ธงชาติผืนเก่า : ธงชาติผืนเก่า...บอกเล่าอธิปไตย

ธงชาติผืนเก่า

 

          ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ ประเทศไทยหรือก็คือประเทศสยามในขณะนั้นเปลี่ยนรูปแบบระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหากเปรียบการเติบโตของเด็กคนหนึ่งกับประชาธิปไตยในเมืองไทยในช่วงเวลาขณะนี้คงกลายเป็นคนชราที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากมาย เราทุกคนต่างทราบความหมายของประชาธิปไตยว่าคือระบอบการปกครองหนึ่ง ซึ่งอำนาจในการบริหารประเทศมาจากเสียงข้างมากของพลเมืองพลามือผู้ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ระบอบการปกครองนี้กำหนดไว้ว่าประชาชนทุกคนสามารถแสดงเจตนาหรือความคิดเห้นของตนได้อย่างอิสระเสรีภาพ และเท่าเทียมกัน “ธงชาติผืนเก่า” บทกวีลำนำกลอนเปล่าของจันทร์ เดือนแรมได้กล่าวถึงเรื่องราวของพลเมืองตัวน้อยผู้ซึ่งกำลังเติบโตเป็นหนึ่งในเจ้าของอำนาจอธิปไตย

 

          “ธงชาติผืนเก่า” ของจันทร์ เดือนแรม เป็นบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ที่มีลักษณะการเขียนคล้ายเรื่องสั้น ใช้คำธรรมดาสื่อความหมายเข้าใจง่าย ผู้เขียนถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านมุมมองของเด็กวัยประถมปลายที่เฝ้ามองพ่อของตน ในแววตาของเด็กคนนี้ เต็มไปด้วยความภาคภูมิในตัวของพ่อ แม้ว่าพ่อจะมีอาชีพเป็นนักการภารโรงของโรงเรียนตัวที่เห็นได้จาก

 

          “พ่อเป็นคนพูดไม่เก่ง แต่พ่อขยันทำงานทุกวัน” แต่ในความภาคภูมิของเขานั้นก็เต็มไปด้วยความสงสัยถึงการกระทำต่าง ๆ ของพ่อ

 

          “พ่อยืนแถวหลังสุดเพื่อร่วมยืนร้องเพลงชาติกับพวกเราเสมอ”

 

           “หกโมงเย็นของทุกวันพ่อจะขี่จักรยานออกจากบ้านมาชักธงลงจากเสา”

 

           “พ่อตัดหญ้าหน้าเสาธงจนเรียบเตียนทั้งปีแม้วันช่วงปิดเทอม”

 

           “พ่อไม่เคยนำธงชาติไปทิ้ง แต่พ่อจะเก็บมาที่บ้านไว้ในห้องนอนของพ่อ” ผู้เขียนใช้สถาบันครอบครัวซึ่งเป็นสถาบันรากฐานของสังคมไทยในการกล่าวถึงสถาบันชาติ

           จันทร์ เดือนแรม เขียนบทกวีสร้างบทบาทความเป็นพ่อที่พยายามปลูกฝังถึงการรักชาติ แม้ในการกระทำของพ่อในบทกวีนี้หลายคนอาจมองเป็นเรื่องเล็ก ๆ ไม่ยิ่งใหญ่ แต่ทุกการกระทำลูกของเขาได้เฝ้ามองอยู่

 

          “พ่อจะดึงธงลงช้า ๆ เพื่อให้มันลงได้สุดพอดีกับจังหวะของเพลงชาติไทยในท่อนสุดท้าย” จากบทกวีวรรคนี้ ได้ก่อให้เกิดภาพลูกสังเกตการกระทำของพ่อ

 

          “ช่วงเทอมสุดท้ายก่อนจบระดับชั้นประถม”

 

