อริณี เมธเศรษฐ : หนทางที่จะไปสู่นักแปลนั้นไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายที่จะทำออกมาดี

อริณี เมธเศรษฐ

นิตยสารความรู้ NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับภาษาไทย หนังสือเล่มแนวสืบสวนสอบสวนชื่อ อย่าบอกใคร(TELL NO ONE) ของ ฮาร์ลาน โคเบนและหนังสือที่บอกเล่าเรื่องดีๆทั้งให้กำลังใจชุด พลังแห่งชีวิต สามสิ่งนี้มีอะไรที่เหมือนกันหนึ่ง คือ เป็นหนังสือดีที่แปลมาจากต้นฉบับภาษาต่างประเทศเหมือนกัน และสองคือบุคคลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหนังสือเหล่านี้ คือคนเดียวกัน

ชื่อ อริณี เมธเศรษฐ ปรากฏในนิตยสารสารคดีระดับโลกฉบับภาษาไทยเล่มนั้นในฐานะบรรณาธิการบริหาร และชื่อของเธอปรากฏบนปกหนังสือหลายเล่มในฐานะนักแปลคุณภาพ

เธอเป็นแขก "คุยนอกรอบ" ของเราในวันนี้ อริณี เมธเศรษฐเล่าว่าเธอตั้งใจจะอ่านหนังสือภาษาอังกฤษให้ได้ตั้งแต่เด็ก และวิธีการที่จะทำให้อ่านหนังสือได้อย่างต่อเนื่องจนจบเล่มก็คือต้องอ่านหนังสือที่น่าติดตาม ชวนให้อยากรู้ตอนจบ เธอจึงเริ่มอ่านหนังสือภาษาอังกฤษจากนิยายแนวสืบสวนสอบสวนของอกาทา คริสตี ที่ใช้ภาษาไม่ยากเกินไปสำหรับเด็ก

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตในวงการหนังสืออีกหลายๆบทบาทในเวลาต่อมา "ตอนที่ได้ทำ NATIONAL GEOGRAPHIC เหมือนความฝันเป็นจริง 2 ต่อคือ ได้ทำนิตยสาร และนิตยสารที่มีการแปล" อริณี เมธเศรษฐกล่าวถึงนิตยสารที่เธอทำหน้าที่บรรณาธิการบริหารว่าเป็นหนังสือที่อ่านยาก แต่ถ้าอ่านได้จะมีความรู้มาก เพราะเนื้อหาเจาะลึก ถ้าเป็นไปได้อยากจะให้เนื้อหาสนุกกว่านี้ รู้สึกว่าเนื้อหาหนักไป สงสารคนอ่าน

เธอกล่าวอีกว่า NATIONAL GEOGRAPHIC เป็นนิตยสารที่ไม่เหมือนกับเล่มไหนเลยในเมืองไทย และโอกาสที่นิตยสารไทยจะทำอย่าง NATIONAL GEOGRAPHIC ก็เป็นไปได้ยากเพราะค่าใช้จ่ายในการทำสารคดีแต่ละเรื่องสูงมาก มีการถ่ายภาพนับพันรูปเพื่อคัดเอาเพียงยี่สิบรูปมาใช้ นักเขียนเก็บข้อมูลและเขียนกันเป็นปี ค่าใช้จ่ายสูงแต่เมื่อแปลออกเป็น 25 ภาษา ยอดพิมพ์นับสิบล้านเล่ม ต้นทุนต่อเล่มจึงเพียงน้อยนิดเท่านั้น

NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับภาษาไทยตั้งแต่เล่มแรกถึงปัจจุบันก้าวสู่ปีที่ 4 มีการปรับเปลี่ยนไปจากเล่มแรกไม่มากนัก เพราะจะยึดนโยบายวิวัฒนาการ คือปรับเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ให้ผู้อ่านรู้สึก มีการลดเพิ่มคอลัมน์ และมีสารคดีของคนไทยบางส่วน ทาง NATIONAL GEOGRAPHIC เองให้อิสระในการทำงานระดับหนึ่ง เช่น เลือกรูปที่จะขึ้นปกได้ เรื่องที่นำมาตีพิมพ์สามารถนำมาจากฉบับย้อนหลังมาตีพิมพ์ใหม่ได้ NATIONAL GEOGRAPHIC ให้ความพิถีพิถันกับการแปลความหมายของเนื้อหาให้ตรงกับต้นฉบับ ผิดไม่ได้ แต่ก็สามารถแปลงบางสำนวนให้เข้ากับวัฒนธรรมไทยได้ เช่น คำว่าจับปูใส่กระด้ง

สำหรับนักเขียนสารคดีไทยที่ต้องการมีผลงานใน NATIONAL GEOGRAPHIC สามารถติดต่อมาคุยกันก่อนได้ เพราะทาง NATIONAL GEOGRAPHIC เองก็กำลังมองหาอยู่เสมอ ว่ามีประเด็นใหม่ๆอะไรบ้าง สามารถ่ายทอดออกมาเป็นภาพได้ไหม ที่ผ่านมาผลงานสารคดีของคนไทยก็มีชุด หนังไทย และตึกสูง เป็นต้น

