาละวิน ประชาชน อำนาจ การกดขี่ : โดย กนิษนันทร์ ใจบุญ

ประสบการณ์ น้ำตา สาละวิน ประชาชน อำนาจ การกดขี่

 

          อำนาจเป็นสิ่งที่มนุษย์แสวงหาและปรารถนาได้มาครอบครอง ในสังคมทุกแห่งผู้มีอำนาจมักมีสถานะเป็นผู้ปกครอง และมีบทบาทในการกำหนดใช้อำนาจในมือได้ หากอำนาจถูกใช้ในทางที่ถูกประชาชนย่อมอยู่อย่างสงบสุข แต่หากอำนาจถูกใช้เพื่อผลประโยชน์และนำไปกดขี่ประชาชนอย่างไม่เป็นธรรมย่อมสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนได้อย่างมหาศาล

 

          ธีรภาพ โลหิตกุล ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของการใช้อำนาจของกลุ่ม “ผู้ปกครอง” ที่ได้กดขี่ประชาชนอย่างไม่เป็นธรรมผ่านงานเขียน “ประสบการณ์ น้ำตา สาละวิน” งานเขียนเรื่องนี้เป็นงานเขียนที่ผู้เขียนได้ถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากตัวผู้เขียน ผู้เขียนเปิดเรื่องโดยเล่าประสบการณ์ที่ตนได้เดินทางไปยัง “ริมฝั่งแม่น้ำเมย” ชายแดนไทย – พม่า เมื่อปี พ.ศ. 2535 ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาของความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกองกำลังกู้ชาติกะเหรี่ยง จากนั้นได้เชื่อมโยงไปสู้สิ่งที่ตนได้รับรู้เกี่ยวกับการใช้อำนาจกดขี่และทำร้ายชาวกะเหรี่ยงของทหารพม่าผ่านภาพยนตร์เรื่อง “จ่าแรม” ที่ตนได้รับชม ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สร้างอารมณ์โศกเศร้าสะเทือนใจอย่างแรงกล้าต่อผู้เขียน คือ ทำให้ “น้ำตาไหลพรั่งพรูออกมายากจะหยุดยั้ง” ความรู้สึกแสนเศร้าที่เอ่อล้นเช่นนี้ ทำให้ผู้เขียนหวนคิดถึงประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ในหลากหลายสังคมที่ประสบชะตากรรมการถูกกดขี่คล้าย ๆ กับชาวกะเหรี่ยงในภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งชาวกัมพูชาในยุคเขมรแดง ชาวไทเขิน และพระสงฆ์ในพม่าถูกเหยียบย่ำ นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้ระลึกถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่รัฐบาลไทยได้ใช้อำนาจในการกดขี่ย่ำยีประชาชน และเป็นเหตุการณ์ที่ผู้เขียนได้ประสบด้วยตนเอง เนื้อหาของ “ประสบการณ์ น้ำตา สาละวิน” จึงเป็นเนื้อหาที่ผู้เขียนได้ถ่ายทอดอารมณ์สะเทือนใจให้แก่ผู้อ่าน ผ่านเหตุการณ์ความขมขื่นของผู้ถูกกดขี่ และความเศร้าสลดของผู้เขียน อีกทั้งยังได้สอดแทรกความรู้เรื่องเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงและอำนาจรัฐในการกดขี่ประชาชนทั้งในประเทศพม่า เขมร และไทย อีกด้วยนั่นเอง

 

          ผู้เขียนได้ใช้กลวิธีการนำเสนอที่สร้างสรรค์ โดยได้เล่าเรื่องราวผ่านกระแสสำนึกของตนและได้เล่าเรื่องย้อนกลับไปยังเหตุการณ์การใช้อำนาจกดขี่ประชาชนของรัฐที่ผู้เขียนได้รับรู้และเคยประสบ สอดแทรกไปกับการแสดงความรู้สึกนึกคิดอันเศร้าสลดของผู้เขียน ทำให้เรื่องน่าสนใจชวนติดตาม นอกจากนี้ ในการบรรยายเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ผู้เขียนได้ใช้เทคนิคการระบุวันที่และเวลาในการแสดงให้เห็นลำดับเหตุการณ์และความเป็นไปของเรื่องที่เล่าได้อย่างชัดเจน

 

