คุณปราณี สัตยประกอบ : การอ่านสร้างพลังและความแข็งแกร่ง

คุณปราณี สัตยประกอบ

ดิฉันเองเป็นคนต่างจังหวัด พูดตรงๆ ว่า ไลฟ์สไตล์ก็จะเป็นอย่างนั้น เผอิญพ่อก็เป็นคนอ่านหนังสือ แม่ก็เป็นคนอ่านหนังสือ ซึ่งเห็นทุกวัน พ่อเป็นหมอก็จะอ่านหนังสือเยอะมาก แม่ก็อ่านนวนิยาย ดิฉันก็เห็นหนังสือเหล่านี้วางอยู่ทุกวัน คงมาจากจุดนี้ที่ทำให้มีนิสัยรักการอ่าน แล้วก็โชคดีที่พ่อรับหนังสือให้อ่านมาตั้งแต่เด็กๆ อย่าง ชัยพฤกษ์ หนังสือการ์ตูนต่างๆ ซึ่งมาจากครอบครัวเลย ดิฉันเลยเชื่อว่า การอ่านมาจากครอบครัวที่ช่วยส่งเสริมในจุดนี้ มาถึงพี่ของดิฉันก็ชอบอ่านหนังสือ แม้จะอยู่ในแวดวงที่หาหนังสืออ่านยาก เพราะฉะนั้นเมื่อมีหนังสือของตัวเองก็จะหวง อยากได้หนังสือในการอ่าน มันก็เกิดการบ่มเพาะให้เราเติบโตมา สิ่งที่ดิฉันจะได้เป็นของขวัญเสมอก็คือ หนังสือ และสิ่งที่มอบให้คนอื่นเสมอก็คือหนังสือเฉกเช่นเดียวกัน เพราะว่าเป็นคนที่หาของอย่างอื่นลำบาก จะหาหนังสือได้ง่ายกว่า แล้วก็จะอ่านหนังสือ ชอบหนังสือทุกอย่างตั้งแต่เด็กๆ มาเลย

ตอนเด็กๆ ก็อ่านนวนิยาย จริงๆ แล้ว นวนิยายใครมองว่าเป็นน้ำเน่า แต่บางทีก็มีเกร็ดสอนใจสอนชีวิตเยอะ ชอบอ่านเรื่องที่เกี่ยวกับคติสอนใจคติธรรมต่างๆ เรื่องตำราอาหารก็ชอบ เพราะมันเป็นวิถีชีวิต หนังสือที่เกี่ยวกับการตกแต่งการดีไซน์ก็ชอบ โดยเฉพาะวรรณกรรมสำคัญต่างๆ ระดับโลก อย่างวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลโนเบล ตอนเด็กๆ ดิฉันจะชอบเรื่อง ''เฒ่าทะเล' (the Oldman and the Sea) ของ เฮอร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) มากเลย มีความรู้สึกว่า อ่านแล้วมันท้าทายความเป็นคนดี ทำให้มีความแข็งแกร่ง ดิฉันก็ติดมาตลอดถึงจุดนี้ตั้งแต่ตอนเด็กๆ มีแรงบันดาลใจ เพราะอีกอย่างหนึ่ง เราเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ต้องมาต่อสู้ในกรุงเทพมหานคร ด้วยตัวเอง เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้มาตั้งแต่ตอนเด็กๆ ก็มีความประทับใจ รู้สึกว่ามนุษย์เรา จริงๆ แล้วก็โดดเดี่ยวนี่แหละ แต่ต้องมีความอหังการของตัวเอง เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าได้แรงบันดาลใจจากนวนิยายเรื่องนี้เยอะ ในเรื่องความเข้มแข็ง อีกอย่างเราเป็นเด็กผู้หญิงมาอยู่กรุงเทพฯ เราก็กลัว แต่ก็โอเคสามารถดูแลตัวเองได้ เพราะรู้ว่ามนุษย์นั้นต้องต่อสู้ในท่ามกลางอะไรต่างๆ แต่เวลาที่อ่านเรื่องนี้ตอนเด็กๆ แล้วกลับมาอ่านตอนโต มันก็จะแตกต่างกัน ดิฉันว่าหนังสือทุกเล่มทำให้เราเติบโต แล้วเราก็โตไปกับหนังสือ อย่างที่ดิฉันอ่านหนังสือหลายๆ เรื่องตอนเด็กกับตอนโตจะไม่เหมือนกันในความรู้สึก เพราะฉะนั้นมันเติมเต็มและทำให้มองเห็นความชัดเจนของชีวิตมากขึ้น ตอนเด็กดิฉันก็รู้สึกเหมือนกันว่า มันเป็นความใฝ่ฝันทั่วๆ ไป แต่พอโตขึ้นมาเราก็รู้ว่า หนังสือมันบันดาลให้เป็นเรื่องจริงมีพลัง

