สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ : ผมเขียนหนังสือจากเสียงเรียกร้องข้างใน

สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ

บุรุษผิวคล้ำ ไว้หนวดเครา สวมหมวกแก๊ป เมื่อเห็นครั้งแรกทางจอโทรทัศน์หลายท่านอาจคิดว่านี่คือผู้ร้ายในละครทีวี แต่ความจริงเขาคือผู้อยู่เบื้องหลังรายการโทรทัศน์ที่ต่อมากลายเป็นผู้ดำเนินรายการทีวีของตัวเอง รายการที่พาผู้ชมไปรู้จักชีวิตของผู้คนที่น่าสนใจหลายแง่หลายมุม "คนค้นคน" รายการที่ส่งผลให้เขากลายเป็นผู้ดำเนินรายการดีเด่น รางวัลโทรทัศน์ทองคำประจำปี พ.ศ.2546

จะมีสักกี่คนที่ทราบว่าก่อนที่ สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ จะมาทำรายการโทรทัศน์จนโด่งดัง หนุ่มชุมพรคนนี้เคยเป็นนักเขียนฝีมือดีที่น่าจับตามาก่อน เขามีหนังสือรวมเรื่องสั้นมาแล้ว 2 เล่มชื่อ รากเหง้า และ ตามหาข้าพเจ้า เกือบสิบปีที่ห่างหายไปจากวงการเขากลับมาอีกครั้งกับผลงานรวมเรื่องสั้นอันดับที่สาม ถึงเวลาสารภาพ และสำนักพิมพ์บูรพา ที่เขากับเพื่อนรักร่วมกันก่อตั้งขึ้น ทัศนะของเขาต่อการเขียนหนังสือ และวงการหนังสือ เป็นอย่างไร รายการโทรทัศน์ที่นำเสนอเรื่องหนังสือจะมีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ แล้วรายการโทรทัศน์อย่างคนค้นคนที่จะทำเป็นหนังสือน่าสนใจหรือไม่ ทุกคำตอบอยู่ในบรรทัดถัดไปนี้

ถึงเวลาสารภาพ หนังสือเล่มล่าสุดเกิดขึ้นจากการพนันอย่างที่เขียนไว้ในหนังสือหรือเปล่า
ก็มีส่วน เป็นการพูดกันเล่นๆมากกว่า เพราะเพื่อนอยากให้เขียนหนังสือ จึงเกิดการท้าทายกันกัน

เรื่องสั้นของสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิเป็นอย่างไร
เรื่องสั้นของผมอยู่บนขนบเดียวกันกับรายการโทรทัศน์ที่ผมทำคือ พาผู้อ่านไปพบกับปมหรือประเด็นทางความคิดเพื่อชวนกันคิดต่อ ไม่มีบทสรุปหรือเป็นคัมภีร์ให้ยึดถือ

ตอนนี้เขียนประจำอยู่ที่ไหนบ้าง
ในหนังสือไฮคลาส และเสาร์สวัสดีของกรุงเทพธุรกิจ

เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
ในเสาร์สวัสดีเป็นเรื่องผู้อยู่ในใจเสมอ เขียนเกี่ยวกับคนที่มีแง่มุมน่าจดจำ ในไฮคลาสเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำบริษัท ชื่อบริษัทโง่ คือบริษัททีวีบูรพาครับ (หัวเราะ)

บริษัทนี้ทำทั้งทีวีและหนังสือหรือครับ
ทำทีวีอย่างเดียว หนังสือจะเป็นอีกบริษัทหนึ่งชื่อพิมพ์บูรพา ทำกับเวียง วชิระ บัวสนธ์ จะพิมพ์หนังสือที่ผมชอบกับเวียงชอบ ตอนนี้ผมมุ่งทำรายการโทรทัศน์ และจะทำงานเขียนที่ดี ไม่ได้หมายความว่าเป็นงานเขียนที่วิเศษเลอเลิศ แต่เป็นงานเขียนที่เราพึงพอใจกับมัน รู้สึกดีกับสิ่งที่เราเขียนออกไป ปัจจุบันสิ่งที่เขียนๆอยู่ผมยังรู้สึกว่าไม่ใช่งานเขียนที่ดี เป็นงานเขียนที่ทำตามเงื่อนไข งานเขียนที่ดีไม่ควรจะทำตามเงื่อนไข เหมือนงานโทรทัศน์ที่สัปดาห์หนึ่งต้องออกเผยแพร่ ตอนนี้ผมทำงานเขียนเหมือนทำรายการโทรทัศน์ จึงไม่รู้สึกดีกับมันเท่าไหร่ งานเขียนที่ดีควรเป็นงานเขียนที่ทำเพื่อให้หายคาใจ ไม่ว่าจะเป็นแนวไหนหรือเรื่องอะไรก็ตาม

