ดาบที่ลับคมจนตัดได้กระทั่งสายน้ำคือความภาคภูมิใจของซามูไร สำนวนการเขียนที่เฉียบขาดก็คือความภาคภูมิใจของนักเขียน นักเขียนที่ยิ่งใหญ่มากมายบนโลกล้วนมีดาบคมเป็นของตนเอง การเสาะแสวงหาดาบประจำตัวคือภารกิจแรกที่นักเขียนควรทำ ดาบของเราคือตัวแทนที่คนอ่านได้เห็นก่อน ดาบที่เปล่งประกายโดดเด่น คนอ่านย่อมประทับ ดังนั้นบทความนี้จะมาแนะนำเรื่องการสร้างดาบของนักเขียน ทำอย่างไรเราจึงจะมีดาบเป็นของตนเองโดยไม่ต้องลอกเลียนแบบใคร
1. รู้จักแนวที่อยากเขียน อาจจะเรียกได้ว่านี่คือหัวข้อที่สำคัญที่สุด เทคนิคสำคัญคือให้คิดไว้เสมอว่า สำนวนการเขียนแบบไหนที่จะส่งเสริมนิยายของเราให้โดดเด่นที่สุด พึงระลึกว่าสำนวนการเขียนนั้นเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งในหนังสือของเรา เราสร้างสำนวนการเขียนมาก็เพื่อพลักดันให้หนังสือของเราออกมาเป็นงานที่เยี่ยมยอด
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเขียนนิยายแนวอิงประวัติศาสตร์ย้อนยุค สิ่งที่ควรคิดเป็นอันดับแรกคือสำนวนแบบไหนจะทำให้คนอ่านรู้สึกอินได้มากที่สุด หรือถ้าเขียนนิยายรักวัยรุ่น อยากให้มีอารมณ์มุ้งมิ้ง ต้องใช้สำนวนแบบไหน คนอ่านจะเข้าถึงได้ง่ายที่สุด การคำนึงถึงแนวของนิยายจะช่วยเราโฟกัสรูปแบบสำนวนที่ต้องใช้ได้ชัดเจนขึ้น
2. รู้จักผู้อ่าน อาจจะกล่าวได้ว่านี่คือส่วนหนึ่งของวิชาการตลาด เมื่อเราจะขายของ เราต้องรู้จักฐานลูกค้าที่เราต้องการขาย การเขียนหนังสือ เราก็ต้องรู้ว่าฐานคนอ่านนิยายของเราคือใคร สมมติว่าเรากำหนดไว้ว่าอยากเขียนนิยายแฟนตาซี แต่คำจำกัดความของคำว่าแฟนตาซียังคงกว้างมาก การ์ตูนเทเลทับบี้ถือเป็นการ์ตูนแฟนตาซีเรื่องหนึ่ง และสตาร์วอส์ก็นับเป็นภาพยนตร์แฟนตาซีเช่นกัน แล้วความต่างมันอยู่ที่ตรงไหนกันล่ะ คำตอบคือกลุ่มผู้ชมนั่นเอง
การใช้กลุ่มผู้อ่านเป็นตัวกำหนดจะช่วยให้เราโฟกัสได้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก เราต้องมองก่อนว่านิยายของเรานั้นผู้อ่านกลุ่มไหนจะเข้าใจมากที่สุด ลองยกตัวอย่างให้พล็อตนิยายของเราคือเด็กสาวผู้ล่าสังหารแวมไพร์เพื่อแก้แค้นให้ครอบครัว จะเห็นได้ว่าพล็อตมีความรุนแรงแน่นอน ตัวเลือกแรกที่ควรตัดออกไปคือเด็กเล็ก การไม่เสนอความรุนแรงให้เด็กเล็กคือจรรยาบรรณขั้นพื้นฐานของนักเขียน และถ้ามีเนื้อหาเกี่ยวกับเซ็กส์อย่างเปิดเผย กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 18 จะถูกตัดออกไปเช่นกัน เหลือแค่กลุ่มผู้อ่านวัยเรียนมหาวิทยาลัยถึงวัยผู้ใหญ่ ทีนี้เราก็จะมาพิจารณาว่าเรานิยายเราต้องการนำเสนออะไร ความตื่นเต้นระทึกใจ หรือโศกนาฏกรรมที่เศร้าสลด อารมณ์ของเรื่องสามารถกำหนดกลุ่มผู้อ่านได้แทบจะในทันที
มาดูพล็อตเรื่องของเราอีกที สมมติว่ารายละเอียดของพล็อตกำหนดเป็นเด็กสาวผู้ล่าสังหารแวมไพร์เพื่อแก้แค้นให้ครอบครัว เน้นฉากแอ็คชั่นชวนตื่นเต้นระทึกใจ โดยโฟกัสที่กลุ่มผู้อ่านวัย 18 - 25 ปี จากข้อมูลนี้ มีตัวเลือกอะไรบ้างที่เราจะหยิบมาใช้ได้
- คำหยาบ เป็นตัวเลือกที่ดีในการใช้เพิ่มอรรถรสที่สมจริง สามารถทำให้ผู้อ่านสะดุ้งและเกิดอารมณ์ตื่นเต้นพลุ่งพล่าน การใช้คำหยาบควรมีจุดมุ่งหมายที่เฉพาะเจาะจง ระวังอย่าใช้บ่อย เพราะอาจทำให้เกิดผลตรงกันข้ามคือผู้อ่านจะรำคาญและเบื่อหน่ายจากความซ้ำซาก แม้แต่คำหยาบก็ต้องใช้ศิลปะในการออกแบบด้วยเช่นกัน
- อารมณ์ขัน, มุกตลก คือสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับนิยายผู้ใหญ่อ่าน ถ้าเป็นมุกจำพวกตลกร้ายจะยิ่งดี หรือมุกจิกกัดแสบๆคันๆ ก็ทำให้เรื่องเข้มข้นได้เช่นกัน แต่ไม่ควรใช้มุกจำพวกห้าบาทสิบบาท เพราะนอกจากไม่ขำแล้วยังทำให้อารมณ์ของเรื่องฝืดโดยไม่จำเป็น
- ศัพท์สแลงหรือศัพท์ตามสมัยนิยม ศํพท์เหล่านี้ช่วยเพิ่มเนื้อเรื่องให้มีความหวือหวามากขึ้น แต่ควรใช้อย่างพอดี พอให้เป็นกิมมิก ใช้พร่ำเพรื่อมากเกินไปจะทำให้คนอ่านรำคาญ ลองนึกภาพที่นิยายของเราเขียนด้วยภาษาสก๊อยทั้งเรื่องดูสิ น่าสนุกใช่ไหมล่ะ(ประชด)
- ฯลฯ ที่เราสามารถหามาเพิ่มสีสันได้ ยิ่งหลากหลายยิ่งดี แต่ต้องคำนึงถึงภาพรวมนิยายของเราเป็นหลัก ระลึกไว้เสมอว่าเรื่องราวคือแกนหลัก สำนวนที่เราใส่เข้าไปเป็นเพียงส่วนประกอบของมัน อย่าให้ส่วนประกอบที่เราใช้ไปบดบังเนื้อหาที่เราต้องการนำเสนอจนหมดความโดดเด่น
3. รู้จักหนังสือ จากข้อสอง เราจะหากิมมิกจากที่ไหนมาประกอบ คำตอบคือหนังสือต่างๆที่เราอ่านนั่นเอง ยิ่งเราอ่านหนังสือมาก วัตถุดิบที่เราหามาใช้ก็จะมากยิ่งขึ้น จริงอยู่ว่าการสร้างสำนวนเฉพาะตัวนั้นต้องไม่ซ้ำกับคนอื่น แต่รู้หรือไม่ มีคำกล่าวจากโบราณที่ว่าใต้พระอาทิตย์นี้ไม่มีอะไรใหม่ ยกตัวอย่างเช่นทฤษฎีวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยตัวของมันเอง นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ค้นพบมันจากความว่างเปล่า พวกเขาต่อยอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เรียนรู้ทฤษฎีเดิมเพื่อค้นหาทฤษฎีใหม่อยู่ตลอดเวลา คัดทิ้งสิ่งที่ไม่ต้องการและเพิ่มเติมสิ่งที่อยากค้นหา การเขียนนิยายก็เช่นกัน การหยิบวัตถุดิบที่เราชอบมาทั้งดุ้นเป็นสิ่งผิดพลาดและไม่ควรทำ สมมติว่าเรามีหนังสือเล่มโปรด เราชอบและประทับใจหนังสือเล่มนั้นมากจนอยากเขียนหนังสือเป็นของตัวเอง สิ่งที่เราควรทำคือหยิบหนังสือเล่มนั้นมาคิดวิเคราะห์แยกแยะ เราต้องเรียนรู้วิธีสร้างคำของหนังสือเล่มนั้น รู้ถึงที่มาของสำนวน เข้าใจถึงส่วนประกอบของมัน จากนั้นจึงหยิบเอาสิ่งที่เป็นแก่นแท้มาก่อร่างสร้างใหม่ผ่านมุมมองของเรา นั่นจึงถือว่าเป็นออริจินัลของเราโดยมีต้นแบบจากหนังสือเล่มโปรดเป็นแรงบันดาลใจ ยิ่งหนังสือเล่มโปรดเรามีหลายเล่ม การ Mix&Match มากๆจะยิ่งทำให้งานของเรามีความเฉพาะตัวมากขึ้น จงรู้ไว้ว่านักเขียนนั้นคือหนอนหนังสือตัวหนึ่งเลยทีเดียว ยิ่งอ่านเยอะก็ยิ่งเอามาใช้ได้เยอะ
4. รู้จักตัวเอง สามข้อแรกเป็นเรื่องของหลักการ เราสามารถพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลที่เราศึกษาเพิ่มเติม แต่ข้อสุดท้ายเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัวล้วน ความรักความชอบของเราเป็นตัวกำหนดทุกสิ่ง ต่อให้เราเรียนรู้เทคนิคมาเยอะแยะ แต่ถ้าไม่ชอบสุดท้ายก็ไม่เอามาใช้อยู่ดี ดังนั้นรสนิยมส่วนตัวจึงเป็นตัวตััดสินในท้ายที่สุดว่าสไตล์สำนวนของเราจะออกมาเป็นแบบไหน
ผู้อ่านสามารถมองเห็นรสนิยมส่วนตัวของผู้เขียนได้ทันทีจากการอ่าน โดยสังเกตจากการเลือกใช้คำ การเรียบเรียงประโยค ความรักความชัง ทัศนคติทั้งหลายจะปรากฏขึ้นให้เห็นชัดผ่านเรื่องราวที่เราบอกเล่าลงไป ถ้าเรามีรสนิยมที่ดี ผู้อ่านจะชื่นชอบได้ง่าย
เมื่อใดที่รู้สึกว่างานเขียนของเรายังขาดเสน่ห์ มีคำแนะนำเพียงประการเดียวคือให้อ่านหนังสือเยอะๆ เปิดโลกทัศน์ด้วยการหาความรู้รอบตัวเพิ่มเติม เสพงานศิลปะต่างๆ ดูหนังฟังเพลงที่ไม่เคยดูเคยฟังมาก่อน ทำกิจกรรมแปลกใหม่บ้างเป็นบางครั้ง สิ่งเหล่านี้คือการเปิดมุมมองใหม่ให้กับชีวิต ซึ่งจะมีส่วนช่วยหล่อหลอมตัวเราให้เข้าใจถึงความงามมากขึ้น
บทความ :โชติระวี โสภณสิริ