ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต : การเดินทางไร้จุดหมายบนถนนสายมายาคติ

ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต

 

           “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” นวนิยายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนประจำปี พ.ศ. 2558  ผลงานของวีรพร นิติประภา ที่ขีดเขียนเรื่องราวการเดินทางของชีวิตอันสลับทับซ้อนไปด้วยความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร สอดคล้องกับชื่อเรื่องที่ซับซ้อนซ่อนปมได้อย่างน่าสนใจ โดยการใช้ “ไส้เดือน” ซึ่งเป็นสัตว์ที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าไม่มีตาให้ประสบชะตากรรมตาบอดเข้าไปอีกเพื่อเพิ่มความมืดมนบนเส้นทางการเดินทาง ซ้ำร้ายไปกว่านั้นไส้เดือนตาบอดยังจะต้องเดินทางในเขาวงกต อันลดเลี้ยวเคี้ยวคด เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงยากที่จะหาทางออกจากเขาวงกตนั้นได้ ชื่อเรื่องสะท้อนแก่นของเรื่องที่บรรจุอยู่ภายในเนื้อหาถึงการที่ตัวละครต่างหลุดร่วงลงสู่ “มายาคติ” (myth) หรือ “การสื่อความหมายด้วย คติความเชื่อทางวัฒนธรรมซึ่งถูกกลบเกลื่อนให้เป็นที่รับรู้เสมือนว่าเป็นธรรมชาติ” (นพพร ประชากุล,2552:268) กล่าวคือ กระบวนการลวงหลอกให้มนุษย์นั้นคิดว่าสิ่งที่เชื่อและทำจนคุ้นชินคือความจริงแท้โดยผ่านกระบวนการสื่อความหมายทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นไม่หยุดหย่อนในสังคมมนุษย์ เช่น การคิดว่าดอกกุหลาบหมายถึงความรัก ทั้งที่จริงๆแล้วกุหลาบเป็นเพียงดอกไม้ชนิดหนึ่ง แต่เมื่อมีคนนำดอกกุหลาบไปมอบให้คนที่รัก โดยสื่อผ่านภาพยนตร์ ละคร นวนิยาย คำบอกกล่าว บทเพลง เมื่อได้เห็นได้ฟังจนเคยชินก็ให้ความหมายดอกกุหลาบว่าคือความรักและอาจร้ายไปกว่านั้นเราอาจต้องการดอกกุหลาบอยู่ตลอดเวลาเพื่อตอกย้ำว่าฝ่ายตรงข้ามยังรักเราอยู่เสมอ และหากไม่ได้ดอกกุหลาบแล้วอาจคิดไปถึงว่าฝ่ายตรงข้ามสิ้นรักไปแล้ว หรือแม้แต่การนำดอกกุหลาบไปเซ่นไหว้บูชาศาลที่เชื่อกันว่าเป็นศาลตำนานรัก ยกตัวอย่างเช่น ศาลเจ้าแม่รสรินในนวนิยายเรื่องนี้  มายาคติจึงเป็นสิ่งที่สามารถลวงล่อให้เกิดขึ้นซึ่งเรื่องราวมากมายและให้เราเดินทางไปตามเรื่องราวเหล่านั้นอย่างคนตาบอดได้โดยที่เราเองไม่ได้ตาบอดแต่อย่างใด

   

             “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” เป็นนวนิยายที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงการทำงานอย่างเลือดเย็นของมายาคติที่ไหลเวียนอยู่อย่างสม่ำเสมอในสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะมายาคติของ “ความรัก” ที่ผู้เขียนถ่ายทอดให้เห็นชัดเจนในหลากแง่หลายมุมผ่านตัวละครด้วยภาษาที่รังสรรค์อย่างสร้างสรรค์กอรปกับวิธีการดำเนินเรื่องที่ไม่ได้เรียงตาเส้นของเวลา เช่นเดียวกับการเดินทางของตัวละครที่วกวนไร้จุดหมายในเขาวงกตแห่งชีวิต  

 

            นวนิยายเรื่องนี้สร้างตัวละครให้หวิ่นแหว่งในความรักจะเห็นได้จากทุกตัวละครในเรื่องต่างมีปัญหาครอบครัวในวัยเด็กทั้งสิ้นและต่างวิ่งหาความรักตามวิถีที่ตนเองเชื่อโดยเปิดเรื่องมาด้วยครอบครัวของชารียาและชาลิกาที่พ่อของพวกเธอไปรักผู้หญิงคนหนึ่งชื่อรสรินซึ่งไม่ใช่ชื่อแม่ของพวกเธอ พ่อของชารี ยาและชาลิการักรสรินมากถึงกับเขียนจดหมายรักให้ตลอดและให้สัญญาว่าจะไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน แต่ สุดท้ายก็ไม่ พ่อยังคงอยู่กับแม่ต่อไปจนเกือบสิ้นลมหายใจจึงกลับไปหารสรินแม้ตลอดช่วงชีวิตที่ยังหายใจ อยู่นั้น ไม่มีแม้เศษเสี้ยวความสุขที่เกิดขึ้นในใจเลย จะเห็นได้จากตัวบทที่ว่า “สำหรับเด็ก ๆ การมีอยู่ของพ่อ คือปรากฏการณ์ที่ยากจะอธิบาย ชายผู้ซึ่งมองดูเรือนร่างโปร่งใสจนเกือบมองเห็นทะลุออกไปข้างหลังได้คอยปรากฏตามมุมต่าง ๆ ของบ้านอย่างเงียบงัน” (วีรพร นิติประภา, 2560: 19)   พ่อรักรสรินและพร่ำบอกเธอในจดหมายรักเป็นพัน ๆ ฉบับที่มายาคติใส่ความหมายจนเกินจริงว่ามันคือความรักที่ท่วมท้นพ้นแผ่นฟ้าเช่นตอนหนึ่งในจดหมายรักของพ่อที่กล่าวว่า “ทุกวัน ทุกลมหายใจผมเฝ้าแต่คิดถึงคุณ ทรมานเหมือนตกนรกหมกไหม้” (วีรพร นิติประภา, 2560: 225) เรื่องราวในจดหมายรักคำพูดหวานชื่นรื่นใจจนเกินจริงสร้างความรักในอุดมคติให้กับพ่อ แต่ในความจริงโลกใบนั้นไม่มีอยู่จริง พ่อจึงต้องเดินหลงทางไปในโลกมายาคตินั้นไปจนสิ้นใจ ดังตัวบทที่สะท้อนให้เห็นว่าพ่อได้ตายไปกับจดหมายรักของเขาอย่างแท้จริงที่ว่า “ร่างพ่อนอนสงบท่ามกลางจดหมายสี่พันสองร้อยยี่สิบสองฉบับที่จ่าหน้าซองด้วยลายมือของเขาเอง ในโลงไม้สลักลายซึ่งถูกส่งมาจากบ้านของผู้หญิงอีกคน”  (วีรพร นิติประภา, 2560: 26) 

