วันเวลาที่เคลื่อนผ่านไป ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลง ในรอบปีถึงสองปีที่ผ่านมา มีการจับมือกันของเครือข่ายธุรกิจร้านหนังสืออิสระขนาดเล็ก (คสล.) ได้ปลุกฝันของคนรุ่นใหม่ที่อยากมีร้านหนังสือของตัวเองให้ฟื้นตื่นขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะการที่จะเปิดร้านหนังสือขนาดเล็กในชุมชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งมีความตื่นตัวกันในระดับที่น่าพอใจเลยทีเดียว โดยมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจากการอบรมผู้ประกอบการร้านหนังสืออิสระรายใหม่ ครั้งที่ 1 ที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย จัดขึ้น ประสบความสำเร็จด้วยมีผู้สนใจเข้าร่วมอย่างล้นหลาม
จุดที่น่าสนใจในบรรดาเจ้าของร้านหนังสืออิสระนั้น นอกจากเป็นคนรุ่นใหม่แล้ว ยังมีเจ้าของกิจการร้านหนังสือกระแสหลักที่เรียกว่า สแตนด์ อโลน (Stand Alone) ส่วนหนึ่งซึ่งประสบกับปัญหาทางธุรกิจในระบบร้านหนังสือยุคใหม่ก็พยายามปรับตัวเองเพื่อให้อยู่รอด ก่อนที่จะล้มหายตายจากไป ที่มีอยู่ก็มีลมหายใจทางการเงินและธุรกิจอ่อนระโหยโรยแรงทั้งสิ้น
กรณีศึกษาถึงการปรับตัวที่เห็นชัด และกำลังเริ่มต้นเข้าสู่โหมดร้านหนังสืออิสระขนาดเล็ก ปรับสภาพจากร้านหนังสือกระแสหลักแบบตั้งเดี่ยวนั่นก็คือ ร้านน้ำพุทูเดย์ ในอำเภอเมือง จ.บุรีรัมย์ แน่นอน เมื่อเป็นเจ้าของร้านหนังสือย่อมเป็นคนที่รักการอ่านและใฝ่หาความรู้อยู่เสมอเป็นเนืองนิตย์ คุณวิวัฒน์ โรจนวรรณ เท้าความหลังให้ฟังด้วยความอิ่มใจว่า
“อาผมเป็นคนสร้างบรรยากาศการอ่านในครอบครัว เขามีอาชีพเป็นนักพากย์หนังฝรั่ง เป็นนักอ่านหนังสือ แล้วใช้ภาษาในหนังสือไปใช้ในการทำบทพากย์ซึ่งแปลมาแบบคำต่อคำของซับไตเติล ทำให้บทหนังสละสลวยขึ้นมาก พลอยให้ผมได้อ่านหนังสือไปด้วย ตอนนั้นผมเรียนจบ ป.4 และอ่านภาษาไทยได้แตกพอสมควรแล้ว จำได้ว่าช่วงปี 2505-06 สำนักพิมพ์และร้านหนังสือในวังบูรพาจัดให้มีการลดราคาหนังสือ 50 เปอร์เซ็นต์ อาซื้อแล้วส่งหนังสือกลับบ้านถึง 10 กว่ากล่อง จากหนังสือเหล่านี้ทำให้ผมกลายเป็นนักอ่าน ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา”
ถือว่าคุณวิวัฒน์เป็นผู้หนึ่งที่มีประสบการณ์ยาวนานในการทำร้านหนังสือ โดยเริ่มจากร้านหนังสือของตัวเองที่มีขื่อว่า น้ำพุบุ๊คสโตร์ เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว
“ตอนผมเปิดร้านน้ำพุบุ๊คสโตร์ ครั้งแรกเมื่อปี 2524 ขายเครื่องเขียนแบบเรียนเป็นหลัก และขายหนังสือพิมพ์หน้าร้านด้วย ในขณะที่เอเย่นต์หนังสือพิมพ์ไม่สนใจในเรื่องการขายหนังสือเล่มเลย จึงหันมาสั่งพ็อคเก็ตบุ๊กมาขายด้วย ทำให้ร้านน้ำพุฯ มีโอกาสเติบโตขึ้นมา จนเลิกขายเครื่องเขียนแบบเรียนในปี 2534 ขายแต่หนังสืออย่างเดียว” เขาเริ่มเล่าถึงการพัฒนาจากร้านขายเครื่องเขียนแบบเรียนมาสู่ร้านหนังสืออย่างเต็มรูปแบบที่ต้องใช้ระยะเวลาเปลี่ยนผ่านถึง 10 ปีเต็ม
“ชื่อร้านน้ำพุมาจากการที่ร้านที่ตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 2524 อยู่บริเวณหลังสถานีรถไฟบุรีรัมย์ ตรงนั้นมีวงเวียนน้ำพุตั้งอยู่ ขณะนั่งดูช่างตกแต่งร้าน ทาสีชั้นหนังสือและอยู่ในช่วงที่ต้องไปจดทะเบียนพาณิชย์ ซึ่งต้องแจ้งชื่อร้านด้วย ก่อนนั้นคิดไว้หลายชื่อ แต่สุดท้ายเมื่อมองไปที่วงเวียนน้ำพุที่เห็นอยู่ทุกวัน เลยคิดว่าใช้ชื่อร้านน้ำพุ น่าจะเหมาะและเรียกง่าย บอกสถานที่ไปในตัวด้วย เพียงแต่เติมคำบ่งบอกการเป็นร้านหนังสือเสียหน่อย เลยเพิ่มคำว่า บุ๊คสโตร์ เข้าไปด้วย”
คุณวิวัฒน์เล่าต่ออย่างออกรสออกชาติว่า ในช่วงเปิดร้าน ตั้งแต่ปี 2524 จนถึงปี 2534 บรรดาร้านหนังสือในบุรีรัมย์ นอกจากร้านน้ำพุบุ๊คสโตร์ของเขาแล้ว ไม่มีร้านไหนให้ความสำคัญกับการขายพ็อคเก็ตบุ๊ก ในเรื่องของการจัดโชว์ การติดตามหนังสือใหม่ และการสั่งเพิ่มอย่างเป็นระบบเช่นเขา
“ในช่วงปี 2528 ที่หนังสือ ‘รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว’ ของสำนักพิมพ์หมอชาวบ้านออกวางแผงใหม่ๆ ผมสั่งเพิ่มทุกสัปดาห์ ตกเดือนหนึ่ง 20 เล่ม ผมสั่งติดต่อกันร่วมปี ทำให้นักอ่านรู้จักผมอย่างรวดเร็ว”
อย่างไรก็ตาม พอระบบร้านหนังสือแบบเครือข่ายขยายตัวเต็มที่ในปี 2540 มีผลให้ร้านหนังสือท้องถิ่นเล็กๆ ซบเซา ยอดขายตก เพราะไม่มีลูกค้าเข้าร้าน เขาจึงต้องหันมามองร้านหนังสืออิสระขนาดเล็ก ที่ขายหนังสือเฉพาะทาง
“การจะเดินบนเส้นทางที่จะเปลี่ยนแปรเป็นร้านหนังสือเล็กๆ ที่จริงคิดมานานเป็นสิบๆ ปีแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสลงมือ จนเห็นตัวอย่างเกิดขึ้นที่อุบลฯ ของร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย รวมทั้งได้รับการกระตุ้นเตือนสติจากเรืองเดช (เรืองเดช จันทรคีรี) จึงอยากลองสู้อีกครั้งหนึ่ง จึงเตรียมความคิดและเตรียมการทุกด้าน รวมทั้งชื่อร้านด้วย อยากจะให้คนลืมภาพร้านน้ำบุ๊คสโตร์ในอดีต ที่หมดแรงวิ่งตามยักษ์ไม่ทัน เลยทดลองใช้ชื่อใหม่ น้ำพุทูเดย์ ดู”
การวางเป้าหมายของร้านน้ำพุทูเดย์ ซึ่งวางสถานะตัวเองเป็นร้านหนังสืออิสระขนาดเล็ก คุณวิวัฒน์บอกว่า จะเป็นร้านที่มีคุณสมบัติดังนี้
1. ขายหนังสือเฉพาะทางที่เน้นหนังสือวรรณกรรมจริงจัง และหนังสือประวัติศาสตร์เมืองไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
