ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย ตอนที่2 : ‘ร้านหนังสือในสวนดอกไม้’ ของ คู่รักนักอ่าน ตอนที่2

ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย ตอนที่2

ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย

+ บรรยากาศโดยรวมการอ่านการเขียนและแฟนหนังสือในอุบลฯ เป็นอย่างไรบ้าง

วิทยากร : ไม่ได้คึกคักอะไรมากนักหรอกครับ เราต้องเข้าใจว่าขนาดเราเป็นคนอ่านหนังสือพอมีรายได้ก็ไม่อาจซื้อหนังสือได้ทุกวัน และธรรมชาติของร้านหนังสือแบบนี้ก็เช่นกัน มันไม่ได้มีคนเข้าร้านทุกวันแต่บางวันก็มาก ร้านแบบนี้มันคัดกรองเลือกสรรคนอ่านคุณภาพระดับหนึ่งที่แน่นอนให้แล้วจึงอยู่ได้ พอมีสีสันกับคนเหล่านี้เอง แต่ที่อุบลฯ มีคนทำงานศิลปะแขนงต่างๆ อยู่มากทีเดียว มีความคิดจิตใจที่ดีมากๆ แต่ส่วนใหญ่เป็นคนไร้นาม บางคนก็ตั้งใจเร้นกาย คนที่มีชื่อและมีเมตตามากๆ ก็มี เช่น อาจารย์โชคชัย ตักโพธิ์ (จิตรกร) เวลาที่ร้านมีงานคนเหล่านี้ก็มาช่วยกันดี และพักหลังๆ นี่เราคุยกันเยอะคุยกันที่ร้านกาแฟของคนนั้นบ้าง คนนี้บ้าง หรือที่ร้านผมบ้าง และกำลังคิดอ่านบางอย่างร่วมกันอยู่ว่า เราก็มีแนวทางของเรา พื้นที่ของเราก็อยู่ใกล้ลุ่มน้ำโขงมากกว่าเจ้าพระยาเราอาจจะสร้างงานที่ไม่ตอบสนองหรืออิงคนทางกรุงเทพฯ ก็ได้เราจะเชื่อมกับลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า แลกเปลี่ยนพิมพ์งานกันออกมาขายกันเฉพาะท้องถิ่นของเรา และเป็นภาษาของคนลุ่มน้ำโขง ประมาณว่าหาซื้อที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ แต่ถ้าใครผ่านมาทางนี้ก็จะพบเจอมัน

อย่างตอนนี้ร้านผมก็เริ่มสะสมพจนานุกรมของประเทศลุ่มน้ำโขงและพิมพ์งานเก่าที่สาบสูญไป และงานแปลระดับคลาสสิค (เรามีนักแปลที่มีรสนิยมทางวรรณกรรมและมีลูกบ้าพอ) ในจำนวน 100 เล่มวางขายตามร้านเครือข่ายเราเลียบแม่น้ำโขงไป ตอนนี้มีเครือข่ายถึงแค่มุกดาหาร แต่ต่อไปก็จะขยายไปให้ถึงเชียงคาน และแน่นอนอีกฝั่งแม่น้ำโขงด้วยและเราจะจัดเทศกาลศิลปะกัน ตระเวนแสดงงานตามถนน ร้านต่างๆ ในอุบลฯทั้งภาพเขียน ประติมากรรม หนังสือ บทกวี บทเพลง

ศินีนาฏ : ภาพครอบครัวของเราในสายตาคนทั่วไป คือเป็นครอบครัวที่อ่านหนังสือกันทั้งบ้าน ไม่ได้สร้างภาพแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง อ่านเล่มไหนให้ลูกฟังแล้วรู้สึกชอบก็เอามาบอกต่อ เอามาเขียนลงเฟซฯ แนะนำหนังสือเล่มนั้นๆ ไปทั้งที่มีในร้านและไม่มี ก็ได้รับความสนใจจากคนที่เป็นพ่อแม่มาก บางคนเชื่อใจเรามาก ขอให้แนะนำหรือเอามาขายเถอะเหมาหมดเลย พักหลังๆ เราจะมีลูกค้ากลุ่มนี้เยอะมากค่ะ จนถึงขั้นมีครอบครัวหนึ่งในตัวจังหวัดอุบลฯ แทนที่จะไปห้างก็พากันมาที่นี่ทุกวันอาทิตย์ ส่วนคุณเจี๊ยบก็จะมีกลุ่มนักกิจกรรม นักแสวงหา นักเดินทาง และศิลปินแวะเวียนมาหาบ่อยๆ ก็มีกิจกรรมกันเรื่อย ๆ