 

             แม่ก็เช่นกัน  แม้จะสามารถยื้อพ่อไว้ได้ก็หาได้มีความสุขจริง ๆ ไม่ มีเพียงการหลอกตัวเองว่ายังรักกันอยู่เท่านั้น จะเห็นได้จากการที่แม่พยายามยึดยื้อพ่อไว้ไม่ให้จากไปไหน คอยปรนนิบัติดูแล จัดการทุกเรื่องที่เกี่ยวกับพ่อ เพื่อโอบอุ้มใจตัวเองไม่ให้เจ็บปวด ดังตัวบทที่ว่า  “แม่ยังคอยจัดการเรื่องต่างๆให้พ่อไปพลาง ๆ ด้วยเป็นธุระช่วยเขาตัดสินใจว่าควรจะรับโทรศัพท์ใคร จำเป็นหรือไม่จำเป็นต้องอ่านจดหมายฉบับไหน ใครเป็นคนเขียนมา ต้องทำและไม่ทำอะไร” (วีรพร นิติประภา, 2560: 18)    

 

             นอกจากการเฝ้าดูพ่อไม่ให้คลาดสายตา เธอยังได้สร้างสัญลักษณ์ให้เป็นตัวแทนของความรักที่เธอฝัน โดยนำรูปของเธอกับสามีในตอนที่ยังรักกันหวานชื่น มาติดเต็มผนังบ้านจนแทบไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับพื้นที่ว่างเลยแม้แต่น้อย การที่แม่ทำเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม่ได้เปิดพื้นที่สิงสู่ให้กับมายาคติเพิ่มขึ้นไปอีกโดยการให้รูปเหล่านั้นเป็นพื้นที่รักษาความหวานชื่นของความรักโรแมนติกที่มากเกินกว่าความจริงอันเจ็บปวดในตอนนี้ของเธอเอาไว้เพื่อลวงหลอกตัวเองว่าความรักยังคงดำเนินต่อไปในโลกแห่งความจริงของเธอแม้จะสัมผัสไม่ได้จริง ๆ เลยสักนิด ทว่า มันคือความสุขที่หลงเหลือเพียงหนึ่งเดียวใน ชีวิตความสุขที่ได้เดินหลงทางไปในมายาคติที่บรรจุอยู่ในรูปเหล่านั้นอย่างคนตาบอด ความสุขที่มืดมนยิ่งกว่าตอนกลางคืน ดังตัวบทที่ว่า

 

“ส่วนแม่ก็เป็นแค่คนแปลกหน้าที่คุ้นเคย ผู้เอาแต่เดินวกวนอ่อนล้ากลางเขาวงกตแห่ง

เครื่องเรือน และดูเหมือนจะมีความสุขกับใครขึ้นมาบ้างก็ในยามได้นั่งกอดอก ลูบต้นแขน

ของตัวเองไปมาเบาๆ เหม่อมองรูปถ่ายที่ติดเรียงเต็มผนังแทบไม่เหลือที่ว่างราวกับแถบรังสี

                                                                         ที่แผ่ออกมาจากนาฬิกา” (วีรพร นิติประภา, 2560: 20)                        

 

และแม้เมื่อพ่อจากไป แม่ก็ยังไม่อาจตัดใจได้เลย จนเธอสิ้นลมหายใจไปและตลอดการหายใจก็ไร้สุขเช่นกัน เช่นเดียวกับรสรินที่สร้างโลกมายาแห่งรักของตนกับเขาไว้สวยหรูประหนึ่งคำพูดในจดหมายรักที่เขาเขียนให้เธอจากตอนหนึ่งที่ว่า “ไม่ว่าอย่างไร จะเป็นหรือตาย ผมจะต้องกลับไปอยู่กับคุณให้ได้จงได้” (วีรพร นิติประภา, 2560: 139)  ในท้ายที่สุดเมื่อพ่อของชาลิกาและชารียากลับไปหารสรินในยามที่เขาเองเข้าใกล้ความตายแล้ว ถึงตอนนั้น อุดมคติที่มายาคติสร้างขึ้นเกี่ยวกับความรักของรสรินกับเขาก็พังลงอย่างไม่เหลือชิ้นดี เพราะเห็นสภาพของชายที่รักนั้นไม่น่าดูเอาเสียเลย ดังตัวบทหลังจากรสรินได้เจอเขาที่ว่า “จู่ ๆ รสรินก็ถูกจู่โจมไม่คาดฝันโดยกลิ่น กลิ่นซึ่งระเหิดออกมาตามเนื้อตัวที่โรยล้าจนไม่อาจกำจัดของเสีย ตะกอนยา และความขมขื่นของชีวิตออกไปได้หมด หดหู่ราวกับกลิ่นหอผู้ป่วยอายุเวชกรรม อีกทั้งแปลกหน้าจนรสรินทนไม่ไหว”  (วีรพร นิติประภา, 2560: 140)

