8 เรื่องสั้นคัดสรร เสกสรรค์ ประเสริฐกุล : เรื่องราวระหว่างทาง บอกเล่าความคิดผ่านประสบการณ์ชีวิต

8 เรื่องสั้นคัดสรร เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

     เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตแกนนำนักศึกษา 14 ตุลาคม 2516 ต่อมาภายหลังได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มุ่งหวังปฏิวัติต่อต้านระบอบเผด็จการทหาร หลังจากเข้าป่าจับปืนสู้รบกับรัฐบาล เสกสรรค์เกิดผิดหวังในขบวนการของพรรคคอมมิวนิสต์เองที่ล้มเหลว ไม่แน่วแน่ในอุดมการณ์ จึงยอมวางปืนมอบตัวกับทางรัฐ ปิดฉากชีวิตนักปฏิวัตินับแต่นั้น วรรณกรรมผลงานของเสกสรรค์ จึงถ่ายทอดจากประสบการณ์ มุมมองความคิดในแต่ละช่วงของชีวิต 

     บทความนี้จึงขอแนะนำหนังสือปลงานของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่ตีพิมพ์โดยประพันธ์สาส์นซึ่งปัจจุบัน (พ.ศ. 2565) มีจำนวน 8 เล่มด้วยกัน 

 

ดอกไผ่ 

     ชุดรวมเรื่องสั้นเรื่องแรกในชีวิตนักเขียนของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นการหยิบบันทึกที่เขียนไว้ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษากระทั่งถึงช่วงจับปืนเข้าป่า บันทึกเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องราวชีวิตของคนเล็กคนน้อยที่น่าสะเทือนใจ ชีวิตของเหล่าผู้ถูกกระทำจนไม่เหลือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ใดๆอีก เสกสรรค์กล่าวว่าเรื่องราวเหล่านี้ปล่อยผ่านไม่ได้ โลกต้องได้รู้จักพวกเขาเหล่านั้น

 

 

เดินป่าเสาะหาชีวิตจริง

      หนังสือชุดนี้ร้อยเรียงจากบันทึกช่วงเป็นทหารคอมมิวนิสต์ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เล่าถึงภารกิจหาแนวร่วมในป่า ได้พบเจอชาวบ้านชาวป่ามากมาย บางคนเห็นความหวังที่พรรคคอมมิวนิสต์จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตแร้นแค้นของพวกเขา หากเพราะสถานการณ์ภายในพรรคคอมมิวนิสต์เองที่ทำให้เสกสรรค์รู้สึกสิ้นหวังที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ตนและชาวบ้านคาดหวังไว้

 

ฤดูกาล

      วรรณกรรมสะท้อนสังคมเมืองจากแนวป่า ในช่วงชีวิตที่เคว้งคว้างเสกสรรค์ได้หยิบเอาบันทึกที่จดมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษากระทั่งถึงช่วงเข้าป่า นำมาร้อยเรียงออกมาเป็นงานวรรณกรรมถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละคร กล่าวได้ว่าเรื่องสั้นทุกเรื่องของเสกสรรค์นั้น Base on true story ทั้งสิ้น เราจึงได้เห็นพลังดิ้นรนตะเกียกตะกายของตัวละครอย่างสุดชีวิตราวกับเห็นด้วยตาตนเอง

 

มหาวิทยาลัยชีวิต

     หนังสือชุดนี้ร้อยเรียงขึ้นจากบันทึกช่วงวัยหนุ่มของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล กล่าวถึงเหตุการณ์นักศึกษาและประชาชนเดินขบวนต่อต้านเผด็จการ 14 ตุลาคม ว่าตัวเขานั้นเข้าไปข้องเกี่ยวได้อย่างไร จากชีวิตเด็กบ้านนอกที่ไม่เคยรู้เรื่องราวโลกภายนอก เข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย คณะรัฐศาสตร์ด้วยความมุ่งหวังจะเป็นข้าราชการเป็นนายอำเภอ แต่ที่สุดแล้ว เมื่อได้เผชิญโลกกว้าง ก็ได้ทำให้เขารู้จักกับคำว่าชีวิตและการเมือง

