เขียนแบบ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ : นักเขียนชาวอเมริกันได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมในปี 1954

เขียนแบบ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์

 


       เกิดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 อิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา และ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2504 เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ จบชีวิตตัวเองด้วยการยิงปืนกรอกปากตัวเอง หลายคนให้เหตุผลว่าเฮมิงเวย์ตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะค้นพบว่าพลังสร้างสรรค์ของเขาได้สูญสิ้นไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว และเขาไม่อาจจะยอมรับความพ่ายแพ้ของตนเองต่อชีวิตได้ ซึ่งดูจะสอดคล้องกับประโยคอมตะของเฮมิงเวย์ที่ว่า "มนุษย์ฆ่าได้แต่พ่ายแพ้ไม่ได้" "Man can be killed but not defeated" จากเรื่อง The Old Man and the Sea

 

       ส่วนหนึ่งของคำสดุดีในพิธีมอบรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมให้แก่เฮมิงเวย์ในปี พ.ศ.2497 ได้ยกย่องเขาว่าเป็นนักเขียนที่มี "ศิลปะการเล่าเรื่องแบบสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยพลังและสไตล์การเขียนชั้นบรมครู" ซึ่งมิใช่คำชมที่เลื่อนลอยแต่อย่างใดเลย สไตล์การเขียนของเฮมิงเวย์ที่ใช้ประโยคสั้นกระชับ ด้วยภาษาที่เรียบง่ายแต่มีพลัง ก่อให้เกิดจินตภาพชันเจน ได้กลายเป็นแบบฉบับที่นักเขียนรุ่นต่อมายึดถือเป็นแบบอย่าง จากบทสัมภาษณ์เฮมิงเวย์ในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขา ในประเทศคิวบา ตีพิมพ์ในนิตยสาร Paris Review พบว่า การทำงานของเฮมิงเวย์ค่อนข้างจะเป็นระบบระเบียบ ซึ่งอาจจะดูขัดกับภาพพจน์ที่คนทั่วไปมีต่อเขาว่า เป็นนักผจญภัย ใช้ชีวิตอย่างสมบุกสมบันประเภทนอนกลางดินกินกลางทราย เพราะว่าวิธีการและขั้นตอนการเขียนหนังสือของเฮมมิงเวย์นั้นทุกอย่างจะเต็มไปด้วยความพิถีพิถัน นิสัยที่แปลกอย่างหนึ่งของเขาคือเขาเป็นคนยืนเขียนหนังสือบนชั้นสำหรับยืนเขียน ในห้องนอนของเขาจะมีกระดาษบางแบบผิวหัวหอม (onion skin) วางซ้อนเป็นตั้งอย่างมีระเบียบ มีคลิปหนีบกระดาษซึ่งมีข้อความเตือนใจว่า "กระดาษเหล่านี้ต้องเสียเงินซื้อมา" เฮมิงเวย์เขียนต้นฉบับลายมือของเขาด้วยดินสอ ก่อนที่จะนำไปพิมพ์ด้วยพิมพ์ดีด นอกจากชั้นเขียนหนังสือ พิมพ์ดีด ในห้องเขาจะมีชาร์ตบันทึกการเขียนแต่ละวันเพื่อคอยเตือนใจ
 

        ในระหว่างสัมภาษณ์ เฮมิงเวย์จะย้ำอยู่เสมอว่า การซักถามอย่างเข้มงวดจนเกินไปเกี่ยวกับศิลปะของการเขียน รังแต่จะบั่นทอนและริดรอนพลังสร้างสรรค์ ดังนั้นเมื่อถูกถามเกี่ยวกับการเขียนของเขาเอง เฮมิงเวย์จะเริ่มอึดอัดใจที่จะพูดถึงมัน ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีอะไรจะพูด แต่เป็นเพราะเขารู้สึกอย่างมากๆ ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะพูดถึง คำถามบางคำถามเขาขอตอบด้วยการเขียน และคำตอบที่ห้วนๆ และอย่างเสียไม่ได้หลายคำตอบของเขาเป็นผลมาจากการที่เขารู้สึกค่อนข้างรุนแรงว่า การเขียนเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างมากๆ เป็นงานเอกเทศและอ้างว้าง ไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้ชมจนกว่าผลงานจะออกมาเสร็จสมบูรณ์
 