จะเขียนนวนิยายไหมครับ
อยากเขียนครับ เป็นสิ่งที่อยากทำ อยากเขียนทั้งเรื่องสั้น และนวนิยาย อยากเขียนสิ่งที่เป็นจริงเป็นจังขึ้นกว่าเดิม

คนที่จะเรียกตัวเองว่านักเขียนจะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง
หนึ่งทำงานเขียนให้มีคุณภาพระดับหนึ่ง สองทำงานเขียนอย่างจริงจัง ซึ่งผมอาจจะมีคุณสมบัติอย่างแรกอยู่ แต่อย่างหลังนี่ไม่มีเลย มีคนเขียนหนังสือที่ไม่เรียกตัวเองว่านักเขียน แต่เขียนหนังสือดีกว่าคนเขียนหนังสือเป็นอาชีพเยอะแยะ แล้วคนที่เขียนหนังสืออย่างจริงจังและใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนแต่เขียนหนังสือไม่ดีก็มีนะครับ ถ้าอย่างนั้นเราจะมองนักเขียนจากอะไรล่ะ จะมองที่ตัวคนหรือผลงาน ถ้ามองที่ตัวคนก็น่าจะเป็นคนที่ทำงานเขียนอย่างจริงจัง เหมือนนักบิน นักวาดรูปก็ต้องทำสิ่งนั้นอย่างจริงจัง แต่อีกด้านหนึ่งงานเขียนไม่เหมือนงานอื่น เพราะมีเรื่องของศิลปะการประพันธ์ มีเรื่องประเด็นเนื้อหา อะไรทำนองนี้ ฉะนั้นถ้าจะเป็นนักเขียนให้เต็มภาคภูมิก็น่าจะมีส่วนนี้คือส่วนที่เป็นคุณค่า ความดี ความงามของงาน

มีเป้าหมายในการเขียนหนังสืออย่างไร
ผมอยากเขียนหนังสือจากความรักข้างใน เสียงเรียกร้องข้างใน เป็นสิ่งที่ผมชอบ แต่ผมไม่มีความจำเป็นต้องเขียนเพื่อเลี้ยงชีพ ถ้าถามว่าผมตั้งเป้าหมายในการเขียนอย่างไร ผมอยากทำงานเขียนที่ดี ผมจึงไม่ได้คิดถึงงานในเชิงปริมาณ แต่คิดถึงชนิดของผลงานที่อยากจะทำ และคุณภาพอยากทำงานทีมีคุณค่า ที่สำคัญคือยังไม่ได้ลงมือทำ แต่ตั้งใจ และจะพยายาม เวลาเขียนหนังสือมีความสุข ไม่มีอะไรที่ทำแล้วมีความสุขเท่ากับการเขียนหนังสือ และเตะบอล (หัวเราะ) ผมเป็นคนเขียนหนังสือช้า ไม่ใช่เขียนครั้งเดียวได้ เขียนแล้วต้องเอามาขัดเกลามาแก้ไขอย่างน้อย 2-3 ครั้ง งานเขียนบางประเภทต้องรออารมณ์ แต่ส่วนใหญ่ต้องรอให้มันตกผลึกก่อนเขียน

คุณได้ชื่อว่าเป็นคนที่ทำรายการโทรทัศน์ที่แหวกแนว สำหรับการเขียนหนังสือจะมีอะไรหวือหวาให้ติดตามไหม
งานโทรทัศน์สื่อด้วยรายละเอียดที่ต่างจากหนังสือ หนังสือเป็นการอ่านยังไงก็เป็นเรื่องของการใช้ภาษา เป็นเรื่องของศิลปะการประพันธ์ วัตถุดิบน้อยกว่าโทรทัศน์ คือโทรทัศน์สื่อด้วยแสงสีเสียง ขนาดภาพ ดนตรี กลวิธีการนำเสนอทางโทรทัศน์มีความจำเป็นมากกว่าการเขียนหนังสือ สำหรับหนังสือจะประดิษฐ์รูปแบบยังไงก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่ที่เนื้อหา ประเด็น ชั้นเชิงในการประพันธ์ คนที่เขียนหนังสือแบบไม่ซับซ้อน ไม่มีรูปแบบใหม่เลย แต่เขียนดี เขียนได้ลึก น่าอ่าน น่าติดตาม อย่างนวนิยายของโกวเล้งต่อให้พลิกแพลงรูปแบบยังไงก็ตาม ขาวหน้าดำหน้า ตีลังกา แต่ถ้าเรื่องไม่มีประเด็น ไม่พาผู้อ่านไปถึงจุดมุ่งหมาย ไม่มีประโยชน์ ผมว่าสำหรับหนังสือแล้วรูปแบบการนำเสนอเป็นรอง

