คุยกับ กฤษณา อโศกสิน : ปูนปิดทอง ภาคภาษาอังกฤษ

คุยกับ กฤษณา อโศกสิน

สุกัญญา ชลศึกษ์ เจ้าของนามปากกา "กฤษณา อโศกสิน" ในวัย 82 ปี มี ผลงานนวนิยายมากมายหลายเล่ม แต่ละเรื่องมีผู้นำไปสร้างเป็นละครทางโทรทัศน์มาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่า สวรรค์เบี่ยง เมียหลวง น้ำเซาะทราย น้ำผึ้งขม ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีผลงานอื่นในนามปากกา "กัญญ์ชลา" เช่น บ่วงดวงใจ ลานลูกไม้ วิมานไฟ เสื้อสีฝุ่น ฯลฯ ล่าสุดเพิ่งมีผลงาน "ปูนปิดทอง" ที่ได้รับรางวัลซีไรต์ในปีพ.ศ.2528 เปิดตัวในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ

ในงานเปิดตัวที่ร้านหนังสือคิโนะคุนิยะ ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2557 สุกัญญา ชลศึกษ์ กล่าวถึงประเด็นสำคัญของเนื้อหาและแรงบันดาลใจในการเขียนนวนิยายเรื่องนี้ว่า ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยกของหลายๆ ครอบครัวในสังคมไทย จึงได้หยิบยกเอาปัญหาที่พบเห็นผ่านประสบการณ์มาตีแผ่เป็นเรื่องราว โดยหวังว่าจะให้ข้อคิดแก่ใครหลายๆ คน

"ดิฉันสังเกตเห็นปัญหาความแตกแยกของครอบครัวในสังคมไทยหลายๆ ครอบครัว เด็กจำนวนมากมีปัญหา คือมีพฤติกรรมที่ไม่ดีค่อนข้างเยอะ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วสังคมเรามักจะมองแค่เพียงเปลือกนอกของปัญหา แต่ไม่มองลึกลงไปข้างใน แล้วเราก็จะลงโทษแต่เด็กว่าเด็กทำตัวไม่ดี ดิฉันก็เกิดความคิดว่าแทนที่เราจะแก้ที่ปลายเหตุซึ่งก็คือเด็ก ทำไมเราไม่พิจารณาไปที่ต้นเหตุด้วย ซึ่งก็คือพ่อแม่และครอบครัว

บางครั้งการที่เด็กมีความประพฤติที่ไม่เหมาะสม ส่วนหนึ่งก็มาจากการปฏิบัติของพ่อแม่ที่ปฏิบัติต่อพวกเขาด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้ดิฉันคิดว่าตัวเองควรจะเขียนหนังสือที่เกี่ยวกับความแตกแยกในลักษณะนี้สักหนึ่งเล่ม เอามาตีแผ่เพื่อสะท้อนปัญหาให้สังคมได้รับรู้" นักเขียนเจ้าของผลงาน "ปูนปิดทอง" กล่าว

เมื่อย้อนถามถึงเส้นทางนักเขียน เจ้าของนามปากกา "กฤษณา อโศกสิน" ให้คำตอบว่า
"ถ้าถามว่าทำไมดิฉันถึงเลือกมาเป็น นักเขียน จริงๆ ก็ไม่ได้เลือกเลยค่ะ แต่มันเป็นไปเองโดยปริยายมากกว่า คือดิฉันเองชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กแล้ว แล้วก็ชอบเขียนหนังสือด้วย เขียนไปเรื่อย เขียนจบเรื่องบ้าง ไม่จบเรื่องบ้าง ตอนนั้นก็เขียนแบบเด็กๆ อายุประมาณ 15 ปีได้ แล้วก็มีอยู่วันหนึ่งก็เขียนเรื่องหนึ่งได้จนจบเรื่อง ก็ส่งไปให้สำนักพิมพ์แล้วก็ได้ตีพิมพ์ ซึ่งตอนนั้นดิฉันก็ไม่รู้เลยว่าผลงานตัวเองได้รับการตีพิมพ์แล้ว เพราะอยู่โรงเรียนประจำ เพิ่งจะมารู้ก็ตอนที่ได้เป็นนักเขียนอย่างทุกวันนี้แล้ว" นักเขียนหญิงกล่าว

