หนังสือนำทางสู่อาชีพในฝัน : เปิดใจสัตวแพทย์และสาวแอร์ฯ

หนังสือนำทางสู่อาชีพในฝัน

 

เส้นทางพิชิตฝัน...กว่าจะเป็นแอร์โฮสเตส

หลายๆ คนคงมีอาชีพที่ใฝ่ฝัน และอยากจะหาทางเข้าใกล้ฝันนั้นให้ได้มากที่สุด โดยวิธีที่ง่ายที่สุดและเป็นโชคดีของคนที่ฝันอยากจะเป็นแอร์โฮสเตสและสัตวแพทย์ เพราะในวันนี้เรามีหนังสือที่ได้รับการถ่ายทอดจากคน 2 อาชีพนี้ นั่นคือ “ฉันไม่ใช่หมอหมาหมา...แต่ฉันเป็นสัตวแพทย์” และ “เส้นทางพิชิตฝัน...กว่าจะเป็นแอร์โฮสเตส” ซึ่งเป็นการบอกเล่าเรื่องราว การทำงานของแต่และอาชีพ และข้อมูลต่างๆ มากมาย อ่านง่ายๆ สบายๆ ขำๆ และจะทำให้อาชีพในฝันอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ซึ่งวันนี้ทั้ง 2 สาว สองอาชีพ ก็จะมาเปิดใจ ทั้งเรื่องอาชีพและหนังสือทั้ง 2 เล่มนี้ให้ได้ฟังกัน

จุลพงศ์ : เชิญนักเขียนทั้ง 2 ท่าน แนะนำตัวสักนิดครับ
ชนิกา : สวัสดีค่ะ ชื่อชนิกา คำเจริญ ชื่อเล่นชื่อแป้ง เป็นผู้เขียนหนังสือพอกเก็ตบุ๊คชื่อ “เส้นทางพิชิตฝัน กว่าจะเป็นแอร์โฮสเตส” ขณะนี้ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินค่ะ
เกษราภรณ์ : สวัสดีค่ะ หมอเก็ตค่ะ เกษราภรณ์ ภัทรนุกุล ฉันไม่ใช่หมอหมาๆ แต่ว่าเป็นสัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยมหิดลค่ะ เป็นผู้เขียนพอกเก็ตบุ๊คเรื่อง “ฉันไม่ใช่หมอหมาๆ แต่ฉันเป็นสัตวแพทย์”

จุลพงศ์ : อะไรเป็นแรงบันดาลใจสำหรับการเลือกอาชีพของทั้งสองคนครับ
ชนิกา : ในตอนแรก ไม่ได้มีฝันเหมือนใครๆ หรอกค่ะ ว่าโตมาอยากจะเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ก็เรียนมาธรรมดา แต่แล้วก็ไปได้ดีทางด้านภาษา เราก็เรียนไปทางนี้เลย พอเรียนไปแล้วรู้สึกว่ามันหนักมาก ฉะนั้นก็เลยมาคิดว่าอาชีพอะไรที่จะจ่ายให้เราได้คุ้มกับการที่เรียนมาหนักขนาดนี้ ก็มีรุ่นพี่แนะนำว่า ก็ไปเป็นแอร์โฮสเตสสิ เราก็รู้สึกว่า เป็นแอร์ฯ เหรอ ทำอะไรล่ะ... เสิร์ฟกาแฟ เสิร์ฟอาหารอย่างเดียวเหรอ ไม่เอาเด็ดขาด รุ่นพี่เขาก็บอกว่าให้ลองไปหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตดูก่อน แล้วศึกษาว่าเนื้องานจริงๆ มันเป็นอย่างไร ซึ่งเดี๋ยวนี้ข้อมูลในอินเตอร์เน็ตมันมีเยอะมาก พิมพ์เข้าไปเลยว่า พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน จะมีขึ้นมาเป็นร้อยหน้า ปรากฏว่าพอเราไปดูในเนื้องาน ในรายละเอียดจริงๆ แล้ว ก็รู้สึกว่าเนื้องานจริงๆ ของอาชีพนี้ก็น่าสนใจนะ มันเป็นงานที่ท้าทายดี แน่นอนเครื่องบินมันไม่ได้ตกกันทุกวัน แต่ถามว่าถ้าถึงเวลานั้นจริงๆ ก็ไม่ใช่ว่าใครก็ได้ที่จะทำ ก็เลยรู้สึกท้าทายและอยากจะลองทำดู