          ในด้านภาษา ผู้เขียนได้ใช้ภาษาเพื่อสร้างอารมณ์สะเทือนใจให้แก่ผู้อ่านได้อย่างดียิ่ง คือ การใช้ภาษาที่สร้างความเศร้าสลด เช่น ใช้การกล่าวเกินจริงบรรยายการไหลของน้ำตาว่า ภาพยนตร์ที่ได้ดูนั้นได้เข้ามา “จู่โจมทลายทำนบแห่งน้ำตาจนไหลพรั่งพรูออกมาอย่างยากจะหยุดยั้ง” ใช้การซ้ำวลีที่ว่า “มันคงเป็นความรู้สึกเดียวกัน” เพื่อเน้นย้ำความรู้สึกและแสดงให้เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ของประชาชนที่เป็น “ชนชาติส่วนน้อย” ต้องประสบอย่างขมขื่น นอกจากนี้ ในการบรรยายถึงการกระทำอันโหดร้ายของผู้มีอำนาจต่อประชาชนในประเทศต่าง ๆ ผู้เขียนยังได้เลือกใช้คำเป็นภาษาปากที่สร้างภาพด้านลบและสร้างอารมณ์สลด สะเทือนใจแก่ผู้อ่าน เช่น “กระทืบอย่างสุดถ่อย” “เอาค้อนทุบหัวตายไปต่อหน้าต่อตา” อีกทั้งยังเลือกใช้คำที่ไม่ควรนำมาคู่กัน มาใช้คู่กัน คือ “พระสงฆ์ก้มลงกราบตีนทหาร” เป็นการนำ “พระ” ที่ถือว่าเป็นของสูงมาอยู่คู่กับคำว่า “ตีน” ที่เป็นภาษาระดับปาก และเป็นคำหยาบคายมาใช้ด้วยกัน การเลือกคำในลักษณะนี้มาใช้ ส่งผลให้ผู้อ่านรู้สึกสลดสะเทือนใจ และมีความรู้สึกต่อผู้ที่ใช้อำนาจในการกดขี่ผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรมในด้านลบอีกด้วย

 

          นอกจากนี้ การใช้ภาษาในเรื่องนี้ผู้เขียนได้เน้นย้ำให้เห็นความโศกเศร้าอย่างมาก เห็นได้จากการใช้คำและวลีที่เกี่ยวข้องกับ “น้ำตา” ปรากฏอยู่ตลอดทั้งเรื่อง เช่น การนึกถึงภาพยนตร์ที่ทำให้บ่อน้ำตาแตก และทำให้หยดน้ำใส ๆ ไหลพรากแก้ม หรือ แม้แต่น้ำตาที่ไหลขณะที่ผู้เขียนเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในพฤษภาทมิฬ การใช้ “น้ำตา” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เขียนพยายามสร้างให้เนื้อเรื่องมีความเศร้าหมองและโศกสลดนั่นเอง

 

          “ประสบการณ์ น้ำตา สาละวิน” จึงเป็นเรื่องที่มีเนื้อหาแสดงให้เห็นความทุกข์ระทมของประชาชนที่ถูกผู้มีอำนาจใช้อำนาจกดขี่และทำลายอย่างไม่เป็นธรรม โดยผู้เขียนได้นำประสบการณ์ของตนเองที่ได้รับรู้และได้พบเจอ ประกอบกับการเลือกใช้คำและภาษาที่แสดงให้เห็นถึงความเศร้าและน้ำตาของผู้เขียนและผู้ถูกกดขี่ ผู้ที่ถูกกดขี่คงไม่ใช่เฉพาะชาวกะเหรี่ยงในประเทศพม่าเท่านั้นที่ประสบชะตากรรมนี้ แต่ยังมีประชาชนอีกมากมายที่ถูกกดขี่ย่ำยี ทั้งชาวเขมร ชาวไทเขินและพระสงฆ์ชาวพม่า หรือแม้แต่คนไทยเองด้วยเช่นกัน “ประสบการณ์ น้ำตา สาละวิน” จึงทำให้เห็นว่าการกดขี่ด้วยการใช้อำนาจในทางไม่ชอบต่อประชาชน อาจมีลักษณะเป็นสากลร่วมกัน คือ ในการกดขี่จะมีการใช้อำนาจกดขี่ผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม และจะมีความทุกข์เศร้าระทมร้าวอย่างแสนสาหัสของผู้ที่ถูกกดขี่อยู่เสมอนั่นเอง  

 

 

ประสบการณ์ น้ำตา สาละวิน "ประชาชน อำนาจ การกดขี่"
บทวิจารณ์ ประสบการณ์ น้ำตา สาละวิน ของ ธีรภาพ โลหิตกุล

โดย กนิษนันทร์ ใจบุญ
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 5

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