หนังสือเล่มโปรด คุณปราณี สัตยประกอบ

หนังสือเล่มนี้ก็มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงชีวิต คือทำให้เราแข็งแกร่ง ดิฉันคิดว่าอย่างนี้ ก็ยืนยัน และดิฉันคิดว่า จริงๆ มนุษย์เราจะพ่ายแพ้อะไรก็พ่ายแพ้ได้ แต่จะล้มเลิกมันไม่ได้ ดิฉันชอบคำๆ นี้มากเลย จำมาตลอด เป็นคีย์เวิร์ดเลยนะ พ่ายแพ้ได้แต่จะล้มเลิกเรื่องของความตั้งใจอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นมันเป็นพลัง ดิฉันยอมรับเลยว่า หนังสือเล่มนี้เป็นพลัง และเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ สาเหตุก็เพราะดิฉันเลือกอ่านเล่มเล็กๆ ก่อน เพราะคิดว่าอ่านเล่มใหญ่ๆ แล้วเดี๋ยวเราจำได้ไม่หมด อย่าง 'เฒ่าผจญทะเล' จำได้หมดเลยนะแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้นดิฉันจึงชอบหนังสือเล่มนี้อยู่อย่างนั้น ยังมีแรงบันดาลใจอยู่เสมอ ชอบมาก

ปัจจุบันก็เข้าร้านหนังสือทุกวันเสาร์และอาทิตย์เลย เมื่อเช้ายังเข้าศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และร้านนายอินทร์ ท่าพระจันทร์เลย ในการบริหารงานเราต้องอ่านหนังสือ สมมติว่าผู้ว่าสั่งงานให้ทำห้องสมุดอาหาร เราก็ต้องไปหาข้อมูลด้านอาหารที่หลากหลาย อย่างสั่งงานเรื่องภูมิปัญญาก็ต้องไปหาหนังสือแนวนี้มาเป็นฐานข้อมูลเพื่อที่จะเขียนงานและตั้งโครงได้

ดิฉันมองว่า หนังสือเป็นเหมือนอาหารของปัญญาที่เราต้องหมั่นคอยเติมทุกวัน เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ในบางเรื่องเราต้องถูกกำหนดให้ไปทำอาหารบางอย่าง เราก็ต้องไปอ่านสูตรของอาหารเหล่านั้นเพื่อเติมความรู้ให้กับตัวเอง ยิ่งการบริหารงานของดิฉันมันมีความหลากหลาย ดิฉันต้องดูเรื่องศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และเรื่องกีฬา เรื่องศูนย์การเรียนรู้ เรื่องเยาวชน และอีกสารพัดเรื่อง เพราะฉะนั้นเราต้องอ่านหนังสือให้มีความหลากหลายเยอะที่สุดเพื่อเดินตามให้ทันเด็กๆ เขา

เราคงปฏิเสธอีบุ๊กไม่ได้หรอก เพราะต้องเข้ามาแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม หนังสือที่เป็นเล่มก็ยังมีความสำคัญอยู่ ซึ่งอีบุ๊กนั้นจะทำให้การใช้กระดาษน้อยลง แล้วก้มีการผลิตตามจำนวน ซึ่งคนไม่ต้องไปเดินหาซื้อ บ้านเรายังมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ เพราะฉะนั้นอีบุ๊กบ้านเราจึงยังไม่หลากหลายพอ การที่จะมีอีบุ๊กต้องดูกันเรื่องลิขสิทธิ์พอสมควร ซึ่งต้องเข้าใจในจุดนี้ เรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา แต่ก็ไม่ว่าเร็วหรือช้านั้น อีบุ๊กมาแน่ แต่ก็ยังมีความเชื่อว่า หนังสือเล่มก็ยังมีคุณค่า เพราะสะท้อนตัวตนของคนเขียน สะท้อนวัฒนธรรม สะท้อนอะไรหลายๆ อย่าง มีเสน่ห์ที่แตกต่างกัน

