สำหรับคนไทยแล้ว ชื่อของ “สุนทรภู่” ครูกวีต้นยุครัตนโกสินทร์คงเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี บทกวีของท่านถูกนำมาเป็นภาษิตสอนคนรุ่นหลังจนถึงปัจจุบัน ได้ยินกันจนคุ้นหู
“ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน”
งานประพันธ์กลอน 8 ของท่านสุนทรภู่ นับเป็นต้นแบบการเขียนกวีที่ดีของกวีรุ่นหลัง คำสัมผัสในที่คุ้นเคยที่ทำให้บทกวีเพิ่มความไพเราะขึ้นนั้นมีงานของท่านเป็นตัวอย่าง ชีวิตกวีของท่านรุ่งเรืองมากในรัชสมัยของพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี เพราะความโดดเด่นในเชิงกวี จึงเป็นที่โปรดปรานได้รับยศถาบรรดาศักดิ์เป็น ขุนสุนทรโวหาร ชีวิตของสุนทรภู่นับเป็นบทเรียนที่ควรศึกษาสำหรับคนที่ใช้ชีวิตอย่างประมาท บางครั้งต้องตกต่ำเพราะผลจากสุรา มีเคราะห์หามยามร้ายต้องติดคุก
แม้ในยามชีวิตต้องระหกระเหิน สุนทรภู่ได้ผลิตผลงานวรรณคดี นิราศออกมาสู่บรรณโลกอีกหลายชิ้น จนที่สุดแห่งชีวิต หลังจากชีวิตขึ้นๆ ลงๆ ตำแหน่งสุดท้ายของท่านคือ พระสุนทรโวหาร และผลงานของท่านได้รับการยกย่องและเผยแพร่ถึงคนไทยรุ่นหลังและได้รับการยกย่องให้เป็นครูกวี ด้วยฝีมือล้วนๆ
ผลงานของท่านมีด้วยกันหลายสาขา วรรณคดีพระอภัยมณีที่มีทั้งเรื่องราวน่าติดตาม คำคมข้อคิดที่คนรุ่นหลังยึดถือและนำมาใช้สอนกันต่อๆ มา นิราศหลายชิ้นที่บ่งบอกประวัติศาสตร์ และข้อคิดยามชีวิตตกต่ำ ให้เห็นสัจธรรมชีวิตของคนเรา ทั้งหน้าที่การงาน ความรัก การดำรงชีวิต
ทุกวันนี้เมื่อถึงวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปีคนไทยยังรำลึกถึงท่านเสมอ
บทความโดย ณิชกมล เตชะงามสุวรรณ