งานแถลงข่าว : โครงการ Chommanard Book Prize ตอนที่ 1

งานแถลงข่าว

คุณสมมาตร ไพรหิรัญ (พิธีกร) : ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่งานแถลงข่าวโครงการ Chommanard Book Prize นะครับ ซึ่งเป็นโครงการรางวัลพระราชทานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี รางวัลนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นและบีทูเอส และรางวัลนี้ก็เป็นรางวัลที่มอบให้กับสุภาพสตรี และจะเห็นได้ว่า ท่านผู้มีเกียรติที่มาในงานนี้ ส่วนมากจะเป็นสุภาพสตรี ผมเหมือนไข่แดงในงานนะครับ

เขาบอกกันว่า วรรณกรรมในประเทศไทยมีหลายรูปแบบ นวนิยายเป็นหนึ่งในวรรณกรรมไทย และมีสุภาพสตรีอ่านเยอะที่สุด สุภาพบุรุษก็มีอ่านบ้างครับ อย่างผมนี่ก็ชอบอ่านบางเรื่องเพราะนวนิยายไทยอ่านมากๆแล้วติดครับ วันนี้เป็นงานแถลงข่าว เป็นการสนับสนุนผู้ที่จะส่งเรื่องเข้าประกวดด้วย ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดี งานในวันนี้ อยากให้ท่านผู้มีเกียรติได้ร่วมอยู่จนเลิกนะครับ เพราะเรามีโปรแกรมดีๆมากมาย อย่างหัวข้อการเสวนาที่ว่า “สร้างสรรค์นวนิยายไทย ให้โดนใจคนทั้งโลก” เขาบอกกันว่าเราโดนเกาหลีมาแซงหน้ามาเยอะแล้วครับ งวดนี้ต้องเป็นนวนิยายไทยบ้างแล้วครับ วันนี้เรามีผู้ที่ร่วมเสวนาดีๆ และเชื่อว่าหลายท่านที่อยู่ในห้องนี้เป็นแฟนคลับด้วยนะครับ

ท่านแรก คุณสุภา สิริสิงห หรือในนามปากกาว่า “โบตั๋น” ครับ ซึ่งผมเคยร่วมแสดงละครที่คุณโบตั๋นประพันธ์ขึ้นด้วย คือเรื่อง “ตะวันชิงพลบ” แต่เราเรียกกันว่า ตะวันชิงเช้า เพราะถ่ายกันจนเช้า หรือ “บัวแล้งน้ำ” “ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด” ในขณะเดียวกันก็มีท่าน “Paul Adirex” ซึ่งเป็นนามปากกาของท่านปองพล อดิเรกสารที่พวกเราได้รับหนังสือกันนะครับ แต่น่าเสียดายที่ท่านไม่ได้แจกDictionary ไปด้วย เพราะเป็นหนังสือภาษาอังกฤษครับ เป็นนวนิยายดีๆ ผมก็มีโอกาสได้อ่านบ้างนะครับ แต่ข้อสำคัญกว่าคือ สิ่งที่ทำให้งานนี้เริ่มขึ้นมาได้ ก็คือ วัตถุประสงค์ว่า ทำไมโครงการ Chommanard Book Prize นี้จึงเริ่มขึ้นมาได้

ในโอกาสนี้ ขอเรียนเชิญ กรรมการผู้จัดการของบริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด คุณยศ พนัสสรณ์ ขึ้นมากล่าววัตถุประสงค์ ขอเรียนเชิญครับ

คุณยศ : กราบเรียน ฯพณฯ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ตามที่บริษัทสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น และบีทูเอส แหล่งการเรียนรู้ครบวงจร จำหน่ายหนังสือ เครื่องเขียน และสิ่งบันเทิง ในเครือเซ็นทรัลฯ ซึ่งดำเนินกิจกรรมภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แห่งราชจักรีวงศ์มานานกว่าหลายทศวรรษ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศ ในการประกวดโครงการ Chommanard Book Prize อันเป็นการประกวดวรรณกรรมประเภท นวนิยายที่สร้างสรรค์โดยนักเขียนสตรี สู่ระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งจะเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่นักเขียนผู้สร้างสรรค์งานเป็นอย่างยิ่ง

 

โครงการ Chommanard Book Prize ตอนที่ 1

 

