ส่องกล้องมองสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระครั้งที่ 2 : ส่องกล้องมองสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระครั้งที่ 2

ส่องกล้องมองสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระครั้งที่ 2

ส่องกล้องมองสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระครั้งที่ 2

"...ร้านหนังสือเล็กๆ ไม่ใช่แค่ร้านหนังสือ แต่เป็นร้านหนังสือที่มีชีวิต สามารถโต้ตอบกับนักอ่านได้ เป็นร้านหนังสือที่อบอุ่น ไม่เหมือนกับการเดินเข้าหนังสือที่อยู่ตามห้าง เพราะการเดินร้านหนังสือตามห้างก็เหมือนเดินในซุปเปอร์มาร์เก็ต มีระหว่างเรากับชั้นหนังสือ แต่สำหรับร้านหนังสือเล็กๆ จะมีชีวิต มีระหว่างเรากับคนทำหนังสือ เราสามารถพูดคุยกันได้..."

จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

จากงานสัปดาห์หนังสืออิสระแห่งชาติครั้งที่ 1 ในปี 2556 ที่ประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ จนมาถึงในปีนี้คำว่า ‘แห่งชาติ’ ถูกตัดทิ้งออกไป ปี 2557 จึงกลายมาเป็นงานสัปดาห์หนังสืออิสระครั้งที่ 2 ด้วยเหตุผลที่ว่า ปีแรกจัดโดยเครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก (คสล.) ยังมีคำว่า ‘แห่งชาติ’ ต่อท้าย แต่เมื่อสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพเอกชน รับเป็นเจ้าภาพตั้งแต่ปีที่ 2 เพื่อความเหมาะสมจึงตัดคำว่า ‘แห่งชาติ’ ออก

ส่องกล้องมองสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระครั้งที่ 2

สำหรับ 'สัปดาห์ร้านหนังสืออิสระ' ครั้งที่ 2 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-29 มิถุนายน 2557 มีร้านหนังสืออิสระเข้าร่วม 41 ร้าน ได้แก่

1. Candide Books (ร้านหนังสือก็องดิด) (ธนบุรี)

2. ร้านหนังสือ กาลครั้งหนึ่ง (อุทัยธานี)

3. ท้ายตลาด (ชลบุรี)

4. น้ำพุทูเดย์ (บุรีรัมย์)

5. บ้านสวนหนังสือ (สุพรรณบุรี)

6. ร้านหนังสือ Fidel Book Songkhla (สงขลา)

7. ฟิลาเดลเฟีย ร้านหนังสือในสวนดอกไม้ (อุบลราชธานี)

8. Fueang Nakhon Books (ร้านหนังสือเฟื่องนคร) (นครราชสีมา)

9. Mali mali coffee and book cafe (กรุงเทพฯ)

10. ร้านเล่า (เชียงใหม่)

11. ร้านหนังสือเดินทาง - Passport Bookshop (กรุงเทพฯ)

12. ริมขอบฟ้า (กรุงเทพฯ)

13. ศึกษิตสยาม (กรุงเทพฯ)

14. สวนเงินมีมา (กรุงเทพฯ)

15. ร้านสุนทรภู่ (อ.แกลง จ.ระยอง)

16. หนัง(สือ)2521 (ภูเก็ต)

17. หมื่นทิพบุ๊ค - 10000tipbook (กำแพงเพชร)

18. Egalite Bookshop (ลำปาง)

19. ฮ้านปันนา (อ.ฝาง จ.เชียงใหม่)

20. House of Commons - Cafe & Space (ธนบุรี)

21. Bookburi (กรุงเทพฯ)

22. Bookmoby (กรุงเทพฯ)

23. Book Re:public (เชียงใหม่)

24. Booktopia (อุทัยธานี)

25. ร้านหนังสือดวงกมล เชียงใหม่

26. ดอกหญ้านครพนม

27. ดอกหญ้ามหาสารคาม

28. ดอกหญ้าร้อยเอ็ด

29. ร้านหนังสือดอกหญ้า อุดรธานี

30. ปริ๊นซ์บุ๊คสโตร์ ขอนแก่น

31. ศูนย์หนังสือสิทธา พิษณุโลก

32. Sengho Bookstore ภูเก็ต

33. ร้านเดอะบุ๊คส์ (ภูเก็ต)

