ศิลปินแห่งชาติ เป็นชื่อโครงการที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติตั้งขึ้นเพื่อมุ่งเชิดชูเกียรติ สนับสนุนช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีคุณค่าของแผ่นดินไทย โดยแต่ละปีจะได้คัดเลือกศิลปินในแขนงต่างๆ จากสาขาต่างๆ คือ
1. สาขาทัศนศิลป์ หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา แบ่งเป็นวิจิตรศิลป์ เช่น จิตรกรรม ปฏิมากรรม รวมถึงภาพต่างๆ และประยุกต์ศิลป์ เช่น งานสถาปัตยกรรมต่างๆ
2. สาขาศิลปะการแสดง หมายถึง ศิลปะที่เกี่ยวข้องข้องกับการแสดง ไม่ว่าจะเป็นการละคร การฟ้อนรำ หรือศิลปะไทยโบราณ จำพวก หุ่นกระบอก หนังตะลุง ลิเก โขน หรือการแสดงไทยแบบอื่น รวมถึงนักร้อง นักดนตรี นักประพันธ์เพลง ด้วย ตลอดจนการแสดงพื้นบ้าน เช่น หมอลำ ลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน
3. สาขาวรรณศิลป์ หมายถึง กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับงานประพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย บทกวี เป็นต้น
เมื่อศิลปินท่านใดได้รับการประกาศเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” แล้ว จะได้สิทธิพิเศษหลายประการ เช่น ค่าตอบแทนรายเดือนตลอดระยะเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อยามเจ็บป่วยสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามเงื่อนไขของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม นอกจากนั้น หากประสบสาธารณภัยต่างๆ ยังได้รับเงินชดเชย และคุ้มครองดูแลจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิตก็ช่วยเหลือในเรื่องของการบำเพ็ญกุศล ตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ เผยแพร่ผลงาน และดูแลเป็นอย่างดี
หากดูเฉพาะศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์แล้ว ที่ผ่านมามีนักเขียนหลายท่านที่ได้รับเกียรตินี้ เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช , ก.สุรางคนางค์ ,ฮิวเมอร์ริสต์ ,กฤษณา อโศกสิน,พนมเทียน, โบตั๋น, ทมยันตี, โสภาค สุวรรณ เป็นต้น ศิลปินแห่งชาติคือรางวัลแห่งเกียรติยศสูงสุดของคนเป็นศิลปิน
บทความโดย ณิชกมล เตชะงามสุวรรณ