ในนามของคณะกรรมการผู้ดำเนินงานโครงการ Chommanard Book Prize ประกอบด้วยบุคลากรของบริษัทสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นและบริษัทบีทูเอส ตลอดจนสื่อมวลชน และแขกผู้มีเกียรติทุกคน ขอกราบขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นอย่างสูง ที่ได้มาเป็นประธานเปิดงานแถลงข่าว และในฐานะกรรมการที่ปรึกษา และกรรมการคัดเลือกและตัดสินของโครงการนี้ คณะผู้ดำเนินการขออนุญาตกราบเรียนว่า โครงการ Chommanard Book Prize เกิดขึ้นจากการเล็งเห็นความสำคัญของผู้หญิงไทยที่มีความสามารถ และต้องการเปิดโอกาสและให้กำลังใจแก่นักเขียนสตรี ในด้านการประพันธ์ประเภทนวนิยาย โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1.เพื่อส่งเสริมให้มีรางวัลนวนิยายยอดเยี่ยมของนักเขียนสตรี

2.เพื่อให้มีการสร้างสรรค์รางวัลประเภทนวนิยายชั้นเลิศเพิ่มขึ้น

3.เพื่อสร้างเสริมและเผยแพร่นวนิยายของนักเขียนสตรีไทย เข้าสู่ระดับชาติและนานาชาติ บัดนี้ ได้เวลาอันสมควร กระผมขอกราบเรียนเชิญฯพณฯท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้โปรดกล่าวเปิดงานแถลงข่าว พร้อมทั้งให้เกียรติกล่าวถึงเรื่อง บทบาทนักเขียนสตรีที่จะช่วยพัฒนาวัฒนธรรมไทยให้เผยแพร่สู่สากล ด้วยกลการประพันธ์ ขอกราบเรียนเชิญ ฯพณฯ ท่านครับ

คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ : เรียน ฯพณฯท่านรัฐมนตรีปองพล อดิเรกสาร ท่านประธานในกลุ่มบริษัทเซ็นทรัล ท่านประธานที่ปรึกษาบริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด คณะผู้ดำเนินงาน สื่อมวลชน และผู้มีเกียรติทุกท่าน ดิฉันยินดีมากที่ได้มาพบต้นชมนาดทั้งซ้ายและขวาเลย เคยปลูกแล้วตายค่ะที่บ้าน ถ้าใครเคยปลูก จะทราบว่า ดอกชมนาดมีกลิ่นหอมและแปลกนะคะ ก็ขอบคุณที่ตั้งชื่อไพเราะ

ดิฉันยินดีที่ได้มาเป็นประธานเปิดงานแถลงข่าว Chommanard Book Prize ในวันนี้ ต้องขอขอบคุณท่านผู้บริหารระดับสูง ทั้งในบริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด และผู้บริหารระดับสูงของ ร้านหนังสือบีทูเอส ที่มีวิสัยทัศน์ได้ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้นมา จนกระทั่งมีงานแถลงข่าวในวันนี้ โดยการจัดโครงการChommanard Book Prize ในวันนี้ สิ่งที่น่าภูมิใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ การที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานโล่รางวัลชนะเลิศแก่ผู้ที่ชนะประกวด นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้แก่โครงการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระปรีชาสามารถเป็นอย่างยิ่งในด้านศิลปวัฒนธรรม ทรงทำนุบำรุง สนับสนุนส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของชาติทุกแขนง เพราะตระหนักในพระกรณีกิจที่ทรงอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาติ รัฐบาลจึงกำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ เป็นวันอนุรักษ์มรดกไทย อีก 10 วันข้างหน้านะคะก็จะถึงวันอนุรักษ์มรดกไทยในปีนี้

 

โครงการ Chommanard Book Prize ตอนที่ 1

 

ในส่วนที่เกี่ยวกับวรรณกรรมนั้น สมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นทั้งนักเขียนและกวี วรรณกรรมของพระองค์ท่านมีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ (ที่เห็นคือภาษาฝรั่งเศส) ที่ได้เคยพิมพ์เผยแพร่แล้วมีถึง 113 เรื่อง อาจกล่าวได้ว่า พระองค์ท่านเป็นผู้นำนักเขียนสตรีของไทยในปัจจุบัน การสนับสนุนให้มีโครงการ Chommanard Book Prize ขึ้น นับเป็นความคิดที่ดี ในประเทศไทยมีหลายองค์กรจัดประกวดวรรณกรรม แต่เท่าที่ทราบยังไม่มีโครงการประกวดงานเขียนของนักเขียนสตรี โครงการนี้เป็นการประกวดงานเขียนของนักเขียนสตรีโดยเฉพาะ ในอดีตเรามีนักเขียนสตรีที่มีชื่อเสียง อย่างเช่น ที่ดิฉันเป็นแฟนอยู่ ก็คือ “ดอกไม้สด” “ก.สุรางคนางค์” “ดวงดาว” และอีกหลายท่าน