34. ร้านเดอะแมกกาซีน (หาดใหญ่)

35. ร้านหนังสือประณอม ชลบุรี

36. ร้านสาทรบุ๊คเซ็นเตอร์ (สุราษฎร์ธานี)

37. ร้านมิตรสาส์น (ตรัง)

38. ร้านเสียงทิพย์ (พิษณุโลก)

39. ร้านเอเปิ้ลพลาซ่า (สุรินทร์)

40. ร้านดีเคบุ๊คส์ (ชุมพร)

41. ร้านบุ๊คไทม์ (กรุงเทพฯ)

ถือว่ามีร้านหนังสืออิสระจากทั่วประเทศเข้าร่วมอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง หากเทียบกับครั้งที่ 1 เมื่อปีที่แล้ว ที่มีร้านหนังสือเข้าร่วม 16 เจ้า 16 ร้าน มาบุกเบิกนำร่อง

หากจะนั่งเครื่องย้อนเวลากลับสู่อดีต ไปค้นหาดูว่างานสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระมีที่มาที่ไปอย่างไร? จากการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ ของคุณเรืองเดช จันทรคีรี แห่งเครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก (คสล.) เมื่อปี 2556 คงเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น โดยที่เขาขยายภาพให้เห็นถึงการตั้งต้นว่า

"ถ้าเป็นทางการก็ต้องนับตั้งแต่วันประชุมใหญ่ครั้งแรกของ คสล. คือเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนปีที่แล้ว (ปี 2555) ในหัวข้อ 'ทางเลือก ทางลง ทางเลิก หรือทางรุ่ง ของธุรกิจอิสระขนาดเล็กในวงการหนังสือไทย’ ที่อาคารมหาจักรีสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ถ้าไม่เป็นทางการมันก็นานเป็นสิบปีที่ธุรกิจเล็กๆ ในวงการหนังสือ โดยเฉพาะคนทำหนังสืออิสระ เริ่มตระหนักถึงที่อยู่ที่ยืนของกลุ่มตัวเองว่านับวันจะถูกระบบผลักให้ไปยืนขอบเหวมากขึ้น

“ตอนปลายปี 2546 ถึงต้นปี 2547 คุณชาติ กอบจิตติ เดินสายพบแฟนนักอ่านของเขาตามร้านหนังสือต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 30 จังหวัด เขาพบว่าร้านหนังสือเล็กๆ กำลังแพ้ โดยเสียเปรียบร้านเครือข่าย จำเป็นต้องสร้างอำนาจต่อรอง คุณชาติสรุปว่า ถ้าเราแรงน้อยเราก็ควรจะรวมตัว แล้วเอาพลังที่เพิ่มขึ้นนั้นไปต่อรอง อย่างถ้าเราเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ตอนนี้ร้านเล็กๆ ทั่วประเทศมีสัดส่วนมากกว่าร้านใหญ่นะ เพียงแต่เราไม่มีการสร้างเครือข่ายเพื่อต่อรองเท่านั้น ถ้ารวมตัวกันติดต่อรองกันได้อำนาจมันก็จะคานอีกฟาก สุดท้ายร้านใหญ่เขาก็อยู่ได้ขณะเดียวกันร้านเล็กๆ ก็รอด

