ลูกอีสาน : ลูกอีสานเป็นเรื่องจริงอิงนิยายของคำพูน บุญทวี

ลูกอีสาน

 

               เป็นเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลนี้ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจที่มีนักเขียนชาวอีสานโดยกำเนิดฝีมือจรดปลายปากกายอดเยี่ยมถ่ายทอดงานเขียนออกสู่สายตาประชาชนจนเป็นความงดงามทางวรรณศิลป์แห่งภาษาไทย   สามารถให้ความสุขกับผู้อ่าน ผู้ที่สนใจ นวนิยายลูกอีสานให้ได้เสพธรรมชาติวิถีชีวิตบ้านนอกอยู่ในห้วงความทรงจำเสมอไป

 

              ผญา  :  “  เกิดเป็นคนอีสานให้ฮักแพงกันไว้  ให้สามัคคีกันไว้คือข้าวเหนียวนึ่งใหม่ อย่าสิเพพังม่างคือจั่งน้ำถืกข้าวเหนียว ให้สามัคคีกันไว้คือฝนใหญ่สิตกห่า ตกลงมาจากฟ้าให้โฮมห่งแต่อยู่หนอง เดอพี่น้องเอย. ”

 

              ลูกอีสานเป็นเรื่องจริงอิงนิยายเกี่ยวกับชีวิตของคำพูน บุญทวี ซึ่งเกิดอยู่ในภาคอีสานที่จังหวัดอุบลราชธานี  เขาได้นำเสนอประสบการณ์ชีวิตอันเป็นความอดอยาก แร้นแค้นของคนในหมู่บ้านและครอบครัวของเขา  ที่ไม่มีฝนตกมานานแล้ว ทำให้เพื่อนบ้านบางครอบครัวต้องอพยพไปอยู่ยังพื้นที่ มีความอุดมสมบูรณ์ แหล่งอาหาร มีน้ำไว้ใช้อุปโภคและบริโภคได้ตลอดทั้งปี  เหมาะแก่การดำรงชีวิตต่อไปพร้อมกับสร้างที่อยู่อาศัยพำนักเป็นที่ตั้งหลักถิ่นฐานใหม่ได้  แต่คำพูน บุญทวี หรือชีวิตของตัวละครก็คือ เด็กชายคูนนั่นเอง อาศัยอยู่กับพ่อแม่และน้องสาวอีก ๒ คน โดยครอบครัวของคูนไม่คิดจะย้ายไปไหน เพราะได้รับคำสั่งของปู่ให้อยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ ถึงจะแล้งไม่มีฝนตกลงมาก็ตาม พ่อของคูนจึงขยันทำมาหากินมากกว่าเดิม หากอาหารหลักก็คงเป็นปลาแดก (ปลาร้า) เป็นเมนูพิเศษ นิยมรับประทานในครัวเรือน จึงทำให้คูนและน้องกินอิ่มนอนหลับอย่างมีความสุข แต่แล้วเวลานั้นเป็นช่วงฤดูแล้งและโรงเรียนได้ปิดภาคเรียนต้น ฝนมีทีท่าจะตกก็ไม่ตกลงมาสักที เพื่อนบ้านญาติพี่น้องต่างหวั่นเกรงว่าข้าวที่อยู่ในยุ้งข้าวตุนไว้จะไม่พอกิน  เลยปรึกษากันว่าจะออกไปหาเสบียงมาแลกข้าวสารกับชาวบ้านคนอื่นที่ยังมีข้าวเหลือพอประทังชีวิต   แล้วบรรดาญาติมิตรสหายของครอบครัวคูนก็ออกเดินทางรอนแรมฝ่าดินทรายร้อนระอุไปหาแหล่งน้ำชีเพื่อหาจับปลา ทั้งนี้ผู้เดินทางยังแสดงให้เห็นเวลาเดินทางไปในสถานที่ระยะทางไกล ๆ ไม่ค่อยจะมีแหล่งอาหาร ผู้คนกลุ่มนั้นจะกินได้แม้กระทั่งสัตว์ แมลงต่าง ๆ เพราะความหิวโหยไม่มีอันจะกิน จับกิ้งก่า ขุดบึ้ง จับอึ่งอ่างมาย่างกินสื่อให้เห็นชีวิตของชาวอีสาน เมื่อคูนมาถึงที่ลำน้ำชีแล้ว ทุกคนต่างแยกย้ายไปหาปลาเพื่อมาทำปลาร้า ปลาส้ม ปลาตากแดดใส่กระบุงตุนไว้ ส่วนคนหาปลาก็หาไป จนครบกำหนดวันกลับก็ได้ปลากันเยอะพอสมควร จึงพากันกลับมายังบ้านของตนและนำไปแลกข้าวสารจากบ้านอื่นๆบ้างหรือแบ่งกันเอาไปรับประทาน ในส่วนนี้แสดงให้เห็นถึงน้ำใจของคนไทยที่อยู่ไหนก็ไม่มีวันทอดทิ้งกัน และเมื่อกลับมากันแล้วฝนก็เป็นใจ โปรยลงมาจากฟ้าให้หมู่บ้านของคูนทำให้ได้ทำนากันอย่างอดทนรอคอยมานาน ฟ้าไม่เคยโทษใครเพราะบนท้องฟ้าไม่มีอะไรที่แน่นอน  ฉะนั้นจึงควรมุ่งมั่น ขยันทำมาหากิน ไม่ควรรอคอยฝนฟ้า อากาศที่แปรปรวนสภาพไปวัน ๆ จากนั้นมาครอบครัวของคูนและคนในหมู่บ้านแห่งนั้นใช้ชีวิตอยู่อย่างมีสุขทุกคน