ในปัจจุบัน เราก็มีนักเขียนสตรีไทยเป็นจำนวนมากนะคะ ดิฉันเชื่อว่าโครงการนี้จะสนับสนุนให้นักเขียนสตรี ได้มีเวทีที่แสดงความสามารถกว้างขวางขึ้น ผู้รับรางวัลชนะเลิศ นอกจากจะได้รับโล่รางวัลพระราชทานและเงินรางวัลแล้ว ผลงานยังได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ และเผยแพร่ไปทั่วโลกด้วย นอกจากนี้ ทางโครงการก็ยังใจดีนะคะ มีรางวัลชมเชยให้อีก 2 รางวัล และยังได้รับการแปลและพิมพ์เผยแพร่เช่นเดียวกัน ดิฉันเชื่อว่า โครงการ Chommanard Book Prize จะสนับสนุนให้มีนักเขียนสตรีที่มีคุณภาพระดับชาติมากขึ้น ที่จะสามารถก้าวไปสู่ระดับสากลด้วย

ขอขอบคุณคณะผู้ดำเนินการโครงการ ทั้งบริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ร้านหนังสือบีทูเอส ซึ่งเป็นเครือของเซ็นทรัลดีพาร์ทเมนต์สโตร์ ที่มีวิสัยทัศน์ตรงกันในการสนับสนุนนักเขียนสตรีไทย ในการจัดการประกวด ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการจัดขึ้นสำหรับรางวัลนี้ ดังนั้น ดิฉันคิดว่า ผู้ดำเนินโครงการคงจะจัดต่อเนื่องไปนะคะ และคิดว่าคงจะเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจมากขึ้นตามลำดับ เมื่อสักครู่นี้ ท่านผู้ที่กล่าวรายงาน ได้บอกว่า ดิฉันจะบรรยายเกี่ยวกับบทบาทของนักเขียนสตรี และเรื่องวัฒนธรรม ดิฉันคงไม่มีความสามารถขนาดนั้นหรอกนะคะ เพราะว่า เอามะพร้าวห้าวมาขายสวน คงจะพูดไม่ได้ดีไปกว่าท่านทั้งหลายที่จะเป็นวิทยากรเสวนาในตอนต่อไปนะคะ เพราะฉะนั้นจะขออนุญาตไม่พูด ดิฉันขอเปิดงานแถลงข่าวโครงการ Chommanard Book Prize ขอขอบคุณคณะผู้ดำเนินงาน คณะกรรมการคัดเลือกและตัดสินผลงาน สื่อมวลชน และผู้มาร่วมงานทุกท่าน

คุณสมมาตร : ขอกราบขอบพระคุณ ฯพณฯ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณนะครับ แล้วก็ผมก็เพิ่งทราบนะครับว่านี่คือต้นชมนาด ตอนแรกผมก็สงสัยว่าเอาต้นไม้อะไรมาตั้ง ตอนนี้ก็เริ่มฉลาดแล้วครับ เพิ่งทราบครับ ก็อย่างที่ ฯพณฯ ท่านได้บอกไว้แล้วนะครับว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่สนับสนุนนักเขียนสตรีนะครับ เพื่อที่จะก้าวเข้าไปสู่สากลมากขึ้น ผมพยายามเอาใจช่วยนะครับว่า ทำอย่างไรให้นวนิยายไทย มาต่อสู้กับเกาหลีให้ได้ เพราะว่ากระแสเกาหลีมันแรงเกินไป และในความรู้สึกส่วนตัวของผม ผมคิดว่า ละครเกาหลีผิดเพี้ยน จริงๆคนเกาหลีเป็นคนกระโชกโฮกฮาก แต่ทำไมทำนวนิยายออกมานุ่มนวล ในขณะที่คนไทยเป็นคนนุ่มนวล แต่นวนิยายไทย นับวันจะตบตีกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผมก็อยากให้นวนิยายไทย ไปสู่สากลได้

