Hilary Mantel : กับประวัติศาสตร์ในเรื่องแต่ง

Hilary Mantel

ฮิลลารี แมนเทล คือผู้เขียนหนังสือชื่อ Wolf Hall แปลเป็นไทยในชื่อ ทอมัส ครอมเวลล์: อำมาตย์ผู้พลิกแผ่นดิน (สน พ. เอิร์นเนสต์) ซึ่งเป็นผลงานที่ทำให้เธอได้รับรางวัลแมนบุ๊คเกอร์ไพรซ์ในปี 2009 บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เธอได้กล่าวถึงแนวคิดในการเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ในแบบฉบับของเธอ

แม้ว่าเราจะไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาบทสัมภาษณ์นี้ใน Paris Review ได้ทั้งหมด แต่ข้อความที่คัดสรรมาก็น่าสนใจและน่าถกเถียง มาให้ทุกคนได้ลองอ่านและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ว่าอะไรคือเส้นแบ่ง ระหว่างเรื่องแต่งและเรื่องจริง และหนังสือที่จะถูกเรียกว่านวนิยายอิงประวัติศาสตร์ควรวางตัวเองอยู่ตรงไหน สัมภาษณ์โดย Mona Simpson

ผู้สัมภาษณ์ : คุณเริ่มต้นโดยการเขียนเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์แล้วก็กลับมาเขียนอีก มันมีความเป็นมาอย่างไร

แมนเทล : ฉันกลายเป็นนักเขียนนิยายก็ด้วยเหตุผลเดียว คือคิดว่าตัวเองชวดโอกาสจะได้เป็นนักประวัติศาสตร์แล้ว อาชีพนี้ก็เหมือนจะเป็นตัวเลือกที่รองลงมา ฉันพยายามเรียนรู้ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสผ่านเรื่องราว ของผู้คนที่สร้างการปฏิวัติขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องราวจากศัตรูของการปฏิวัติ

ผู้สัมภาษณ์ : ทำไมจึงต้องเป็นเรื่องของฝ่ายนั้น

แมนเทล : ฉันตะลุยอ่านหนังสือประวัติศาสตร์และ นวนิยายทุกเล่มเท่าที่จะหามาได้ แล้วก็รู้สึกยังไม่พอใจกับเรื่องราวที่ได้ผ่านตามา นิยายทุกเล่มล้วนกล่าวถึงชนชั้นสูงและความทุกข์ยากของพวกเขา ฉันคิดว่านักเขียนเหล่านั้นพลาดนะที่ไม่ได้เขียนเรื่องราวของกลุ่มที่น่า สนใจกว่านั้นมาก นั่นก็คือพวกนักปฏิวัติเปี่ยมอุดมคติซึ่งมีเรื่องราวน่ามหัศจรรย์ใจ แต่กลับไม่มีนิยายเขียนถึงพวกเขาเลย ฉันจึงเริ่มเขียนมันขึ้นเอง อย่างน้อยก็เรื่องของคนใดคนหนึ่งในกลุ่มนั้น ฉันก็จะได้อ่านมันเสียที และแน่นอน ดูเหมือนว่าจะมีแต่ฉันที่ทำแบบนั้น แนวคิดของฉันก็คือการเขียนเรื่องแต่งเชิงสารคดีที่นำหน้าด้วยข้อเท็จจริง จากนั้นไม่กี่เดือน ฉันก็เริ่มมาถึงจุดที่ข้อมูลบางอย่างในแต่ละเหตุการณ์ไม่เพียงพอ และต้องใช้เวลาทั้งวันเริ่มปั้นแต่งมันขึ้นมาเอง เมื่อทำเสร็จก็พบว่า ฉันชอบมาก ฟังดูไร้เดียงสานะ ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าตัวเองต้องสร้างเรื่องขึ้น แต่ฉันก็มีความเชื่อหนักแน่นอย่างหนึ่งว่า วัตถุดิบทั้งหลายมันก็อยู่ที่ไหนสักแห่ง หากฉันไม่สามารถหามาได้ ก็คงเป็นความผิดของฉันเอง

ผู้สัมภาษณ์ : แต่ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของมนุษยชาติก็สูญหายไปไม่ใช่หรือ

แมนเทล : ใช่ และเมื่อคุณตระหนักว่าเป็นอย่างนั้น คุณก็พูดแบบนั้นได้ ตัวอย่างเช่น ฉันไม่รู้แน่ชัดหรอกว่าเหตุการณ์ต่างๆ ดำเนินไปอย่างไร แต่รู้แน่ๆ ว่ามันเกิดขึ้นที่ไหน และเมื่อไหร่

ผู้สัมภาษณ์ : คุณเคยบิดเบือนความจริงเพื่อทำให้เรื่องราวในนิยายมีความบีบคั้นมากขึ้นบ้างไหม

แมนเทล : ไม่เคยเลย ฉันต้องการจะทำให้เรื่องแต่งมี ความยืดหยุ่นเพื่อให้มันเกี่ยวกระหวัดตัวเองเข้ากับข้อเท็จจริงที่เรามี เพราะไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร ดูเหมือนไม่มีใครเข้าใจสิ่งนี้ ไม่มีใครใช้วิธีการเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์เดียวกันกับที่ฉันทำ หากว่าฉันจะต้องมีหลักการอะไร ก็คงเป็นความจริงที่ว่าประวัติศาสตร์ที่ดีและนวนิยายที่ดีไม่จำเป็นต้องขัด แย้งกันเอง ฉันรู้ว่าประวัติศาสตร์นั้นไม่เป็นรูปเป็นร่าง ฉันรู้ว่าข้อเท็จจริงหลายครั้งก็ไม่สัมพันธ์กัน มันประกอบด้วยส่วนล้นเกินมากมาย คุณอาจตัดแต่งให้มันเป็นรูปร่างดีกว่านี้หากคุณเป็นพระเจ้า แต่มันก็อย่างที่มันเป็น ฉันคิดว่าเสน่ห์และทักษะของมันอยู่ที่การทำงานกับความไม่เชื่อมโยงกันเหล่า นั้น

ผู้สัมภาษณ์ : ด้วยการบรรจุความขัดแย้งกันเองลงไป

แมนเทล : ถูกต้อง ความขัดแย้งไม่ลงรอยและความพิพักพิพ่วน คือสิ่งที่ทำให้นิยายอิงประวัติศาสตร์มีคุณค่า ตามหารูปร่างของมัน มากกว่าที่จะกำหนดมันขึ้นเอง ปล่อยให้ผู้อ่านอยู่กับความคลุมเครือทั้งหลาย โธมัส ครอมเวลเป็นตัวละครที่สำคัญมากในแง่นั้น แทบจะเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับความคลุมเครือ มีทั้งครอมเวลล์ที่อยู่ในประวัติศาสตร์กระแสหลัก และอีกคนที่อยู่ในประวัติศาสตร์เชิงวิชาการ และครอมเวลล์ทั้งสองต่างก็ไม่เชื่อมโยงสอดรับกัน สิ่งที่ฉันได้พยายามทำก็คือนำสองแนวคิดนี้มารวมเข้าไว้ด้วยกัน มันจะเกิดเป็นครอมเวลล์อีกสายหนึ่งในชีวประวัติของเขา ซึ่งก็มีลักษณะตั้งแต่การเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลักจนถึงประวัติศาสตร์ที่ น่าเชื่อถือและเป็นวิชาการ แล้วเราก็อาจจะได้ครอมเวลล์แบบผสมสอดคล้องกันขึ้นมาอีกคนหนึ่ง

 

 

จาก Paris Review Hilary Mantel, Art of Fiction No. 226
ภาพ: Nick Lord
by Khing Amatyakul
คนแปล (คุณ ณัฐกานต์ อมาตยกุล)
ขอบคุณที่มาจาก :papercuts

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