 

+ บรรดาลูกค้าของร้านหนังสือฟิลาเดลฟีย ส่วนมากเป็นกลุ่มใด และมีรสนิยมอ่านหนังสืออย่างไร

ศินีนาฏ : หลักๆ เป็นกลุ่มคนทำงาน ก่อนหน้านี้รายได้หลักจะมาจากลูกค้าต่างจังหวัดที่ซื้อผ่านเฟซบุ๊กและตั้งใจมาซื้อที่ร้านแบบทีละมากๆ เมื่อมาอยู่ที่ใหม่ลูกค้ากลุ่มนี้ก็ยังอยู่และมีคนในพื้นที่เพิ่มเข้ามาจากเดิมไม่มากนัก รสนิยมการอ่านของคนกลุ่มนี้ก็จะเป็นงานคุณภาพไปเลย อีกกลุ่มใหม่คือน้องๆ นักศึกษาหรือคนที่ชอบท่องเที่ยวเห็นรูปทรงร้านเราแปลกก็มาถ่ายรูป มาซื้อโปสการ์ด เห็นหนังสือก็ไม่ค่อยกล้าซื้อ ถ้าขอคำแนะนำจากเราก็จะหยิบเล่มประมาณ ‘ความสุขแห่งชีวิต’ ของ วิลเลี่ยม ซาโรยัน ให้อะไรแบบนี้ แล้วคุณเจี๊ยบก็จะสำทับว่า ถ้าซื้อไปแล้วอ่านจบแล้วไม่ชอบเอามาขายคืนได้ ก็คิดราคาตามสภาพความทรุดโทรมของหนังสือ

 

+ มีคนเอามาคืนไหม

วิทยากร : เออ! แปลกนะ ไม่เคยมีใครเอาเรื่องนี้มาคืนเลย แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งมีหญิงสาวสวยคนหนึ่งเอาหนังสือที่ซื้อไปมาคืน เรื่อง ‘คนจมน้ำตายที่หล่อที่สุดในโลก’ ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ เธอซื้อไปแล้วก็หายไปพักใหญ่ก็เอามาคืนพร้อมกับส่ายหัว แต่ไม่เอาเงินคืนนะ แต่เราก็เปลี่ยนเป็นเรื่องใหม่ให้ เขาคงพยายามกับมันอยู่พอสมควร

ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย

+ ในฐานะที่อยู่ในเครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก (คสล.) อยากให้พูดถึงความร่วมมือในตรงนี้หน่อย

ศินีนาฏ : เราดีใจมากที่มีเครือข่ายนี้ ที่พี่ๆ ที่อยู่ในวงการหนังสือมานานเห็นข้อบกพร่องของระบบหนังสือมาเยอะ และมีความกล้าหาญจริงใจที่จะแก้ปัญหาบนพื้นฐานของความเมตตาต่อคนเล็กๆ และความรักต่อหนังสือ เราก็ดีใจและยินดีร่วมมือด้วยทุกอย่างค่ะ

 

+ สัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติ (ครั้งที่ 1) ซึ่งร้านฟิลาเดลเฟียเหมือนจะประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย อยากให้วิเคราะห์ถึงความสำเร็จ และทิศทางการจัดงานในครั้งต่อไป

ศินีนาฏ : จริงๆ ที่เราจัดงานกันนั้น มันก็เป็นกิจกรรมที่ทางเราจัดกันอยู่แล้ว แต่ที่ได้ประโยชน์มากๆ ก็คืองานนี้ประชาสัมพันธ์ดีมากค่ะ มีคนใหม่ๆ มาร้านเราเยอะเลย อีกทั้งยังมีหนังสือบรรณาการคนซื้อด้วย ก็จัดแบบเดิมนั่นแหละ แต่ถ้าจะเพิ่มก็น่าจะมีหนังสือให้มากกว่านี้ มีหนังสือที่พิมพ์เฉพาะกิจในงานนี้ด้วย อยากให้มีสำนักพิมพ์เล็กๆ ตระเวนเดินทางมาขายหนังสือที่ร้านเราด้วย แล้วมีนักเขียนเจ้าของผลงานมาพูดคุยด้วย ยืดเวลาอีกสักหน่อยก็ดี