 

              การที่ความจริงไม่เป็นอย่างในอุดมคติที่มายาคติได้สร้างขึ้น ทำให้เธอได้รู้ว่า ชายที่เธอรักไม่ใช่คนที่อยู่ตรงหน้าจริง ๆ ตอนนี้ หากแต่เป็นชายผู้มีถ้อยวาจาหวานซึ้งในจดหมายรักของเธอและในภาพฝันของเธอ ดังตัวบทที่ว่า “รู้ไหมคะฉันเชื่อเสมอว่าคุณจะต้องกลับมา...เธอพูดค้าง ยิ้มเหงาๆ ยังไม่ทันที่จะพูดต่อว่า แต่ฉันไม่คิดว่าเรื่องของเราจบไปนานแล้วโดยที่ฉันเองก็ไม่เคยรู้จนกระทั่งถึงตอนนี้ หันกลับไปอีกทีก็พบว่าเขาตายแล้ว” (วีรพร นิติประภา, 2560: 140) และนี่คงเป็นเหตุให้จดหมายรักและโลงศพของเขาถูกส่งกลับไปที่บ้านและเป็นอีกเหตุแห่งทุกข์ที่ตอกย้ำลงไปในใจของผู้หญิงอีกคนซึ่งคือแม่ของชาลิกาและชารียา แต่ใช่ว่ารสรินจะเป็นสุข เธอไม่อาจมีความสุขได้อีกต่อไปเพราะโลกที่มายาคติได้สร้างขึ้นถูกทำลายด้วยความจริงอันน่ารังเกียจ ชีวิตเธอจึงดำเนินไปอย่างมืดบอดเป็นคนบ้า ร่ายรำไปตามถนน ร่อนเร่พเนจร ตามหาโลกใบนั้นในฝันของเธอ ดังตอนหนึ่งที่ว่า “ชารียาได้เห็นรสรินกับตาตัวเองจากบนรถประจำทาง...นานหลังจากนั้นกำลังรำฟ้อนอ่อนวาดในพราวระยิบของสายฝนบนเกาะกลางถนนและยังตะโกนพูดกับคนตายแล้วไปตามทาง” (วีรพร นิติประภา, 2560: 142)

 

            เมื่อพ่อแม่ของชารียาและชาลิกาตายไป ลุงธนิตพี่ชายของแม่ก็เข้ามาดูแลเด็กหญิงทั้งสอง ลุงธนิตเป็นคนที่ชอบฟังเพลงโดยเฉพาะเพลงยุคโรแมนติกและเล่าเรื่องราวต่างๆให้เด็กๆได้ฟังทั้งเรื่องราวการเดินทาง เรื่องราวความรักหวานซึ้ง เรื่องราวชีวิตผู้คน ซึ่งเด็กๆ นั้นหมายรวมถึงปราณเด็กชายที่แม่ไปมีชู้และชีวิตต้องร่อนเร่ไปกับพ่อ จนเมื่อพ่อตายไปก็มาใช้ชีวิตอยู่กับยายและเป็นเพื่อนบ้านของชารียากับชาลิกา ใช้ชีวิตในวัยเด็กไปด้วยกันประหนึ่งว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน  โดยมีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์ที่ชารียาจมน้ำและปราณเข้ามาช่วยเอาไว้ ชีวิตของคนกำพร้าสามคนรวมลุงธนิตเป็นสี่คนดำเนินไปด้วยดี จนวันหนึ่งที่ “ธนา” หนุ่มที่เต็มไปด้วยไฟอุดมการณ์ลุกโชน ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของเอินเพื่อนสนิทของชารียามาจากกรุงเทพและได้พบเจอกับชารียาและทั้งสองก็รักกัน จนในท้ายที่สุดชารียาก็หนีตามธนาไปด้วยวัยเพียงแค่สิบหกปีเท่านั้น และนี่คือการออกเดินทางในถนนสายมายาคติแห่งรักอย่างจริงจังของชารียาโดยที่เธอได้เอาจดหมายรักของพ่อที่เขียนถึงรสรินที่เธอค้นพบมันตอนตามหาแมงมุมในสวนของเธอติดตัวไปกับการเดินทางครั้งนี้ด้วย   

 