 

               ลูกอีสาน เป็นนวนิยายที่มีการดำเนินเรื่องโดยแบ่งเนื้อเรื่องเป็น ๓๖ ตอน ปะติดปะต่อเข้าผสานร้อยเรื่องราวให้กระชับทั้งฉาก ตัวละคร แนวคิดของเรื่อง และบทสนทนาที่แสดงการใช้ภาษาถิ่นอีสานบวกกับภาษาไทยได้อย่างลงตัว สามารเข้าใจง่ายไม่สับสน มีความกลมกลืนชวนให้น่าดึงดูดใจและติดตามวิถีชีวิตชนบทของภาคอีสานได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะผู้เขียนเป็นชาวอีสานขนานแท้สามารถนำประสบการณ์ชีวิตที่เคยผ่านมาแล้วในอดีต มาเล่าผ่านภาษาตรึงตาและตรึงใจให้ผู้คนหันมาอ่านนวนิยายกันมาก โดยประกอบด้วยประเพณี วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ความเชื่อ และธรรมชาติ สะท้อนออกมานำเสนอผ่านตัวละครเด็กชายคูน ที่เป็นตัวเด่นของเรื่องให้เห็นภาพบรรยากาศลึกลงถึงความเป็นอีสาน ที่มีคุณค่าและไม่มีความน่าสงสารแต่อย่างใด โดยเฉพาะในเรื่องอาหารการกินของคนอีสานที่กินกันแบบนี้มาแต่บรรพบุรุษ เป็นภูมิปัญญาตกทอดมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน

 

