มั่วเหยียนคว้ารางวัลโนเบลสาขา วรรณกรรม ประจำปี 2012 เป็นนักเขียนสัญชาติจีนคนแรกที่ได้รับรางวัลทรงเกียรติสูงสุดของโลกวรรณกรรม สำหรับนักเขียนเชื้อสายจีนคนที่แรกได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 2000 นี้ คือ เกา สิงเจี้ยน สัญชาติฝรั่งเศส
ผลงานเขียนรางวัลโนเบลของมั่วเหยียน เป็นงานเขียนแนวลัทธิสัจจนิยม ที่ผสนผสานด้วยแนวการเขียนเรื่องเล่า เรื่องประวัติศาสตร์ และงานเขียนร่วมสมัย มั่วเหยียนมีชื่อเป็นที่รู้จักจาก Red Sorghum ที่ผู้กำกับดัง จาง อี้โหมว ได้นำนวนิยายเรื่องนี้ดัดแปลงทำภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน
ปีเตอร์ เอ็งลุนด์ เลขาธิการใหญ่ราชบัณฑิตสถานแห่งสวีเดน (Svenska Akademien) แถลงในวันประกาศรางวัลโนเบลฯเมื่อวันที่ 11 ต.ค. มั่วเหยียนได้นำเสนอภาพลักษณ์ “ภายใน” สังคมจีน งานเขียนของเขาละม้ายนักเขียนยิ่งใหญ่อย่างเช่น วิลเลียม โฟลก์เนอร์ และกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกวซ นักเขียนชาวโคลอมเบีย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 1982 ผู้เขียนงานเขียนชิ้นเอกเแห่งศตวรรษที่ 20 คือ One Hundred Years of Solitude 20 ฉบับภาษาไทย ชื่อเรื่อง “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ผู้แปล ปณิธาน-ร.จันเสน
“มั่วเหยียน” นามปากกาที่แปลว่า “อย่าพูด” ชื่อเดิมคือ ก่วน หมัวเย่ เกิดเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 1955 ที่เมืองเกามี่ มณฑลซานตง สมัยที่มั่วเหยียนเรียนชั้นประถมศึกษา ต้องหยุดเรียนกลางคัน ทำไร่ทำนาอยู่หลายปี เคยเป็นคนงานใช้แรงงานพักหนึ่ง และเป็นอดีตทหารประจำการกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และมีตำแหน่งรองนายกสมาคมนักเขียนจีน ซึ่งเป็นองค์กรกึ่งรัฐ
มั่วเหยียน เริ่มเขียนนวนิยายเมื่อปี 1981 ถูกจัดอยู่ในประเภทกลุ่มนักเขียน “วรรณกรรมตามหารากเหง้า” ผลงานประพันธ์ชิ้นแรกของมั่วเหยียน คือ ชุนเย่อี่ว์เฟยเฟย/《春夜雨霏霏》ตามด้วย《枯河》、《秋水》、《民间音乐》อื่นๆ จากนั้นก็ได้เข้าศึกษาภาควิชาวรรณกรรม วิทยาลัยศิลปะของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ระหว่างศึกษาฯ ก็มีผลงานนวนิยายขนาดกลาง คือ 《透明的红萝卜》
งานเขียนที่จัดเป็นตัวแทนของมั่วเหยียน อาทิ หงเกาเหลียงจยาจู๋ (红高粱家族 /Red Sorghum),ถานเซียงสิง(檀香刑/ Sandalwood Penalty) ,เฟิงหรู่เฝยถุน(丰乳肥臀/Big Breasts & Wide Hips ) ,จิ่วกั๋ว(酒国/ The Republic of Wine),เซิงสื่อผีเหล่า(生死疲劳/ Life and Death Are Wearing Me Out),วา (蛙/ Frog)