2. ให้ความสำคัญกับหนังสือเก่ามากกว่าหนังสือใหม่
3. เตรียมการและฝึกซ้อมที่จะขายหนังสือตามสั่งทางทางโทรศัพท์และเฟซบุ๊ก
4. เป็นพิพิธภัณฑ์ภาพถ่ายเมืองบุรีรัมย์ขนาดย่อมๆ
5. เป็นร้านจำหน่ายเครื่องดื่มขนาดย่อม
“เสน่ห์ของร้านหนังสืออิสระในสายตาของผมก็คือ เราต้องมีในสิ่งที่ร้านอื่นไม่มี หรือมีเหมือนกัน แต่ของเราแจ๋วและลึกกว่า ถึงวันนี้ผมยังเห็นว่าร้านหนังสืออิสระอนาคตยังไม่แจ่มใสนัก รวมทั้งไม่ค่อยมั่นใจในประเด็นการอยู่รอดไปจนถึงความรุ่งโรจน์ของร้านหนังสือแบบนี้ในบ้านเรา เหตุผลก็คือ วัฒนธรรมการอ่านที่อ่อนแอของคนไทย การอยู่รอดในเชิงธุรกิจของร้านหนังสือแบบนี้ ผมว่าต้องอาศัยความรักในหนังสือและการสมถะแบบสุดๆ ของเจ้าของร้าน ดังนั้น กลเม็ดเคล็ดลับของการยืนอยู่ได้ของร้านหนังสือพันธุ์นี้ก็คือ สิ่งที่ผมกล่าวไปข้างต้น ยอมรับครับว่า วันนี้ยังเป็นอุดมคติ”
อุดมคติและอุดมการณ์ที่คุณวิวัฒน์มองว่าจะสอดคล้องกับธุรกิจร้านหนังสืออิสระขนาดเล็กก็คือ เจ้าของร้านจะต้องเข้าถึงชีวิตที่สมถะและเข้าใจเสน่ห์ของหนังสือ รวมทั้งต้องรู้ลดค่าใช้จ่ายของร้านตัวเอง
“ลูกค้าของร้านหนังสือในวันนี้ ในส่วนของหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน ส่วนใหญ่คือ ห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดมหาวิทยาลัยครู ปัญญาชนแบบคนบุรีรัมย์ และนักธุรกิจอีกนิดหน่อย ในส่วนพ็อคเก็ตบุ๊ก สำหรับร้านผมถือว่าบอดและจอดสนิทไม่ขยับเขยื้อนเลย เรียกว่าแทบจะขายไม่ได้เลย มีลูกค้าขาประจำไม่กี่คน บอกตรง ๆ ที่อยู่มาถึงวันนี้ ก็เพราะหนังสือพิมพ์และนิตยสาร
“ผมมองเห็นอุปสรรคมากมายในการสร้างนักอ่านในบุรีรัมย์ 1. การมีสิ่งบันเทิงมากไปเกินไป ไม่ว่าจะเป็นทีวี ร้านเหล้า สนามฟุตบอล มือถือ คอมพิวเตอร์ 2. การไม่รู้ร้อนรู้หนาวของสถานศึกษาทุกระดับ ผู้บริหารไม่สนใจในการเลือกหาหนังสือดี แต่สนใจแต่ส่วนลดที่ทางร้านจะลดให้ ก็อย่างที่รู้กันมานานแล้วว่าวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยอ่อนแอมาก ยอดพิมพ์หนังสือน้อยกว่ายุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ด้วยซ้ำไป ทั้งนี้เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน แต่ที่เห็นชัดที่สุดก็คือ คนไทยให้ความสำคัญกับสิ่งบันเทิงประเภทอื่นมากกว่าหนังสือ เมื่อวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยโดยรวมไม่ดี บรรยากาศการอ่าน การซื้อขายหนังสือก็ย่อมจะเฉยชาและหดแคบไปด้วย”