               คำพูน  บุญทวี ไม่ใช่นักเขียนที่เขียนนวนิยายรักโรแมนติก เขียนล้อการเมือง เขียนสะท้อนสังคม แต่เขานำเสนอปัญหาความอดอยากของคนทางภาคอีสานว่า ถ้าฝนไม่ตกลงมา ก็ไม่มีใครได้ทำนาขายข้าวที่เป็นผลผลิตให้คนในเมืองซื้อไปกิน  เขาเขียนแหวกแนวนวนิยายทุกอย่างมีความแตกต่างออกไป ซึ่งมีจุดมุ่งหมายก็คือเรื่องสัจนิยม เป็นเรื่องความอดอยาก แร้นแค้นโดยเฉพาะที่ไม่อาจโทษฟ้าลิขิตได้ และเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่ออีกทางหนึ่งก็เป็นได้ที่เวลาถึงฤดูฝน ฝนไม่ตกลงมาเพราะความเชื่อว่าผู้หญิงมีผัวแล้วยืนปัสสาวะผิดผีปู่ย่าบรรพบุรุษ ถือว่ายังเป็นคติชนของชาวบ้านทั่วไปหาข้อพิสูจน์ยังไม่ได้หรือยังไม่ทราบข้อเท็จจริงที่ชัดเจน  แต่คำพูน  บุญทวี ก็ใช้ชีวิตมาตั้งแต่เด็กจนโตอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนั้น จนรู้จักกับความต่อสู้กับสภาพอากาศที่แปรปรวน ธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรมของอีสานได้อย่างดี สิ่งสำคัญก็คือ เรื่องลูกอีสานนี้เป็นเกร็ดชีวิตที่นำมาให้ทุกคนได้รู้จักกับความยากลำบากของชนชาวอีสานได้เข้าถึงอย่างแท้จริง

 

              จะเห็นว่าตลอดเรื่องผู้อ่านมองเห็นความทุกข์คือ การอดบ้าง กินบ้างหรือไม่พอจะกิน กินก็กินแต่อาหารซ้ำ ๆ จำเจ นั่นก็คือปลาร้า ที่เป็นอาหารหลักเลยก็ว่าได้ จนบ้างครั้งอาจทำให้ผู้อ่านอยากลิ้มรสเนื้อปลาร้าหอม ๆจนน้ำลายสอได้เหมือนกัน  บางวันก็ไปหาอาหารหน้าแล้งได้มากินกับภรรยาและลูก ๆ ถ้าวันไหนไม่ได้ ก็เกิดโมโหบันดาลโทสะขึ้นมา ด้วยว่าความหิวกระหายไม่ได้ปรานีใครในหมู่มวลมนุษย์ อย่างเช่นลุงเมฆ พ่อของอ้ายทิดจุ่นตีหมาตาย ตอนไปไล่จอนฟอน เพราะว่าหมาปล่อยให้พังพอนหลุดจากปากมันแล้วลงไปในรู ทั้งที่เป็นหมาเลี้ยงมาแต่ยังเล็ก รวมถึงยังซื่อสัตย์ รับใช้ล่าสัตว์ต่างๆนานาให้กินมานาน ถ้าวันไหนรันทดจริง ๆ ความจนและความอดอยากเขาจะกินได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ บึ้ง งู พังพอน  จิ้งหรีด ตุ๊กแก จักจั่น ไปจนถึงกิ้งก่าและกินกันอย่างเอร็ดอร่อย ไม่คำนึงว่าจะมีสารอาหารครบ 5 หมู่  มีวิตามินหรือเสี่ยงต่อโรคอันใดหรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นวิถีความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตที่ไม่ได้ให้ใครมาสะออนหรือสงสาร แต่อยู่กินแบบนี้มานานแล้ว โดยเฉพาะเน้นให้เห็นภาพอาหารที่ไม่มีประโยชน์เพราะว่ากันการลืมตน ลืมรากเหง้าตนเองของคนทั่วไปรวมไปถึงเตือนใจว่าท่านยังมีญาติพี่น้อง พ่อแม่และชาวอีสานอีกจำนวนมากซึ่งต้องกินอาหารตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นเพื่อดำรงชีวิตไปวัน ๆ

 

                ผู้เขียนยังได้สอดแทรกเรื่องความเชื่อที่ชาวบ้านมีกันมาแต่โบราณ เช่น ลางบอกเหตุว่าจะแล้งในช่วงที่ฝนไม่ตก  เรื่องของผีปอบ  การสักลายตามตัวและอื่นๆเป็นต้น  แต่สิ่งที่สังเกตเห็นวิถีชนบทอีกประเพณีหนึ่งคือ ประเพณีการแต่งงาน จะมีความแตกต่างไปจากปัจจุบันทั้งนี้เพราะยุคสมัยย่อมมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนามาเรื่อย ๆไม่อาจรักษาขนบธรรมเนียมดั้งเดิมไว้ได้  โดยชายหญิงจะเป็นผัวเมียกันมี 3 อย่างคือสู่ขอแล้วแต่งตามพิธี  กลับชวนกันหนีและสู้กันอย่างทิดจุ่นชูคำกองนี้ 