แล้วอะไรยากกว่ากัน
ยากคนละอย่าง ถ้าคนเขียนหนังสือไม่เคยทำรายการโทรทัศน์แล้วไปทำก็ว่ายาก แต่ถ้าคนทำโทรทัศน์ที่ไม่เขียนหนังสือแล้วไปเขียนก็ว่ายาก ผมเองทำทั้งรายการโทรทัศน์และเขียนหนังสือทำได้ทั้งสองอย่าง แต่ทำให้ดีไม่ใช่เรื่องง่าย

เห็นด้วยกับงานเขียนแนวทดลองไหม
เฉยๆครับ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ หนังสือ หรืออะไรก็ตาม แน่นอนว่างานทดลองก็เป็นบ่อเกิดของนวัตกรรมใหม่ ก็มีคุณค่าในระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่หมายความว่าเป็นงานทดลองแล้วต้องทึ่ง หรือต้องสดุดี ยกย่อง งานทดลองบางอย่างก็ไม่มีอะไร มีแต่รูปแบบ ที่สำคัญคือรับใช้เป้าหมายสูงสุดไม่ได้ สารที่ส่งออกไปคนอื่นรับไม่ได้ ก็ไม่เกิดมรรคผล ถ้ามีคนรู้เรื่องคนเดียวในโลกผมว่าไม่มีประโยชน์

จุดประสงค์ของการทำสำนักพิมพ์บูรพาคืออะไร
ที่ผมมาทำงานหนังสือเพราะงานเขียนบางประเภทเช่นหนังสือแบบที่ผมเขียนหรือที่เวียงพิมพ์มันขายได้น้อยมาก ขณะที่งานบางประเภทพิมพ์ 20-30 ครั้ง แต่งานเขียนบางชิ้นมีคุณค่ามาก เช่นงานเขียนของ ม.ล.ปริญาญากร วรวรรณ ไม่ใช่งานนั่งเขียนอยู่กับโต๊ะ แต่ใช้ชีวิตเพื่อให้ตกผลึกแล้วมาเขียน ทำงานหนักมาก แต่ผลตอบรับคือ พิมพ์ 2 พันเล่ม 2 ปี ขายไม่หมด นักเขียนจะอยู่ได้ยังไง ที่ผมมาทำสำนักพิมพ์เพราะผมมีทีวีอยู่ในมือ ผมอยากจะช่วยนักเขียนประเภทนี้ เลือกพิมพ์งานประเภทนี้ ช่วยให้เขาในเรื่องให้มีคนอ่านมากขึ้น เพราะงานเขียนมีคุณค่า ต้องการให้มีฐานคนอ่านหนังสือแนวนี้มากขึ้น ต้องการให้งานของนักเขียนขายได้มากขึ้น นักเขียนจะได้มีรายได้มากขึ้น จะได้มีกำลังใจ ผมทำโทรทัศน์ก็แทบจะไม่มีเวลาแล้ว ธุรกิจที่ผมทำก็ประสบความสำเร็จมาก ไม่จำเป็นต้องมาทำสิ่งนี้ แต่ถ้าผมไม่ทำ เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้เวลาของการโทรทัศน์มาขายหนังสือ เพราะโฆษณาโทรทัศน์ครั้งนึงมูลค่าเป็นแสน ต้องขายหนังสือกี่พันเล่มกว่าจะได้กำไรเท่านั้น แต่นี่ไม่มีมูลค่า ผมทำให้ฟรี ถามว่าเกิดผลอะไรขึ้นบ้าง ก็นิดๆหน่อยๆเพราะเพิ่งเริ่ม แต่เกิดผลคือ หนังสือแทนที่จะพิมพ์ 3 พันเล่มขาย 1 ปี นี่ 3 เดือนเริ่มหมดแล้ว ผมทำสำนักพิมพ์ไม่ได้เพื่อไปค้าแข่งกับใคร แต่เพราะมีเพื่อนอยู่ อยากส่งเสริมงานดีให้ผู้อ่านได้อ่านงานดีๆ เพราะผลสำเร็จของรายการคนค้นคนก็ได้มาจากการอ่านหนังสือ