คุณวิวัฒน์ร่ายยาวเพิ่มเติมเหมือนอัดอั้นตันใจอย่างถึงที่สุด เขาชี้ว่าไม่ว่าจะเป็นความพยายามที่ทำให้การอ่านเป็นวาระของชาติ และกรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือโลกนั้น ไม่สามารถพลิกนิสัยคนไทยให้กลายเป็นนักอ่านได้ในชั่ววันข้ามคืน
“ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลถึงร้านหนังสือของผม รัฐและข้าราชการเป็นหน่วยงานที่จะต้องลงมาสร้าง วัฒนธรรมการอ่านของคนไทย สำหรับผมคิดว่าราคาหนังสือเป็นอุปสรรคและสิ่งส่งเสริมการอ่านของคนไทย หากหนังสือมีราคาถูกลงมากๆ คนไทยที่มีวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็งแล้วก็จะซื้อและได้อ่านหนังสือ มากขึ้น แต่ถ้าหนังสือมีราคาแพงแบบทุกวันนี้ นักอ่านก็ซื้อหนังสือได้น้อยเล่มอย่างแน่นอน คนที่ไม่เคยซื้อหนังสือก็จะไม่คิดซื้อหนังสือ
“วันนี้ผมยังมองไม่ออกว่าจะมีช่วยอะไรให้ดีขึ้นได้บ้างตราบใดที่ยังจัดเทศกาลลดราคาบ่อยๆ มีการขายตรงกับผู้ซื้ออย่างโรงเรียนกับมหาวิทยาลัย และไม่มีการผลักดันอย่างเอาจริงเอาจังให้กระดาษพิมพ์หนังสือถูกลง ถ้าจะสนับสนุนร้านหนังสือให้อยู่รอดได้ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในสิ่งเหล่านี้เสียก่อน”
เมื่อถามถึงเครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก (คสล.) ที่จะมาช่วยส่งเสริมและสร้างความร่วมมือเพื่อหาทางรอดให้กับร้านหนังสือเล็กๆ ที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้นใหม่ เขาตอบอย่างฉะฉานแบบคนที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังว่า
“ในแง่ความร่วมมือในเครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก (คสล) เท่าที่ผมเห็นก็ต้องแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ระหว่างสมาชิกด้วยกันกับแกนนำในเครือข่าย และระหว่างสมาชิกในเครือข่าย ซึ่งเริ่มมีการติดต่อประสานกันในเฟซบุ๊กอยู่บ้าง ผมก็ติดต่ออยู่ 4-5 ราย ส่วนใหญ่เป็นคนที่ยังไม่เคยเปิดร้านหนังสือแบบผม แต่อยากเปิดเป็นแบบอิสระเลย กับในส่วนของแกนนำในเครือข่ายที่ผมยังเห็นอยู่ไม่กี่คน สำนักพิมพ์เล็กๆ ที่โดดมาร่วม ผมเห็นอยู่คนสองคนเท่านั้น
“ส่วนเรื่องสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติที่จริงไม่อยากพูดนะว่า สัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติครั้งที่ 1 ประสบความสำเร็จดีแล้ว ส่วนตัวผมว่ายังไม่ใช่เครื่องมือวัดว่า ครั้งที่ 2 จะต้องสำเร็จ ซึ่งผมว่าอยู่ในขั้น นำร่อง เท่านั้น ครั้งแรกอาจจะ เหมือน ๆ สำเร็จแล้ว แต่ผมว่ายังไม่ใช่เสียทีเดียว เราอาจจะเห็นเป็นปรากฏการณ์ที่น่ายินดีแล้ว แต่ผมขอดูต่อไปอีกสักพักหนึ่งและขอร่วมงานด้วยไปสักระยะหนึ่งก่อนแล้วกัน”