            “ธนา” ถูกประกอบสร้างตัวตนให้เป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยความฝันและอุดมการณ์ทางสังคมและการเมือง ทำให้ดูเป็นชายหนุ่มที่น่าสนใจสำหรับชารียา จะเห็นได้จากตัวบทที่ว่า “เธอแอบได้ยินเขาคุยกับเพื่อนบ้านด้วยพลังแบบที่เธอไม่เคยเห็นใครพูด ในเรื่องที่ไม่เคยได้ยินใครพูดถึงมาก่อน เรื่องของสังคมที่ผู้คนถูกเอารัดเอาเปรียบ ความไม่เป็นธรรม นายทุนขุนนางที่คอยเหยียบย่ำคนยากจน”(วีรพร นิติประภา, 2560: 76)  เมื่อคบหากันธนาเองก็หยิ่งทะนงตัวว่าตนเป็นปัญญาชนและเมื่ออยู่กินกับชารียาซึ่งเป็นเด็กนักเรียนที่หนีตามเขามาและมาทำอาชีพขายแผ่นเสียงเพื่อฟังเพลงที่เธอรัก ธนาจึงเอาแต่นำความคิดอุดมการณ์ที่มีอยู่ยัดเยียดให้กับชารียา เพื่อให้ชารียาเป็นในแบบที่เขาชอบและเพื่อรองรับอุดมการณ์ของเขา สะท้อนให้เห็นได้ว่าจริง ๆ แล้ว ธนา ไม่ได้รักชารียาในแบบที่เธอเป็นจริง ๆ ดังข้อความที่ว่า “ธนาใช้เวลาส่วนใหญ่ขลุกอยู่กับเพื่อนตามสหภาพแรงงานและอายคนที่มีแฟนซึ่งไม่ได้มีอะไรใกล้กับคำว่าปัญญาชนเลยแม้แต่น้อย สิ่งที่ทั้งคู่ยังทำด้วยกันได้คือนอนด้วยกัน” (วีรพร นิติประภา, 2560: 78)  ด้วยเหตุนี้ธนาผู้ลุ่มหลงอยู่ในอุดมการณ์จนบ้าคลั่งจึงทิ้งชารียาไปและแน่นอนว่าชารียาผู้รักธนาโดยปราศจากอุดมการณ์ใดๆจึงเจ็บปวดสาหัสและเจ็บปวดสาหัสขึ้นไปอีก เมื่อความรักของเธอต่อธนาถูกบทเพลง ภาพยนตร์ จดหมายรักของพ่อที่ไหลเวียนอยู่ในความทรงจำของเธอประกอบสร้างความหมายให้ยิ่งใหญ่เกินจริง ก่อนจะไปเจอผู้ชายอีกคนคือชานนท์และชานนท์ก็ได้ทิ้งชารียาไปด้วยเหตุผลที่ว่าเขาพลั้งเผลอไปกับความปรารถนาจนได้ร่วมรักกับชารียา ซึ่งขัดกับความเชื่อหรือวัฒนธรรมที่เขาถูกปลูกฝังมาว่าความรักและกามรมณ์เป็นคนละเรื่องกัน ทำให้เขารู้สึกผิดกับชารียาและจากเธอไป ชารียาเสียใจกับความรักมากยิ่งเสียใจยิ่งตอกย้ำความรวดร้าวลึกซึ้งของความรักเข้าไปด้วยมายาคติที่ไหลเวียนในจดหมายของพ่อ ดังตัวบทที่ว่า “ชารียาร้องไห้กับธนา ชานนท์ และถ้อยถวิลแสนเศร้าในจดหมายรักเก่ากรอบของพ่อทุกวัน”  (วีรพร นิติประภา, 2560: 111)

 

              การเดินทางในเส้นทางสายมายาคติของชารียายังไม่สิ้นสุดลง เธอได้ไปพบรักกับเชฟหนุ่มผู้ทำขนมเค้กได้อย่างงดงาม ก่อนจากลากันไปอย่างเต็มไปด้วยความเศร้าโศกของชารียา จนกระทั่งชารียาได้พบกับ “นที” สำหรับความรักที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของชารียา ระหว่างเธอกับนทีถือว่าเป็นความรักที่มายาคติทำงานอย่างหนักหน่วงที่สุด เพราะในความคิดความเชื่อของนทีนั้นถูกหล่อหลอมมาจากวัฒนธรรมความรักที่ฝังอยู่ในภาพยนตร์หลายๆเรื่องที่เขาได้ดูมาตลอดทั้งชีวิต ดังที่สะท้อนชัดเจนในตอนหนึ่งที่ว่า

 

“ความรักของนทีคลั่งไคล้ใหลหลงในแบบฉบับของโรมิโอกับจูเลียต

                                                                                         มีบทสนทนาประจำวันละเมียดหวานเหมือนบทหนัง ฮอลลีวูด มีคลาสสิกยุคโรแมนติกดัง

                                                                                         ในหัวเป็นเพลงประกอบ มีพลัดพรากผจญภัยเป็นเครื่องทดสอบกำลังใจ” (วีรพร นิติประภา, 2560: 154)  

 

                 แม้แต่การตกหลุมรักชารียา นทีเองก็ประกอบสร้างมันขึ้นมาจากบรรยากาศการพบเจอที่คล้ายคลึงกับภาพยนตร์ที่เขาเคยดู ดังข้อความว่า

                 “ถ้านทีจะไม่ผ่านเข้ามา โดยบังเอิญ เหมือนคู่รักในหนัง เช่นนั้นที่ทั้งคู่พบกัน กี่โมงแล้วครับ นทีถามเวลาหญิงสาวที่เดินตรงมา เพื่อจะพบว่าชารียากำลังหลับตาเดินและผ่านเขาไปเฉย ๆ โดยมีหูฟังเล็ก ๆปิดกั้นเธอ ไว้จากสุ้มเสียงทั้งหมดของโลก แล้วนทีก็ไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำตอนออกเดินตามเธอฝ่าฝูงมนุษย์พลุกพล่าน ที่ไม่เคยรู้ว่าตัวเองอยากได้ยินอะไรไปครึ่งถนนจนถึงร้าน แอบดูห่าง ๆ เข้าไปทำความรู้จัก ตกหลุมรักและรักเธออย่างไม่มีใครเคยมีใครรัก” (วีรพร นิติประภา, 2560: 111-112)

 

                 ไม่แปลกที่ทำไมนทีจึงเป็นเช่นนี้เพราะหากพิจารณาดูชีวิตวัยเด็กของนทีจะเห็นว่าคลุกคลีอยู่กับมายาคติที่ซ่อนเร้นอยู่ในภาพยนตร์ซึ่งแสดงเรื่องราวต่าง ๆ ออกมาด้วยภาพแสงสีเสียงและความหมายที่เกินจริง ดังที่ผู้เขียนบรรยายไว้ว่า “นทีเติบโตขึ้นอย่างโดดเดี่ยวในครอบครัวที่มีเพียงพ่อกับแม่ซึ่งรักและเอาใจใส่เขาจนแทบไม่ยอมให้คลาดสายตา ตอนยังเด็กพ่อมักจะพานทีไปโรงหนังที่เขาเป็นเจ้าของด้วยทุกวันเสาร์ แล้วฝากนทีเอาไว้กับคนฉายหนังเวลาทํางาน ปล่อยนทีให้นั่งดูหนังวนซ้ำไปอย่างนั้นทั้งวันจนจำได้ขึ้นใจว่า พระเอกเรื่องนั้นเรื่องนี้คิดอย่างไรจะพูดว่าอะไรตอนไหนและนางเอกจะตอบว่าอย่างไร” (วีรพร นิติประภา, 2560: 95) ดังนี้เองเรื่องราวในภาพยนตร์เหล่านั้นจึงฝังอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของนทีจนนทีเองคิดว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่ตนคิดนั้นเป็นไปโดยธรรมชาติของตนเอง    

