คนแคระ : กลไกในการป้องกันตัวของตัวละครหลักใน คนแคระ

คนแคระ

สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือจิตของมนุษย์นั่นเอง นวนิยายเรื่อง “คนแคระ” ของ วิภาส ศรีทอง บ่งบอกถึงประโยคดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยวรรณกรรมเรื่องนี้มีจุดเด่นที่โครงเรื่องที่มีความแปลกใหม่ซึ่งไม่อาจพบบ่อยในวรรณกรรมของไทย และการเน้นน้ำหนักไปที่พฤติกรรมของตัวละครในการดำเนินเรื่อง ทำให้ผู้อ่านเห็นในสิ่งที่ในโลกของความเป็นจริงไม่สามารถทำได้ เพราะอยู่ภายใต้หลักของกฎหมาย คุณธรรม และจริยธรรม ด้วยความโดดเด่นนี้อาจมีส่วนในการพิจารณาของคณะกรรมการให้ “คนแคระ” ได้รับรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๕

เรื่องราวใน “คนแคระ” ได้กล่าวถึง เกริก นักศึกษาแพทย์ที่เรียนไม่จบ แต่ด้วยฐานะทางครอบครัวที่มีความมั่นคง เกริกจึงได้รับมรดกมากมาย รวมไปถึงตึกอาคารแห่งหนึ่งซึ่งห่างไกลผู้คน แม้ครอบครัวของเขาจะเลี้ยงดูโดยไม่ให้ขาดสิ่งใด แต่เขากลับต้องการค้นหาบางสิ่งบางอย่างในชีวิตที่รู้สึกขาดไป และเขาก็มีความคิดขึ้นมาว่า “อยากจะจับใครสักคนมาขังไว้ในกรง” เขาจึงได้วางแผนลักพาตัวคนแคระมาขังไว้ที่อาคารซึ่งเขาเป็นเจ้าของ และปฏิบัติต่อคนแคระเยี่ยง “แขก” คนหนึ่ง นอกจากเกริกก็ยังมีเพื่อนสมัยเรียนอีก ๒ คนที่รู้เห็นการกระทำของเขาในครั้งนี้ นั่นคือ พิชิต ชายหนุ่มที่เพิ่งจะสูญเสียภรรยาอันเป็นที่รัก และ นุช ศิลปินสาวที่กำลังจะล้มเหลวในอาชีพ คนทั้งสามได้ใช้คนแคระในการสร้างความหมายที่แตกต่างกัน แต่คนแคระก็ได้แต่เฝ้ารออิสรภาพของตนเอง

หากมองในภาพรวม เหมือนวิภาสได้สะท้อนให้เห็นปัญหาในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพในสังคมไทยที่ยังมีความเหลื่อมล้ำ ดังจะเห็นได้จากในตอนท้ายของวรรณกรรมที่เกริกได้เดินทางไปยังต่างประเทศและเจอกับคนแคระอีกคนหนึ่ง แม้จะมีลักษณะจากรูปลักษณ์เหมือนกับคนแคระที่เกริกจับตัวมา แต่คนแคระที่ต่างประเทศนั้นเป็นคนที่มีอำนาจ และสามารถทำให้เขาได้รับบาดเจ็บมาได้ สะท้อนให้เห็นว่าในสังคมไทยยังมีการเอาเปรียบผู้ที่อ่อนแอกว่า แต่ในสังคมของต่างประเทศ ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน โดยไม่สนว่าจะเกิดมามีความผิดปกติทางร่างกายหรือเปล่า แต่ก็ไม่ยอมให้ใครมากดขี่ห่มเหง

นอกจากนี้ ในอีกมุมหนึ่ง “คนแคระ” ยังเป็นเครื่องสะท้อนความเป็นมนุษย์ได้เป็นอย่างดีในเรื่องของกลไกการป้องกันตัวของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะหาวิธีการในการปรับตัวเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่คับข้องใจ เพื่อให้เกิดความสุข ความสบายใจ หรือหลบหลีกปัญหาไปได้ชั่วคราว โดย วิภาส ศรีทอง สามารถแทรกลงไปในตัวละครหลักได้อย่างแนบเนียน ดังที่ปรากฏในหลายช่วงตอนของเรื่อง อาทิ ตอนที่เกริกปิดคำสัญญาว่าจะปล่อยคนแคระให้เป็นอิสระ

“...เกริกนั่งตัวแข็ง สบตาคนแคระและก้มมองปลายเท้าเป็นครั้งคราว คนแคระจ้องเกริกไม่กะพริบ แต่กลับเห็นอะไรไม่ชัดนัก สิ่งที่อยู่ในคลองตาไม่หลงเหลือความลึก คล้ายภาพสองมิติ ร่างของกระดาษเหมือนกระดาษแปะติดบนสีแผ่นน้ำตาลของโซฟายาวราวกับเกริกไม่ได้อยู่ตรงนั้น และตัวคนแคระเองเป็นแต่เพียงเสียงที่แผดลั่น มุ่งหมายทำลายภาพตรงหน้าให้ย่อยยับ…” (หน้า ๖๐) แสดงให้เห็นถึง “ความเก็บกด” ของคนแคระ ที่มีความรู้สึกไม่สบายใจหรือผิดหวัง จึงทำให้แสดงพฤติกรรมดังกล่าวออกมา ตอนที่เกริกลักพาตัวคนแคระมาไว้ในรถ