ในโอกาสนี้ ผมขอกราบเรียนเชิญ ฯพณฯท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณอีกครั้งหนึ่งนะครับ และในโอกาสนี้ ขอเรียนเชิญ คุณบุษบา จิราธิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด มอบของที่ระลึกให้ ฯพณฯ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมครับ ขอกราบเรียนเชิญครับ และหลังจากนั้น เพื่อเป็นเกียรตินะครับ ต้องขอกราบเรียนเชิญ ฯพณฯ ท่านปองพล อดิเรกสาร คุณสุภา สิริสิงห คุณชมัยภร แสงกระจ่าง คุณดีน ทอมสัน จาก B2S คุณประพันธ์ เตชะธาดา ประธานที่ปรึกษาบริษัทสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ขึ้นบนเวที ถ่ายรูปร่วมกัน เพื่อเป็นเกียรติครับ สถานที่คับแคบไปถนัดใจเลยครับ มีแฟนคลับมามากมาย ขอบพระคุณมากครับ

ท่านผู้มีเกียรติครับ ช่วงที่จะถึงนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญ ผมคิดว่าหลายท่าน คงมานั่งฟังช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงของไฮไลท์ด้วยนะครับ เป็นการเสวนาที่ผมคิดว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดกันมากกว่า ในหัวข้อ “สร้างสรรค์ นวนิยายไทย ให้โดนใจคนทั้งโลก” ซึ่งผู้ที่จะร่วมเสวนามี 3 ท่านนะครับ ท่านแรก คุณสุภา สิริสิงห์ ในนามปากกา “โบตั๋น” ครับ ท่านมีประวัติมามากมาย ท่านเกิดตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยนะครับ แต่ผมเห็นว่าท่านยังสาวอยู่เลยนะครับ จบมัธยมจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และระดับอุดมศึกษา เรียนจบจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ ประวัติการทำงาน ทำนิตยสารมาตลอด แต่มาตั้งสำนักพิมพ์ช่วงหลัง ชื่อ สำนักพิมพ์ชมรมเด็ก จนถึงปัจจุบัน และมีงานเขียนมากมาย อย่างที่ผมกล่าวให้ทราบนะครับ และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากมายด้วยนะครับ มีนวนิยายหลายเรื่อง อาทิเช่น ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ทองเนื้อเก้า บ้านสอยดาว บัวแล้งน้ำ สุดแต่ใจจะไขว่คว้า ตะวันชิงพลบ ซึ่งนำมาทำเป็นละครมากมายครับ

ท่านที่ 2 พณฯท่าน ปองพล อดิเรกสาร ก็สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่รัฐเพนซิลเวเนียสหรัฐอเมริกา และจบปริญญาโทจากวอชิงตัน ดี.ซี. นะครับ ที่สหรัฐอเมริกาเช่นกันนะครับ ประวัติการทำงาน ผมว่าหลายท่านคงจะทราบ ก็ไม่น่าเชื่อนะครับว่า สายงานทางด้านการเมือง สามารถมาสรรค์สร้างวรรณกรรมที่เป็นหนังสือได้ครับ และก็ทำได้ดีด้วย จริงๆแล้ว ผมว่า ไม่ว่าอาชีพไหน จะก้าวเข้ามาทำงานนักเขียน ก็สามารถทำได้นะครับ ถ้าท่านมีใจรัก

ท่านที่ 3 ท่านชมัยภร แสงกระจ่าง ก็จบจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ แสดงว่าคณะอักษรศาสตร์เป็นแหล่งสร้างนักเขียน และท่านก็เป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ท่านทำงานในสายงานนักเขียน และดำรงตำแหน่งประธานชมรมวรรณศิลป์ เขียนงานวิจารณ์เรื่องสั้น บทร้อยกรอง เยอะแยะเลยครับ มีวรรณกรรมหลายอย่าง อาทิเช่น บันทึกจากลูกผู้ชาย ที่นำมาสร้างภาพยนตร์ คงจะขออ่านประวัติเพียงเท่านี้ ถ้าอ่านทั้งหมด คงหมดเวลา ในโอกาสนี้ ผมขอเรียนเชิญทั้ง 3 ท่านบนเวทีครับ

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