 

 

สะพานไผ่เหนือสายน้ำเชี่ยว 

      "งานเขียนชุดสะพานไผ่เหนือสายน้ำเชี่ยว ถูกเขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระในระยะประมาณ 20 ปี หลังจากเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ออกจากป่า หรือกล่าวอีกแบบหนึ่งคือเป็นงานเขียนจากช่วงที่เสกสรรค์อยู่ในวัยหนุ่มมาจนถึงวัยกลางคน ดูผิวเผินแล้วงานชุดนี้อาจจะคล้ายบันทึกความทรงจำธรรมดาเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผู้เขียนได้ประสบพบมา แต่สำหรับผู้อ่านที่สัมผัสไวและมองโลกได้ลึกพอ ก็จะรู้ว่าสิ่งที่เสกสรรค์เขียนถึงมากที่สุดไม่ใช่เหตุการณ์ภายนอก หากเป็นทั้ง "สนามรบ" ที่ยังคงตกค้างอยู่ข้างใน และเป็นความพยายามที่จะแกะรอยการก่อรูปของ "ตัวเอง"

 

 

 

ผู้ยิ่งใหญ่ 

      ผ่านร้อนผ่านหนาว หลายทศวรรษหลังจากมรสุมทางการเมืองได้พัดผ่านประเทศไทย เมื่อครั้งวันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 หลายบทเรียนถูกจดจำและถ่ายทอด จากวันนั้นถึงวันนี้ประเทศไทยยังไม่มีทิศทางการเมืองที่แน่นอนนัก ความเป็นอยู่ของคนไทยก็เช่นกัน ที่ถึงแม้จะมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด แต่ความเป็นอยู่ของคนไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในความลำบาก ดั่งความยากจนเป็นรากไม้ที่ฝังรากลงดินหยั่งลึกในแผ่นดินไทยไปเสียแล้ว

      “ผู้ยิ่งใหญ่” หนังสือรวมเรื่องสั้น ปลายปากกานักเขียนมือทอง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้ผ่านเรื่องราว วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ในฐานะผู้นำนิสิตนักศึกษาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสิทธิที่พึงได้รับจากรัฐบาล การเขียนเรื่องสั้นส่วนใหญ่ของเขาจึงสะท้อนสังคมบอกเล่าเรื่องราวที่ตัวผู้เขียนเองได้ประสบพบเจอในชีวิต ผ่านมุมมองที่ลึกเข้าไปถึงความลำบากของคนในสังคมที่มีแต่ความสับสนวุ่นวาย โดยวางตัวละครดำเนินเรื่องเป็นบุคคลตัวเล็กๆ ในสังคมและบุคคลเหล่านี้ล้วนแต่ตกอยู่ในความทุกข์เพียงลำพัง

      หน้าปกที่ดูโดดเด่นจากตัวอักษรสีแดงความว่า “ผู้ยิ่งใหญ่” สื่อใจความได้ดีจากใบไม้สีแดงปลิวลงมาโดดเดี่ยวท่ามกลางลวดลายขาวสลับดำ หน้าสารบัญบ่งบอกถึงเรื่องสั้นต่างๆ ที่มารวมเล่มไว้ถึง 27 เรื่อง ซึ่งผู้เขียนประพันธ์ไว้ในช่วงปี พ.ศ.2525 – 2539 และถ้าหากค่อยๆ เปิดอ่านหน้าคำนำจากสำนักพิมพ์ ผู้อ่านจะได้สัมผัสเรื่องราวย่อๆ ของผู้เขียนที่นับว่าเป็นประสบการณ์มนุษย์อย่างเราๆ หาได้ยากยิ่งนัก

