งานเขียนประเภทสารคดี : เป็นงานเขียนหรือวรรณกรรมร้อยแก้วในลักษณะตรงข้ามกับกับบันเทิงคดี (Fiction) ที่มุ่งให้สาระความรู้แก่ผู้อ่านเป็นเบื้องต้น

งานเขียนประเภทสารคดี

สารคดี ( Non-fiction) เป็นงานเขียนหรือวรรณกรรมร้อยแก้วในลักษณะตรงข้ามกับกับบันเทิงคดี (Fiction) ที่มุ่งให้สาระความรู้แก่ผู้อ่านเป็นเบื้องต้น มีความเพลิดเพลินเป็นเบื้องหลัง ที่มุ่งแสดงความรู้ ความคิด ความจริง ความกระจ่างแจ้ง และเหตุผลเป็นสำคัญ อาจจะเขียนเชิงอธิบาย เชิงวิจารณ์เชิงแนะนำสั่งสอน เป็นต้น

ลักษณะ
ถึงแม้ว่างานเขียนสารคดีจะมุ่งให้ความรู้ ข้อเท็จจริง หรือความคิดเห็นแก่ผู้อ่านเป็นสำคัญ แต่ก็ยากที่จะตัดสินว่างานเขียนชิ้นไหนไม่ใช่สารคดี

  • การเสนอข้อมูลหรือเนื้อหาสาระเป็นข้อเท็จจริง โดยเน้นเนื้อหาสาระ เรื่องราว เหตุการณ์ ตัวบุคคล หรือสถานที่ต้องเป็นข้อเท็จจริง (fact) และยังเป็นการเสนอข้อมูลที่ผู้เขียนได้ศึกษา สังเกต สำรวจ หรือวิเคราะห์ตีความเป็นอย่างดีแล้ว
  • มีจุดประสงค์ให้ผู้อ่านได้รับความรู้และความเพลิดเพลินในการอ่าน เป็นสองส่วนที่แยกกันไม่ได้
  • การเขียนสารคดีอาจใช้จินตนาการประกอบได้ (อาจมีหรือไม่มีก็ได้) เป็นการสร้างภาพตามความนึกคิดที่เกิดจากอารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียน เป็นการสร้างภาพที่เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์ สังเกต พิจารณา จากข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง
  • สารคดีต้องเป็นงานเขียนที่สร้างสรรค์ เป็นการนำเสนอความคิดเห็นและทัศนะที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านโดยทั่ว ๆ ไป มิใช่สร้างสรรค์ให้แก่บุคคลใดโดยเฉพาะ

 

ประเภทของสารคดี

  • ความเรียง (Essay) เป็นการเขียนสารคดีที่เน้นเรื่องการแสดงความคิดเห็น ซึ่งได้จากประสบการณ์ การค้นคว้าหรือความคิดของผู้เขียน

ความเรียงแสดงข้อคิด (Opinion Oriented Essay) ความเรียงที่ผู้เขียนมุ่งแสดงข้อคิดเป็นหลัก ข้อคิดอันเป็นปรัชญาของชีวิต เป็นแนวทางสร้างสรรค์หรือพัฒนาตนเองและสังคมให้ดีขึ้น ในรูปแบบการนำเสนอแบบ บอกเล่า แนะนำ สั่งสอน หรือใช้วิธีประมวลแนวคิดต่าง ๆ เสนอแก่ผู้อ่าน ตัวอย่างเช่น ในท่ามกลางอารยธรรมผุกร่อน ของ พจนา จันทรสันติ โลกทั้งผองที่น้องกัน ของมหาตมะ คานธีแปลโดย กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย พ่อแม่สมบูรณ์แบบ ของ พุทธทาสภิกขุ มุมที่ไม่มีเหลี่ยมของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นต้น

ความเรียงเบาสมอง (Light Essay) เป็นความเรียงที่ผู้เขียนมุ่งให้ผู้อ่านได้รับสาระ และความสนุกสนานไปด้วยกัน คล้ายบันเทิงคดี เพียงแต่เนื้อหาสาระเป็นเรื่องจริง เช่น ลูกเล่นลูกฮา ของ ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ อารมณ์ขันของคึกฤทธิ์ ของ วิลาศ มณีวัต สาวเอยจะบอกให้ ของ นเรศ นโรปกรณ์ เป็นต้น