         "เวลาผมเขียนนิยายหรือเรื่องสั้น ผมจะเริ่มตั้งแต่เช้าทันทีที่แดดส่องทีเดียว มันเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีใครมาคอยกวนใจคุณ อากาศก็เย็นสบาย คุณเองก็กำลังมีไฟจะเขียน คุณจะอ่านสิ่งที่คุณได้เขียนไว้ และพร้อมที่จะเขียนต่อไป เพราะโดยปกติคุณจะเขียนไปจนถึงจุดที่คุณรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แล้วคุณก็จะหยุดและใช้เวลาครุ่นคิดกับมันสักวัน เพื่อว่าในวันรุ่งขึ้นคุณจะได้ลุยต่อไปได้เลย เอาเป็นว่าคุณอาจจะเริ่มเขียนตั้งแต่หกโมงเช้าเรื่อยมาจนถึงเที่ยงวัน หรืออาจหยุดก่อนหน้านั้นก็แล้วแต่ พอคุณหยุดเขียนคุณจะรู้สึกโล่ง ขณะเดียวกันก็รู้สึกเต็มอิ่ม มันก็เหมือนกับการที่คุณเพิ่งเสร็จจากการร่วมรักกับคนที่คุณรัก หลังจากนั้นทุกอย่างจะดูดีไปหมด ไม่มีอะไรที่ทำให้คุณเจ็บปวด ไม่ได้มีอะไรที่ทำให้คุณหวั่นไหว ไม่มีอะไรที่สลักสำคัญอีกต่อไป จนกว่าจะถึงวันรุ่งขึ้นเมื่อคุณจะลงมือเขียนต่อ ช่วงเวลาที่ยากที่สุดของการเขียนก็ตรงนี้แหละ ตอนที่คุณรอให้ถึงวันรุ่งขึ้น"
 

          เมื่อถูกถามว่าเขาแก้ไขต้นฉบับบ่อยแค่ไหน เฮมิงเวย์บอกว่า "ก็แล้วแต่ อย่างตอนจบของเรื่อง A Farewell to Arms ผมเขียนใหม่สามสิบเก้าครั้ง เฉพาะหน้าสุดท้ายของเรื่อง ผมแก้แล้วแก้อีก อีกสิบสามครั้งกว่าผมจะพอใจ" เฮมิงเวย์ขยายความต่อว่าปัญหาก็คือ "การหาคำที่ดีที่สุด"
 

          เมื่อถูกถามเกี่ยวกับนักเขียนที่เป็นต้นแบบต่องานเขียนของเขาและที่เขาสนใจศึกษาเป็นแบบอย่าง เฮมิงเวย์บอกรายชื่อมายาวเหยียด มีทั้งที่เป็นนักเขียนอเมริกันอย่างเช่น มาร์ค ทเวน และทอร์โร นักเขียนฝรั่งเศสเช่น โฟร์แบร์ท และสเตงเดล นักเขียนรัสเซียเช่น ตอลสตอย ดอสตอฟเยสกี้ เชคอฟ เตอร์กเนฟ กวีอังกฤษเช่น จอห์น ดันน์ แอนดรู มาร์เวลล์ เชคสเปียร์ กวีอิตาลีเช่น ดังเต้ เวอร์จิล นอกจากนี้มีรายชื่อจิตรกรมากมายเช่น บอสช์ บรูเกห์ล โกย่า และกลุ่มอิมเพรสชั่นนิสน์ เช่น แวนโก๊ะ โกแกง เชซานน์ รวมไปทั้งคีตกวี เช่น โมซาร์ท บาค ก็รวมอยู่ในรายชื่อด้วย เฮมิงเวย์อธิบายถึงเหตุผลที่เขาจัดจิตรกรและคีตกวีไว้ในรายการชื่อว่า "ผมเรียนรู้การเขียนหนังสือจากจิตรกรรมมากพอๆกับจากนักเขียน คุณอาจจะสงสัยว่ามันเป็นไปได้อย่างไร คงจะต้องใช้เวลาที่จะอธิบาย เอาเป็นว่า ผมเรียนรู้เกี่ยวกับฮาร์โมนีและการโต้ตอบอย่างสอดประสานจากงานของคีตกวีน่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนอยู่แล้ว"
 

          เฮมิงเวย์ให้ความเห็นเกี่ยวกับการที่นักวิจารณ์พยายามเสาะหาสัญลักษณ์ต่างๆ ในงานของเขาไว้อย่างน่าสนใจว่า "ผมว่าสัญลักษณ์มันก็คงมีอยู่จริงแหละมั้ง ในเมื่อพวกนักวิจารณ์เขาพบสัญลักษณ์โน่นนี่ในนิยายของผมอยู่ตลอดเวลา หากคุณจะไม่รังเกียจ ผมไม่ชอบพูดถึงหรือถูกถามถึงมันเลย ลำพังแค่เขียนหนังสือหรือเรื่องสั้นออกมาโดยไม่อธิบายความหมายก็ยากพออยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นถ้าผมอธิบายมันเสียเอง พวกนักวิจารณ์จะพลอยไม่มีงานทำกัน ถ้าหากนักวิจารณ์ห้าหรือหกคนสามารถทำหน้าที่อธิบายงานผมได้เรื่อยๆ ผมจะไปก้าวก่ายหน้าที่ของพวกเขาทำไมกัน จะว่ากันไปแล้วผมว่าคุณอ่านหนังสือที่ผมเขียนเพื่อความเพลิดเพลินในการอ่านก็เพียงพอแล้ว ส่วนสิ่งที่คุณจะค้นพบในหนังสือมันขึ้นอยู่กับคุณใช้มาตรฐานอะไรมาอ่านหนังสือเล่มนั้น"
 