เดือนตุลาคมนี้หนังสือชื่อ หาย ของฮาร์ลาน โคเบนกำลังจะวางแผง นั่นคือผลงานแปลเล่มล่าสุดของอริณี เมธเศรษฐ ก่อนหน้านี้ถ้าใครได้อ่าน อย่าบอกใคร หนังสือแปลของนักเขียนและนักแปลคนเดียวกันนี้ ก็จะพบว่า "UNPUTDOWNABLE MYSTERY" ที่เขียนไว้บนปก เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินเลยความจริง ผลก็คือหนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งที่ 5 แล้ว

"ชอบฮาร์ลาน โคเบนเพราะเขียนเรื่องสืบสวนสอบสวนได้ไม่เครียด ติดใจจากหนังสืออีกเล่มหนึ่งของเขาที่พระเอกไม่ใช่นักสืบอาชีพ แต่เป็นตัวแทนนักกีฬา เด๋อด๋า อายุสามสิบกว่าปีแล้วยังอยู่กับพ่อแม่ เรื่องนี้เกี่ยวพันกับกีฬาซึ่งดิชั้นสนใจอยู่แล้ว"

อริณีเล่าว่าเธอมีความสุขกับการแปลหนังสืออย่างมาก โดยไม่เกี่ยงว่าเป็นแนวไหน แต่ค่อนข้างเลือกเรื่องที่จะแปล ต้องเป็นเรื่องที่เธอสนใจ นั่งแปลได้เป็นวันๆ ไม่รู้สึกเบื่อ และคิดว่าจะยึดเป็นงานหลักภายหลังจากการไม่ได้ทำงานประจำแล้ว เธอวิเคราะห์ว่าเหตุผลที่หนังสือแปลกำลังได้รับความนิยมจากผู้อ่านคนไทยในปัจจุบันอาจเป็นเพราะหนังสือแปลทำให้ผู้อ่านอีกกลุ่มหันมาสนใจอ่านหนังสือ เหตุผลคือหนังสือที่แปลมาจากต่างประเทศมีเนื้อหาหลากหลายและสนุก ขณะนี้เธอเองสนใจงานเขียนจากประเทศเอเซียด้วยกัน อย่างอินโดนีเซีย หรือเกาหลี

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการแปลผลงานเขียนของไทยให้เป็นภาษาอังกฤษเธอเล่าว่าคิดเรื่องนี้ตั้งแต่สมัยเรียน ตลาดสากลก็มีความต้องการ มีทำไปบ้างแล้วแต่ไม่มาก เธอคิดว่าหนังสือที่น่าจะแปลเป็นภาษาอังกฤษควรเป็นประเภทนวนิยายพื้นบ้าน งานที่ส่อความเป็นไทย แสดงออกถึงวัฒนธรรมไทย เพราะโดยทั่วไปเมื่อผู้อ่านอ่านหนังสือของประเทศไหนก็เนื่องจากสนใจวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ และเมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วก็จะเป็นประตูไปสู่การแปลเป็นภาษาอื่นๆ อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเรื่องนี้ มีการสนับสนุนกันอย่างเป็นระบบ เช่นนำไปเผยแพร่ในงานโรดโชว์ให้ชาวต่างประเทศได้รู้จัก

หนังสือที่น่าจะนำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษได้แก่หนังสือของคุณลาว คำหอม, อาจินต์ ปัญจพรรค์, มนัส จรรยงค์, คึกฤทธิ์ ปราโมช และ'รงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่งท่านสุดท้ายอาจต้องเชิญผู้รู้ชาวต่างประเทศมาช่วยทำงานเพราะงานเขียนของคุณ 'รงค์แพรวพราวไปด้วยสำนวนภาษาเฉพาะตัว ต้องการความพิถีพิถันเป็นพิเศษ

สำหรับงานเขียนของตนเองเธอเล่าว่าอยากจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับวิธีการทำงานแปล หรือประสบการณ์การทำงานแปล แต่ก็ยังสองจิตสองใจในเรื่องนี้เพราะเกรงว่าจะตั้งตนเป็นผู้รู้มากไป "หนทางที่จะไปสู่นักแปลไม่ยาก แต่ต้องทำงานหนัก คืออยากให้ทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมของเจ้าของภาษาให้มาก ไม่ควรดูถูกงานแปล เพราะไม่ง่ายที่จะทำออกมาให้ได้ดี อยากให้มีนักแปลใหม่ๆออกมาในวงการมากๆ เพื่อจะได้ช่วยกันผลิตงานแปลที่มีคุณภาพ ตลาดยังต้องการนักแปลฝีมือดี" คือสิ่งที่อริณี เมธเศรษฐอยากฝากถึงนักแปลรุ่นใหม่ ..

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