อุรุดา โควินท์ : ผีเสื้อที่บินข้ามบึง

อุรุดา โควินท์

หลายคนคงเชื่อว่า อาชีพประจำคือความมั่นคงในชีวิต แม้ว่าจะต้องอยู่กับแรงกดดัน เคร่งเครียด หรืออาจต้องสูญเสียเวลาส่วนตัว เพื่อแลกกับความเป็นอยู่ทางสังคมที่ดีขึ้น ต่างจากนักเขียนนวนิยายรักคนนี้‘อุรุดา โควินท์’เธอลงมือหวานเมล็ดพันธุ์อย่างหยั่งลึกสู่ภายในจิตใจของผู้หญิง ด้วยความเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริง และยังนำเสนอความเป็นหญิงในหลากหลายมุมมอง ผ่านตัวละครหลากหลายรูปแบบ อดีตสาวแบงก์ตาคม ผมยาว ผู้เลือกวิถีทางของชีวิตนักเขียน ซึ่งกว่าเธอจะเป็นผีเสื้อที่บินข้ามบึงมาสู่การยอมรับจากนักอ่านอย่างมากมายในวันนี้ เธอต้องฝ่าฟันด้วยความลำบาก อดทน ในสภาวการณ์ที่สูญเสียนักเขียนอันเป็นที่รักไปอย่างไม่มีวันกลับ ผีเสื้อตัวน้อย ๆ กำลังบอกเล่าเรื่องราวกับ ‘ออล แม็กกาซีน’ด้วยความซื่อตรง จริงใจ สนุกสนานตลอดเวลาของการสนทนา จึงเราไม่แปลกใจว่า ทำไมนักอ่านหลายคนถึงได้หลงรักนักเขียนหญิงคนนี้อย่างไม่มีเงื่อนไขใด ๆ

 

อุรุดา โควินท์

 

All : เริ่มรู้สึกว่าตัวเองชอบเขียนหนังสือตั้งแต่เมื่อไหร่
อุรุดา โควินท์
: การเขียนมันอยู่ในตัวมานาน เช่น เวลาเรียนหนังสือจะนั่งหลังห้อง เขียนกลอน โดยไม่สนใจในสิ่งที่ครูสอน พอเป็นวัยรุ่นชอบเขียนบันทึกมาก พอเริ่มเป็นสาวก็มีแฟน สมัยนั้นการสื่อสารไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน ต้องเขียนจดหมายหาแฟนที่อยู่อีกจังหวัดหนึ่ง เรียนจบมาทำงานธนาคารก็ตั้งใจจะเป็นพนักงานธนาคารที่เก่ง แต่กลับรู้สึกว่า ไม่ใช่ สิ่งหนึ่งที่เราไม่มี คือความเป็นนักขาย เราทำไม่ได้ เพราะไม่ได้เชื่อในสินค้า ก็ขายไม่ได้ มักมีปัญหา มีข้อขัดแย้งกับระบบงาน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เริ่มอ่านหนังสือเยอะมาก เกิดเป็นคำถามมากมายว่า เราจะใช้ชีวิตอย่างนี้ได้หรือ จึงเริ่มอ่านวรรณกรรมหนัก ๆ จริง ๆ ก็เริ่มอ่านและเขียนตั้งแต่ตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยพายัพ สมัยเรียนจะมีวิชาการเขียนทุกสาขา นับว่าเป็นบุญมาก ๆ อาจารย์ให้เขียนเรื่องสั้น พออาจารย์อ่านก็รู้สึกชอบมาก จนพูดว่า “อุรุดาเธอเป็นนักเขียนได้นะ” ตอนนั้นก็ไม่คิดอะไรเพราะเรียนบัญชี อยากใส่รองเท้าส้นสูง ใส่กระโปรงสั้น ๆ (หัวเราะ)