 

               นอกจากนี้ลูกอีสานยังให้ความรู้การศึกษาเชิงสารคดี มีเนื้อหาสาระความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านมากมายที่ คำพูน  บุญทวี  ได้นำมาเล่าให้ผู้อ่านได้เห็นภูมิปัญญาของชาวบ้านประจำภาคอีสานโดยไม่ห่วงความรู้แม้แต่อย่างน้อยและยังสอดแทรกนิทานหรือตำนานธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่   ไว้ในเรื่องด้วยถือเป็นนวนิยายซ้อนนิทานสอนประวัติศาสตร์ทำให้การดำเนินเรื่องได้อารมณ์อรรถรสในความเป็นอีสานผู้อ่านมีการเสพปิดกับธรรมชาติที่สวยงามและวิถีคนบ้านนอกอันแสดงลักษณะพฤติกรรมการใช้ชีวิตแตกต่างออกไปจากคนในสังคมเมือง  ยิ่งคำพูน  บุญทวี ใช้ความเป็นลูกอีสานด้วยแล้ว  ความเป็นอีสานแท้มาประกันความเที่ยงตรงและถูกต้องของพยานหลักฐานที่นำเสนอออกมาให้เห็นภาพชัดเจนมีความน่าเชื่อถือและมีความน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก  ซึ่งก็เท่ากับเป็นการตอกย้ำภาพดวงตาแห่งความโปร่งใสบริสุทธิ์ของชาวอีสานโดยแท้

 

               สิ่งที่ชวนให้น่าสนใจในเรื่องลูกอีสาน คำพูน  บุญทวี  ก็คือการใช้ถ้อยคำภาษาซึ่งเป็นคำง่าย ๆเป็นภาษาอีสานบางคนอ่านแล้วอาจไม่ได้ความหมายที่แท้จริง หรือบางที่มีคำบางสำนวนที่แปลกออกไป ที่เป็นความหมายโดยนัย  อย่างเช่น  “ ควายเขาเข้ามาสวนเราแล้ว ”  ก็หมายถึงผู้บ่าว (ผู้ชาย) แอบเข้ามาค้างอยู่กับลูกสาวในบ้านคือผู้สาวนั้นเอง  หรือที่เรียกว่าไปอยู่บ้านดินดำน้ำชุ่ม  ป่ากุม บ่อนคือแข่แกว่งหาง  ซึ่งหมายถึงการได้ไปอยู่ที่ทำนาได้ทั้งปีและทุกปี  ในน้ำมีปลาต่าง ๆ ตัวโต ๆที่เวลามันโดดขึ้นน้ำมาก็เหมือนกับจระเข้ฟาดหางและสำนวนที่ว่า “ บ่ต้องยั่น ไผคนคือกัน บ่ต้องยั่นมั่น ”  สำนวนนี้มีความหมายความว่าไม่ต้องกลัวใคร คนนั้นกับเราก็เป็นคนเหมือนกัน ไม่เห็นต้องกลัวมันเลย ไปกลัวมาทำไม ซึ่งแสดงความกล้าหาญของเด็กน้อยที่ใจเข้มแข็งไม่กลัวใครแต่ไม่ได้หมายถึงว่าพฤติกรรมแบบนี้มักจะเป็นนักเลงเสมอไป   ซึ่งสรุปได้ว่าการใช้ภาษาของผู้เขียนใช้ภาษาเข้าใจง่ายบรรยายภาพบรรยากาศทั้งหมดได้ละเอียดเข้าถึงอารมณ์ในการเขียนได้เป็นอย่างดี  การภาษากระชับ  นิยมเล่นคำซ้ำแสดงอาการ เช่น พยักคอหงึก ๆ ซดน้ำแกงดัง โฮก ๆ เป็นการเล่นภาษาให้ได้ความสุขปนกับความตลกขบขันมีความเด่น ไม่ใช่ภาษาราชการแต่อย่างใดนี่คือการถ่ายทอดภาษาง่ายๆแสนจะธรรมดาทั้งนี้มีคุณค่าทางวรรณกรรมอย่างสูงค่ายิ่งและมีเสน่ห์ซ่อนอยู่ในนั้น