วิทยากร : ผมว่าที่ทำมาน่ะดีแล้ว แต่ถ้าเป็นไปได้ควรขยายฐานให้เกิดความมั่นคงยั่งยืน โดยเริ่มจาก คสล. เป็นตัวแทนหรือคล้ายๆ สายส่งรวบรวมสมาชิกสำนักพิมพ์เล็กๆ ร้านหนังสือเล็กๆ ทั่วประเทศ แล้วเชื่อมต่อกัน โดยคิดถึงระบบการขายหนังสือที่เป็นธรรม การแลกเปลี่ยนหมุนเวียนหนังสือให้อยู่ได้ทั้งร้านและสำนักพิมพ์ ผมหมายถึงว่า มันควรจะมีร่างคร่าวๆ แล้วสมาชิกช่วยกันเติมเต็มร่างนั้นให้สมบูรณ์ แล้วเราก็ร่วมกันดำเนินตามนั้น เมื่อฐานตรงนี้ดีแล้ว กิจกรรมต่างๆ เช่น สัปดาห์ร้านหนังสืออิสระ หรืออะไรที่จะตามมานั้น มันก็จะง่ายและดีขึ้นนะครับ

 

+ การที่รัฐบาลประกาศให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ และกรุงเทพฯ ได้รับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลก คิดว่าจะมีผลต่อร้านฟิลาเดลเฟียหรือไม่ และอยากให้การณรงค์การอ่านและสร้างวัฒนธรรมการอ่านของเมืองไทยเป็นแบบไหน

วิทยากร : พอพูดถึงเรื่องนี้ผมมักจะนึกถึงเรื่องอีกเรื่องหนึ่งขึ้นมาทันที มีรุ่นน้องที่คณะคนหนึ่งตอนนี้เป็นนักศึกษาปริญญาโท (หลายคืนก่อนเขายังมานั่งทำงานที่ร้านจนดึกและก็ค้างที่นี่ด้วย) เขาเป็นคนรักการเรียนรู้ สนใจไปทุกศาสตร์เหมือน Philospher ในความหมายของผู้ที่รักในความรู้มากว่าจะเป็นนักเรียนเกษตรด้วยซ้ำ เขาเป็นคนกระหายใคร่รู้มากนะครับ มีเรื่องเหนือความคาดหมายเยอะ เช่เขารู้กระทั่งว่าร้านนั้นนี้ คลินิกนั่นนี่เปิดเวลาเท่าไร คนมารอคิวตั้งแต่ตีสี่ตีห้าอะไรอย่างนี้ ซึ่งผมอยู่อุบลฯ มาก่อนเขายังไม่เคยรู้เลย เรื่องระบบเตาแก๊สรุ่นไหนๆ มันรู้หมด ที่ผมประทับใจมากก็ที่แนะนำหนังสือดีๆ เล่มไหนนี่เขาต้องซื้อเลย (มีกำลังซื้อเพราะครอบครัวฐานะค่อนข้างดี ประมาณว่าถ้าเกี่ยวกับการเรียนรู้นี่ พวกเขาไม่ตระหนี่) ถึงขั้นผมยอมให้ติดหนี้ไว้ก่อนเคลียร์กันเป็นเดือนๆ ไป และที่พิเศษมากไอ้หมอนี่ได้รับคำแนะนำแล้วอ่านเลย บางทียังไม่ตกปากซื้อเหมือนถ้ายังไม่มั่นใจอาจจะเกิดจากคำแนะนำที่ไม่กระจ่างพอก็จะอ่านก่อนแล้วค่อยซื้อ ผมเจอคนแบบนี้ “น้อยมาก” นะครับ