จริงๆ แล้ว การอ่านหนังสือนั้นอ่านได้ทุกเวลาและได้ทุกที่ อีกอย่างเราก้มองว่า เราอยู่กับงานที่เกี่ยวกับห้องสมุด ก็มีเวลาเล็กๆ น้อยๆ ตรงนี้ได้อ่าน อีกอย่างดิฉันจะเป็นคนที่ได้รับหนังสือเป็นของขวัญเสียส่วนมาก และก็ให้หนังสือกับคนอื่นเป้นของขวัญ เพราะฉะนั้นเหมือนกับการให้ไม่มีที่สิ้นสุด โดยเฉพาะเรื่ององค์ความรู้ ดิฉันยังมีหนังสือที่ยังไม่ได้อ่านอีกเป็นพันๆ เล่มที่ได้มา ดิฉันก็พยายามแบ่งเวลาให้กับการอ่านอยู่เสมอ การที่เรามีวิชั่นมีโลกทัศน์เพราะว่าเราอ่านหนังสือ ถ้าดิฉันไม่อ่านก็ไม่สามารถที่จะอยู่บนเวทีพูดกับคนทุกเรื่องได้ เพราะว่าการอ่านสามารถเปิดโลกได้มากมาย เปลี่ยนแนวคิด สามารถทำให้พัฒนาและปรับตัวเข้าได้กับทุกคนทุกสถานการณ์ กว่าจะมาถึงวันนี้ดิฉันก็ต้องอาศัยเรื่องขององค์ความรู้เยอะมาก ต้องเติมองค์ความรู้และคุยกับคนสารพักแบบ ต้องพบปะผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวเข้าสู่เวทีสากล ต้องเรียนรู้ให้เท่าทัน เพราะฉะนั้นหนังสือคือสิ่งที่มีคุณูปการและมีพลังมหาศาลในการที่จะทำให้คนได้พัฒนา แล้วก็ทำให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง ดิฉันเชื่อว่าขณะนี้เมืองไทยก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่ คนไทยก็อ่านหนังสือกันพอสมควร เราเองก็หวังว่าจะสร้างเจเนอเรชั่นใหม่ในเรื่องบุ๊กสตาร์ทที่เราได้เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการอ่าน แล้วก็ขยายให้เกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก เพราะถ้ารักหนังสือตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเขาก็รักหนังสือ เป็นการเปิดหน้าต่างแห่งโอกาส ถ้าช่วงวัยเด็กเปิดรับแล้วนี่ก็จะไปยาวเลย หน้าต่างของการส่งเสริมการอ่าน สังคมต้องเป็นผู้ให้ โดยเริ่มต้นตั้งแต่บ้าน โรงเรียน ชุมชน แล้วก็สังคม ดิฉันเองอยากเห็นนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องส่งเสริมการอ่าน ส่งเสริมให้มีหนังสือดีๆ ให้อ่าน ส่งเสริมห้องสมุดให้มีหนังสือดีๆ ให้เพียงพอ ส่งเสริมให้นักเขียนได้เขียนหนังสือดีๆ ป้อนเข้าสู่ตลาดคนอ่าน ส่งเสริมให้สถาบันการศึกษามีหนังสือดีๆให้กับเด็กอ่าน ส่งเสริมให้ห้องสมุดของกรุงเทพมหานครเป็นห้องสมุดที่พัฒนาให้ทันสมัย มีหนังสือสอดคล้องกับทุกวัยได้อ่าน แล้วส่งเสริมให้สังคมตระหนักว่าหนังสือเป็นสิ่งที่มีคุณค่า แล้วก็กระตุ้นให้สังคมหยิบยื่นหนังสือเพื่อสร้างปัญญาให้แก่กันมากขึ้นๆ ในวาระสำคัญๆ เปลี่ยนกระเช้าของขวัญให้เป็นกระเช้าแห่งปัญญา

"มนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อพ่ายแพ้ มนุษย์ถูกทำลายได้ แต่ถูกทำให้แพ้ไม่ได้"

เฒ่าผจญทะเล (อังกฤษ: The Old Man and the Sea) เป็นผลงานวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม โดยเขียนที่ประเทศคิวบาในปีค.ศ.1951 และได้รับการจัดพิมพ์ครั้งแรกในปีค.ศ.1952 ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเฮมิงเวย์ เนื้อหาว่าด้วยเรื่องของชายชราคนหนึ่งผู้ออกหาปลาในประเทศคิวบา

เนื้อหา
1.เนื้อเรื่องย่อ
2.สื่อสัญลักษณ์ของตัวละคร
3.รางวัลกับการเสนอผลงานเข้าประกวด
4.อ้างอิง
5.หนังสืออ่านเพิ่มเติม
6.แหล่งข้อมูลอื่น

เนื้อเรื่องย่อ
เป็นเรื่องราวของประมงชราคนหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า "ซานติเอโก" ที่ได้ออกไปหาปลาแต่ก็ไม่สามารถจับปลามาได้ในช่วง 84 วันที่ผ่านมา เขามีเพื่อนต่างวัยเป็นเด็กชายคนหนึ่งชื่อ "มาโนลิน" ที่เสนอตัวช่วยหาปลา แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ยังไม่สามารถจับปลาได้อยู่ดี ภายหลังจากนั้น พ่อแม่ของมาโนลินให้ลูกของตนไปหางานอื่นทำแทน เมื่อมาโนลินกลับมาขอช่วยงานซานติเอโกอีกครั้งก็ถูกปฏิเสธก่อนที่จะได้รับการยินยอมครั้งหนึ่ง แต่ในครั้งสุดท้าย ซานติเอโกขอพิสูจน์ตนเองด้วยการออกหาปลาตามลำพัง ในเบื้องต้นเขาจับได้แต่ปลาตัวเล็ก ทว่าในที่สุดเขาก็ได้พบกับ ปลามาร์ลิน (ปลากระโทงแทง) ขนาดยักษ์และมีความฉลาดเป็นพิเศษ เมื่อปลาติดเบ็ดแล้ว ปลากลับเป็นฝ่ายลากเรือไปเสียเอง ทำให้ซานติเอโกเริ่มนึกถึงมาโนลิน เขาอยากให้เด็กชายคนนี้มาช่วยเขาจับปลา

ซานติเอโกสู้กับปลายักษ์ตัวนี้ข้ามคืนถึงสามวัน และในเช้าวันที่สามนี้เอง ซานติเอโกตัดสินใจออกแรงเฮือกสุดท้ายโดยใช้ฉมวกปักเข้าที่กลางหลังของมัน ก่อนที่ปลายักษ์ตัวนี้จะสิ้นลม ซานติเอโกนำปลายักษ์ตัวนี้มาผูกไว้ที่ข้างเรือ แต่กลิ่นคาวเลือดของปลาทำให้ฝูงปลาฉลามเข้ามารายล้อม ซานติเอโกพยายามสู้กับพวกมัน แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะได้ เนื่องจากพวกมันมีมากเกินไป ซานติเอโกกลับมาพร้อมกับซากปลามาร์ลินที่เหลือแต่กระดูก ชาวบ้านที่มาพบเห็นถึงกับตกตะลึง เป็นอันว่าเขากลับมามือเปล่า ก่อนที่ซานติเอโกจะกลับเข้าไปนอนที่บ้านของตน นั่นเป็นเหตุการณ์ทั้งหมดที่เขาได้รับชัยชนะ พร้อมกับความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน

สื่อสัญลักษณ์ของตัวละคร
แม้ว่าแฮมิงเวย์จะกล่าวว่าเรื่องที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมาจะมิได้ต้องการสื่อถึงแง่คิดใดๆก็ตาม แต่หลายคนที่ได้อ่านเรื่องนี้ต่างรู้สึกว่าแฮมิงเวย์ได้นำเสนอเรื่องราวที่เน้นถึงการมีจิตใจเป็นนักสู้ เพื่อชัยชนะและเพื่อความภาคภูมิใจในตนเอง และเป็นธรรมดาที่ชัยชนะนั้น อาจมาพร้อมกับความว่างเปล่าในบางช่วงของชีวิต