 

                 จากการสรุปเรื่องให้กระชับและวิจารณ์ภาพรวมในหลาย ๆ มุมมองอย่างเที่ยงธรรม ในการนี้จะขอนำเรียนวิจารณ์ภาพสะท้อนสังคมไทยที่ปรากฏในนวนิยายลูกอีสานของคำพูน บุญทวี  ที่อยากสื่อให้สังคมได้รู้ มีดังนี้

 

 

                นวนิยายเรื่องลูกอีสานเป็นเรื่องราวที่คำพูน  บุญทวี ได้ถ่ายทอดชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนชาวอีสานในหมู่บ้านที่ห่างไกลความเจริญ  ดังนั้นภาพของอาชีพต่างๆที่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของสังคมจึงไม่หลากหลายนักนักอาชีพที่ปรากฏในเรื่องมีดังนี้

 

               อาชีพทำนา   การทำนาในนวนิยายเรื่องลูกอีสาน  จึงเป็นอาชีพที่ต้องประสบกับปัญหาของธรรมชาติที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการประกอบอาชีพ  ส่งผลให้เกิดปัญหาความยากจนซึ่งดูเหมือนจะเป็นปัญหาหลักของคำพูน  บุญทวี  พยายามนำมาเสนออย่างละเอียดทุกแง่ทุกมุมเพราะปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชนเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศชาติ  เป็นความยากจนอันเกิดจากธรรมชาติที่ชาวชนบทส่วนใหญ่  มีอาชีพเกษตรกรรม  ทำนา  ทำไร่  ลักษณะของการทำการเกษตรยังคงใช้วิธีการแบบเดิมที่ต้องอาศัยธรรมชาติ  ดังนั้นทุกชีวิตจึงขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ  ถ้าปีไหนฝนตกต้องตามฤดูกาลสภาพดินฟ้าอากาศดีข้าวในนากุ้งปลาในคลองพระอุดมสมบูรณ์  ย่อมทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีมาก  เศรษฐกิจของครอบครัวก็จะดี  แต่ถ้าปีไหนฝนแล้งหรือน้ำท่วมไร่นา ผลผลิตก็ย่อมจะได้น้อยคุณภาพตาม  บางทีอาจเก็บเกี่ยวไม่ได้เลยถ้าประสบกับฝนแล้งหรือน้ำท่วมหนักปีนั้นอันชาวชนบทก็จะพบกับความยากจนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

                อาชีพค้าขาย  เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ปรากฏในสังคมชนบทแห่งนี้ซึ่งเป็นการค้าขายเครื่องอุปโภคบริโภคข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและบุคคลที่มีอาชีพค้าขายในหมู่บ้านกลับเป็นคนต่างชาติ คือ คนจีนกับคนญวนที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองไทย

 

                อาชีพศิลปิน ( หมอลำ )  เนื่องจากมหรสพที่จะนำมาแสดงสมโภชงานต่างๆในดินแดนภาคอีสานนั้นมีน้อยมาก ไม่หลากหลายส่วนใหญ่จะเป็นหมอลำมหรสพ  อย่างอื่นมีน้อยมาก   ดังนั้นหมอลำซึ่งเป็นอาชีพที่มีรายได้ค่อนข้างดีเป็นที่นับหน้าถือตาในสังคมและถ้าเป็นหมอลำชายก็มักจะเจ้าชู้มีภรรยาหลายคน