สำหรับนวนิยายเรื่อง “หงเกาเหลียง” ถูกแปลเป็นฉบับภาษาต่างๆ 20 กว่า และนวนิยายเรื่อง “วา” ได้รับรางวัลวรรณกรรมเหมาตุ้น* ครั้งที่ 8 หลังจากที่มั่วเหยียนคว้ารางวัลโนเบลฯ สำนักพิมพ์ในจีนก็ประกาศตีพิมพ์งานเขียนชิ้นใหม่ของมั่วเหยียนสี่เล่ม โดยเล่มแรกจะวางตลาดภายในเดือนต.ค.นี้ คือ “หว่อเมินเตอจิงเคอ (我们的荆轲/ Our Assassin Jingke) เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับมือสังหาร จิง เคอ ผู้พยายามลอบสังหารจิ๋นซีฮ่องเต้(ครองแผ่นดิน 221 ก่อนค.ศ.-210 ก่อนค.ศ.) โดยจิง เคอ มิใช่นักรบที่อุทิศชีวิตเพื่อความยุติธรรม ดั่งในประวัติศาสตร์ฉบับทั่วไป มั่วเหยียนกลับปั้นจิง เคอ เป็นนักฉกฉวยผู้ทะยานทะยานสร้างชื่อภายในชั่วข้ามคืน ส่วนงานผลงานเขียนชิ้นใหม่อีกสามเล่ม ก็จะทะยอยออกมาภายในปีนี้ โดยเล่มหนึ่งคาดว่าจะเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น
หลังจากที่ประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมแก่มั่วเหยียน กลุ่มที่มีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาลจีนและกลุ่มอื่นๆแห่ออกมาโจมตีการ ตัดสินรางวัลฯ โดยหยิบยกสถานภาพมั่วเหยียนที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และรองนายกสมาคมนักเขียนจีน วิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนานา มีการเปรียบเทียบท่าทีโกรธกริ้วของรัฐบาลจีนเมื่อครั้งที่หลิว เสี่ยวปัว คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2553 บ้างว่ามั่วเหยียนมีส่วนรับผิดชอบการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกและความคิดใน จีน จึงมิสมควรได้รับรางวัลฯ เป็นต้น
ด้านผู้นำสูงสุดจีนผ่านสื่อของรัฐบางราย ก็ว่ามั่วเหยียนเป็นนักเขียนจีนคนแรกที่ได้รับรางวัลฯทรงเกียรตินี้ แสดงถึงการยอมรับการปฏิรูปเศรษฐกิจเปิดประเทศจีน 30 ปี การทะยานสู่อำนาจอย่างสันติบนเวทีโลกของจีน เป็นต้น
ทั้งรายงานข่าวกระแสโจมตีฯและการแสดงความยินดีของรัฐบาลจีน หลั่งไหลท่วมหน้าสื่ออย่างน่าตกตะลึง โดยนำประเด็นการเมือง ทั้งจุดยืนการเมืองและพฤติกรรมส่วนตัวของมั่วเหยียน มาเชื่อมโยงกับวรรณกรรมพันกันยุ่งขิง ชนิดที่แทบจะกลบการอภิปรายถกเถียงถึงคุณค่าเชิงวรรณกรรมเสียมิด แทบไม่เห็นรายงานสะท้อนทัศนะผู้อ่านที่มองคุณค่างานมั่วเหยียน ในที่สุดก็มีคอลัมนิสต์ในค่ายตะวันตกสุดทนกับกระแสวิจารณ์เหล่านี้ ร้องว่า “มันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ย่ำยีวรรณกรรม” อย่างน่าตกใจ เพราะฉะนั้น ทางดีที่สุด ก็คือ “อ่าน” งานเขียนของมั่วเหยียน.