รางวัลกับการเสนอผลงานเข้าประกวด
"เฒ่าผจญทะเล" เป็นผลงานที่ส่งผลให้แฮมิงเวย์ได้รับรางวัลต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัลพูลิตเซอร์ สำหรับผลงานด้านบันเทิงคดีที่ได้รับในปี ค.ศ.1953 และเขายังได้รับเหรียญรางวัล อะวอร์ดออฟเมอร์ริท สำหรับผลงานบันเทิงคดีจากสถาบัน อเมริกันอะคาเดมี่ออฟอาร์ทแอนด์เลทเทอร์ ในปีเดียวกันนี้ด้วย ก่อนที่เขาจะได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปีต่อมา

เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์
ออร์เนสต์ มิลเลอร์ เฮมิงเวย์ (อังกฤษ: Ernest Miller Hemingway; พ.ศ. 2442-2504) นักประพันธ์นวนิยายและนักเขียนเรื่องสั้นชาวอเมริกันผู้ใช้ลีลาภาษาที่สั้นกระชับ เกิดที่ โอค ปาร์ก รัฐอิลลินอยส์ เริ่มทำงานเป็นผู้สื่อข่าวกับหนังสือพิมพ์ เดอะแคนซัสซิตีสตาร์ เข้าเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 ประจำรถพยาบาลทหารจนได้รับบาดเจ็บเมื่อปี พ.ศ. 2461 ทำให้เฮมมิงเวย์ได้รับเหรียญกล้าหาญ

งานสำคัญชิ้นแรกของเฮมิงเวย์ได้แก่งานรวบรวมเรื่องสั้นในชื่อ "ในสมัยของเรา" (In Our Time พ.ศ. 2468) งานที่ทำให้เฮมิงเวย์ประสบผลสำเร็จโดยแท้จริงได้แก่เรื่อง แล้วดวงตะวันก็ฉายแสง (The Sun Also Rises พ.ศ. 2469) ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์จากการเข้า "กลุ่มวัยที่ถูกทอดทิ้ง" (lost generation) ของบรรดาหนุ่มต่างด้าวที่ใช้ชีวิตผจญภัยในฝรั่งเศสและสเปน ความหลงใหลไฝ่ฝันในวีรกรรมของลูกผู้ชายเกี่ยวกับการทำสงคราม การล่าสัตว์ การตกปลาและการสู้วัวกระทิงทำให้งานต่างๆ ของเฮมมิงเวย์รวมทั้ง รักระหว่างรบ (A Farewell to Arms พ.ศ. 2472) และ ความตายในช่วงบ่าย (Death in the Afternoon พ.ศ. 2475) ศึกสเปน (For Whom the Bell Tolls พ.ศ. 2483) และ เฒ่าผจญทะเล (The Old Man and the Sea เขียนจบเมื่อปี พ.ศ. 2495 และ ทำให้เขาได้รับรางวัลรางวัลพูลิตเซอร์ในปีต่อมา)

ในปี พ.ศ. 2497 เฮมิงเวย์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ในฐานะผู้สื่อข่าวในสงครามโลกครั้งที่ 2 เฮมมิงเวย์ได้เข้าร่วมในวันดีเดย์ (พ.ศ. 2487) ด้วย หลังจากสงครามกลางเมืองสเปนสิ้นสุดลง เฮมิงเวย์ได้อาศัยอยู่ในคิวบาและอาศัยอยู่ที่นั่นตลอดมาจนเกิดการปฏิวัติในปี พ.ศ. 2503 จึงได้ย้ายกลับสหรัฐฯ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ผ่านการแต่งงาน 4 ครั้ง และมักเป็นโรคเครียดและหดหู่ หลังจากเกิดความกลัวเรื่องสุขภาพและความเจ็บป่วย เพราะ ใน ครอบครัวเขา มีบรรพบุรุษ ป่วยด้วยโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมหลังจากป่วยเรื้อรัง และ การดื่มสุรา มานาน เฮมิงเวย์ได้ฆ่าตัวตายด้วยปืนลูกซองแฝดสำหรับล่าสัตว์

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