...อย่าลืมนะว่าถึงตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นร้านหนังสือรายใหญ่หรือสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เขาก็ยังต้องอาศัยร้านเล็กวางหนังสืออยู่นะ เขาไม่ได้วางแค่ร้านใหญ่อย่างเดียว นี่คือเราพูดเฉพาะขณะนี้นะ แต่ในอนาคตไม่แน่...ถ้าเขาสามารถยึดพื้นที่ได้เต็มเขาก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งร้านเล็ก... “หรือจะย้อนไปไกลกว่านั้น เมื่อเดือนกรกฎาคม 2543 คุณรวี สิริอิสระนันท์ จัดกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ใช้ชื่องานว่า ‘ทางเลือก-ทางรอดของวรรณกรรมนอกกระแส’ เขาเชิญผม เชิญคุณจตุพล บุญพลัดหรือคุณชีวี ชีวาบรรณาธิการแพรวสำนักพิมพ์ เชิญคุณวชิระ บัวสนธ์, คุณรักษ์ มนันยา ที่ตอนนั้นเป็นบรรณาธิการดอกหญ้าไปพูดคุยกันว่าสาเหตุเป็นเพราะอะไรหนังสือวรรณกรรมจึงขายไม่ได้ ทำไมสำนักพิมพ์เล็กๆ จึงอยู่รอดยาก คุณรวีกับเพื่อนๆ จัดกิจกรรมเสวนา ‘ทางเลือก-ทางรอดของวรรณกรรมนอกกระแส’ ต่อเนื่องกัน 3 ปีเพื่อสร้างพื้นที่ให้วรรณกรรมทางเลือก เริ่มเกิดปรากฏการณ์ของหนังสือมือทำและการจัดงานหนังสือริมน้ำที่สวนสันติชัยปราการ กระทั่งรวมตัวเป็นเครือข่ายหนังสืออิสระ หรือ Indy Book Net เป็นตัวตั้งตัวตีจัดงาน Indy Book Day ขึ้นครั้งแรกในปี 2546 ที่ลานหน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง แล้วพัฒนาต่อมาเป็นงานมหกรรมหนังสือทำมือและสื่อทางเลือกแห่งประเทศไทย จัดต่อเนื่องกัน 6 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือน มีนาคม 2554

จึงเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อหาที่พื้นที่ให้กับหนังสือทางเลือกและสำนักพิมพ์อิสระนี่ยาวนานกว่า 10 ปีแล้ว และพิจารณาในแง่ตัวบุคคลและเครือข่ายแล้วถือว่าเป็นขบวนการที่ต่อเนื่อง เพียงแต่ใครเหนื่อยก็พัก ใครอาสาสมัครจะทำก็รับไม้ต่อ มันขาดแต่การออกแบบกิจกรรมที่นำไปสู่การสร้างระบบที่ผู้มาทีหลังสามารถสานต่อและต่อยอดได้เท่านั้น

งานสัปดาห์หนังสืออิสระแห่งชาติ จึงเป็นการออกแบบกิจกรรมเพื่อสร้างระบบ อันเป็นปฏิบัติการณ์หนึ่งใน 2-3 อย่าง ที่เกิดขึ้นหลังจากการประชุมใหญ่ คสล. เมื่อปีที่แล้ว"

สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติ ได้วางไว้ดังนี้

1. เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ร้านหนังสืออิสระประจำท้องถิ่นเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้นทั้งในระดับชุมชน ระดับภูมิภาค และระดับชาติ

2. เพื่อให้ผู้คนในวงการหนังสือและนอกวงการได้ร่วมกันให้กำลังใจร้านหนังสืออิสระที่ได้ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ เพื่อประกอบสัมมาชีพที่ตนรักและเชื่อมั่น ให้เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน

3. เพื่อให้เป็นหมุดหมายเชื่อมโยงระหว่างร้านหนังสืออิสระด้วยกันเอง เชื่อมโยงร้านหนังสือ สำนักพิมพ์ สายส่ง และผู้อ่าน นำไปสู่การจัดระบบห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก

4. ส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างร้านหนังสืออิสระและสำนักพิมพ์ขนาดเล็กเพื่อพัฒนาคุณภาพและเนื้อหาที่แตกต่างหลากหลายควบคู่กับความมีเอกลักษณ์ของแต่ละราย

ส่วนเป้าหมายระยะยาวคือ ให้เป็นหัวหอกในการเสริมสร้างความมั่นคงธุรกิจขนาดเล็กในท้องถิ่น เป็นศูนย์ทางวัฒนธรรมและแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ร้านค้าอิสระยิ่งมีมากเท่าไร โอกาสเลือกและความหลากหลายก็ยิ่งมีมากเท่านั้น รวมถึงชุมชนก็รักษาความเป็นชุมชนที่มีเอกลักษณ์ได้อย่างแท้จริง ทำให้มีการจ้างงาน มีเงินหมุนเวียนในท้องถิ่น ประหยัดพลังงาน รักษาสภาพแวดล้อม

คุณศักดิ์สิริ มีสมสืบ กวีซีไรต์จากเรื่อง 'มือนั้นสีขาว' เมื่อปี 2535 ได้กล่าวถึงร้านหนังสือเล็กๆ หรือร้านหนังสืออิสระ ไว้ด้วยความผูกพันว่า

“...เป็นเรื่องน่ายินดีที่ผมได้รับรู้ว่า ‘ร้านหนังสือเล็กๆ’ รวมตัวกันได้เป็นเครือข่ายโยงใย ผูกพัน ไม่ต่างโดดเดี่ยว เดียวดาย หรือล้มหายตายจากไปเพียงลำพังอย่างปราศจากการับรู้โยงใยกันได้ย่อมรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย ย่อมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้ร่วมคิดร่วมฝัน กิจกรรมร่วมโครงการ ร่วมมือ ร่วมใจทำ บางสิ่งบางอย่างที่เอื้อ เกื้อ อำนวย ทะนุบำรุงความฝันที่ต่างฝันและความฝันร่วมกัน…’

การจัดงานสัปดาห์หนังสือิสระแห่งชาติครั้งที่ 1 เมื่อปี 2556 ซึ่งประสบความสำเร็จจนหลายๆ คนในวงการหนังสือบอกว่า ร้านหนังสืออิสระมาถูกทางแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยจากวิทยานิพนธ์หัวข้อ ‘สนามสำนักพิมพ์หลัง พ.ศ.2540’ โดยคุณบุญชัย แซ่เงี้ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่กำลังได้รับการพัฒนา โดยนักศึกษาโครงการบัณฑิตศึกษา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยใช้ข้อมูลจากการรวบรวมเอกสาร บทความ หนังสือ เว็บไซต์ โดยเฉพาะคลิปปิ้งข่าวตั้งแต่ปี 2540 จากแหล่งข้อมูล matichon e-library และ NewsCenter รวมถึงการสัมภาษณ์บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์เล็ก 3 แห่ง เป็นต้น

เนื้อหาทั้งหมดมีประเด็นมุ่งไปที่การเผยแพร่ข้อมูลและสถิติ โดยชี้ให้เห็นข้อเท็จจริง ว่าด้วยเรื่อง ‘ความเปลี่ยนแปลงของสำนักพิมพ์ภายหลัง พ.ศ. 2540’ ว่า ภายหลังจาก ปี พ.ศ.2540 ตลาดการผลิตหนังสือเริ่มขยายตัว มีการการแข่งขันรุนแรงขึ้น อันเนื่องมาจากความสามารถด้านการผลิตที่สูงขึ้น และได้กล่าวถึงการเกิดขึ้นของร้านหนังสืออิสระหรือร้านหนังสือขนาดเล็กไว้อย่างน่าสนใจว่า

‘…เนื่องจาก สำนักพิมพ์ขนาดเล็ก จะไม่มีสายส่งหนังสือเพื่อกระจายสินค้าไปยังจังหวัดต่างๆ เอง รวมทั้งบริษัทที่ให้บริการด้านการขนส่งหนังสือมีเพียงไม่กี่แห่ง ดังนั้น หากต้องการกระจายหนังสือวงกว้าง ต้องใช้บริการสายส่งเพื่อที่จะสามารถกระจายหนังสือไปวางแผงในต่างจังหวัดได้