      เหตุการณ์ของแต่ละเรื่องเกิดขึ้นต่างวาระต่างสถานที่ ตัวละครในแต่ละเรื่องไม่ได้ผูกโยงกัน หากเป็นการจบในตอนตามธรรมเนียมของเรื่องสั้นทั่วไป โดยจุดเด่นที่เห็นได้ชัดในทุกๆ เรื่องคือการพรรณนาภาพของผู้เขียน

 

 

สายน้ำและทางช้าง 

      เป็นหนังสือที่รวบรวมเอาบทความต่างๆ ที่เขียนโดยเสกสรรค์ ประเสริฐกุล มาพิมพ์ใหม่ ภายใต้ชื่อสายน้ำและทางช้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวของการบันทึกการเดินทางของผู้เขียนที่พยายามหาคำตอบให้กับชีวิตที่กำลังเสาะแสวงหาตัวตนของตัวเองที่หายไปช่วงหนึ่ง ซึ่งเขาได้นำเอาประสบการณ์เหล่านั้นมาถ่ายทอดเป็นเรื่องราวผ่านหนังสือเล่มนี้เพื่อให้ผู้อ่านที่สนใจได้รับรู้ในเรื่องราวที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวชีวิตในด้านต่างๆ

     ดูผิวเผินแล้ว "สายน้ำและทางช้าง" อาจดูเหมือนสารคดีท่องเที่ยว ตกปลา หรือ เดินป่าธรรมดา แต่ถ้าใครเคยอ่านงานเหล่านี้ซึ่งเคยพิมพ์อยู่กระจัดกระจายในที่อื่นๆ ก็จะรู้ว่าสิ่งที่ "เสกสรรค์" เขียนถึงมากที่สุดไม่ใช่ภูมิประเทศหรือเหตุการณ์ภายนอก หากเป็นสนามรบ ที่ยังคงตกค้างอยู่ข้างใน ลักษณะดังกล่าวทำให้งานเขียนของเขาค่อนข้างแตกต่างๆ จากนักเขียนคนไทยอื่นๆ และกลายเป็นเส้นด้ายที่มองไม่เห็น ซึ่งช่วยร้อยเรียงงานทุกชิ้นให้เป็นชุดเดียวกัน บทบันทึกการเดินทางเพื่อค้นหาตัวตนที่แท้จริงของชายผู้นี้มีอะไรบ้าง? ร่วมค้นหาคำตอบพร้อมกันได้แล้วในเล่ม

 

 

ข้าวเม็ดน้อย 

        ข้าวเม็ดน้อย ประกอบด้วยเนื้อหา 2 ภาค โดยภาคแรกเป็นความเรียงกึ่งร้อยแก้วกึ่งร้อยกรอง ซึ่งคัดสรรมาจากหนังสือชื่อผ่านพบไม่ผูกพัน (2548) และบุตรธิดาแห่งดวงดาว (2552) ส่วนภาค 2 เป็นบันทึกประสบการณ์บางส่วนในช่วงปลายวัยกลางคนต่อกับต้นวัยชราของผู้เขียน ซึ่งเคยรวมอยู่ในหนังสือชื่อวันที่ถอดหมวก (2550) กับวันที่หัวใจกลับบ้าน (2554) เราอาจกล่าวได้ว่าข้อเขียนทั้งหมดนี้เป็นงานทางด้านจิตวิญญาณ (Spiritual Writings) ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ซึ่งมีน้ำหนักอย่างยิ่งในการทำให้เขาได้รับการประกาศเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ดังจะเห็นได้จากคำยกย่องของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งยืนยันว่างานเขียนในระยะหลังๆ ของเสกสรรค์ “เป็นวรรณกรรมเชิงปรัชญา บนพื้นฐานภูมิปัญญาตะวันออก...ตกผลึกทางความคิด มีความลุ่มลึกคมชัด...ประณีตงดงามทางวรรณศิลป์และเป็นแบบอย่างการประพันธ์แก่นักเขียนรุ่นหลัง”

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