วันดีคืนนี้เมื่อได้ข่าวว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือโลก เขาก็หายตัวไปจากร้านเป็นอาทิตย์ ติดต่อก็ไม่ได้ วันหนึ่งเขาก็โทรมาหา เสียงโทรศัพท์ของเขาเหมือนนั่งอยู่ในรถที่กำลังวิ่ง ผมว่าจะถามว่าอยู่ไหนและจะบอกว่าให้ลงรถก่อนค่อยโทรมาก็ไม่ทัน เขาชิงพูดก่อนเลย “พี่นี่ผมอยู่กรุงเทพฯ มาเมืองหนังสือโลก แต่ผมตามหามาสามสี่วันแล้ว- - -” เขาคงอัดอั้นมากและผมก็เริ่มรู้แล้วว่าเขาหายไปทำไม คงอยากเซอร์ไพรส์ผมน่ะว่า ได้ไปเมืองหนังสือโลกแล้ว แล้วพอไปถึงก็จะกลับมาบอกเล่าบรรยากาศและประสบการณ์ “ไม่รู้เขาจัดงานตรงไหนพี่พอรู้ไหม ผมต้องกลับพรุ่งนี้แล้วหนีเรียนมาหลายวันแล้ว” แล้วผมก็ได้ยินเสียงคนๆ หนึ่งพูดขึ้นเป็นภาษาลาวบ้านผม “เจอแล้วเหรอ” ผมถามฝ่าเสียงหัวเราะของเขาออกไป “ครับๆๆ พี่แท็กซี่บอกแล้ว”

พอกลับมาถึงตอนเช้า เขาก็ตรงดิ่งมาหาเลย ‘คงรีบมาเล่าประสบการณ์’ ผมคิด “พี่รู้ไหมว่า เมืองหนังสือมันอยู่ตรงไหน? (ยังไม่ทันที่ผมจะพูดอะไร เขาก็ชิงตอบเองเสียงดังพร้อมเสียงหัวเราะ) มันอยู่ตรงป้ายรถเมล์! แท็กซี่ได้ยินผมโทรถามพี่เขาเลยชี้บอก - - ผมก็นึกว่า เมืองหนังสือโลกมันจะมีบรรยากาศกันทั้งเมืองกรุงเทพฯ ทุกถนนทุกซอยมีหนังสือเต็ม มีคนเดินซื้อหนังสือ มีคนนั่งอ่านหนังสือเต็มไปหมดตามข้างทาง ตามร้านกาแฟ ตามสวนสาธารณะ มันมีแต่ป้าย ‘เมืองหนังสือโลก’ ตามป้ายรถเมล์ ตามสถานีรถไฟฟ้า”

ผมอยากพูดถึง ‘เมืองหนังสือโลก’ นี้ต่ออีกสักหน่อย เริ่มจากคำถามที่ว่าแทนที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือโลก เมืองแห่งการอ่านของโลกเมืองเดียว ทำไมเราไม่ทำให้เมืองไทยทั้งเมืองเป็นเมืองหนังสือเป็นเมืองแห่งการอ่านด้วย ผมมองว่างานแบบนี้มันมีกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมอยู่ 2 อย่าง คือหนังสือและกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน อย่างตอนที่กรุงเทพฯ จัดงานนี้ที่อุบลฯ พวกเราจัดกิจกรรมที่ห้องสมุดประชาชนแต่เป็นกิจกรรมอย่างอื่นนะพูดเรื่องเมืองน่าอยู่ แต่กิจกรรมในงานดูๆ ไปก็เป็นการส่งเสริมการอ่านดีๆ นี่เอง เพราะมีการเชิญนักคิด นักเขียน นักวิชาการ คนทำงานสังคม ศิลปินมาพูดคุยกัน และมีการออกร้านขายหนังสือ งานทำมือ อ่านบทกวี เล่นดนตรีกันด้วย ซึ่งงานมันเวิร์กมาก ห้องสมุดประชาชนก็ดี องค์กรร่วมจัดก็ดี คนที่มาก็ดีต่างให้ความร่วมมือดีมาก พูดง่ายๆ คือทุกคนต่างอยากให้บ้านตัวเองมีกิจกรรมดีๆ น่าอยู่นะ