 

ด้วยความที่นที “รักเธออย่างที่ไม่มีใครเคยรัก” ด้วยความโรแมนติกหวานชื่นที่ประกอบสร้างขึ้น          ชารียาจึงหลุดร่วงลงสู่มายาคติแห่งรักนั้นอย่างง่ายดายและรักนทีมาก เห็นได้จากตอนที่นทีโกหกว่าเขาจะไปทำข่าวที่ซาราเจโว โดยเขาบอกกับชารียาว่าอาจเสี่ยงอันตรายถึงตาย นทีทำเพื่ออยากเห็นชารียาร้องไห้ฟูมฟายโหยหาตน เขาพยายามเป็น “พระเอก” ที่ฝังอยู่ในความคิดของเขาโดยที่เขาไม่รู้ตัวจากการสะสมพระเอกในหลากหลายรูปแบบจากภาพยนตร์ที่เคยดู ส่วนชารียาเองก็ไม่อาจต่อสู้กับมายาคตินี้ได้ จึงเดินปตามเส้นทางที่นทีอยากให้เป็น ดังตอนที่บรรยายว่า “ชารียากำลังตกอยู่ในห้วงรักถึงกับปล่อยโฮ สะอื้นฮัก และเอาแต่ร้องไห้จนเขาต้องสัญญาว่าจะโทรหาเธอทุกวัน เพื่อให้รู้ว่าเขายังสบายดี” (วีรพร นิติประภา, 2560: 153)   นทีดึงชารียาให้ดำดิ่งลงสู่ห้วงมายาของความรักลึกลงไปกว่าหลายคนที่ผ่านมา จนวันที่นทีบอกชารียาว่ามีหญิงอื่นและทั้งสองก็เลิกรากัน นทียังสร้างความเป็นพระเอก ให้กับตัวเองด้วยคำพูดที่สวยหรู แต่ในและบางครั้งก็สร้างให้ชารียาซึ่งจากไปกลายเป็นนางร้าย เห็นได้จากข้อความที่ว่า  “ไปจากพี่เถิดชารี เธอน่ะดีเกินไปสำหรับคนอย่างพี่ แต่วันดีคืนดีก็กลับลุกขึ้นหึงหวงเสียอย่างนั้น สร้างเรื่องราวเป็นตุเป็นตะทั้งที่ชารียาไม่ได้พบกับผู้ชายคนไหน” (วีรพร นิติประภา, 2560: 156)  

 

ความเจ็บปวดรวดร้าวจากรักที่แสนหวานของชารียาในครั้งนี้ ย่อมส่งผลที่แสนขมต่อหัวใจของชารียาอย่างมาก เพราะเมื่อยามรักมีปริมาณคำหวานที่นทีเคยมอบให้มากมายท่วมท้น ยามที่ไม่มีมันเธอจึงโหยไห้เพื่อโหยหามันอย่างเจ็บปวดหรืออาจกล่าวได้ว่าเมื่อมายาคติทำงานอย่างหนักหน่วง ผลของมันก็หนักหน่วงเช่นกันไม่ว่ายามรักหรือไม่รัก ดังที่ผู้เขียนบรรยายความรู้สึกของชารียาไว้ว่า

 

“ชารียาคลุ้มคลั่ง อาละวาด ซึมเซาไม่กินข้าวกินปลา ขว้างปาข้าวของ ไม่หลับไม่นอนทั้งกลางวันและกลางคืน แล้วยังคิดวิธีฆ่าตัวตายเอาไว้ในหัวได้ถึงหกสิบสองวิธีในเวลาไม่กี่ชั่วโมง วิ่งใส่กำแพงล้มหงายเป็นเส้นตรงต่อหน้าต่อตาเขา ตะโกนเร่าจนเสียงแหบหาย เธอเลิกกับนทีแปดร้อยครั้งในอาทิตย์แรกสี่ร้อยในอาทิตย์ต่อมาและลดลงเหลืออาทิตย์ละห้าสิบครั้งทั้งที่รู้ว่าอยู่โดยขาดเขาไม่ได้” (วีรพร นิติประภา, 2560: 158)

 

ชารียายังไม่สามารถทำใจได้กับความรักที่พังลงไปของเธอกับนที แต่ก็ยังพอดำเนินชีวิตไปได้และพบเจอกับปราณคนที่รักเธอมาเสมอตั้งแต่ยังเด็กอยู่บ่อยๆ แต่วันหนึ่งนทีก็กลับมาอีกโดยบอกว่าแวะมาหา การแวะมาหาชารียาครั้งนี้ทำให้มายาคติแห่งรักที่ในใจของชารียามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง จะเห็นได้จากตัวบทในตอนที่นทีมีเรื่องกับปราณและชารียาเข้ามาห้ามว่า “หยุดอย่าเชียวนะปราณ เธอขู่ฟ่อเสียงต่ำในลำคอเอามือกดหน้าอกเขาไว้สุดแรงจนแทบหายใจไม่ออก” (วีรพร นิติประภา, 2560: 174)   ส่วนปราณเสียใจที่ชารียายังรักและปกป้องนที ความเสียใจนำพาให้ปราณได้ไปร่วมรักกับชาลิกาพี่สาวของชารียาเมื่อพิจารณาดูจริง ๆ แล้ว การที่ปราณร่วมรักกับชาลิกาไม่ใช่เพราะความรัก หากแต่เขาเห็นว่าชาลิกาเป็นตัวแทนของชารียา ดังตัวบท  “แหละรู้สึกเหมือนกับจะร้องไห้จนแทบไม่อาจหักห้าม เมื่อสำเหนียกถึงหัวใจตนกำลังอับปางดิ่งจมล่มสลายขณะกระเซอะกระเซิงออกตามหาชารียาไปอย่างสิ้นหวังข้างในชาลิกาและร่วมรักกับเธอ” (วีรพร นิติประภา, 2560: 175) ในขณะที่ชาลิกาผู้หญิงที่งามพร้อมราวนางเอกในนิยายที่อ่านนิยายมานับไม่ถ้วนตั้งแต่เด็กก็ประกอบสร้างความหมายของปราณให้งดงามในความนึกคิดราวกับเป็นพระเอกนิยาย ดังตัวบทที่ว่า  

 

“ชาลิกามองเห็นปราณเป็นปราณอีกคนในโลกอีกโลก ไม่ใช่ปราณที่เป็นคนมีเลือดเนื้อจริงในโลกของเขา ปราณในโลกของเธอคือพระเอกพันทางจากนิยายรักหลายเรื่องรวมกัน ทั้งที่ในความเป็นจริง เขาไม่มีอะไรใกล้กับพระเอกหนังหรือนิยายคนไหนแม้แต่คนเดียวด้วยซ้ำ” (วีรพร นิติประภา, 2560: 188)  

 

เหมือน ๆ กับนายร้อยที่เธอเคยแอบรัก แม้ไม่มีเรื่องราวต่อกันเลยแม่แต่น้อย เธอกลับถึงกับร้องไห้เมื่อเขามีคนรัก เพราะมายาคติที่อยู่ในนิยาย ที่สวมทับลงบนพระเอก นางเอก และเรื่องราวที่ดำเนิน มาสวมทับเข้าไปในความรู้สึกของชาลิกาโดยที่เธอไม่รู้ตัว ดังตัวบท “วันที่รู้ว่าหนุ่มนักเรียนนายร้อยผู้ซึ่งไม่ได้เป็นนักเรียนนายร้อยอย่างที่เธอคิดหากติดยศนายพันไปนานแล้วคนนั้นแต่งงาน ชาลิกาเอาแต่ร้องไห้และพร่ำบอกรักเขาในใจ แปดหมื่นเจ็ดพันหกร้อยห้าครั้ง” (วีรพร นิติประภา, 2560: 160)  ในตอนนี้สะท้อนให้เห็นว่าชาลิกาไม่ได้ร้องไห้ให้กับนายร้อยคนนั้นจริง ๆ หากแต่เป็นใครสักคนที่ถูกประกอบสร้างจากมายาคติที่วนเวียนอยู่ในนิยายรักที่เธออ่าน สื่อความหมายของนายร้อยคนนั้นตามที่เธอคิด และรักเขา ทั้งที่ไม่เคยได้มีเวลาใดๆร่วมกันเลย ดังตัวบทที่ว่า “ถึงอย่างนั้นเธอก็ไม่ได้ร้องไห้ให้กับเขาผู้ซึ่ง เป็นมนุษย์มีเลือดเนื้อ แต่เป็นผู้ชายอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพเลื่อนลอยของพระเอกนิยายนับพันที่วนว่ายอยู่ในความคิดฝันของเธอรวมกันหวนให้อะไรคนที่เธอไม่เคยรู้ชื่อจริง”(วีรพร นิติประภา, 2560: 160-161)   ชาลิกาดำเนินชีวิตในมายาคติที่ส่งผ่านนิยายความรักชวนฝันที่เธออ่านมาตลอดชีวิต และหยุดหายใจในความฝันเมื่อยามหลับอย่างเงียบเชียบในคืนหนึ่ง

 

ปราณอาจลงเอยกับชาลิกาหากว่านทีไม่ทำให้ชารียาเจ็บปวดอีกครั้ง และปรานคือคนที่ดึงเธอขึ้นมาอีกครั้ง เหมือนๆกับครั้งเป็นเด็กที่เคยช่วยเธอขึ้นจากการจมน้ำ จนในท้ายที่สุดค่ำคืนนั้นทั้งสองก็ร่วมรักกัน  ปราณถือเป็นตัวละครที่รักชารียาในแบบที่ชารียาเป็นมากที่สุด เพราะเขารู้จักชารียามาตั้งแต่เด็ก ทว่า ชารียาอาจมีความสุขกับปราณต่อไปหากไม่มีการกลับมาของนทีอีกครั้ง การกลับมาที่มาพร้อมความรักมากมายราวพระเอกภาพยนตร์อย่างที่เคยเป็น มาเพื่อสร้างให้เกิดตำนานรักที่ยิ่งใหญ่ที่คนรักทั้งสองตายตามกันไป ดังคำพดของนทีที่พูดกับชารียาว่า “ทำไมเราถึงไม่ตาย ๆ ไปด้วยกันซะให้มันรู้แล้วรู้รอดชารี เธอกับพี่เรารักกันมากกว่าใครในโลก แต่กลับอยู่ด้วยกันไม่ได้ จะแยกจากกันก็ทำไม่ได้อีก” (วีรพร นิติประภา, 2560: 212)    ทำให้ชารียาพบเจอกับหลุมมายาคติที่ลึกลับน่าค้นหาอีกครั้งกอรปกับจดหมายรักของพ่อที่เวียนวนในหัวของเธอตอนหนึ่งว่า “ทำไมเราถึงไม่ตาย ๆ ไปด้วยกันตั้งแต่ตอนนั้นนะ รสริน ทำไม อยู่ด้วยกันในความตายจะดีกว่าต้องทนโหยหาไปไม่จบสิ้นอย่างนี้ไหม ความตายจะรวดร้าวสักแค่ไหนเมื่อเทียบกับความทรมานของการอยู่โดยไม่มีกัน” (วีรพร นิติประภา, 2560: 212-213)  ด้วยมายาคติแห่งรักที่ลวงหลอกเธอ เธอจึงตัดสินใจบอกกับปราณว่า “ลืมฉันเสียเถอะ”  (วีรพร นิติประภา, 2560: 214)  สร้างความเสียใจให้กับปราณจนเขาต้องหนีออกจากที่นั่น ไปในเส้นทางแสนไกลตามทางรถไฟอย่างทีเป็นในตอนเด็กเพื่อค้นหาบางอย่างที่เขาได้จากมา  ส่วนชารียากินยานอนหลับไป ขณะที่ชารียาอยู่ในห้วงแห่งหลับใหลนั้น ผู้เขียนบรรยายไว้ได้อย่างเห็นภาพ ดังตัวบทที่ว่า