เกษราภรณ์ : จริงๆ แล้ว เก็ตอยากเป็นแอร์ค่ะ แต่ความสูงไม่ถึง ความสวยไม่พอ ก็เลยมาเป็นสัตวแพทย์ จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่คนที่รักสัตว์ด้วย แต่เป็นคนที่ชอบเรื่องวิทยาศาสตร์ พวกวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับสุขภาพชีวิต คุณภาพชีวิต ถามว่ารักสัตว์ไหม ก็ไม่ได้ชอบมากมายอะไร เพราะที่บ้านก็ไม่ได้เลี้ยงสัตว์อะไรเลย เพียงแต่ว่าชอบที่จะเรียนรู้ ชอบช่วยเหลือคนอื่น ก็เลยมาเรียนสัตวแพทย์ การเรียนสัตวแพทย์ค่อนข้างหนัก ใช้เวลาเรียน 6 ปี และเรียนกับสัตว์ค่อนข้างหลากหลาย อย่างหมอคนเขาก็จะเรียนการรักษาคนอย่างเดียว ซึ่งอวัยวะของคนก็เหมือนๆ กัน แต่ถ้าในสัตว์ หมูก็ไม่เหมือนช้าง ช้างไม่เหมือนไก่ ไก่ไม่เหมือนสุนัข ดังนั้นการเรียนแต่ละอย่างมันค่อนข้างยาก การรักษาก็ต่างกัน และอาชีพสัตวแพทย์ก็ยังขาดแคลนอยู่ อยากจะเชิญชวนน้องๆ ที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย ถ้ายังไม่มีอาชีพในฝัน สัตวแพทย์ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่อยากให้หลายคนเข้ามาลองดูนะคะ

ชนิกา : เราน่าจะแลกอาชีพกันนะคะหมอเก็ต เพราะแป้งนี่รักสัตว์มากเลยค่ะ ที่บ้านตอนนี้ก็เลี้ยงสุนัขไว้ 1 ตัว ตอนแรกเลี้ยงไว้ 3 ตัวเลยค่ะ แต่ก็ค่อยๆ ตายไปทีละตัว หลังจากนั้นคุณแม่ก็บอกว่าไม่ต้องซื้อมาแล้ว ตอนหลังก็ยังแอบไปซื้อมา แต่ว่าแค่ตัวเดียวก็พอ

จุลพงศ์ : ทำไมจึงคิดมาเขียนหนังสือกันครับ
ชนิกา : สำหรับแป้งที่อยากจะเขียนเรื่อง “เส้นทางพิชิตฝัน กว่าจะเป็นแอร์โฮสเตส” นี้ขึ้นมา เพราะคิดว่าเส้นทางกว่าที่จะมาเป็นแอร์ฯ มันไม่ได้เลิศเลออะไร มันไม่ใช่ว่าฉันต้องสวยเลิศเลอมากมาย ฉันถึงได้เป็น มันไม่ใช่แค่เรื่องหน้าตาอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องของภายในด้วย กว่าที่เราจะมาอยู่ตรงนี้ได้ มันเป็นเรื่องที่เราเรียนมา เราวางแผนมา มันหนักและมันเหนื่อย เพราะฉะนั้นก็เลยคิดว่า การที่เราอยากจะทำอะไรมากๆ แล้วมันไม่มีไกด์ ไม่มีใครคอยมานั่งบอกนั่งสอน มันเหมือนกับงมเข็มในมหาสมุทร ควานอยู่นั่นแหละ เหมือนกับว่าเราต้องมานั่งลองผิดลองถูก ต้องเสียเงินเสียเวลาไปเท่าไหร่ เราเลยรู้สึกว่า ถ้ามีคนมาบอกเราเป็นแนวทางว่า แค่นี้นะ ตรงนี้นะ ขีดเส้นสิ่งสำคัญๆ ไว้เท่านี้ มันอาจจะไม่ใช่ทางที่การันตีว่าได้เลย แต่อย่างน้อยๆ มันก็เพิ่มเปอร์เซ็นต์ที่จะได้มากขึ้น ก็เลยอยากจะช่วยให้คนที่มีฝันเดียวกัน ได้พิชิตฝันให้สำเร็จง่ายขึ้น โดยการเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาค่ะ

