“...ได้แต่ฝากความคิดของฉันเอาไว้ เผื่อวันไหนเธอผ่านมา เห็นที่เดียวกันนี้ เธอจะนึกขึ้นได้ว่า เคยมีคนหนึ่งยืนข้างเธอ อยู่ตรงนี้เสมอตลอดมา...”
เสียงเพลง ‘ความคิด’ อันคุ้นหูดังแว่วมาเมื่อเราย่างกรายไปถึงร้าน HOB ย่านซอยอารีย์ ในวันที่มีงานเปิดตัวหนังสือ ‘ก่อนความฝันจะล่ม สลาย’ ของหนุ่มสุดฮอตแห่งปีแสตมป์ – อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข วันนี้เรามีคำถามมากมายในใจที่อยากถามแสตมป์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิต การเรียน การทำงาน และเส้นทางดนตรีที่มีจังหวะขึ้นลง มีเสียงสูง เสียงต่ำ ความผิดหวังและสมหวัง การก้าวย่างและท้อถอย ขอเชิญสัมผัส ‘ตัวโน้ตชีวิต’ บนเส้นทางดนตรีของ ‘แสตมป์ – อภิวัชร์’ กันได้เลยค่ะ
all : แสตมป์ชอบเรื่องของดนตรีมาตั้งแต่เด็กเลยรึเปล่า
แสตมป์ : สมัยเด็ก ๆ แค่รู้สึกสนใจ คือเราไม่ได้เด่นด้านอื่น ชีวิตมีแค่โรงเรียน บ้าน ดนตรีแค่นั้นเอง เด็กบางคนก็จะสนใจการเต้น สนใจอย่างอื่น แต่สำหรับเรา พอได้ฟังเพลงต่าง ๆ ก็รู้สึกว่าปิ๊งและเกิด Passion (ความหลงใหล) ที่จะลงลึกและฟังเยอะขึ้นเรื่อย ๆ เป็นมาตั้งแต่ตอน ป.6 พ่อแม่ผมไม่ได้สนับสนุนแต่ก็ไม่ได้ต่อต้าน กว่าจะได้กีตาร์ตัวแรกต้องเรียนให้ได้ 3.00 ก่อน ตัวผมเองก็ไม่ได้ฉลาดมาก ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่ได้สนใจว่าอยากเป็นอะไร แค่เรียนตามระบบ เรียนตามเพื่อนไป เพื่อนเรียนคณะนี้ก็เรียนก็ตามไป (แสตมป์เอ็นทรานซ์ติดครั้งแรกที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) เข้าไปเรียนก็ทำตัวเหมือนตอนเรียน ม.6 คือเล่นดนตรีอย่างเดียว แถมเรียนมหาวิทยาลัยไม่ต้องมีระเบียบวินัยมากนัก ยิ่งสบายใหญ่เลย กลายเป็นว่าเกรดมันน้อยมาก เลวร้ายมาก สุดท้ายต้องเอ็นทรานซ์ใหม่ ซึ่งเมื่อผ่านจุดนั้นมา ผมว่ามันเกื้อกูลกันได้นะ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมก็อยากตั้งใจเรียนมากขึ้น (น้ำเสียงจริงจัง) โดยเฉพาะวิชาสถาปัตย์ เพราะว่าการที่เราศึกษาดนตรีอย่างเดียว มันไม่ได้ทำให้เกิดสิ่งใหม่ ผมเชื่อว่าดนตรีที่ดีมันเกิดจากดนตรีและความเชี่ยวชาญอะไรบางอย่างอีกอันหนึ่งบวกกัน ถ้าตั้งใจเรียนด้วยก็จะเจ๋ง (ยิ้ม)
all : แม้ว่าต้องเอ็นทรานซ์ใหม่เพราะหมกมุ่นอยู่กับการเล่นดนตรี แต่แสตมป์ก็สามารถสอบเข้าสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ได้เพราะไอดอลทางดนตรีเรียนอยู่ที่นั่น