  • บทความ (Article) เน้นข้อเท็จจริงโดยใช้หลักฐานอ้างอิงประกอบในลักษณะวิเคราะห์ปัญหาขัดแย้งต่าง ๆ หรือในการเสนอความเห็นทัศนคติของผู้เขียนต่อเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นหรือต่อเหตุการณ์ที่กำลังอยู่ในความสนใจของสังคม นิยมใช้ภาษาที่กระชับ ทางการ สวยงาม เรียบง่าย ชัดเจน

บทความบรรยาย เขียนขึ้นเพื่อเล่าเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผู้เขียนได้ประสบมา ภาษาเรียบง่าย

บทความแสดงความคิดเห็น เสนอความคิดในเชิงโต้แย้งหรือสนับสนุน แต่ควรเป็นความคิดที่แปลกใหม่

บทความวิเคราะห์ เขียนเพื่อวิเคราะห์เรื่องราว หรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ภาษาที่ใช้ควรเป็นภาษาที่ชัดเจน อ่านเข้าใจง่าย เน้นย้ำประเด็นสำคัญของเรื่อง

บทความวิจารณ์ เป็นบทความที่คล้ายคลึงกับบทความประเภทแสดงความคิดเห็น แต่จะเป็นเชิงวิจารณ์ ซึ่งผู้เขียนต้องมีความรู้ มีเหตุผลและมีหลักวิชา เพื่อสนับสนุนข้อวิจารณ์นั้น ๆ

บทความสารคดี สารคดีเป็นชื่อเรียกบทความที่มีเนื้อหาสาระน่าสนใจเป็นพิเศษ ให้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน โดยเน้นที่ความรู้เป็นสำคัญ ส่วนความเพลิดเพลินเป็นผลจากกลวิธีการเขียน ส่วนมากจึงกลายเป็นหนังสือสารคดี สารคดีมีหลายประเภท เช่น สารคดีชีวประวัติ สารคดีท่องเที่ยว สารคดีบันทึก (จดหมายเหตุ อนุทิน) เป็นต้น

บทความวิชาการ เป็นบทความที่ผู้เขียนมุ่งแสดง หรือถ่ายทอดความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยตรงแก่ผู้อ่าน ในแขนงสาขาความรู้ต่างๆ และควรมีเชิงอรรถ บรรณานุกรม หรือหนังสืออ้างอิงท้ายเรื่อง ภาษาที่ใช้เป็นภาษาที่เป็นแบบแผน คือ ถูกต้อง กระชับ ชัดเจน เข้าใจง่าย อาจมีรูปภาพ ตาราง กราฟ หรือแผนภูมิประกอบเพื่อช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งอาจเป็นในรูปแบบ รายงานทางวิชาการ เป็นรายงานผลการวิจัย หรืออาจเป็นบทความที่พิมพ์ในวารสาร เป็นต้น

  • สารคดีท่องเที่ยว (Travelogue) คือ วรรณกรรมร้อยแก้วที่ผู้เขียนบันทึกเรื่องราวที่ได้ประสบในการท่องเที่ยว โดยให้ความรู้ทางด้าน สภาพท้องถิ่น สภาพของคน ความเป็นอยู่ของคน ความรู้ทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ประเพณี วัฒนธรรม การทำมาหากิน หรือที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น

แบบเล่าไปเรื่อย ๆ มักเล่าเหตุการณ์เป็นลำดับ เช่น ไกลบ้าน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉากญี่ปุ่น และ ถกเขมร ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชสวรรค์เวียนนา ของ เรือใบ ร่อนไปไต้หวัน ของ ลมูล อติพยัคฆ์ เป็นต้น

แบบเล่าเป็นเชิงเปรียบเทียบ แสดงข้อเปรียบเทียบข้อดี ข้อด้อยสถานที่ไปพบ เช่น จดหมายถึงเพื่อน ของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ ปลัดเปล่งเที่ยวรอบโลก ของ เปล่ง วิเทียมลักษณ์ เป็นต้น

  • สารคดีชีวประวัติ (Biography) เป็นงานเขียนที่กล่าวถึงเรื่องราว และพฤติกรรมของบุคคลจริง จะเขียนเน้นด้านบุคลิกภาพ ความรู้ และความคิดเห็นในด้านต่าง ๆ ตลอดจนผลงานที่น่าสนใจเพื่อนำประวัติชีวิตนั้นมาศึกษาแง่มุมต่าง ๆ หาเป็นงานเขียนที่ผู้อื่นเขียนเรียกว่า ชีวประวัติ แต่หากผู้เขียนเขียนเรื่องราวชีวิตตอนเองเรียกว่าอัตชีวประวัติ