           เหตุการณ์สำคัญในบทกวีได้เกินขึ้น ธงชาติผืนเก่าที่ผู้เป็นพ่อนำกลับมาบ้านหลังจากเปลี่ยนผืนใหม่แล้วนั้น ถูกมอบเป็นของขวัญให้ลูก

 

          “ฉันมองธงชาติผืนหนึ่งที่เก่าขาดเป็นริ้ว ๆ อย่างไม่รู้ความหมาย” ผู้เขียนใช้คำง่าย ๆ แต่แสดงถึงภาพของธงซึ่งแต่ละแถบของธงขาดเป็นริ้ว เด็กน้อยมองของขวัญที่พ่อให้ด้วยความสงสัย ผู้เป็นพ่อต้องการที่จะให้ลูกปะธงที่ขาดให้สมบูรณ์ เพื่อสอนให้เขาเข้าใจถึงการดูแลประเทศชาติในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง

 

           “ฉันเชื่อมรอยขาดตรงริมผ้าสีแดงให้ติดกับสีขาว

            ฉันเชื่อมรอยขาดตรงริมผ้าสีขาวให้ติดกับผ้าสีน้ำเงิน”

 

จากบทกวีทั้งสองวรรคนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสีทั้งสามสีที่สื่อถึงสถาบันหลักทั้งสามของประเทศ โดยมีประชาชนเกี่ยวประสานทั้งสามสถาบันไว้ดังบทกวีวรรคที่ว่า

 

            “ด้ายสีขาวนั้นเป็นตัวแทนของฉันและเราทุกคนในชาติ” ผู้เขียนได้ทั้งวรรคที่เป็นข้อสงสัยจากคำถามที่เด็กน้อยคนนี้ถามพ่อของเขา

 

            “แล้วเราจะทำอย่างไรกับสีที่ซีดจางและมีรอยเปื้อนนี้ล่ะ” เมื่อพ่อตอบคำถามยิ่งเพิ่มความไม่เข้าใจกับลูกมากยิ่งขึ้น “ถึงมันจะเก่ามันก็คือ ธงชาติอย่างที่มันเป็นนั้นแหละ” ผู้เขียนได้ทั้งความสงสัยใหญ่ให้กับผู้อ่านทำไมถึงไม่นำไปย้อมสี แล้วทำไมถึงไม่ไปซักให้สะอาด

 

            “ธงชาติผืนเก่า” ได้สื่อสารผ่านสัญลักษณ์มากมายทั้งธงชาติที่สื่อความหมายถึงประเทศไทยที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เส้นด้ายเล็ก ๆ สื่อถึงประชาชนทุกคนในชาติทุก ๆ ตะเข็บที่เชื่อมธงชาติผืนนั้นเป็นตัวเชื่อมประสานให้ได้เป็นธงชาติไทย ประเทศไทยเป็นของประชาชนคนไทยทุกคนหากขาดแม้แต่ตะเข็บเดียวอาจทำให้ธงชาติเป็นรู เมื่อวันเวลาผ่านเจอลมเจอฝน อาจทำให้รูนั้นกว้างขึ้น รอยเปื้อนบนธงสื่อถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีตที่เคยเกิดขึ้น เราไม่ควรซักให้สะอาด รอยเปื้อนนั้นจะคอยย้ำเตือนไม่ให้เกิดรอยใหม่ได้อีกและเราก็ไม่ควรย้อมสีธงชาติใหม่สิ่งใดที่เป็นอยู่แล้วนั้น เราควรปล่อยให้เป้นไปตามธรรมชาติถึงย้อมสีไปก็ไม่อาจบดบังความจริงที่เกิดขึ้นได้ “ธงชาติผืนเก่า” ได้สื่อถึงการเป็นพลเมืองที่ดีของชาติในระบอบประชาธิปไตยผ่านวิธีการสอนในสถาบันครอบครัว

 

 

บทวิจารณ์โดย นางสาวอมลวรรณ จันเพชร์

ขอบคุณภาพจาก มูลนิธิเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ

Writer

The Reader by Praphansarn