อีกประการหนึ่ง คือร้านหนังสือรับหนังสือได้ไม่หมด เพราะหนังสือในแต่ละปีถูกผลิตขึ้นมามากขึ้น จึงต้องให้ความสำคัญกับหนังสือบางประเภท โดยเฉพาะหนังสือที่ขายดี หนังสือกระแสและหนังสือขายดีในร้านหนังสือเครือข่ายจะเบียดหนังสือกลุ่มที่ขายยาก ขายช้าออก ทำให้เกิดความเสียเปรียบ ส่งผลให้เกิดร้านหนังสือเล็กที่ตั้งขึ้นเนื่องจากใช้ความชื่นชอบเป็นตัวตั้ง มากกว่าร้านหนังสือใหญ่ที่ใช้การตลาดเป็นตัวตั้ง

หนังสือแต่ละเล่มจะมีระยะการวางจัดจำหน่ายบนชั้นวางไม่เกิน 3 เดือน ก็จะนำออกจากข้อมูลที่ได้จากซีเอ็ดบุ๊กเซ็นเตอร์ ระบุว่า หนังสือขายดีส่วนใหญ่มักผ่านการโฆษณาทีวี หนังสือด้านจิตวิทยาให้กำลังใจคนอ่าน หรือหนังสือตามกระแสโลกาภิวัฒน์ เช่น กระแสเกาหลี หรือ หนังสือแปลอย่าง แฮรี่ พอตเตอร์ เป็นต้น ดังนั้น สำนักพิมพ์เล็กจึงใช้ช่องทางจัดจำหน่ายช่องทางอื่นเสริมเข้ามา เช่น การขายหนังสือผ่านทางช่องทางออนไลน์ อย่างในเว็บไซต์ หรือเฟซบุ๊ก ส่วนงานหนังสือจะถือเป็นโอกาสทองของร้านหนังสือขนาดเล็กและร้านหนังสืออินดี้

เนื่องจากปัญหา ที่สำนักพิมพ์ใหญ่ที่ให้บริการสายส่งหนังสือ มีน้อยทำให้เกิดการผูกขาดในการขนส่งหนังสือ กระทั่งสายส่งหนังสือ 2 เจ้าใหญ่ มีการขอหักค่าขนส่งเพิ่มขึ้น อีก 1 เปอร์เซ็นต์ สำนักพิมพ์และร้านหนังสือขนาดเล็กจึงมีการออกเสียงสร้างความชอบธรรม จากการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก เมื่อปี 2555 เพื่อสร้างฐานอำนาจในการต่อรองการส่งหนังสือที่มีการผูกขาดในหมู่สำนักพิมพ์ และร้านหนังสือเจ้าใหญ่…’

เพราะฉะนั้น การจัดงานสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระอย่างต่อเนื่องทุกปี นับเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ที่จะให้ร้านหนังสือเหล่านี้ได้ยืนหยัดและเชื่อมเครือข่ายกันอย่างมั่นคงแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ดังที่ คุณมกุฏ อรฤดี กล่าวในวันสุดท้ายของเทศกาลสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ในวันปิดงานว่า

‘…ประเทศใดก็ตาม ถ้ามีร้านหนังสืออิสระเล็กๆ จำนวนมากจะช่วยให้ร้านหนังสือใหญ่มีสีสรรพ์และคึกคัก ผู้ฅนในประเทศนั้นก็จะกระตือรือร้นเรื่องหนังสือและการอ่าน การมีร้านหนังสือเล็กๆ อิสระไปพร้อมกับร้านใหญ่จึงมิใช่การแข่งขัน แต่เป็นวิธีช่วยให้ระบบหนังสือของชาติพัฒนาเติบโตยั่งยืน

สิ่งที่ตามมาอีกประการหนึ่งอันสำคัญคือ ร้านหนังสืออิสระเล็กๆ จะช่วยแบ่งเบาภาระร้านหนังสือใหญ่ในเรื่องพื้นที่การวางหนังสือไม่พอ ร้านอิสระจะช่วยรับภาระสำนักพิมพ์เล็กๆ ได้มาก

แท้จริงแล้ว ในวงการหนังสือต่างก็เอื้อซึ่งกันและกัน’ 'สัปดาห์ร้านหนังสืออิสระ' ครั้งที่ 2 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-29 มิถุนายน 2557 ติดตามรายละเอียดได้จาก facebook.com/ThaiIndependentBookstoresWeek/info หรือ http://thaiindependentbookstoresweek.pubat.or.th

ความในใจของนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ถึงสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระครั้งที่ 2

คุณสิรินันท์ ห่อหุ้ม ได้สัมภาษณ์คุณจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ถึงการจัดงานสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติครั้งที่ 2 ดังนี้

+ จุดเริ่มต้นของงานนี้ เกิดขึ้นด้วยแนวความคิดยังไง

จุดเริ่มต้นของงานนี้เริ่มเมื่อปีที่ผ่านมาคือ 2556 เป็นแนวคิดของคุณเรืองเดช จันทรคีรี โดยมีผมเป็นแนวร่วมในความคิดที่จะเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนหันมามองร้านหนังสืออิสระที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ อย่างน่าใจหาย และในขณะเดียวกันก็มีคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งที่มีความตั้งใจที่จะทำร้านหนังสือในแนวทางที่ตัวเองชอบ ผสมกับแนวคิดเดิมของคุณ’ปราย พันแสงที่ต้องการให้มีร้านหนังสือในบ้านเกิด เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกัน จึงได้มีงานนี้จัดขึ้นเมื่อปี 2556 เพื่อการดำรงอยู่ของร้านหนังสืออิสระ

+ งานครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 มีความเปลี่ยนแปลงในแง่ใดบ้าง และทำไมสมาคมฯถึงสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้

งานในครั้งนี้มีความเปลี่ยนแปลงมากกว่าครั้งแรก ในด้านที่มีร้านหนังสือเข้าร่วมงานมากขึ้น เป็นร้านที่มีความประสงค์จะเข้ามาร่วมงานในครั้งนี้ เมื่อปีที่แล้ว ผมเป็นผู้สนับสนุนการจัดงาน มาในปีนี้ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ รับเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน เพื่อให้เกิดความร่วมมือกับร้านอิสระและสำนักพิมพ์มากขึ้น เหตุผลของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ที่มาสนับสนุนงานนี้ ก็เพื่อสนับสนุนให้ร้านหนังสืออิสระอยู่ได้ ร้านหนังสืออยู่ได้ฉันใด สำนักพิมพ์ก็อยู่ได้ด้วยฉันนั้น

+ ในทัศนะของท่านนายกสมาคมร้านหนังสืออิสระมีความสำคัญต่อโครงสร้างของวงการหนังสือ ทั้งในแง่ของเชิงธุรกิจ การอ่าน และสังคมยังไง

ร้านหนังสืออิสระนั้น เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างการดำรงอยู่ของวงการหนังสือ ร้านหนังสืออิสระเป็นแหล่งหนึ่งในการจำหน่ายหนังสือที่มีแนวทางเฉพาะ ทำให้คนทำหนังสือในแนวทางคุณภาพเฉพาะมีช่องทางในการนำเสนอผลงานของตัวเองมากขึ้น หนังสือบางเล่มไม่อาจหาได้ในร้านหนังสือทั่วไป แต่จะมีจำหน่ายในร้านหนังสืออิสระ และที่สำคัญที่สุด ร้านหนังสืออิสระเป็นร้านหนังสือที่มีชีวิตและจิตวิญญาณ สามารถมีความเป็นส่วนหนึ่งกับคนซื้อได้ด้วย

+ คาดหวังอย่างไรกับงานครั้งนี้บ้าง (ในแง่ของการอ่าน วงการหนังสือ ชุมชนท้องถิ่น) ความคาดหวังในครั้งนี้ คิดว่าน่าจะได้รับผลลัพธ์ที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา เพราะมีร้านหนังสือเข้าร่วมมากขึ้น แต่กิจกรรมบางอย่างในร้านที่เตรียมไว้น่าจะไม่สามารถจัดได้ทุกงาน เพราะบรรยากาศที่ไม่ปกติ กล่าวโดยสรุปน่าจะเป็นอีกงานหนึ่งที่คนอ่านมีความสุขจากงานในครั้งนี้

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