ความฝันกับความจริง ส่วนมากจะวิ่งสวนทางกันอยู่เสมอ คุณวิวัฒน์กับร้านน้ำพุทูเดย์ที่แปลงโฉมแปรมาจากร้านน้ำพุบุ๊กสโตร์ ร้านหนังสือแสตน อโลนชื่อดังของเมืองบุรีรัมย์ในอดีต จะหาสมดุลระหว่างธุรกิจกับความรักหนังสือและส่งเสริมการอ่านของร้านหนังสืออิสระขนาดเล็กในหัวเมืองแห่งนี้เจอหรือไม่? วันเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ในอนาคตอันใกล้นี้...โปรดเอาใจช่วย
1. ร้านน้ำพุบุ๊คสโตร์ ใกล้วงเวียนน้ำพุ หลังสถานีรถไฟบุรีรัมย์ ถ่ายเมื่อปี พ.ศ.2524 ปีแรกของการตั้งร้านเครื่องเขียน พร้อมกับนำหนังสือ พ็อคเก็ทบุ๊ค มาขึ้นชั้นหนังสือเป็นร้านแรก ๆ ของเมืองบุรีรัมย์
2. ภาพถ่ายหน้าร้านน้ำพุบุ๊คสโตร์ ถนนธานี เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2540 ในโอกาสเชิญ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และ ไพวรินทร์ ขาวงาม มาบรรยายให้นักเรียน นักศึกษาฟังที่ โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม และ สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ ซึ่งในช่วงปี พ.ศ.2530-2540 ร้านน้ำพุบุ๊คสโตร์ เชิญนักเขียนมาให้ความรู้กับชาวเมืองบุรีรัมย์มากกว่า 10 ครั้ง นักเขียนส่วนหนึ่งที่เดินทางมาร่วมงานกับ ร้านน้ำพุบุ๊คสโตร์ ประกอบไปด้วย 1.ศุ บุญเลี้ยง 2.คำพูน บุญทวี 3.สุชาติ สวัสดิ์ศรี 4.คำสิงห์ ศรีนอก 5. วัฒน์ วรรลยางกรู 6.ศิลา โคมฉาย 7. กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ 8. กุดจี่ พรชัย แสนยะมูล 9. ชาติ กอบจิตติ 10.วิมล ไทรนิ่มนวล 11.ประภัสสร เสวิกุล 12.ไมตรี ลิมปิชาติ 13.ไพวรินทร์ ขาวงาม 14.ไชยา วรรณศรี 15. มาโนช พรหมสิงห์ 16. วีระ สุดสังข์ 17. ชูเกียรติ ฉาไธสง ฯลฯ
3.ภาพถ่ายภายในร้านน้ำพุบุ๊คสโตร์ ถ่ายเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2557 แสดงให้เห็นการขาดการดูแลจัดหนังสือให้เป็นระเบียบ ซึ่งเป็น สาเหตุหนึ่ง ของความซบเซาของธุรกิจของขายหนังสือของร้านหนังสือที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2524
4. ด้านหน้าของ ร้านน้ำพุบุ๊คสโตร์ ที่ต้องนำสินค้าที่ไม่ใช่ หนังสือ มาจำหน่าย เพื่อเป็นการหารายได้เพิ่ม จากการที่รายได้จาก การขายหนังสือลดลงอย่างรุนแรง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 เป็นต้นมา หลังการเกิดขึ้นร้านหนังสือระบบเครือข่ายใหญ่ และ โมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ที่มีร้านหนังสืออยู่ด้วย
เป็นเหตุให้ วิวัฒน์ โรจนาวรรณ เจ้าของร้านน้ำพุบุ๊คสโตร์ จำต้องตัดสินใจเปลี่ยนแปลงสภาพ ร้านครั้งใหญ่ เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป