กิติยา สุวรรณ : หนังสือดี ๆ จะช่วยให้ซึมซับภาษาที่งดงาม

กิติยา สุวรรณ

กิติยา สุวรรณ เป็นคนเชียงใหม่จบมัธยมปลายที่โรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพ จบปริญญาตรีวิชาเอกภาษาไทย วิชาโทประวัติศาสตร์จากวิทยาลัยครูมหาสารคามจากนั้นเป็นครูสอนโรงเรียนมัธยมที่จังหวัดมหาสารคามขอนแก่นกรุงเทพปัจจุบันสอนโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดเชียงใหม่

ก้าวแรกของการเขียน
เขียนบทความเรื่องสั้นลงในวารสารรายสองเดือนของวิทยาลัยติดต่อกันหลายฉบับปี ๒๕๒๘ เขียนนวนิยายเรื่องแรก“เมื่อชีวิตยังไม่สิ้น”ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภาคจากสำนักงานส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ ผลงานต่อมาเขียนได้ปีละ ๑ เรื่องบ้าง ๒-๓ ปี ๑ เรื่องบ้าง เนื่องจากต้องทุ่มเทเวลาให้กับงานสอน และงานราชการบางทีก็เป็นงานที่ได้รับการร้องขอจากผู้ร่วมงานและคนภายนอกให้ช่วยเขียนบทกวีบทความเนื่องในกิจกรรมและโอกาสสำคัญต่างๆ ด้วยเห็นว่าเป็นครูสอนภาษาไทย งานเขียนนวนิยายที่ชอบ และรักมาก จะทำเฉพาะนอกเวลาราชการ ว่างเมื่อไรก็เขียน แม้แต่เวลานั่งรถไฟ รถยนต์โดยสารไปที่ไกลๆ หรือแม้แต่รถเมล์ในกรุงเทพฯ หากมีที่นั่งสบายๆ

ผลงานที่ผ่านมา
ผลงานานนวนิยายที่ได้รับการตีพิมพ์ในเวลาต่อมา ได้แก่
-"ด้วยศรัทธาและความฝันอันสูงสุด"นวนิยายสำหรับเยาวชนได้แรงบันดาลใจจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด”
-“สวนสวรรค์”เรื่องความขัดแย้งของหนุ่มสาวท่ามกลางความงอกงามของพืชพันธุ์ ธัญญาหารไม้ดอกไม้ผลในสวนเกษตรอันอุดมสมบูรณ์
-“หนีรักไม่พ้น” นวนิยายชีวิตรักของผู้บริหารกับผู้ใต้บังคับบัญชา
-“ดาวไกลฟ้า” นวนิยายสะท้อนการทำงานของนักพัฒนาชนบทในองค์กรเอกชนขนาดใหญ่
-"ดวงใจแห่งรัก” สะท้อนชีวิตอันหลากหลายของนักเรียน โรงเรียนมัธยมกรุงเทพมหานคร และแนวคิดที่แตกต่างของผู้ปกครอง ผู้บริหาร ครู นักเรียน
-“ชายคาบ้านแฝด” ชีวิตรักของมัคคุเทศก์หนุ่มกับหม้ายสาว ช่างเขียนรูป
-“ฤากลางกรุง” เรื่องของจิตรกร นักเขียนหนุ่มชื่อดัง ผลงานติดระดับโลก ผู้ปิดตัวเงียบอยู่ในบ้านหลังเล็กริมแม่น้ำเจ้าพระยา
-“วิถีคนไม่จนตรอก” เรื่องราวการต่อสู้อันทรหดของกลุ่มชาวนาไทยอีสาน ที่โชคชะตาผลักดันให้ต้องไปร่วมขบวนการค้ายาเสพติด ไปเป็นผู้นำกรรมกรในโรงงานขนาดใหญ่ไปร่วมรับรู้สงครามความขัดแย้งของคนชนชาติเขมร ต่อสู้กับอิทธิพลของคนระดับนักการเมืองและเจ้าพ่อ
-“ผลิรักในป่าร้อน”เบ่งบานด้วยพระบารมีเรื่องราวของตำรวจตระเวนชายแดน กับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ที่ต้องรับหน้าที่ปกป้องป่าร่วมกันและความขัดแย้งระหว่างผู้กองหนุ่มกับป่าไม้สาว ผู้มีฉายาว่า“ผู้ชายนุ่งกระโปรง”
-“พลิ้วเพลงนารี เอกวิถีลีลาคน” เข้ารอบรางวัลชมนาด รอการตีพิมพ์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นแรงบันดาลใจ ที่ทำให้อยากผลิตผลงานที่ดี เพื่อร่วมสร้างสรรค์สังคม นอกนั้นเป็นอิทธิพลจากการอ่านและการพิจารณาชีวิตผู้คน

นักเขียนในดวงใจ
บอกไม่ได้ว่าใครเป็นนักเขียนในดวงใจ เวลาเลือกหรืออ่านหนังสือจะดูชื่อเรื่อง ดูคำนำ สารบัญ คำนิยม ถ้าเรื่องดูมีคุณค่าต่อการพัฒนาจิตใจ ชีวิต แนวคิด จะซื้ออ่าน โดยไม่ใส่ใจชื่อนักเขียนมากนัก แม้จะเป็นนักเขียนโด่งดัง หากเรื่องราวไม่อยู่ในความสนใจก็มักไม่อ่าน แต่ก็มีนักเขียนหลายท่านที่เห็นชื่อแล้วต้องหยิบขึ้นดู เช่นสมัยเป็นนักศึกษาจะอ่านของ คาลิล ยิบราน “วิญญาณขบถ” อ่านแล้วเป็นน้ำหูน้ำตา เพราะภาษาของท่านสั่นสะเทือนจิตวิญญาณได้ อีกคนคือ เพิร์ล เอส บั๊ก เรื่อง “ทรัพย์ในดิน” [The Good Earth] อ่านแล้วจดจำหว่างหลุงกับโอลัน มาถึงทุกวันนี้

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