 

“ชารียาตื่นทะลึ่งขึ้นเหนือน้ำ หลับจม ก่อนจะตื่นขึ้นอีก หลับจมอีกและตื่นขึ้นพบตัวเองลอยคว้างกลางกระแสน้ำเย็นหนาวสีฟ้าที่กำลังม้วนตัวเป็นคลื่นเกลียวเกี้ยวกราดซัดสาดราวกับทะเลพายุ ต้นไม้สีดำบนผนังจมอยู่ใต้น้ำเกือบมิดทั้งต้นและระดับน้ำก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆฝูงนกพากันอพยพไปกันจนหมดแล้วเหลือแต่คลื่นที่เอาแต่กระฉอกซัดเธอเข้าหาผนังเพื่อให้ระลอก สะท้อนกลับหอบลากเอาตัวเธอออกมาจากนั้นขึ้นอีกฟากก็โยนเธอกลับเข้าไปใหม่กลับไปกลับมากลับไปกลับมา” (วีรพร นิติประภา, 2560: 224)

 

ตัวบทข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่ามายาคตินั้นจองจำผู้ลุ่มหลงในมันให้อยู่ภายใต้การควบคุม กลับไปกลับมาในทางที่มายาคติต้องการนำไป ในขณะที่ “นก” นั้นไม่จมน้ำและโบยบินอพยพออกไปสื่อถึงว่าผู้ที่ไม่ถูกควบคุมจากมายาคตินั้นมักมีอิสระในการเดินทางของตน

 

นทีผู้ซึ่งร่วงหล่นลงอย่างลึกซึ้งในก้นบึ้งมายาคติแห่งรัก เขาเสียใจที่ฉากการตายดูไม่สวยงามอย่างที่คิดไว้  ดังที่ผู้เขียนบรรยายว่า “เขาอยากเห็นฉากสุดท้ายของชีวิตเขามีความหมาย หวานซึ้ง ตราตรึงใจ

             ไม่ใช่รวบรัดตัดห้วนแบบนี้ แต่นี่ชารียากลับผล็อยหลับไปโดยที่เขายังไม่ทันจะตั้งท่า เขาเอามือลูบผมเธอเบา ๆ ร้าวรานอย่างที่โรมิโอรู้สึกตอนเจอจูเลียตตาย”  (วีรพร นิติประภา, 2560: 220)   นทีคิดไปว่าตัวเองจะกินยาฆ่าตัวตายไปกับชารียา แต่ก็ต้องหยุดความคิดเมื่อเห็นการตายนั้นน่ากลัว จากตัวบทที่ว่า “ชารี เราจะไม่มีวันต้องแยกจากกันอีกแล้วนะคนดีเราจะอยู่ด้วยกันชั่วนิจนิรันดร์ในความตาย พูดถึงความตายเนื้อตัวก็สั่นขึ้นมาอีกครั้งอย่างควบคุมไม่ได้ ยิ่งเหลือบไปเห็นนิ้วมือที่หงิกเกร็งขึ้นกว่าเก่านั่นเข้าไปอีก” (วีรพร นิติประภา, 2560: 221) ฉากนี้สะท้อนให้เห็นว่า ฉากการตายไม่ได้สวยงามหอมหวานเช่นในหนังที่แต่งสีสันใส่บทเพลงและบทพูดแสนเศร้า หากแต่ความจริง ความตายน่ากลัวอย่างธรรมดาไม่ได้ตกแต่งสีสันหรือความสวยงามแต่อย่างใด  ด้วยความกลัวความตายในแบบของโลกแห่งความจริง นทีจึงจากชารียาไปไม่กลับมาอีกเลย แต่นทีเองก็ยังมีความรู้สึกที่ว่าต้องการให้ชารียาตายไปจริงๆ เพื่อได้พบความยิ่งใหญ่ของความรักระหว่างเธอกับเขาที่เขาประกอบสร้างจากมายาคติอันเกิดจากภาพยนตร์หลายล้านเรื่องที่เขาเคยดู  ดังที่ว่า  “เขาซื้อหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในวันรุ่งขึ้นและวันต่อๆมา อ่านตรวจทุกตัวอักษรว่ามีข่าวมรณกรรมปริศนาของหญิงสาวสักคนบ้างหรือไม่ ก็ไม่มี ผู้หญิงกินยาตายแต่ไม่ตายก็ไม่เห็นผ่านตา ไม่มีใครฆ่าตัวตายกันเพราะความรักอีกต่อไปแล้วหรือนี่” (วีรพร นิติประภา, 2560: 223)    

 

ชารียาตื่นจากการหลับใหลยาวนาน และพบว่านทีไม่ได้ตายตามอย่างที่พูดไว้เป็นประโยคสวยหรูก่อนหน้า ครั้งนี้ทำให้เธอรู้ว่าเธอรักปราณ แต่ออกตามหาอย่างไรก็ไม่พบปราณ ไร้จุดหมาย และเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะเดินทางไปไหนอีกต่อไป ชารียาเดินทางในถนนสายมายาคติมาอย่างไร้จุดหมายมาจนหมดเรี่ยวแรงดังจะเห็นได้จากตัวบทที่บรรยายความรู้สึกของชารียาไว้อย่างเห็นภาพโดยใช้น้ำตาเป็นสัญลักษณ์แทนความเจ็บปวดของเธอที่ไม่อาจเจ็บปวดมากเกินไปกว่านี้ เหมือนกับที่ไม่สามารถร้องไห้ไปได้มากที่เคยร้องไห้มากับความรักทั้งหมดที่ผ่านมาว่า