All : สนามแรกที่ทำให้ ‘อุรุดา โควินท์’ ได้แสดงฝีมือ
อุรุดา โควินท์
: ตอนนั้นมีข้อขัดแย้งในชีวิต จึงอยากเขียนออกมา ลองเขียนเล่น ๆ ในช่วงที่ทำงานธนาคาร แล้วก็ส่งรางวัลสุภาว์ เทวกุลก็ได้รับรางวัลด้วย ซึ่งต่อมายังได้ลงในนิตยสารสกุลไทย เขียนมาเรื่อย ๆ ก็ได้ลงตามหน้านิตยสารต่าง ๆ อยู่หลายครั้ง จึงได้ตัดสินใจลาออก เพราะเลือกวิถีของนักเขียน เราก็พบว่า ตัวเองหลงรักการเขียนหนังสืออย่างจริงจัง ชอบวิถีชีวิตที่ไม่มีเจ้านายมาประเมินตอนสิ้นปี ไม่ต้องขายของที่ไม่อยากขาย เมื่อค้นพบว่าตัวเองมีความสามารถด้านการเขียน ตัดสินใจเขียนอย่างจริงจัง ยิ่งเขียนก็ยิ่งชอบ ถ้าวันไหนไม่ได้เขียนจะรู้สึกผิด ตอนทำงานธนาคารเป็นพนักงานที่ไม่มีวินัยเลย แต่ตอนเขียนหนังสือเป็นนักเขียนที่มีวินัยมาก ๆ เขียนทุกวัน จัดตารางงาน วางแผนให้ตัวเอง รู้สึกมีความสุขที่ซื้อลิปสติกด้วยเงินเขียนหนังสือ (หัวเราะ) เราไม่อยากเป็นนักเขียนที่ต้องมัธยัสถ์ ประหยัด ต้องซื่อสัตย์ต่อความรู้สึก ต่อความต้องการของตัวเอง ซึ่งเรามีไลฟ์สไตล์ที่ต้องใช้ แต่ต้องมีความสมดุลให้ชีวิตด้วย (ยิ้ม)

All : ทำไมถึงเลือกอาชีพนักเขียนทั้ง ๆ ที่รู้ว่าอาจจะไม่มีความมั่นคงในชีวิต
อุรุดา โควินท์
: แม้ว่าอาชีพนักเขียนอาจจะมีความมั่นคงน้อยที่สุด แต่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ไม่มีความมั่นคงหรอก เราทำงานบริษัทเขาจะไล่เราออกวันไหนก็ไม่รู้ เราจะทนได้ถึงวันไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน สำหรับอาชีพนักเขียนมีสิ่งที่เราได้คือความมั่นคงทางจิตใจ ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์ไหน เราต้องอยู่ให้ได้ เคยกินผัดผักกูดมาเป็นอาทิตย์ตอนที่อยู่กับ กนกพงศ์ สงสมพันธ์ ที่อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะไม่มีเงิน วิถีชีวิตมีให้เลือก จุดหนึ่งเราเลือกเวลาที่อิสระ ถ้าไม่มีงานให้เขียน ก็อาจตัดสิ่งไม่จำเป็นออกไป อาชีพนักเขียนก็ลดค่าใช้จ่ายได้เยอะ ถ้าเขียนอย่างจริงจัง เราก็ยังมองว่ามีนักเขียนที่เขาสร้างบ้านได้ด้วยเงินจากการเขียนหนังสือ

All : ทราบมาว่า ชื่นชอบในการวิ่งเป็นพิเศษ ถือเป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้ว และการวิ่งมีส่วนเชื่อมโยงกับงานเขียนอย่างไร
อุรุดา โควินท์
: จริง ๆ ก็เพิ่งจะมาวิ่ง เพราะอยากมีชีวิตที่ยืนยาว คิดว่าการออกกำลังกายน่าจะทำให้ชีวิตมีความสุขได้จริง ๆ หลังจากอดีตเสียชีวิต นอนไม่หลับเป็นเวลา 3 – 4 เดือน แต่การออกกำลังกายทำให้เราหลับ พอกลับไปอยู่เชียงราย เริ่มวิ่งทุกวัน ช่วงแรกอาการปวดทั้งตัว แต่ก็ยังไปวิ่ง โดยตั้งใจว่า วันนี้เราต้องวิ่งให้ได้ไกลกว่าเมื่อวาน เราใช้เวลาปรับตัวนานถึง 4 เดือนในการวิ่ง 4 กิโลเมตร การวิ่งมันส่งผลต่อการเขียนมากที่สุด เพราะเวลาวิ่งเราอยากไปให้ถึง 4 กิโลเมตร เราอยากจะรู้ว่าตัวเองจะทำได้ไหม ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่า เราทำได้ การเขียนก็เหมือนกัน ถ้าเรารู้สึกว่า ตีบตันทางความคิด หรือไม่อยากเขียน มักจะหยุด แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ก็จะเขียนไปจนกว่าจะเสร็จ การวิ่งทำให้เพิ่มศักยภาพในตัวเอง ทำให้เรานั่งบนโต๊ะได้นานขึ้น เขียนได้ยาวขึ้น มันทำให้เราได้รู้ว่า ยังมีอีกหลายสิ่งที่ทำได้ เพียงแต่เรายังไม่ได้ลงมือทำค่ะ การวิ่งมันเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับความสามารถของคน ทำให้เรารู้สึกว่าความสามารถมันเกิดจากการฝึกฝน และความพยายามถึง 80 เปอร์เซ็นต์ มันไม่ได้อยู่เฉย ๆ แล้วมีความสามารถ เราอย่าเพิ่งบอกว่า ทำไม่ได้ ต้องลงมือทำก่อน แล้วต้องทำให้สุด ๆ ด้วย

All : อย่างที่ทราบ ‘อุรุดา โควินท์’ เป็นทั้งคอลัมน์นิสต์ เขียนเรื่องสั้น นวนิยาย รูปแบบในการเขียนมีความยากง่ายแตกต่างกันอย่างไร
อุรุดา โควินท์
: นวนิยายเราเริ่มเขียนช้าสุด อุปสรรคอยู่ที่ความยาวของมัน จึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า หลายคนเขาก็เริ่มต้นเขียนจากนวนิยาย แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ เราเริ่มเขียนนวนิยายพร้อม ๆ การวิ่ง ถ้าเราวิ่งได้ดีก็จะเขียนนวนิยายได้ดี เนื้อเรื่องก็เหมือนกับการวิ่งนั้นแหละ ฝึกไปเรื่อย ๆ หากเราวิ่งได้ยาวขึ้น การเขียนนวนิยายก็ยาวตาม ถ้าถามว่าชอบเขียนรูปแบบไหนมากสุด ตอบได้เลยว่า ชอบเขียนนวนิยาย เพราะกรอบมันกว้าง เนื้อที่ก็เยอะจะใส่อะไรเข้าไปในเรื่องก็ได้ ตราบใดที่นักอ่านยังเข้าใจ มีพื้นที่ให้เราใส่มิติของตัวละคร ในขณะที่เรื่องสั้นเขียนยากสุด เพราะว่าทุกคำควรจะทำงานอย่างแท้จริง อาจจะเป็นเพราะเราคาดหวังมากไป ส่วนการเขียนคอลัมน์อาหารเขียนสนุกที่สุด ยิ่งเขียนยิ่งเจอสูตรอาหาร เราเขียนคอลัมน์นี้ด้วยความเชื่อว่าทุกคนควรทำอาหารทานเอง เชื่อว่าอร่อยของทุกคนไม่เหมือนกัน

All : กว่าจะเขียนนวนิยายรักสไตล์ ‘อุรุดา โควินท์’ ได้นั้นมีวิธีการทำงานอย่างไร
อุรุดา โควินท์
: เราชอบเขียนถึงความสัมพันธ์ บางทีก็เขียนเรื่องแม่กับลูก เพราะเราให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์และความรัก สมมุติว่ามีคนกลุ่มหนึ่งมาด้วยกัน แล้วคุยกับเรา ก็รู้ทันทีเลยว่า ใครชอบกัน เหมือนแม่มดอ่ะ (หัวเราะ) จมูกไวต่อความรู้สึก หรือสอดสายตาหาเรื่อง เรื่องรักมันมีความเป็นสากล แม้ใครจะมองว่าความรัก มันไม่มีประโยชน์ หรือไม่สร้างสรรค์ แต่เรามองว่าเป็นสากลมาก ทุกวันมีคนรักกัน มีคนเลิกกัน มี SEX กันทุกวัน ทำไมเราจะไม่เขียนถึงมัน ความรักของคนทุกคู่ไม่มีวันเหมือนกัน ฉะนั้นต้องมีเรื่องให้เราเขียนไมรู้จบ เรื่องเนื้อหาก็แทบไม่ต้องหาเลย โดยส่วนใหญ่จะคิดหนักเกี่ยวกับวิธีการเขียนมากกว่า ว่าจะเล่าในรูปแบบไหนให้สนุกสนาน (ยิ้ม)

All : รู้สึกอย่างไรเมื่อนวนิยายที่เขียนได้รับการตอบรับจากนักอ่านเป็นอย่างดี เช่น เรื่อง ‘ผีเสื้อที่บินข้ามบึง’ ซึ่งเปรียบดั่งความรักและชีวิตของผู้เขียนเอง จนนักอ่านหลายคนถึงกับกล่าวว่า “หลงรักผู้หญิงคนนี้”
อุรุดา โควินท์
: นวนิยายเรื่องนี้ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี รู้สึกว่าผู้หญิงหลงรักเรามากกว่าผู้ชายเสียอีก (หัวเราะ) ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้มีบุคลิกอ่อนหวานน่ารัก เราเป็นคนจริงใจ ซื่อตรงต่อความรู้สึก ก็ดีใจมากที่หนังสือเล่มนี้ทำให้ ‘อุรุดา’ ได้ตัวเอง ได้ป้า ได้น้า ได้พี่น้องกลับคืนมา เหมือนเชื่อมโยงเรากับคนอื่นได้ ต่างจากการเขียนเรื่องสั้น ซึ่งเป็นงานที่โดดเดี่ยวมาก คนอ่านแคบกว่า เรื่องผีเสื้อที่บินข้ามบึง ก็ทำให้เรากับคนอ่านเชื่อมโยงหากัน คนอ่านคิดว่าพะแพงเป็นเรา เรื่องนี้เขียนร่างแรกเสร็จภายในเวลา 3 เดือน สำหรับเราถือว่าเร็วมาก ประกอบกับอยากส่งรางวัลสุภัทร สวัสดิรักษ์ซึ่งใกล้หมดเขตแล้ว และอยากลงนิตยสารสกุลไทยอยู่แล้ว เพราะแม่อ่านเป็นประจำ ถ้าได้เป็นนักเขียนนวนิยายต้องเขียนในนิตยสารสกุลไทยเท่านั้น เพราะว่าเป็นสนามของนวนิยายที่จะพิสูจน์ตัวเอง

All : การเขียนนวนิยายเล่มนี้ เดิมพันด้วยชีวิตเลยหรือเปล่าค่ะ
อุรุดา โควินท์
: เราบอกกับตัวเองว่า เขียนหนังสือมากี่ปีแล้ว ถ้าไม่ได้ก็คงไม่มีโอกาสอีกแล้วแหละ ถ้าเรื่องนี้เขียนไม่สำเร็จก็บอกลานวนิยายไปเลย อาชีพนักเขียนถ้าไม่มีนวนิยายก็อยู่ยาก ต้องทำมาหากินอย่างอื่นด้วย หรือไม่ก็ได้ซีไรต์ พอเขียนเสร็จ มีเวลาขัดเกลาภายในครึ่งเดือน แต่ไม่ส่งรางวัลสุภัทร สุดท้ายเสนอนวนิยายเรื่องนี้ แก่นิตยสารสกุลไทยโดยตรง เพราะถามใจตัวเองแล้วว่าไม่อยากได้รางวัล แค่อยากลงนิตยสารสกุลไทย นวนิยายเรื่องนี้ก็มีอะไรหลาย ๆ อย่างที่ไม่ตรงกับขนบของนิตยสารสกุลไทย เรื่องผีเสื้อที่บินข้ามบึงมีอะไรมากกว่านั้น แต่ต้องเขียนด้วยขอบเขตที่นำมาลงนิตยสกุลไทย ถ้าเอาภาคความเป็นแม่มดไปใส่ในนิตยสารสกุลไทย มองว่าคงไม่ได้ลง เราเขียนจากตัวเองมีสีสันของตัวละคร บางคนชอบภาคต่อมากกว่า เรื่อง ‘ขอบของแสง ปีกแห่งเงา’ จริง ๆ มันจบตั้งแต่เรื่องผีเสื้อที่บินข้ามบึง แต่ว่านักอ่านอยากอ่านต่อ และมันยังมีอะไรบางอย่างที่เรายังไม่เขียน เลยเป็นเรื่องของพะแพงภาคต่อ บรรณาธิการก็อยากได้อนาคตของพะแพงด้วย ในแง่ของวรรณศิลป์เราชอบเรื่อง ‘ขอบของแสง ปีกแห่งเงา’ มากกว่า เขียนดีขึ้นกว่าเรื่องแรก เราใส่อะไรบางอย่างที่อยากเขียนลงไปด้วย

All : เพราะอะไร ‘อุรุดา โควินท์’ ถึงชอบงานเขียนที่ขุดออกมาจากข้างใน มากกว่าที่จะเขียนถึงการเมือง ประวัติศาสตร์ สังคม ฯลฯ
อุรุดา โควินท์
: เพราะว่ามีคนที่เขียนได้ดีกว่า (หัวเราะ) ต่อให้เขียนเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ก็เขียนบนวิถีคิดของคนอื่น สมมุติว่าไปอ่าน ‘มิเชล ฟูโก้’ มาก ๆ ก็เขียนโดยใช้ทฤษฎีเขา แต่ว่าสิ่งที่เราเขียนออกไปในปัจจุบันมันเป็นความรู้สึก ความคิดที่อยากจะแบ่งให้กับคุณ มีค่ามากกว่า เวลาเขียนเราก็ขุดความจริงที่อยู่ในใจออกมา โลกนี้เราไม่รู้หรอกว่าอะไรจริง ไม่จริง เราถามตัวเองให้ได้ก่อน ว่าเรารู้สึกอย่างไรกับสิ่งนั้นอย่าง แท้จริง แล้วเอาสิ่งนี้ไปฟาดฟันด้วยความพยายาม ไม่แน่นะ วันหนึ่งถ้าเราเกิดสนใจเรื่องชนเผ่าก็คงค้นคว้าหาข้อมูลอย่างเต็มที่ (ยิ้ม) การเขียนต้องเป็นสิ่งที่เราอยากจะเขียนจริง ๆ ถ้าไม่สนุกกับงาน เราก็ไม่อยากจะเขียนออกมา

All : ในฐานะนักเขียนหญิงคิดว่า ‘พลัง’ ในความเป็นหญิงสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง
อุรุดา โควินท์
: เราต้องเริ่มจากเปลี่ยนตัวเอง ผู้หญิงจะเปลี่ยนอะไรได้ทุกอย่างที่อยากทำนะ (หัวเราะ) แต่ว่ามันไม่ง่าย เราไม่อยากให้มองเรื่องเพศมากเกินไป เพราะจริง ๆ บนโลกใบนี้ก็ไม่ได้มีแค่ผู้หญิง ผู้ชาย เราต้องเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่สามารถเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง ถ้าคุณอยากทำ แต่ต้องลงมือทำก่อนถึงจะรู้ว่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เราเชื่อว่าทุกคนมีสองเพศในตัวเดียวกัน บางทีเรามองผู้หญิงด้วยความรู้สึกทางเพศเช่นเดียวกัน ผู้ชายก็เช่นกัน สมมุติเราไม่มีคำนำหน้า อาจจะไม่ได้มองว่าใครเป็นเพศไหนก็ได้

All : มีอะไรอยากจะฝากถึงนักเขียนหน้าใหม่ที่กำลังเข้าสู่วงการนี้
อุรุดา โควินท์
: อยากให้เขียนถึงสิ่งที่เรารู้สึกจริง ๆ ใช่แหละเป็นเรื่องแต่ง แต่ทั้งหมดเราต้องไม่อยากเป็นคนอื่น เอาสิ่งที่เราคิดไปให้เขาอ่าน อย่างน้อยที่สุดเราได้เขียนในสิ่งที่เราชอบ หนังสือหนึ่งเล่มอาจไม่เหมาะกับทุกคน หนังสือก็เหมือนคนคนหนึ่ง ที่ไม่ได้มีใครชอบทั้งหมด สำคัญที่สุดคือต้อง ขยัน อดทน จริงจัง ประหยัด (หัวเราะ)

 

ขอบคุณที่มา : http://www.all-magazine.com

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