“...เกริกตรวจสอบความรู้สึกของตนเอง เขาแทบไม่ไยดีกับสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ขับรถโดยไม่พะวงว่าตนอยู่ที่ไหน จิตสำนึกตอนนี้แม้ว่างเปล่าแต่มั่นคง เขายอมรับมันอย่างช้า ๆ ราวกับว่าเรื่องทั้งหมดถูกลิขิตเอาไว้ล่วงหน้าและย่อมบังเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้…” (หน้าที่ ๖๒) ทำให้เราเห็นลักษณะของ “การป้ายความผิดแก่ผู้อื่น” โดยเกริกไม่ได้โทษว่าเป็นความผิดของตนเองแต่โทษว่าเป็นความผิดของโชคชะตาที่ได้ลิขิตเอาไว้ให้เป็นเช่นนี้ ตอนที่เกริกกล่าวคำทักทายเมื่อจับตัวคนแคระมาไว้ในห้องขัง “...ทำตัวตามสบายนะ…ถือว่านายเป็นแขกของเรา ” เกริกใบหน้าแดงผ่าว พร้อมบีบน้ำเสียงให้ฟังเป็นมิตรที่สุด…” (หน้าที่๖๔) โดยเขาไม่ใช้คำว่าเหยื่อแต่เขาใช้คำว่า “แขก” เป็น “การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง” ว่าที่คนแคระมาอยู่นี้เป็นเพราะเขาเชิญให้มาอยู่ในฐานะแขก ไม่ใช่เหยื่อของอาชญากรรม ตอนที่เกริกได้ถามเกี่ยวกับงานอดิเรกของคนแคระ แล้วคนแคระก็ได้เล่าเรื่องราวพร้อมกับทำท่าประกอบ

“...คราวหนึ่งเขาหาเรื่องชวนคุยกับคนแคระ ตะล่อมถามถึงงานอดิเรก และต้องแปลกใจเมื่อคนแคระเคยฝึกเล่นละครใบ้ คนแคระบอกเขาว่าชอบการทำท่าเลียนแบบเพราะมันช่วยฝึกทักษะการแสดงของเขา พูดเสร็จคนแคระทะลึ่งลุกจากเตียง มาหยุดกลางห้อง ยืนกอดอกมือลูบคางวางมาดตรองคิด เขายืนมองโน่นนี่เหมือนกำลังรออะไรสักอย่างอยู่เกือบนาที ฉับพลันก็สะดุ้งเฮือก สะบัดข้อเท้าก้มมองพื้นแล้วยิ้มร่าพร้อมกับเลิกคิ้วอย่างคนที่พบคำตอบ…” (หน้าที่ ๙๓) คนแคระได้เล่าเรื่องงานอดิเรกของตนเองในการแสดงละครใบ้ เมื่อได้กล่าวถึงงานอดิเรกที่เขาเคยทำแล้วมีความสุขส่งผลให้พฤติกรรมของตัวละครเกิด “การถดถอย” โดยการแสดงละครใบ้ประกอบ เป็นการถอยกลับไปสู่สิ่งที่เคยทำให้มีความสุขอีกครั้ง

ตอนที่เกริกและคนแคระพูดคุยกันถึงเรื่องของการปล่อยตัว
“...หลังจากปล่อยตัวผม เกริก…คุณจะทำอย่างไรต่อ”
“ ไม่รู้สิ ” เกริกรู้สึกเหน็ดเหนื่อยและอ่อนแรง ความมืดมนเข้าครอบคลุมจิตใจเขา “รอให้นายมาเยี่ยมกระมัง”
“ ผมจะมา…ผมจะมาหาคุณจริง ๆ นะ ”
“ พูดเลอะเทอะน่า ”
“ ถ้าอย่างนั้นคุณมาเยี่ยมผมก็ได้ ”

คนแคระแหงนหน้าสบตา มองดูวี่แววในตัวเขา แต่เกริกไม่เผยสัญญาณใด ๆ เขารู้ว่าคนแคระสร้างภาพลวงตาของความหวังอันน้อยนิดที่จะได้รับอิสรภาพเพียงเพื่อให้ตนเองรอดพ้นจากความตระหนกหดหู่…” (หน้าที่ ๑๑๒) เห็นได้ว่าคนแคระพยายามสร้างความมั่นใจให้เกริก ว่าเขาจะกลับมาหาเกริกหลังจากที่ได้รับการปล่อยตัว และเขาก็ไม่อาละวาดดังเช่นครั้งแรกๆ ที่ได้มาอยู่ที่นี่ แต่นี่ก็เป็นเพียง “การแสดงปฏิกิริยาที่ตรงกันข้ามกับความรู้สึก” หดหู่ของเขาตลอดการถูกจับตัวมา ตอนที่พิชิตได้แยกตัวออกมาจากคนแคระ เกริก และนุช และเดินทางกลับมาที่คอนโดของตัวเอง