แสตมป์ : ตอนเด็ก ๆ ชอบโมเดิร์นด็อกมาก เด็ก ๆ รุ่นผมชอบทุกคน ตอนนั้นฟังคลื่นฮอตเวฟ ป๋าเต็ด (ยุทธนา บุญอ้อม) เค้าประกาศว่า “วงโมเดิร์นด็อกจากสถาปัตย์ จุฬา” เราก็จำมาตลอดว่าพวกนี้เขาเรียนสถาปัตย์ แสดงว่าต้องมีอะไรบางอย่างในการเรียนการสอนที่ทำให้พวกเขาเป็นคนแบบนั้น เราก็อยากจะเป็นอย่างนั้นบ้าง ปรากฏว่าสอบเข้าไปได้ แต่พี่ป๊อดไม่ได้เรียนสถาปัตย์ (หัวเราะขำ) พี่ป๊อดเรียนครุศาสตร์ ตอนนั้นมีวงของสถาปัตย์หลายวงมาก ช่วงนั้นเพลงอินดี้กำลังร้อนแรง เราชอบเพลงไทยสมัยนั้นมาก มันน่าหลงใหลไปหมดเลย อยากจะมีซีดีเป็นของตัวเอง ไปดูเขาเล่นคอนเสิร์ตแล้วมันเท่มากเลย ไม่รู้ว่าอยากเป็นแบบนั้นรึเปล่า แต่อยากอยู่กับมัน อยู่ใกล้ ๆ มัน (ยิ้มสุขใจ)
all : แสตมป์คิดว่าตัวเองหลงใหลในดนตรีมากขนาดไหน
แสตมป์ : กระบวนการทุกอย่างมันน่าหลงใหลหมดเลย ตั้งแต่คิดทำนอง เรานั่งรถตู้อยู่ เราก็เฮ้ย... อยู่ ๆ ก็ฮัมเพลงนี้ออกมาได้ จด ๆ อัด ๆ เอาไว้ ลองแต่งเนื้อใส่มันลงไปซิ คำนี้มันลงล็อคพอดีเลย ลองใส่จังหวะกลองให้มัน ทุก ๆ อย่างมันค่อย ๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้น จนสุดท้ายมันกลายเป็นเพลงได้ ที่มหัศจรรย์กว่านั้นอีกคือ มีคนร้องตามด้วย ส่วนตัวคิดว่ามันเป็นศาสตร์ที่น่าหลงใหลมาก เรียนให้ตายยังไงก็ไม่มีวันหมด เพราะจะมีสิ่งใหม่ให้เราสนใจเรื่อยๆ เคยท้อและพยายามเลิกทำดนตรีเหมือนกันนะ แต่พอได้ยินเพลงดี ๆ สักเพลง ก็จะมีไฟว่าอยากทำแบบนี้บ้างขึ้นมาอีก เรื่องของดนตรีมันมีหลากหลายแบบมาก เวลาดูยูทูบผมเห็นคลิปเด็กอายุสามเดือนแล้วพ่อเปิดเพลงแล้วเขาเต้น มันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์จริงๆ นะ มันเป็นสิ่งที่เหนือธรรมชาติมาก เราเลยรู้สึกว่ามันคือเวทมนตร์
all : ลงมือทำเพลงจริงจังตั้งแต่เมื่อไหร่
แสตมป์ : ตอนเรียนมหาวิทยาลัยครับ มีโอกาสได้ไปทำเพลงละครคณะ เลยทำให้รู้กระบวนการว่าเพลงที่เราได้ยินมาเกิดจากอะไรบ้าง พอได้ลงเข้าไปในขั้นตอนต่าง ๆ ก็เริ่มรู้สึกว่ามันเหมือนการสร้างบ้าน ตั้งแต่เขียนแบบบนกระดาษ วางฐานราก ผมเชื่อว่า ถ้าสถาปนิกที่ออกแบบตึกพวกนี้มานั่งอยู่ที่นี่ (เขาหมายถึงที่ที่เรานั่งคุยกันอยู่) เขาคงมีความคิดว่า หนึ่ง มันเคยเป็นแบบร่างของเรามาก่อน สอง มันน่าจะเป็นอย่างนั้นมากกว่านะ คือมันจะเกิดความคิดปรับปรุงตลอดเวลา เหมือนเวลาเรากลับไปฟังเพลงของตัวเอง เราจะคิดว่า ทำไมไม่ใช้เสียงกลองแบบนั้นนะ มันมีรายละเอียดเยอะมาก ช่วงนั้นก็เลยหลงใหลในกระบวนการทำเพลง