ทีนี้เราใช้งบไปแค่ 20,000 กว่าบาทรวมค่าวิทยากรแล้วด้วย ผมเลยลองคิดอย่างนี้ว่า ถ้าทำกิจกรรมนี้ต่อเนื่องทุกสองเดือนบนพื้นฐานที่คนในจังหวัดนั้นๆ อยากให้บ้านเมืองตัวเองน่าอยู่เป็นเมืองวัฒนธรรมแห่งการอ่าน ตีไปสูงสุดเลย 120,000 บาท/ครั้ง รวมหกครั้งต่อปีก็สิ้นงบส่วนนี้ 720,000 บาท อีกกิจกรรมหนึ่งคือพิมพ์หนังสือในงานนั้นๆ สามเล่ม 1. วรรณกรรมเก่าที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม อย่างอุบลฯ อาจจะพิมพ์ ‘สังสินไซ’ ซึ่งถือเป็นมหากาพย์ชั้นยอดและท้าวปางคำ เป็นคนแต่ง ท่านก็ยังเป็นต้นตระกูลของผู้สร้างเมืองอุบลฯ 2. พิมพ์ผลงานนักเขียนรุ่นใหม่ของจังหวัดที่เขียนงานสมัยใหม่คัดสรรกันอย่างยุติธรรม โดยเอาคุณภาพผลงานเป็นตัวตั้ง สองเล่มนี้พิมพ์ที่โรงพิมพ์ในจังหวัดนั่นแหละจะได้ภูมิใจกันและให้พิมพ์แบบมาตรฐานหนังสือเลย 3. พิมพ์งานแปลชั้นดีของต่างประเทศก็อาศัยคนแปลจากจังหวัดตัวเองนั่นแหละ หรือถ้าหาคนแปลไม่ได้ก็เสนอให้ทางส่วนกลางเลือกสรรแปลให้หรือเอางานที่แปลแล้วมาพิมพ์ใหม่หรือเล่มที่สามนี้ให้งบกับทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ แล้วให้กระจายไปให้สำนักพิมพ์ที่เป็นสมาชิกจัดพิมพ์เลย ตีไปเลยทั้งสามเล่มนี้ 1,000,000 บาท รวมเบ็ดเสร็จก็ 1,720,000 บาท

ทีนี้เอาภาคอีสานทั้งภาคคูณเข้าไปเป็นเงินเท่าไร แล้วคิดว่ามันเป็นกี่ % ของงบที่ลงไปที่กรุงเทพฯ แล้วถ้าทุกจังหวัดในประเทศนี่ล่ะ มันจะเป็นเงินเท่าไร ทีเหลือก็ให้กรุงเทพฯ ไป ซึ่งก็ยังเป็นเงินส่วนใหญ่อยู่นั่นเองด้วยความเข้าใจว่ากรุงเทพฯ โลภมากและเห็นแก่ได้ แต่ถ้าทำแบบนี้ความโลภมากและเห็นแก่ได้ของกรุงเทพฯ ก็จะน่ารักขึ้น ถ้ามันไปได้ปีต่อๆ ไปก็ขยายไปยังระดับอำเภอ คือผมคิดจากพื้นฐานที่คนเรานั้นอยากให้บ้านตัวเองดีอยู่แล้วเมื่อดูงบแล้วอาจจะน้อยแต่มันเป็นไปได้

ถามว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือโลกแล้วกระทบผมไหม ไม่หรอกครับ เพราะผมไม่ได้สนใจกรุงเทพฯ ไม่เคยไว้เนื้อเชื่อใจกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ อ่อนแอจะตายจะทำอะไรได้ขนาดนั้น กรุงเทพฯ เป็นลูกแหง่ที่ถูกเลี้ยงมาในห้องหรูๆ แคบๆ ซ้ำยังขี้แยเห็นแก่ตัวและขุนกันจนเจ้าเนื้ออีกต่างหากมันจะไปสู้อะไรในโลกกว้างได้ กรุงเทพฯ ไม่เคยออกจากห้องนี่ผมยังอยากรู้เลยว่าโลกในความคิดในจินตนาการของกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร นี่พูดกันเล่นๆ นะ (ซึ่งไม่แน่มันอาจเป็นจริงขึ้นสักวันตามเหตุปัจจัยของมัน) ถ้าเกิดวันหนึ่งภาคอีสานและภาคเหนือกลายเป็นรัฐอิสระขึ้นมานี่ กรุงเทพฯ สูญเสียเอกราชเลยนะครับ ตายทั้งยืน คนภาคใต้ไม่ยอมเป็นเลเบอร์ให้คุณแน่ จังหวัดอื่นๆ ในภูมิภาคของคุณก็พอตัวแล้ว แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ด้วยความลอยจากรากหลุดจากดินและนิสัยติดสบายทำอะไรไม่เป็นของคุณก็จะทำให้กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยคนต่างชาติและจะมากขึ้นๆ จนกลืนกรุงเทพฯ ยังไม่พูดถึงว่าทรัพยากรต่างๆ พลังงานต่างๆ คุณต้องซื้อจากบ้านผมและเพื่อนบ้านนะ ผลิตเองก็ไม่ได้เพราะสภาพแวดล้อมไม่อำนวย น้ำจะท่วมตอนไหนก็ไม่รู้ แผ่นดินจะทรุดตอนไหนก็ไม่รู้ ตายแหงแก๋ครับ...ทางรอดเดียวของกรุงเทพฯ คือ ต้องเลิกอหังการ มมังการ และมีเมตตาที่ซื่อสัตย์แท้จริงตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป

สำหรับฟิลาเดลเฟียไม่มีปัญหา เพราะอย่างไรรุ่นน้องคนนี้ก็ยังเป็นลูกค้า VIP ของผม และผมมั่นใจว่าแม้เขาจะจบไปเขาก็ต้องสั่งซื้อหนังสือจากร้านผมอยู่ดี

 

+ มองอุปสรรคที่จะต้องฝ่าให้พ้นเพื่อสร้างกลุ่มลูกค้าและนักอ่านที่มีคุณภาพอย่างไร

ศินีนาฏ : ตอนนี้มองว่าอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง คือเรื่องราคาหนังสือที่แพงมากๆ หลายคนบอกไม่แพงหรอก งดซื้อเหล้า บุหรี่ วันหนึ่งก็ซื้อหนังสือได้แล้ว ถ้าจะพูดแบบนั้นมันออกจะเป็นนามธรรมอยู่สักหน่อย อย่าลืมว่าพื้นที่ในหัวใจดวงเล็กๆ มันก็กว้างขวางพอจะแบ่งให้เรื่องอื่นได้มากโขอยู่นะคะ ตั้งแต่เปิดร้านมาไม่เคยไม่ลดราคาหนังสือ อย่างน้อย 5% ทุกเล่ม ได้มา 25-30 % เท่านั้น อย่างสามัญชน พี่เขาให้มา 27.5 % แล้วเราต้องไปรับเองที่กรุงเทพฯ ด้วยนะ ไปรับที่งานหนังสือแห่งชาติ คือก็มองว่าเราก็ไปอยู่แล้ว ได้ประโยชน์จากค่ารถไฟหลายอย่าง แต่ถ้าตั้งใจไปเอาแค่หนังสือสามัญชนก็ไม่คุ้ม เพราะเราก็แบ่งให้คนซื้อ 5-10 % ไม่แบ่งก็ไม่ได้ คิดถึงตัวเองตอนเด็กๆ อยากได้ อยากอ่านแต่ไม่มีเงินซื้อ ถ้าหนังสือแพงเกินไปมันก็ขายไม่ได้ ซื้อลำบาก หันไปอ่านในแท็บเล็ต เคยอ่านจากแท้บเล็ตไหมคะ มันอ่านไม่สนุกหรอกค่ะ แต่อ่านฟรีกับอ่านเสียตังค์ หลายคนก็อ่านฟรีดีกว่า ก็เลยคิดว่าหาหนังสือเก่าดีๆ มาขายดีกว่า ราคาไม่แพงแต่ได้อ่านงานดีๆ