เกษราภรณ์ : เก็ตอ่านแล้วยังรู้สึกชอบเลยนะคะ ให้รายละเอียดดีมาก อาชีพแอร์โฮสเตส เป็นอาชีพที่ค่อนข้างเปิดกว้าง อย่างเพื่อนเก็ตก็มีที่จบสัตวแพทย์แล้วไปเป็นแอร์ฯ แต่อย่างอาชีพสัตวแพทย์นี่มันต้องจบมาทางนี้โดยตรง ไม่ใช่ว่าคุณคิดอยากจะเปิดคลินิกรักษาสัตว์ก็ทำได้ ตรงนี้มันจะมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ แต่อาชีพแอร์ฯ มันค่อนข้างเปิดกว้างมากกว่า เพียงแค่เรามีความชอบในงานบริการ และสนใจที่จะหาประสบการณ์ ก็สามารถไปสมัครได้ ส่วนหนังสือ "ฉันไม่ใช่หมอหมาหมา...แต่ฉันเป็น

สัตวแพทย์ " เรื่องนี้เดิมทีเป็นเรื่องราวที่เราเขียนอ่านกันเองในกลุ่มเพื่อน เป็นการเผากันสนุกๆ และมีช่วงหนึ่งเก็ตเขียนลงในนิตยสารสื่อรักสัตว์เลี้ยง เป็นเรื่องของเส้นทางการเป็นสัตวแพทย์ พอเขียนตรงนั้นจบ เราก็มานั่งคิดว่า ในระหว่างที่เราเรียนนั้น มันดูโหดร้ายทารุณมาก มันหนัก มันเหนื่อย แต่พอเราเรียนจบมาแล้วมันรู้สึกสนุก เลยคิดที่จะเขียน รวบรวมเอาเรื่องราวสนุกๆ ตรงนั้นมาเขียนเป็นเล่ม ก่อนหน้านี้ ก็เคยโพสต์ไว้ในเว็บบอร์ดพันธุ์ทิพย์ และโอเคเนชั่น แล้วก็มีเป็นตอนเก่าๆ อยู่ในสื่อรักสัตว์เลี้ยง เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องราวที่เราบันทึกเอาไว้เรื่อยๆ ตั้งแต่สมัยเรียน เช่น ไปล้วงวัวมาสนุกอย่างไร ตรวจช้างมาเป็นอย่างไรก็จดเอาไว้ แล้วมาเรียบเรียงทีหลัง แต่นี่ไม่ใช่งานเขียนเล่มแรกนะคะ เล่มแรกจะเป็นงานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ของเนชั่นบุ๊คอวอร์ด อย่างที่บอกไปแล้วว่าชอบเรื่องของวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องเมืองไทยปี 2600 เป็นไซไฟ แบบโลกอนาคต มีการประกวด และก็ได้รางวัลชนะเลิศด้วย ส่วนเล่มที่ 2 เป็นประกวดรางวัล วิชิต เลิศ รัตนประภา นี่ได้รางวัลชมเชย แล้วเล่มนี้ก็ถือเป็นเล่มที่ 3

