ความแตกต่างของนิทานแต่ละเชื้อชาติ : นิทาน คือ เรื่องเล่าที่ผูกเป็นเรื่องเป็นราวขึ้น โดยใช้เนื้อหาสนุกสนานชวนติดตามของเรื่องเพื่อให้ผู้ฟังได้ข้อคิด

ความแตกต่างของนิทานแต่ละเชื้อชาติ

นิทาน คือ เรื่องเล่าที่ผูกเป็นเรื่องเป็นราวขึ้น โดยใช้เนื้อหาสนุกสนานชวนติดตามของเรื่องเพื่อให้ผู้ฟังได้ข้อคิด ในเชิงสอนคติธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่จะแต่งขึ้นเพื่อเล่าให้เด็กๆ ฟังเป็นการปลูกฝังทัศนคติ มุมมองชีวิตผ่านเนื้อหาที่มีในนิทาน เพราะนิทานมีการเล่าซ้ำๆ เรื่องราวที่สนุกทำให้จำง่าย จำได้ และมีอิทธิพลต่อจิตใจของผู้ฟังในระยะยาว

นิทานมีหลายประเภท ทั้งนิยายที่เล่าสืบต่อๆ กันมาตั้งแต่อดีตที่บางครั้งอาจเปลี่ยนแปลงเนื้อหาตามกาลเวลา เช่น ตำนานนิทานต่างๆ ที่อาจเป็นเรื่องจริงที่มาดัดแปลงหรือมีการแต่งขึ้นตามจินตนาการ ตัวละครอาจเป็นคนหรือสัตว์ หรือบางครั้งก็ใช้ตัวละครสมมุติที่ไม่มีอยู่จริงในโลกมนุษย์ บางครั้งการจะสอนผู้ฟังโดยอ้อม ก็เป็นการเล่านิทานที่มีความเหนือจริง เพื่อให้เกิดความสนุกตื่นเต้น เป็นนิทานที่ชวนติดตาม และประทับใจเนิ่นนาน แต่มีข้อน่าคิดว่า นิทานปรัมปราสามารถถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ในบางยุคสมัยขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้เล่า

เนื่องจากในนิทานมีความเชื่อ จินตนาการ เจตคติ ตลอดจนสอดแทรกความคิด หรือแม้กระทั่งสิ่งที่อยากปลูกฝังเข้าไปในจิตใจของผู้ฟังให้คิด พูด ทำ สิ่งใด ตามที่ผู้เล่าต้องการโน้มน้าวให้เป็นไป สิ่งเหล่านี้ ทำให้นิทานของแต่ละเชื้อชาติมีความแตกต่างกัน เนื่องจากความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ของแต่ละชาติ ตลอดจนภูมิประเทศ ภูมิอากาศซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิด ความเป็นอยู่ สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้แต่ละชาติมีแนวคิดการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน บางชาติเน้นจินตนาการ บางชาติเน้นข้อคิดจากเรื่องจริงเป็นต้น

 

บทความโดย ณิชกมล เตชะงามสุวรรณ

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