* รางวัลวรรณกรรมเหมาตุ้น (茅盾文学奖: Mao Dun Literature Prize) เป็นรางวัลประเภทนวนิยาย ก่อตั้งโดยนักเขียนจีนชื่อดัง เหมา ตุ้น (ซึ่งบริจาคเงินส่วนตัวราว 250,000 หยวน) และสนับสนุนโดยสมาคมนักเขียนแห่งจีน เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์นวนิยายที่โดดเด่น มีการให้รางวัลครั้งแรกเมื่อปี 2525 และจะตัดสินทุกๆ 4 ปี
แนะนำหนังสือ ผลงานโดดเด่นของมั่วเหยียน
红高粱家族/Red Sorghum (1987)
นวนิยาย ประกอบด้วยนิยาย 5 เรื่อง เป็นเรื่องราวชีวิตที่ทุกข์ยากรันทดของครอบครัวชาวเกษตรกรในเกามี่ มณฑลซานตง ระหว่างยุคที่กองทัพญี่ปุ่นยึดครองจีน จาง อี้โหมวได้นำเรื่องราวนี้ไปดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ ชื่อเรื่อง หงเกาเหลียง ชื่อไทยคือ ข้าวฟ่างสีเพลิง
天堂蒜薹之歌/The Garlic Ballads (1988)
เรื่องราวชีวิตของชาวไร่ในเขตเทียนถัง พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้ปลูกกระเทียม แต่ก็ประสบอุปสรรคเหลือแสนในการขายพืชผล นวนิยายเรื่องนี้ถูกห้ามวางจำหน่ายในจีนอยู่ช่วงหนึ่ง
酒国/The Republic of Wine (1992)
เจ้าหน้าที่หน่วยสืบสวนสอบสวนได้รับมอบหมายให้ไปไต่สวนคดีสังหารโหด กินเนื้อมนุษย์ในเมืองจิ่วกั๋ว (จิ่วกั๋ว แปลว่า เมืองเหล้า) โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่งกินเด็กชายหลายคน แต่คนที่มาถึงเมืองจิ่วกั๋ว ไม่มีใครทนทานต่อสิ่งล่อลวงได้ ตัวละครเอกพยายามเตือนตัวเองมิให้เสพสุรา แต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้ เมาเหล้าจมน้ำตายในห้องน้ำอย่างน่าอนาถ นวนิยาย “จิ่วกั๋ว” สะท้อนภาพของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ไร้ประสิทธิภาพ แถมยังมัวเมาเอาแต่กิน...กิน...กินจนกระทั่งเข้าขั้นวิปริต เป็นนวนิยายเสียดสีคอรัปชั่น ที่ไม่ธรรมดาทีเดียว และก็เป็นหนังสืออีกเล่มของมั่วเหยียนที่ถูกเพ่งเล็ง
丰乳肥臀/Big Breasts and Wide Hips (1996)
เป็นหนังสือเล่มใหญ่ระดับมหากาพย์ มั่วเหยียนประสบความสำเร็จในการใช้แนวการเขียนมหากาพย์พื้นบ้าน เป็นเรื่องราวของแม่คนหนึ่งที่เกิดในยุคกบฏนักมวย ปี 1900 แต่งงานเมื่ออายุ 17 ปี มีลูก 9 คน เป็นลูกชายเพียง 1 คน ลูกชยที่ถูกประคบประหงมจนเสียคนและไร้ประสิทธิภาพ แตกต่างราวฟ้ากับดินกับพี่น้องหญิงทั้งหมด ที่เข้มแข็งและมีพลังชีวิต
蛙/ Frog (2011)
มั่วเหยียนใช้แนวการเขียนแตกต่างไปจากนวนิยายก่อนหน้าของเขาที่มุ่ง สีสันเรื่องแต่งอิงประวัติศาสตร์ วา ตีแผ่เรื่องราวที่ตกเป็นเป้าโจมตีสิทธิมนุษยชน คือ นโยบายวางแผนครอบครัว หรือ “นโยบายลูกคนเดียว” สะท้อนประวัติศาสตร์การทำคอลดเด็กในยุคจีนใหม่ทศวรรษที่ 60 ปัญหาอันน่าน่าสพึงกลัวในการคุมกำเนิด และประวัติศาสตร์อันซับซ้อน
ที่มา : http://www.manager.co.th/china/viewnews.aspx?NewsID=9550000128355