 

“ชารียาไม่ได้ร้องไห้เหมือนกับที่เคยทำมาตั้งแต่อายุสิบหกอีกต่อไป ไม่ว่าจะให้กับธนา  ชานนท์ นที ถ้อยถวิลในจดหมายรักของพ่อหรือแม้แต่ปราณและตัวเธอเองที่ต้องเสียเขาไป ในใจเธอแห้งผาก และเธอรู้สึกราวกับกระหายน้ำอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ว่าจะกินน้ำเข้าไปมากแค่ไหน เธอก็ยังกระหายอยู่เช่นนั้นและยังคงไม่สามารถร้องไห้ออกมาได้” (วีรพร นิติประภา, 2560: 231)   

  

ในฉากสุดท้ายที่ชารียาก็ได้หายไปในสวนของเธอตลอดกาล สวนที่เธอปลูกกุหลาบมอญไว้จำนวนสามร้อยสิบห้าต้น และเธอเดินวนเวียนกลับไปกลับมาเพื่อค้นหากุหลาบมอญต้นสุดท้าย แต่ท้ายที่สุดก็ไม่อาจจำได้ สะท้อนให้เห็นว่า ผู้เขียนใช้กุหลาบมอญเป็นตัวแทนของความรักในอุดมคติที่มายาคติได้สร้างขึ้นซ้ำ ๆ เป็นความรักรูปแบบเหมือน ๆ กัน ประหนึ่งกุหลาบมอญที่มีลักษณะเหมือน ๆ กันแทบทุกต้นที่ชารียาปลูกกันไว้หลายต้น จนท้ายที่สุดก็ไม่อาจบอกได้ว่ากุหลาบต้นใดกันแน่คือต้นที่ตามหา สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อมายาคติลวงตาแล้ว ก็ยากที่จะค้นหาความรักที่ตามหานั้นอยู่ที่ใด หาทางออกไม่ได้จนหายไปในครอบงำของมันตลอดกาล อย่างตอนสุดท้ายที่ผู้เขียนบรรยายว่า  “ชารียาไม่อยู่ที่นั่นและไม่อยู่ที่ไหนอีกต่อไป”  (วีรพร นิติประภา, 2560: 252)   

 

ตัวละครทุกตัวละครต่างเดินทางค้นหาความรัก หากแต่ความรักเหล่านั้นที่พวกเขาได้ประสบพบเจอกลับถูกมายาคติปกปิดจนมิด หลงเหลือเพียงความรักลวงหลอกที่ประกอบสร้างขึ้นจาก ความฝัน บทเพลงโรแมนติก ภาพยนตร์ นวนิยาย เรื่องเล่า ความงดงามภายนอกของวัตถุ อุดมการณ์ทางสังคมและการเมือง เมื่อความรักถูกสิ่งเหล่านี้ครอบงำไว้กระทั่งผู้ถือครองความรักเองก็ไม่อาจมองเห็นมันและเชื่อไปว่าสิ่งที่ประกอบสร้างขึ้นนั้นเป็นความรักที่จริงแท้ หากแต่หารู้ไม่ว่าความสวยงาม ความรวดร้าวที่ลึกซึ้งตรึงใจเหล่านั้นล้วนเป็นความรักในความฝันทั้งสิ้น เพียงแต่พวกเขาไม่รู้เท่านั้นเองว่ากำลังฝันอยู่ เหมือนกับไส้เดือนในฉากหนึ่งที่ชารียาตั้งข้อสงสัยกับชาลิกาว่า “ลิก้า ทำไมไส้เดือนมันถึงไม่มีลูกกะตา/พี่ก็ไม่รู้เหมือนกัน/แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าไส้เดือนมันตื่นอยู่หรือว่ามันกะลังนอนหลับ/เอ่อ...ไม่รู้สิ (วีรพร นิติประภา, 2560: 25)

 

มนุษย์เราก็คงไม่ต่างกับไส้เดือนตาบอดสักเท่าไหร่ หลายครั้งดำเนินชีวิตไปอย่างรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง หลงล่องลอยอยู่ในมายาคติที่ตัวเองเป็นผู้สร้างและให้ความหมาย จนร่วงหล่นลงในความหมายที่ไม่มีอยู่จริงและหลงเดินทางอย่างไร้จุดหมายไปบนถนนสายมายาคติไม่สิ้นสุด เหมือนที่วีรพร นิติประภา ได้กล่าวถึง “ไส้เดือน” ในตอนจบของเรื่องว่า  

 

“นวลทรุดลงนั่งร้องไห้ คร่ำครวญส่งเสียงดังพลางเอามือตะกุยตะกายดินไปอย่างสิ้นหวังและคงร้องไห้พร้อมกับขุดคุ้ยในมืดมนเช่นนั้นไปจนกระทั่งถึงเช้า ทั้งที่รู้ว่าจะไม่พบอะไร นอกจากไส้เดือนตาบอดตัวแล้วตัวเล่า ที่หลงทางอยู่กลางเขาวงกตที่มันขุดเอาไว้เอง” (วีรพร นิติประภา, 2560: 252)  

 

บรรณานุกรม

นพพร ประชากุล. (2552). ยอกอักษรย้อนความคิดเล่ม 2 ว่าด้วยสังคมศาสตร์และมนุษยศาตร์.

             กรุงเทพ: อ่านและวิภาษา. 268

วีรพร นิติประภา. (2560). ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพ: มติชน

 

บทวิจารณ์โดย ศิรินญา  สุวรรณโค

 

 

 

 

 

 

Writer

The Reader by Praphansarn