all : แสตมป์ก้าวเข้ามาสู่ถนนดนตรีได้อย่างไร
แสตมป์ : จริงๆ ก็พยายามจะก้าวเข้ามาตลอด (หัวเราะ) เพราะว่าอยากอยู่ใกล้ ๆ มันตลอด พยายามที่จะส่งเดโมไปที่ค่ายเพลงตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ก็ล้มเหลวตลอด จนกระทั่งเรียนจบได้มาเจอกับพี่บอย โกสิยพงษ์ มันคงเป็นเคมีที่ตรงกันพอดี พี่เขาเลยรับเข้ามาทำงานด้วย ก็ค่อย ๆ เรียนรู้มาเรื่อย ๆ จากนักแต่งเพลงจนกระทั่งมาออกอัลบั้ม ใช้เวลานาน แต่ก็ไม่นานมาก ผมเชื่อว่า ยังมีคนที่นานกว่านี้แล้วก็ไม่ได้บ่นอะไร เพราะระหว่างทางมันก็มีความน่าจดจำตลอดเวลา
all : กว่าจะเป็นแสตมป์ในวันนี้ พบเจอความผิดหวังมามากมาย วิธีก้าวข้ามความผิดหวังของคุณคืออะไร
แสตมป์ : ผมว่าทุก ๆ อย่างมันแก้ไขด้วยความปรารถนา คือ ถ้ายังมีความปรารถนาที่จะทำอยู่ อะไรก็ล้มไม่ลง แต่เมื่อไหร่ที่ท้อจนกระทั่งหมดไฟ มันก็คงจะหมด ผมโชคดีที่ไม่เคยหมด
all : รางวัลทางดนตรีรางวัลแรกในชีวิตของคุณคืออะไร ภูมิใจกับรางวัลนี้มากแค่ไหน
แสตมป์ : รางวัล ‘สีสันอะวอร์ดส์’ สาขาเพลงยอดเยี่ยมครับ ถือว่ายิ่งใหญ่มากสำหรับผม ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการด้วย เพลงที่ได้รางวัลคือเพลงน้ำตา ของพี่เบิร์ด – ธงไชย แมคอินไตย์ ตอนนั้นเป็นช่วงที่รู้สึกแย่ คิดอยู่ว่า จะเลิกทำดนตรีดีไหมนะ แล้วจริง ๆ เพลงนี้ เป็นเพลงที่แต่งไว้นานแล้ว แต่มาได้รางวัลในอีกปีต่อมา ก็เลยรู้สึกว่า ถ้าเราทำไปเรื่อย ๆ ต้องมีคนเห็น และถ้ามีคนเห็นปุ๊บ เราจะได้ทำต่อ หลังจากได้รางวัลนี้ ก็มีคนให้ทำต่อจริง ๆ ตัวผมเองไม่ได้ต้องการรางวัลหรือคำชื่นชมเท่ากับการที่ได้ทำเพลงต่อ แล้วก็ไม่เคยท้อถึงขนาดไม่อยากทำ เพียงแต่มีความคิดว่า ถ้าทำแล้วไม่รอด อาจต้องปรับทำเป็นงานอดิเรกไป คือยังทำต่ออยู่ แต่คงต้องหยุดเดินเต็มตัว หรือแค่ทำสนุกๆ ก็พอ ตอนนั้นผมมาทำดนตรีแบบเต็มตัว พอทำเต็มตัวแล้วไม่มีอะไรเหลืออยู่ข้างหลังเลย ผมทิ้งหมด ไม่ได้เริ่มสักที เกือบปีแล้วยังไม่มีเงินเข้ามา ไม่มีอะไรเลย จะเลี้ยงครอบครัวยังไง ก็เลยมีความลังเลว่า หน้าที่สำคัญกว่าหรือเปล่า มันเหมือนไม่มีหลักประกันอะไรมากกว่า แต่ผมเชื่อนะว่า ถ้าผมเลือกไปทำอย่างอื่น ผมก็ยังทำเพลงอยู่ดีแหละ เลิกไม่ได้หรอก
all : เพลง ‘ความคิด’ ที่ใคร ๆ รู้จัก ถือเป็นเพลงเปลี่ยนชีวิตของแสตมป์หรือไม่