“ พิชิตเห็นภาพตัวเองขับรถเลียบชายหาด ทอดสายตาเหม่อมองเวิ้งน้ำสีครามกว้างไกล เขาจะหยุดที่ร้านอาหารติดทะเล เลือกนั่งบนระเบียงไม้ยกพื้นคร่อมผืนทรายขาวสะอาด รับลมรื้นละไม มองเห็นขอบฟ้าสุดปลายสายตา ทอดมองทิวทัศน์ที่สงบน่าอภิรมย์ไปพร้อมกับเธอ ให้เธอเป็นสักขีพยาน เขาจะสั่งอาหารทะเลที่มีกุ้ง ทุกอย่างในเมนูแล้วกินมัน กำซาบรสชาติตามไรลิ้นและเพดานปาก ละเลียดทีละคำ ๆ จนหมด…”(หน้า ๓๓๐) พิชิตสร้างวิมานในอากาศว่าตนเองได้ออกไปสัมผัสธรรมชาติและลิ้มลองรสชาติของกุ้งอาหารที่เขาแพ้ เพราะในอารมณ์ขณะที่เขากำลังวาดฝันนั้นคืออารมณ์ของความสงบครุ่นคิดกับตัวเองและปล่อยวางทุกสิ่ง และ “การฝันกลางวัน” นั้นก็ช่วยสนองความต้องการในด้านความสุขให้แก่เขาในช่วงขณะหนึ่ง

ตอนที่พิชิตได้แยกตัวออกมา แล้วขาดการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนๆ “ การลาจากของเขาเป็นสิ่งที่อยู่ไม่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เธอลองโทรหาเขาหลายครั้ง แต่ไม่มีใครรับสาย อย่างไรก็ตาม นุชเห็นด้วยกับการตัดสินใจนี้และคงไม่คิดว่าเป็นการทรยศ ดังนั้นในภายหลังเมื่อเธอพูดคุยกับเกริก หัวข้อการปลีกตัวตีห่างของพิชิตจึงไม่เคยถูกหยิบยกมากล่าวถึง พวกเขาเพพียงเปรยแกมสงสัยที่ติดต่อเขาไม่ได้อีก ล่าสุดเกริกไปเยี่ยมเขาถึงคอนโด ฯ แต่ก็ไม่พบ…” (หน้า ๓๔๗)

ถือว่าเป็น “การแยกตัว” โดยการใช้เวลาอยู่กับตนเองเพื่อให้ลืมความทุกข์ และตอนที่เกริกผิดคำสัญญาว่าจะปล่อยให้คนแคระให้ได้รับอิสระและขอให้คนแคระเป็นแขกของเขาต่อ ทำให้คนแคระโมโหและแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวออกมา “ ขวดกระแทกซี่กรงแล้วกระดอนตกลงบนพื้น แต่เนื่องจากจุกฝาปิดแน่น น้ำในขวดจึงไม่ไหลกระฉอกออกมามา ยิ่งเพิ่มพูนอารมณ์คั่งแค้นให้แก่คนขว้างเป็นเท่าตัว เขาปัดกล่องของขวัญตกจากเตียงกระโดดผลุงไปกระทืบมันซ้ำ ๆ ให้หนำใจ แล้วย้อนกลับมากระดกปลายถาดอาหารจนพลิกคว่ำ จาน ชามและอาหารตกเรี่ยราดพื้น เขาก้มลงขยำขนมปังแผ่นทาเนยและไข่ต้มเสียเละ พร้อมกับพ่นคำสบถออกมา…” (หน้าที่ ๒๓๐)

แม้คนแคระจะโกรธเกริกมากเพียงใด ก็ไม่สามารถทำอะไรเกริกได้ เพราะตัวของคนแคระอยู่ในกรงขัง จึงทำได้โดยการระบายกับนาฬิกาที่เกริกได้ซื้อให้และข้าวของที่อยู่ภายในกรงขัง ถือว่าเป็นการ ”หาสิ่งมาแทนที่”

การเก็บกด การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง การถดถอย การแสดงปฏิกิริยาตรงข้ามกับความปรารถนาที่แท้จริง การสร้างวิมนในอากาศ การแยกตัว และการหาสิ่งมาทดแทน นี่คือสิ่งมหัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในวรรณกรรมซีไรต์เรื่อง “คนแคระ” นั่นคือการได้ศึกษาด้วยจิตวิเคราะห์ก็จะสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของมนุษย์ในกลไกการป้องกันตัวซึ่งมีความเป็นธรรมชาติ และกลมกลืนไปกับการดำเนินเรื่องได้เป็นอย่างดี ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าวรรณกรรมเรื่องนี้สมควรได้รับรางวัลซีไรต์ เพราะมีมิติในการสื่อความหมายที่หลากหลาย ให้ผู้ที่สนใจสามารถเลือกศึกษาได้หลายแง่มุม.

 

บทความโดย : จตุรงค์ จันต๊ะนาเขต

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