          แม้ว่าเฮมิงเวย์จะอึดอัดใจที่จะพูดถึงขั้นตอนการเขียนและสร้างตัวละครของเขา และหลายครั้งที่เขาสวนกลับผู้สัมภาษณ์อย่างแรงๆ อย่างไรก็ตามเฮมมิงเวย์ได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับงานเขียนของเขาซึ่งได้กลายเป็นแนวคิดที่คนพูดถึงมากที่สุด นั่นคือความคิดที่ว่า งานเขียนเป็นเสมือนภูเขาน้ำแข็ง ส่วนที่ผู้อ่านอ่านนั้นเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ ส่วนภูเขาน้ำแข็งมหึมาที่ซ่อนตัวอยู่ใต้น้ำเหมือนกับความรู้สึกที่ผู้อ่านจะต้องเข้าถึงได้เองโดยผู้เขียนไม่จำเป็นต้องเขียนถึง จะเห็นได้ว่าในงานเขียนหลายชิ้นของเฮมมิงเวย์ผู้อ่านจะต้องจินตนาการเพื่อให้เข้าถึงอารมณ์ ความรู้สึก หรือเหตุการณ์ที่ซ่อนเร้นอยู่ในบทสนทนาหรือบทบรรยายฉาก ที่ดูผิวเผินแสนจะธรรมดาและเป็นธรรมชาติ ทว่าก็เต็มไปด้วยความหมาย
 

         "หากนักเขียนไม่สนใจที่จะเฝ้ามองพฤติกรรมของมนุษย์และเหตุการณ์ต่างๆรอบตัวเขา ชีวิตการเป็นนักเขียนของเขาก็จบลงตรงนั้นแหละ แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องสังเกตการณ์อย่างจงใจหรือคิดว่าจะเอามาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ใหม่ๆ อาจจะต้องเป็นอย่างนั้น แต่หลังจากนั้นทุกอย่างที่เขาพบเห็นจะสั่งสมเข้าไปในตัวเขาเอง หากคุณคิดว่ามันจะเป็นประโยชน์ ผมบอกให้ก็ได้ว่า ผมพยายามเขียนหนังสือโดยอาศัยหลักการของภูเขาน้ำแข็ง คือว่าทุกๆหนึ่งส่วนที่คุณเห็นนั้นจะมีเศษเจ็ดส่วนแปดของมันซ่อนอยู่ใต้น้ำ หากสิ่งไหนคุณรู้อยู่แล้วคุณไม่ต้องไปเขียนถึง ตัดมันออกไปได้เลย และนั่นคือส่วนที่อยู่ใต้น้ำ แต่ถ้าคุณไปตัดส่วนที่คุณไม่รู้เรื่องออก นั่นแหละจะทำให้เรื่องนี้มีช่องโหว่"
 

           "เรื่อง The Old Man and the Sea อาจจะเขียนไปได้พันๆหน้า พูดถึงตัวละครทุกคนในหมู่บ้าน เต็มไปด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของแต่ละคน ตั้งแต่เกิด เข้าเรียนหนังสือ ออกลูก ฯลฯ นักเขียนบางคนเขียนแบบนั้นและทำได้ยอดเยี่ยมวิเศษเสียด้วย ในการเขียนหนังสือคุณจะถูกจำกัดด้วยสิ่งที่มีคนทำมาก่อนอย่างดีแล้ว ดังนั้นผมจึงพยายามทำในสิ่งที่ไม่มีใครทำมาก่อน ประการแรก ผมพยายามกำจัดทุกอย่างที่มันไม่จำเป็นต่อการสื่อประสบการณ์ให้กับผู้อ่าน เพื่อว่าหลังจากที่เขาหรือเธออ่านมัน มันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ของเขาหรือเธอไป ดูเสมือนว่ามันเกิดขึ้นจริงๆ มันยากมากที่จะเขียนให้ได้อย่างที่พูดข้างต้น และผมก็พยายามอย่างมากที่จะเขียนให้ได้"

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