วิทยากร : กลุ่มลูกค้าและนักอ่านระดับคุณภาพนี่ไม่ต้องสร้างมันมีอยู่แล้ว คนเหล่านี้สติปัญญาและรสนิยมเขาน่าเคารพ พวกเขาจะเดินหรือไปหาร้านสำหรับพวกเขาเอง เราก็แค่ทำร้านให้ดีมีแต่หนังสือดีๆ อย่างสำนักพิมพ์แสงดาวนี่ เขาก็พิมพ์หนังสือทุกแนว วรรณกรรมทุกประเภท แต่ก็เลือกส่งให้เราแต่ที่คลาสสิกๆ ซึ่งหลังๆ ปกก็สวยมาก มติชนก็ติดต่อมาโดยไม่เอาค่ามัดจำให้เราเข้าไปเลือกหนังสือได้เลย (แต่ยังไม่ทันได้เลือก ผมเองก็โตมาจากการอ่านงานสำนักพิมพ์มติชนและศิลปวัฒนธรรม) ขออภัยที่ไม่ได้กล่าวถึงสำนักพิมพ์อื่นๆ และผู้ที่งดงามคนอื่นๆ ด้วยนะครับ ภาระหนักของการเปิดร้านหนังสือแบบนี้ (นี่เป็นคำแนะนำสำหรับผู้มีฝันแบบนี้ด้วยนะครับ) คือ ค่าเช่าร้าน ถ้าตัดปัญหาตรงนั้นออกไปได้อย่างไรก็ไม่ขาดทุน แม้จะได้น้อยก็ตาม อย่างฟิลาเดลเฟียมีตัวเลขผลกำไรพอจะผ่อนค่าบ้านได้เดือนละสี่ห้าพันก็อยู่ได้แล้ว บางเดือนขายได้ดีได้ค่าผ่อนสองเดือนเลยด้วยซ้ำ ทีนี้ก็มาสู่อีกเงื่อนไขที่สำคัญมาก คือ เราตั้งเป้าหรือคาดหวังกับร้าน (ความฝัน) ของเราแค่ไหน? 1. แค่ให้ร้านเลี้ยงร้านได้ (ฝันเลี้ยงฝัน) หรือ 2. หวังถึงขั้นให้ร้านเลี้ยงเราด้วย (ฝันเลี้ยงฝันและชีวิต) สำหรับเรามีเงื่อนไขกับฝันนี้แค่ข้อที่ 1 และโชคดีที่ผมทำงานอิสระและพอมีรายได้บ้างเลยอยู่ได้มาจนวันนี้ แต่ถ้าหวังถึงเงื่อนไขที่ 2. เราก็ต้องมีราคาที่ต้องจ่ายมากขึ้น มันต้องทำอะไรมากกว่านี้แน่นอน ขั้นตอนเหล่านี้เองบางทีมันบั่นทอนความงดงามของความฝันและบั่นทอนสุขภาพชีวิตและจิตใจ ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเงื่อนไขที่ 2 เป็นไปไม่ได้นะ เป็นไปได้ แต่คุณต้องเก่งมาก (ผมเข้าใจว่า ร้านหนังสือเดินทาง อยู่ได้แบบนี้เลย) แต่ผมไม่เก่งเรื่องนี้เลยเอาแค่เงื่อนไขที่ 1 ซึ่งก็เห็นว่าเงื่อนไขนี้มันก็มีความสวยงามและกำไรของมัน

เช่น เมื่อคืนมีน้องคนหนึ่งมาฟิลาเดลเฟียในจังหวะที่ผมออกไปรับลูก เขาโทรมาบอก ไม่เป็นไรถ้าร้านปิดเขาก็จะนั่งรอหน้าร้านนั่นแหละ น้องคนนี้มาร้านเราครั้งแรกตอนงานสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแล้วก็ผูกพันกันมา เขาเป็นคนสกลนคร จบม.ขอนแก่น มาทำงานที่ศีรสะเกษ และเขากำลังจะกลับไปทำงานที่ขอนแก่นสิ้นเดือนนี้ บอกว่า เขาจะไม่ได้มาอีกนาน เขาเอาว่านหอมมาฝากเราด้วยให้เราปลูกในสวน ซึ่งใครที่ตามเราในเฟซฯ ก็จะรู้ว่า สวนดอกไม้ที่เราตั้งใจไว้นั้นมันไม่อาจเป็นสวนได้เร็วดังใจ เพราะเรามีงบน้อยจึงต้องค่อยปลูกสร้างกันไป แฟนๆ ของร้านก็ให้ตังค์มาบ้างให้เปล่าๆ ก็มี สั่งซื้อหนังสือก็มี มิตรสหายก็ให้ต้นไม้ บางคนให้เมล็ด คนเหล่านี้อยากเห็นร้านหนังสือในสวนดอกไม้ในความหมายที่แท้จริง เมื่อคืนผมก็หุงข้าวหม้อใหญ่ ซื้อกับข้าวและทำกับข้าว ชวนเขาและน้องอีกคนที่มาร้านกินข้าวด้วยกัน เมื่อเขาจะกลับเขาก็ซื้อหนังสือไปกว่า ๘๐๐ บาท ผมดูแล้วน่าจะได้กำไรจากตรงนี้สักสามร้อย คิดกันเล่นๆ นะครับ ผมได้แบ่งกำไรจากนี้ครึ่งหนึ่งเพื่อเลี้ยงข้าวเขาและน้องอีกคน กำไรอีกครึ่งก็เก็บไว้เป็นค่าผ่อนบ้าน และเมื่อผมปลูกว่านหอมแล้ว ก็เฝ้าดูว่านเติบโต ระหว่างนั้นก็เขียนไปบอกเล่าให้เขารับรู้ผ่านเฟซฯ