จุลพงศ์ : ถือเป็นนักเขียนมือรางวัลเสียด้วย
เกษราภรณ์ : ก็ไม่ถึงขนาดนั้นหรอกค่ะ จริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีเทคนิคการเขียนหรืออะไร แต่อาจจะเป็นเพราะเรื่องที่เราอยากเขียนมันอาจจะไปตรงใจคณะกรรมการเข้า ก็เท่านั้นเอง

จุลพงศ์ : คุณแป้งล่ะครับ ใช้เวลาเขียนเล่มนี้นานขนาดไหน
ชนิกา : นานใช้ได้เลยค่ะ คือเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่เข้ามาสมัครเลยค่ะ เก็บทุกอย่าง หาข้อมูลอะไรได้ก็จะเก็บ และบันทึกไว้เป็นปึ๊งๆ เลย แล้วพอถึงเวลาก็เอามารวบรวม ที่รู้สึกว่าตั้งหน้าตั้งตาเขียนจริงๆ คือตอนที่เราคิดว่าจะพิมพ์เป็นเล่มแล้ว พอถึงเวลาก็เริ่มเอาข้อมูลดิบที่เรามี ค่อยๆ เอามาปั่นรวมกัน เวลาที่ใช้เขียนจริงๆ ทั้งเล่มเลยคือประมาณ 1 ปี บวกกับการประสานกับสำนักพิมพ์ ตรวจปรู๊ฟแก้นั่นแก้นี่ อีกประมาณ 6 เดือน

จุลพงศ์ : ทราบมาว่าต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษทั้งเล่มเพื่อให้ทางเจ้านายของคุณแป้งดู
ชนิกา : ใช่ค่ะ เพราะทางสายการบินของแป้งนี่เป็นของออสเตรเลีย บริษัทนี้เขาจะพูดภาษาอังกฤษ พอถึงเวลาจริงๆ แล้วเราต้องขออนุญาตจากผู้จัดการภาคพื้นของเรา พอขอแล้ว เขาก็บอกว่า ขอดูต้นฉบับภาษาไทยด้วย เราก็พริ้นต์ให้เขา แล้วเขาก็มาบอกว่าเจ้านายอ่านไม่ออก ขอต้นฉบับภาษาอังกฤษด้วย 150 หน้า A4 ขอเป็นภาษาอังกฤษ พระเจ้า! 2 อาทิตย์ กิน-บิน-นอน-แล้วก็แปล ทำอยู่แค่นั้นจนเสร็จ

จุลพงศ์ : พูดถึงชีวิตการเรียนกันบ้างดีกว่า เริ่มที่คุณหมอเก็ตก่อนครับ เรียนสัตวแพทย์เป็นอย่างไรบ้าง
เกษราภรณ์ : ถ้าถามว่าหนักไหม คงตอบว่าหนักค่ะ เพราะระยะเวลาในการเรียนมันนานถึง 6 ปี แล้วเราเรียนหลายสปีชีส์ เรียนตั้งแต่สัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์ปีก สัตว์ป่า ความยากของมันคือ ในการรักษาสัตว์แต่ละชนิดจะไม่เหมือนกัน ที่มหิดลจะรับสัตวแพทย์ไม่มาก ประมาณ 25 คน ต่างจากที่อื่น แล้วผลดีของการที่มีคนน้อยก็คือเราจะเรียนรู้อะไรได้เยอะ แต่ข้อเสียก็คือเวลาจบไป สายสัมพันธ์ในเรื่องรุ่นพี่-รุ่นน้องเราจะน้อยกว่า แต่ว่ามันก็ทำให้เรารักกัน เป็นความเหนียวแน่นที่รู้สึกประทับใจ เพื่อนที่จบไป 21 คน ก็ยังพูดคุยกันอยู่ ยังช่วยเหลือกันอยู่ไม่ทิ้งกัน อย่างเก็ตเองจบมาก็ทำงานในภาคผลิตยา เกี่ยวกับบริษัทผลิตยารักษาสัตว์เศรษฐกิจ แถวแจ้งวัฒนะ เป็นยาที่นำเข้าจากอเมริกา แล้วเราก็เป็นแผนกวิจัยยาตรงนั้น อาจจะไม่ได้คลุกคลีกับสัตว์มาก แต่ให้คำตอบได้หากใครสงสัย ว่าน้องหมาเป็นอย่างนั้น น้องแมวเป็นอย่างนี้ สามารถถามได้ สนุกนะคะการเรียนสัตวแพทย์

