ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ : เพราะการเรียนรู้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหนังสือ

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์

การเรียนรู้ ไม่ได้จำกัดอยู่ในหนังสือ การเรียนรู้สมัยนี้ เรียนได้ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดเวลา ขึ้นอยู่กับว่า คุณ"พร้อมแบ่งเวลาเรียนรู้"อะไรใหม่ๆ มากแค่ไหน ทางทีมงานประพันธ์สาส์นมีโอกาสได้สัมภาษณ์ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เลยขออนุญาตถามถึงหนังสือในดวงใจหรือบุคคลต้นแบบที่ทำให้เปลี่ยนชีวิต มุมมอง และหล่อหลอมวิสัยทัศน์ของท่านให้กว้างไกล

ดร.พิเชฐ ได้กล่าวกับเราว่า จากที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศทั้งหมด 13 ปี สิ่งที่ได้รับอิทธิพลมาก นอกเหนือจาก วัฒนธรรมและวิธีคิดของ ทางตะวันตก ยังได้เรียนรู้วิธีทำความเข้าใจกับสาธารณะ อาจจะไม่ใช่จากหนังสือเล่มมากเท่าหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ และโทรทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสังเกตผู้นำทั้งหลาย ว่าเขามีบุคลิกอย่างไร และมีวิธีแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าอย่างไร หรือเขามีวิธีการปาฐกถาอย่างไร สิ่งเหล่านี้ให้วิธีคิดบางอย่างที่เอามาใช้ประโยชน์ได้จริง เช่นการจะสื่อสารกับสาธารณะ ไม่ใช่แค่ว่าทำเรื่องเทคนิคให้เป็นเรื่องง่ายอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการวางน้ำหนัก การให้ข้อมูล การใส่ความหนักแน่นให้กับผู้ฟังว่าอะไรสำคัญ ซึ่งตัวเองอยากจะเห็นเยาวชนไทย มีความกล้าคิดกล้าพูดให้มากขึ้น เมื่อเราพูดเก่ง คิดเก่งแล้ว ก็จะทำให้เขียนเก่งขึ้นด้วย จะทำให้เราสื่อความหมายกับผู้อ่านให้ชื่นชอบ ได้ทั้งความรู้ และสามารถเรียนรู้ไปด้วย ถ้าเราทำแบบนี้ได้ในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เศรษฐกิจ สังคม หรือแม้กระทั่งหนังสือการ์ตูน คิดว่าสังคมไทยจะพัฒนายิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันคิดว่ายังไม่มีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ต่อให้เรามีของดีในมืออะไรเยอะแยะ แต่ถ้าสื่อออกไปต่อสังคมไม่ได้ ก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเกิดขึ้น ถ้าเราลองสังเกตในหลายประเทศสามารถทำได้ดีกว่าบ้านเรา ถ้าเรามีการสื่อสารออกไปได้ดีแล้ว เยาวชนก็สามารถเอาไปเรียนรู้ต่อยอดได้ และจะทำให้มีวิจารณญาณจะดีขึ้นด้วย

อย่างองค์ปาฐกที่ชื่นชอบจะมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย ทีมีคุณูปการต่อวงการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม และการพัฒนาประเทศไทยใน ภาพรวม ท่านเป็นผู้บุกเบิกหลายสิ่งในประเทศ ที่เป็นรากฐานทำให้เกิดองค์กรและโครงการที่ช่วยในการยกระดับวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี การศึกษา ของประเทศมาโดยลำดับ ท่านมีผลงานเขียน ที่จุดประกายให้เยาวชนไทย และผู้บริหารการพัฒนาประเทศได้ใช้นำทางจำนวนมาก และในวาระที่ท่านดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่ง ชาติ ท่านได้กราบทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเพื่อนำเอา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ท่านอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน เป็นบุคคลที่มีประสบการณ์การทำงานจากทั้งภาคราชการและภาคเอกชน ได้แสดงออกถึงมาตรฐานแห่งความเป็นนักการทูตได้สมศักดิ์ศรี และเป็นที่ยอมรับ จนได้รับการจารึกชื่อใน “WHO’S WHO INTERNATIONAL” และในปัจจุบัน ท่านก็มีส่วนร่วมทางการเมืองในการให้สัมภาษณ์ แสดงความคิดเห็น หรือปาฐกถาเกี่ยวกับ เศรษฐกิจ การเมืองการปกครองและสถานการณ์บ้านเมืองในหลายโอกาส

ถ้าในด้านของต่างประเทศจะเรียนรู้วิธีพูด วิธีคิดจาก ประธานาธิบดีของอเมริกา หลายๆท่าน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญและศาสตราจารย์ในด้านต่างๆ อยากให้เยาวชนไทย มีความช่างสังเกตมากขึ้น สิ่งที่ผู้ใหญ่เล่าให้เราฟัง เหล่านี้จะหล่อหลอมบุคลิกของเราขึ้นมาเอง

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