มองว่าเมล็ดพันธุ์ ต้นไม้ที่ได้จากมิตรสหายและลูกค้าเหล่านี้ที่จะทำให้บ้านและร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียเป็นบ้านและร้านหนังสือในสวนดอกไม้ ความงามตรงนี้มันจะทำให้บ้านและร้านหนังสือมีความหมายและเกิดความรักขึ้นในเราผู้เป็นเจ้าของมีแรงบันดาลใจที่จะสร้างสรรค์การงานนี้ให้เจริญงอกงาม เกิดความรักความงามขึ้นสำหรับผู้ที่ให้และผู้ที่เห็น...เรียกสิ่งนี้ว่า กำไรและจุดบรรจบหรือจุดสมดุลของอุดมคติ/ความฝันและธุรกิจได้ไหม?

 

+ การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีมาสู่อีบุ๊ก จะมีการปรับตัวอย่างไร

วิทยากร : ผมนึกภาพไม่ออกว่าผมจะอ่านวรรณกรรมคลาสสิกจากอีบุ๊กให้ได้อารมณ์ความรู้สึกเหมือนที่อ่านจากหนังสือเล่มได้อย่างไร แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธมันนะครับ ก็ยอมรับมัน ยอมรับว่านี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เราต้องเผชิญ แต่ตอนนี้ผมยังไม่จำเป็นต้องใช้อีบุ๊ก แต่การเกิดขึ้นของสิ่งนี้และการเฝ้าสังเกตร้านหนังสือทำให้ผมรู้สึกถึงแนวโน้มบางอย่าง คือผมรู้สึกว่า ร้านหนังสือแบบฟิลาเดลเฟียนี่นะ มันออกจะมีอารมณ์คล้ายๆ ร้านขายของเก่าที่มีระดับหน่อยกึ่งๆ พิพิธภัณฑ์ที่จำหน่ายวัตถุโบราณล้ำค่าด้วย แต่ร้านหนังสือมันพิเศษตรงที่ว่ามีเงิน 300-500 บาทก็ซื้อของเก่าดีๆ ได้แล้ว ผมมีแผนอยู่เหมือนกันว่าจะเก็บเงินก้อนหนึ่งไว้เพื่อพิมพ์หนังสือดีๆ พิมพ์ให้สวยๆ ปกแข็งเลย พิมพ์สัก 100 เล่ม แล้ววางขายในร้านในราคาเท่าที่ว่าสำหรับนักสะสม

 

+อยากข้อเสนอแนะให้สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย มีนโยบายสนับสนุนร้านหนังสืออิสระหรือร้านหนังสือเล็กอย่างไรบ้าง

วิทยากร : เราได้เสนอแนวคิดเรื่อง คสล. ไปแล้ว ถ้าจะมีข้อเสนอสำหรับสมาคมฯ อยากให้ไปหนุนเสริม คสล. ให้มีพลังขับเคลื่อนตรงนั้น แต่ถ้าจะสนับสนุนร้านหนังสืออิสระโดยตรงก็ขอให้ 1. ส่งหนังสือฝากขายโดยไม่คิดค่ามัดจำและให้ % สัก 30% ขึ้นไปไม่เกิน 40% (ยกเว้นหนังสือหมวดลดราคาล้างสต๊อก) 2. ถ้าเป็นไปได้หมุนเวียนหนังสือลดราคาของสมาชิกสมาคมไปให้ร้านหนังสืออิสระรอบละ 3 เดือนก็น่าจะดี เป็นการส่งเสริมการขายและกระจายอำนาจการซื้อการอ่านการเข้าถึงหนังสือไปสู่ภูมิภาค...หรือผมเรียกร้องมากเกินไปแล้วครับ

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