จุลพงศ์ : คุณแป้งละครับ
ชนิกา : เรื่องการเรียนของแป้งสมัยก่อน ถามว่าเอามาใช้กับการทำอาชีพนี้ได้ไหม ต้องบอกว่าลำบากนิดหนึ่ง ที่เราเรียนอักษรศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษ พูดง่ายๆ วิศวกรพูดภาษาอังกฤษได้ สัตวแพทย์พูดภาษาอังกฤษได้ เขาก็มาแย่งงานเราได้แล้ว เพราะฉะนั้นมันก็ต้องเป็นวิชาเรียนที่เรียนมาแล้วคนอื่นแย่งไม่ได้ อย่างเช่น เชกสเปียร์ ซึ่งไปทำงานใครเขาจะมาถามว่าอ่านเชกสเปียร์มากี่เล่ม แต่ถามว่ามันเอามาใช้ได้บ้างไหม ก็มีเรื่องภาษาอังกฤษที่ใช้ในเชิงธุรกิจ ภาษาอังกฤษที่ใช้ในการบริการ ก็มาปรับใช้เอา แต่ถามว่าในเรื่องอาชีพนี้เราศึกษามาอย่างไร ในเมื่อไม่สามารถเรียนในมหาวิทยาลัยได้ ที่สำคัญคือต้องหาข้อมูล ซึ่งอย่างที่บอกว่าในอินเตอร์เน็ตมีข้อมูลเยอะมาก จนไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนก่อน

ตอนประมาณปี 2 เพิ่งเริ่มรู้สึกว่าอยากจะเป็นแอร์โฮสเตส ซึ่งไม่เคยมีใครพูดถึง หรือสนับสนุน จนได้ไปคุยกับรุ่นพี่จึงรู้ว่า ใครๆ เขาก็อยากไปเป็นแอร์ฯ กัน เราก็ไปเริ่มศึกษา แล้วก็เริ่มวางแผน ปี 2 หาข้อมูล ปี 3 ไปฝึกงาน ปี 4 เราก็เริ่มเตรียมตัว ใช้เวลา 3 ปี ตั้งแต่หาข้อมูล เตรียมฝึกงาน ไปฝึกการบินไทย การที่จะมาถึงตรงนี้ได้ เงินเดือน 4-5 หมื่น หรือเหยียบแสน ไม่ใช่ว่าไปสมัครแล้วจะได้เลย มันต้องมีการเตรียมตัว เตรียมหาข้อมูลและทำการบ้านมาอย่างดี อย่างน้อยๆ นี่ก็ 3 ปีแล้วค่ะ ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ หรอกค่ะ

จุลพงศ์ : ช่วยเล่าถึงการเตรียมตัวเป็นแอร์ ฯ แบบคร่าวๆ ให้ฟังหน่อยครับ
ชนิกา : อาชีพนี้ไม่เหมือนดาราซะทีเดียว ที่จะอาศัยรูปลักษณ์ภายนอกอย่างเดียว เพราะเวลาไปสัมภาษณ์ สายการบินไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ น้อยมากที่เขาจะมาถึงแล้วให้ยืนกัน 5 คน อ่านภาษาอังกฤษ 2 ประโยค แล้วบอกว่าคุณได้หรือไม่ได้ บางสายการบินนี่เขาจะดูโหงวเฮ้งด้วย เขาจะมีซินแสมาเลย มาดูว่าจะเอาคนนี้คนนั้น แต่น้อยมากที่จะเป็นแบบนี้ ส่วนใหญ่เขาจะพิจารณาจาก 1. การใช้ภาษา 2. ประสบการณ์ 3.เรื่องของจิตใจ ว่าอารมณ์คุณมั่นคงหรือเปล่า ดูทั้งรูปลักษณ์ภายนอกและภายใน สำคัญหมด

จุลพงศ์ : คุณหมอเก็ตละครับช่วยเล่าประสบการณ์การทำงานสักนิดหนึ่ง
เกษราภรณ์ : ต้องบอกก่อนว่า การเรียนสัตวแพทย์มามันมีทางเลือกหลายทาง พอจบมา อาจจะทำงานเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เกี่ยวกับพวกคลินิกตามโรงพยาบาล ทำงานอยู่ฟาร์ม หมู วัว ไก่ ต่างๆ หรือทำงานในหน่วยงานราชการ กรมปศุสัตว์ กระทรวง หรือตามสวนสัตว์ หรือเอกชนก็คือพวกนักวิชาการต่างๆ ถามว่าชอบทางไหน เราชอบเดินทาง หากต้องมารักษาสัตว์ในพื้นที่ก็อาจจะอึดอัดสักหน่อย ก็ทำอยู่บ้างในช่วงแรกๆ แต่พอได้มาทำบริษัทนี้ ได้ออกเดินทางมากหน่อย ต้องไปตามฟาร์มต่างๆ มันก็มันกว่าเยอะ แล้วฟาร์มเขาก็จะให้เกียรติเรา คือการจะเรียนสัตวแพทย์ร่างกายต้องค่อนข้างแข็งแรงพอสมควร เพราะถ้าเกิดเป็นภูมิแพ้ แพ้พวกขนสัตว์ ก็คงเป็นอุปสรรคพอสมควร นอกจากแข็งแรงแล้วต้องใจรัก รักที่จะทำในหลายๆ พื้นที่ รักที่จะรักษา ดูแล และช่วยชีวิต ไม่ต้องถึงกับสมบุกสมบันหรือบึกบึนอะไรมาก

สำหรับเรื่องการรักษาที่คิดว่ายากที่สุด ก็คือพวกสัตว์แปลกๆ พวกเต่า กบ หนู กระรอกบิน ไม่ทราบว่าหามาเลี้ยงกันได้ยังไง เราก็ไม่ได้เรียนมาครบทุกอย่างขนาดนั้น ก็เลยต้องมาผสมผสานเอา ตำรับตำราบ้านเรามันก็ยังไม่ได้เขียนถึงขนาดนั้น ก็ต้องไปอ่านตำราเมืองนอกเอา แล้วสัตว์พวกนี้เราก็ยังไม่รู้ว่ามันมีโรคมีอะไรติดต่อมาบ้าง แต่ในมหิดลก็เริ่มมีหลักสูตรศึกษาพวกนี้เพิ่มขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้คนก็สรรหาสัตว์อะไรแปลกๆ มาเลี้ยงกันเยอะ

จุลพงศ์ : แอบถามเรื่องรายได้ของทั้ง 2 อาชีพ เขาว่าแอร์โฮสเตส รายได้สูงมาก จริงไหมครับ
ชนิกา : จริงค่ะ แต่ไม่มีเงินเก็บ ถามเพื่อนๆ ได้ว่า มีเงินเก็บกันบ้างไหม ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมี ได้เงินเดือนบอกหมดเลยว่า อย่างน้อยๆ สุด แบบเดือนหนึ่งบิน 5 วัน ที่เหลือนอนกลิ้งอยู่บ้านสบายมีความสุข อย่างน้อยๆ ได้ 3 หมื่น เงินเดือนเบสิคอยู่ที่ 14,000 บาท หลังจากนั้นไปบิน ค่ากิน-นอนต่างชาติ เขาจะเข้าใจว่าค่าเงินไม่เหมือนกัน เขาก็จะให้เงินค่ากิน-นอนสำหรับอยู่ที่นั่น แล้วชั่วโมงบินอีกก็ได้ต่างหาก แล้วสายการบินของแป้งเป็นสายการบินที่กึ่งขายของบนเครื่องบิน และเสิร์ฟแบบไม่อั้นเลย ทีนี้ถ้าขายของชนเครื่องได้อีกก็จะมีคอมมิชชั่นด้วย คืออย่างน้อยๆ นี่ได้อยู่แล้ว 3 หมื่น แต่ถ้าบินแบบเต็มๆ เหยียบเข้าไปได้เลยถึง 80,000 ถ้าสายการบินพวกตะวันออกกลางเฉียดแสน แต่ถามว่าทำไมวันนี้ถึงไม่มีเงินเก็บ อย่างที่บอกว่า คล้ายๆ กับดารานางแบบ คุณต้องอาศัยหน้าตา ผู้โดยสารจ่ายเงิน ตั๋วหนึ่งใบ ขนาดว่าเป็นโลว์คลาสแอร์ไลน์ ก็ยังเป็นหมื่นนะคะ ไม่มีใครยอมเสียเงินเป็นหมื่น แล้วไปเจอแอร์ฯ แบบว่าน่ากลัวสุด คือเราต้องดูแลตัวเอง กินให้พอ นอนให้พอ ต้องกินอาหารเสริมด้วย เพื่อไม่ให้ตัวเองป่วย คือทำงานแบบนี้ตายได้ป่วยไม่ได้ค่ะ

จุลพงษ์ : หมอเก็ตล่ะครับรายได้สัตวแพทย์เป็นอย่างไรบ้าง
เกษราภรณ์ : สัตวแพทย์มีรายได้เป็นรายเดือนก็จริง แต่เขาจะมีค่าที่เรียกว่า “ด็อกเตอร์ฟรี” คือสามารถเรียกเก็บได้ เบ็ดเสร็จอยู่ที่ 50 บาทต่อเคส แต่ในกรณีผ่าตัดบางบางกรณีสามารถอัพขึ้นไปถึง 250-3000 ไม่บวกค่ายาและค่าอื่นๆ อย่างสัตวแพทย์บางคนเขาจะไปเรียนด้านกระดูก รายได้ก็จะอีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือนรักษาทั่วไปหรือฉีดวัคซีน อยู่ประจำบริษัทอย่างเก็ตก็จะมีรายได้อีกแบบหนึ่ง รายได้จะขึ้นอยู่กับยอดขายของยาเข้าฟาร์ม การบริการฟาร์ม ส่วนเรื่องของการดูตัวเอง เราเป็นหมอ เราก็ไม่ควรป่วย เราจะดูป่วยๆ แล้วไปรักษามันก็ไม่ดี อย่างเก็ตจะเป็นเรื่องของการนอนที่ไม่ตรงเวลา เพราะต้องอยู่คลินิกตอนเย็นด้วย ก็ต้องอาศัยกินน้ำให้เยอะ พยายามหาเวลาพักผ่อน กินอาหารเสริมบ้าง คือสัตวแพทย์นี่ตายก็ตายไปเลย แต่อย่าป่วย บุคลากรยิ่งมีน้อยๆ อยู่ ชนิกา : เรื่องปัญหาสุขภาพนี่ต้องบอกว่า แป้งมีปัญหาตลอด ป่วยเหลือเกิน ป่วยบ่อยมาก พอจะไปบินก็ป่วยอีกแล้ว เหมือนกับว่าสมัยก่อนเราสุขภาพไม่ดีมาก เป็นภูมิแพ้

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