มีกระบวนการในการส่งเสริมหนังสือดีที่ว่านี้อย่างไร
หนึ่งผมเดินสายไปพูดตามที่ต่างๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สองผมช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์บ้าง

มีแผนจะทำนิตยสารหรือไม่
ปีที่ผ่านมาสำนักพิมพ์บูรพาพิมพ์หนังสือประมาณสิบปก อนาคตมีแผนที่จะทำจุลสารของรายการคนค้นคน เพื่อเชื่อมโยงสมาชิกของรายการไว้ ขั้นต้นแค่นี้ก่อน

มีความคิดจะทำรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับหนังสือไหม
ผมเคยทำรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับหนังสือมาแล้ว แต่เป็นการรับจ้างทำ ถ้าเป็นการทำรายการที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง รายการเกี่ยวกับหนังสือเป็นรายการที่อยู่ไม่ได้ในการประกอบธุรกิจโทรทัศน์ ผมยืนยันเลย ยกเว้นว่ารายการนั้นจะผลิตโดยบริษัทใหญ่ที่ทำหนังสือเป็นหลัก แล้วเอากำไรมาทำโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการขาย แต่ถามว่ารายการโทรทัศน์น่าจะมีการพูดเกี่ยวกับหนังสือหรือไม่ ผมว่าควรจะมี ภาครัฐควรจะส่งเสริม อย่างน้อยสถานีโทรทัศน์ของรัฐน่าจะมี ผมเป็นคนทำโทรทัศน์ที่ไม่ปฏิเสธการดูโทรทัศน์ คนจำนวนหนึ่งด่าโทรทัศน์ถึงขั้นรณรงค์ให้ปิดโทรทัศน์ ผมกลับคิดว่าการทำอย่างนั้นไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรไม่ให้คนด่า

มีความเห็นอย่างไรกับรายการโทรทัศน์ที่มาทำเป็นหนังสือ
คนค้นคนก็กำลังทำเป็นหนังสือ จะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวงานที่จะทำ ไม่ใช่เพราะรายการดังจึงเอามาทำหนังสือ เหมือนตีหัวเข้าบ้าน เพื่อขาย เพราะขายได้ ถ้าคิดแค่นั้นอย่าทำดีกว่า ต้องดูเนื้อหาที่ผู้อ่านจะได้รับ ซึ่งรายการเจาะใจเคยทำแต่ไม่ประสบความสำเร็จ การทำอะไรที่หมิ่นแคลนผู้อ่านไม่ได้ผลหรอกครับ เพราะเดี๋ยวนี้เขารู้เท่าทัน ผมเคยทำรายการสู้แล้วรวย แล้วกันตนาก็มาทำเป็นหนังสือ พิมพ์เกือบ 20 ครั้ง ขายเป็นแสนๆเล่ม แสดงว่ามีผลถึงกันอยู่แล้ว ระหว่างหนังสือที่ผลิตซ้ำจากรายการโทรทัศน์

แล้วคิดอย่างไรกับดาราหรือคนดังที่มาเขียนหนังสือ
ใครมาเขียนหนังสือผมว่าไม่น่ารังเกียจนะครับ แต่ข้อเท็จจริงของการเขียนเป็นอย่างไรไม่น่าจะบิดเบือน เช่นถ้าใครมาถอดเทปสัมภาษณ์ เรียบเรียงให้ก็น่าจะบอกไว้ ไม่ใช่บอกว่าตนเองเขียน อะไรก็ตามที่เริ่มต้นด้วยการบิดเบือนก็ไม่ดีแล้ว ผมคิดอย่างนี้

จะฝากอะไรถึงคนที่อยากจะเขียนหนังสือ
ต้องเขียนให้จริงจัง ที่สำคัญนักเขียนต้องเป็นนักอ่านด้วย ไม่อย่างนั้นโลกทัศน์จะคับแคบ อีกอย่างคือต้องเปิดรับทัศนะวิจารณ์ ต้องใจกว้างพอที่จะรับฟัง ..

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