ด้านแขกรับเชิญที่เป็นบุคคลสำคัญมาร่วมวิจารณ์ในงานเปิดตัวหนังสือครั้งนี้ด้วย
เริ่มจาก ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร อดีตนายกสมาคมภาษา และหนังสือแห่งประเทศไทยกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าต่อสังคมมาก เพราะเป็นการสะท้อนปัญหาในสังคมไทย ปัญหาครอบครัว เอามาตีแผ่เป็นชีวิตของตัวละครเอกในเรื่องที่ประสบปัญหาแบบนี้มาแล้วต้องหาทางสู้ชีวิต

เป็นอุทาหรณ์เตือนใจว่า ถึงแม้ว่าเราจะเจอปัญหาหนักหนาเพียงใด แต่หากเรามีสติและรู้จักแก้ปัญหาให้ถูกทาง ทุกอย่างก็จะผ่านไปด้วยดี หรือหากจะพูดเปรียบเปรยหนังสือเล่มนี้ให้เป็นเหมือน "กระจกบานใหญ่" ที่สะท้อนภาพมุมกว้างของชีวิตจริง ก็คงไม่ใช่เรื่องผิด

สำหรับ ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมุมมองต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม มีผลทำให้สถาบันครอบครัวขาดที่ยึดเหนี่ยว "ที่ว่าขาดที่ยึดเหนี่ยวนั้นคือผมรู้สึกว่าสังคมมนุษย์เรามีการเน้นที่ปริมาณมากกว่าคุณภาพ คือทำเหมือนทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสินค้า แม้แต่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองก็ยังถูกปฏิบัติอย่างลดค่าความเป็นคนลงไปมากขึ้น

อย่างเช่นคนคบกันเป็นเพื่อน พอเบื่อเพื่อนหรือเพื่อนทำอะไรไม่ถูกใจก็ทิ้งเพื่อนไปง่ายๆ เรียกได้ว่าคบกันแบบหวังตักตวงผลประโยชน์ อะไรหลายๆ อย่างที่เปลี่ยนแปลงไปมันทำให้ความอดทนและความจริงใจของคนเราลดน้อยลง ซึ่งก็นำไปสู่ประเด็นที่ผู้เขียนพยายามสอนเรา คือสอนให้รู้จักอดทน และรอคอยต่อสถานการณ์ต่างๆ แล้วในที่สุดเราจะได้รู้จักความสุขที่เกิดจากการอดทนนั้น" ดร.สุรเดชกล่าว

สำหรับนวนิยายเรื่องปูนปิดทองนั้น ดร.สุรเดชมองว่า ไม่เพียงแต่เป็นหนังสือที่สะท้อนบอกเล่าเรื่องราวของปัญหาเท่านั้น หากแต่เสมือนเป็นประตูที่เปิดพาปัญหาเหล่านั้นไปสู่ทางแก้สำหรับใช้ในชีวิตจริงอีกด้วย

"วิธีการนำเสนอเรื่องราวของคุณกฤษณาไม่ได้มีเพียงแค่การเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ อย่างเดียว ผมมองเห็นไกลกว่านั้น คือมีการพยายามหาทางออกของปัญหาให้กับสังคมด้วย และที่สำคัญที่สุดคือ ผมมองเห็นประเด็น ที่คิดว่าน่าจะเป็นจุดน่าสนใจสำหรับนักอ่านนานาชาติ คือชีวิตของตัวละครในเรื่อง การมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัว จากที่ตอนแรกอาจจะไม่เคยได้คุยกัน แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ตัดขาดกัน ยังรักยังกลับไปหากัน

ตรงนี้ถ้าเป็นสังคมประเทศอื่น หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมตะวันตก คนเป็นลูกจะค่อนข้างมีอิสระกว่า ง่ายๆ คือใช้ชีวิตอยู่เองตามลำพังได้ โดยไม่ต้องพึ่งอะไรครอบครัวมาก เขาอาจจะรู้สึกปกติกับชีวิตของ ตัวละครที่ไม่พึ่งพาครอบครัว

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ผมมองว่าถ้า นักอ่านเหล่านั้นได้เข้ามาสัมผัสกับ รูปแบบชีวิตหรือวัฒนธรรมของไทยจากหนังสือเล่มนี้ที่ต่างจากวัฒน ธรรมของพวกเขา ผมว่าพวกเขาน่าจะต้องประทับใจครับ" อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิกล่าวทิ้งท้าย

 

 

ขอบคุณที่มา หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8749

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