ชีวประวัติแบบจำลองลักษณ์ (Portrait) เป็นการเขียนแบบถ่ายภาพให้เหมือนตัวจริงของเจ้าของชีวประวัติ การเขียนจึงเน้นการอธิบายรูปร่าง ความคิด รสนิยม และอุปนิสัยอย่างตรงไป ตรงมา โดยการใช้ภาษาที่สละสลวยเป็นพิเศษ

ชีวประวัติแบบสดุดี หรือชื่นชม (Appreciation) มุ่งเน้นการเขียนชีวประวัติ บุคคลเพื่อสรรเสริญ จึงเน้นด้านความสำเร็จ

ชีวประวัติแบบรอบวง (Profile) เป็นการเขียนโดยมุ่งให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญของชีวประวัติเพียงด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ

อัตชีวประวัติ (Autobiography) เป็นการเขียนเล่าประวัติชีวิตของตนเอง อาจเล่าเรื่องชีวิตของตนโดยตรง หรือเล่าในเชิงบันทึกเหตุการณ์แล้วแทรกประวัติตนเองลงไปด้วย

  • อนุทิน (Diary) เป็นการบันทึกความจำ ประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิต เช่น บันทึกรายวัน ของ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และบันทึกลับของอันเนอ ฟรังค์ (The Diary of a Young Gril by Anne Frank) เป็นต้น

 

  • จดหมาย (Letter) เป็นจดหมายที่เขียนโต้ตอบกันระหว่างคน 2 คน หรือฝ่ายใดเขียนขึ้นฝ่ายเดียวก็ได้ เช่น ไกลบ้าน ซึ่งเป็นพระราชหัตถเลขา ที่พระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเขียนถึงเจ้าฟ้าหญิงนิภานพดลฝ่ายเดียว พ่อสอนลูก ของนายทวี บุณยเกตุ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเขียนถึงลูกในขณะลี้ภัยการเมืองอยู่ในปีนัง ส่วน สาส์นสมเด็จเป็นจดหมายโต้ตอบ ระหว่างสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาริศรานุวัติวงศ์ และ บันทึกความรู้ เป็นจดหมายโต้ตอบระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ กับ พระยาอนุมานราชธน เป็นต้น

 

  • บันทึกและความทรงจำ (Memoire and Memory) บันทึก คือ เรื่องราวหรือเหตุการณ์ ที่บุคคลบันทึกระหว่างปฏิบัติงานสำคัญเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก เช่น บันทึกของทูตไทยของนายบุญชนะ อัตถากร บันทึกไว้ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการ (ชื่อกระทรางสมัยนั้น) และ เหตุเกิดในกรุงรัตนโกสินทร์ ของ วสิษฐ เดชกุญชร เป็นต้น ส่วน ความทรงจำ คือเรื่องราวในอดีตที่ผู้แต่งพยายามเขียนเล่าด้วยการนึกทบทวนประสบการณ์ของตนเองเช่น ความทรงจำ ของสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพ และ ฟื้นความหลัง ของ เสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน) เป็นต้น

 

  • จดหมายเหตุ (Archives) เป็นบันทึกเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ส่วนมากเป็นเรื่องราวของทางราชการ หรือกึ่งราชการ เช่นจดหมายเหตุของลาลูแบร์ (เมื่อ พ.ศ. 2230) จดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ. 116 ของ พระยาศรีสหเทพ (เส็ง) และ จดหมายเหตุความทรงจำ ของกรมหลวงนรินทรเทวี เป็นต้น

 

  • คติธรรม (Moral Precept) เป็นงานเขียนที่มุ่งสอนจริยธรรม หรือศีลธรรม โดยเรียบเรียงเรื่องธรรมะให้เข้าใจง่ายขึ้น เช่น สนิมในใจ ของ พ.อ. ปิ่น มุทุกันต์ ธรรมกับไทย : ในสถานการณ์ปัจจุบัน ของ พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตโต) ตามรอบพระอรหันต์ ของ พุทธทาสภิกขุ และ เสียงศีลธรรม ของ แปลก สนธิรักษ์ เป็นต้น

 

  • บทสัมภาษณ์ (Interview) เป็นงานเขียนที่เกิดจากการสัมภาษณ์บุคคล และมีเนื้อเรื่องเป็นสาระประโยชน์

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