 

                 อาชีพครู  เป็นอาชีพที่ได้รับเงินเดือนจากทางรัฐบาล  แต่รายได้ของครูก็ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันชีวิตครูอยู่อย่างอัตคัดขัดสน ไม่แตกต่างจากชาวบ้านทั่วไปมากนัก

 

                 ด้านการศึกษา เป็นการสะท้อนถึงปัญหาและอุปสรรคการจัดการศึกษาที่ทำให้การศึกษาในชนบทขาดประสิทธิภาพโดยสะท้อนออกมาในลักษณะของสาเหตุอันเกิดจากสภาพแวดล้อมและบุคลากรซึ่งสภาพแวดล้อมได้แก่  การขาดแคลนอัตรากำลังครู  การขาดแคลนด้านอาคารเรียนและสื่อการเรียนการสอนส่วนด้านบุคลากรจะเป็นการจัดการกิจกรรมการเรียนการสอนที่ไม่มีคุณภาพบุคลากร  ขาดขวัญกำลังใจสาเหตุเหล่านี้ทำให้การศึกษาในชนบทไม่พัฒนาก้าวหน้าเท่าที่ควร

 

                 ด้านการเมืองการปกครอง จะสะท้อนให้เห็นภาพของสังคมที่มีความเป็นอยู่อย่างสงบสุขร่มเย็น  โดยมีกำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปกครองดูแลแก้ปัญหาในชุมชนชนบทคอยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน  ในสังคมนั้นเป็นลักษณะของสภาพที่อยู่อาศัยกันอย่างฉันพี่ฉันน้องและญาติมิตรทำให้ทุกชีวิตในชุมชนมีความห่วงใยซึ่งกัน  และการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เกื้อกูลซึ่งกันและกันในทุก ๆ เรื่องจึงเป็นสังคมที่สงบสุขร่มเย็น  ปราศจากการถูกเอารัดเอาเปรียบและกดขี่ข่มเหงจากผู้มีอำนาจในการปกครอง

 

                 ด้านศาสนา  เป็นการสะท้อนให้บทบาทหน้าที่ของสถาบันทางศาสนาว่าเป็นศูนย์รวมยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในชุมชนชนบท  พระภิกษุต้องบำเพ็ญตนเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก  ช่วยแบกรับภาระสังคม  แม้จะเป็นเรื่องราวทางโลกก็ตาม  ทั้งนี้เพื่อให้สังคมดำรงอยู่ได้อย่างสันติสุขและวัดก็กลายเป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆในชุมชนโดยรวมถึงการกลายสภาพเป็นสถานศึกษาของชุมชนไปโดยปริยาย  นอกจากนี้ยังเป็นที่พำนักพักพิงของผู้ที่สัญจรไปมาอีกด้วย

 

                 ด้านวิถีชีวิต  ความเชื่อ  และความเป็นอยู่ทั่วไป  เป็นการสะท้อนทัศนะในประเด็นของชาวชนบทยังมีความยึดมั่นอยู่กับขนบธรรมเนียมประเพณี  ความเชื่อ  ค่านิยม  ตลอดจนวัฒนธรรมของท้องถิ่นอย่างแนบแน่น  ชาวบ้านมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายแม้จะเผชิญกับปัญหาความแห้งแล้งอดอยากขาดแคลนแต่ก็ไม่เคยเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากทางรัฐบาล  ในด้านประเพณีจะพบว่า  มีประเพณีท้องถิ่นหลายรูปแบบ  เช่น  ประเพณีแต่งงาน  มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผีประเภทต่าง ๆ  การสักลายตามตัว  มีค่านิยมส่งลูกเพื่อหวังให้เป็นเจ้าคนนายคน  และมีวัฒนธรรมในการปรุงอาหารที่ง่าย  ๆแต่หลากหลายพิสดาร

 

บทวิจารณ์โดย นายอำพล  ถมคำ

Writer

The Reader by Praphansarn