แสตมป์ : เพลงนี้ไม่คิดเลยว่าจะฮิต (หัวเราะ) เกือบไม่เอาด้วยนะ แต่มีคนทัดทานไว้ ผมรู้สึกว่ามันลึกซึ้งเกินไป โชคดีมากที่มีเรื่องบังเอิญเยอะมากเกี่ยวกับเพลงนี้ คือตอนนั้นผมทำเดโมไว้ พกซีดีติดตัวไว้ตลอด วันนั้นไปเจอพี่คนนึงชื่อพี่บุ๊ย ตอนนั้นอยู่มิวสิคพลัส คุยกันถูกคอ ผมก็ให้เดโมไป ในนั้นมีเพลงความคิดอยู่ด้วย หลังจากเขาสัมภาษณ์ผมจบ เขาก็ไปสัมภาษณ์พี่โอ ผู้กำกับ A Moment in June เขาก็คุยกันถูกคออีก เขาบอกพี่โอว่า เพิ่งได้แผ่นเดโม่ของผมมา เขาเลยลองฟังกัน พอพี่โอได้ฟังเพลงความคิด เขาก็มองว่ามันตรงกับหนังของเขาพอดี เลยติดต่อให้เรามาเจอกัน เพลงนี้ก็เลยได้ประกอบหนังด้วยความบังเอิญสุด ๆ พอมันได้ออกไปในวงกว้าง คนก็รู้จักเยอะขึ้น ถือเป็นโชคชะตาเหมือนกัน
all : แสตมป์มีเพลงที่ชอบที่สุดไหม
แสตมป์ : ผมมีคติพจน์ว่า เพลงที่ชอบที่สุดคือเพลงต่อไปที่จะเขียน เพราะถ้าเราคิดว่ามันดีอยู่แล้วก็จะไม่อยากทำเพลงต่อไป
all : ไอดอลในวงการดนตรีของแสตมป์มีใครบ้าง
แสตมป์ : ผมมีไอดอลประมาณสามพันหกร้อยคน ดูจากชื่อเพลงในไอพอดนะ ผมว่าศิลปินทุกคนคือไอดอลของผม ไม่ใช่แค่นักดนตรีด้วยนะ รวมไปถึงแอนดี้ วอร์ฮอล (ศิลปินชาวอเมริกัน), ทะดะโอะ อันโด (สถาปนิกชาวญี่ปุ่น) เพราะผมชื่นชมคนง่าย อะไรก็น่าหลงใหลไปหมด แล้วผมก็เชื่อว่าทุกอย่างมันเรียนรู้ได้หมด ไม่ว่าจะเป็นจากสถาปนิก คนกำกับหนังหรือกำกับโฆษณา ผมคิดว่า ทุกกระบวนการทางศิลปะที่เราเห็น เราเอามาใช้ในการแต่งเพลงได้ อย่างทะดะโอะ อันโด ชอบใช้ปูนเปลือยหรือเหล็กแบบเปลือยๆ เราก็เห็นว่ามันเหมือนการใช้กีตาร์โปร่ง เหมือนกับการที่เราใช้ตั้งไมค์อัดทั้งห้อง ทั้งหมดมันเป็นโครงสร้างเดียวกันหมดของโลกศิลปะ อยู่ที่เรานำความคิดตรงนั้นมาใช้ได้แค่ไหน
all : มาถึงเรื่องการเป็นโค้ชในรายการ The Voice Thailand บ้าง เหตุผลตัดสินใจรับเป็นโค้ชคืออะไร
แสตมป์ : หนึ่ง คือ มันดีต่ออาชีพเราแน่ ๆ เพราะเราอยู่ในวงเล็ก ๆ มาตลอด ถ้าได้ออกไปอยู่ในสื่อกว้าง ก็จะดีกว่าอยู่แล้ว และผมคิดว่าเป็นงานที่ท้าทายมาก ผมไม่เคยเล่นกับระดับแมสที่มีคนดูเป็นล้าน ๆ คน อย่างมากก็แค่หมื่นสองหมื่นคนที่มาฟังเรา เลยอยากรู้ว่าคนทั่วไป คนที่ขายขนมข้างทาง เขาคิดอะไรอยู่ ฟีดแบ็คจะเป็นยังไง ผมถือเป็นการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะได้ก้าวออกจากเวทีเล็ก ๆ มาสู่เวทีใหญ่ก็เลยลองดู ตอนนั้นเสี่ยงมากนะครับ เพราะผมเล็กมากเลยนะก่อนหน้าที่จะก้าวขึ้นมาเนี่ย คือมันโคตรเสี่ยงเลย เสี่ยงจริง ๆ แต่เมื่อผู้ใหญ่ทั้งจากทรู มิวสิค จากโต๊ะกลม พี่บอย รวมทั้งสปอนเซอร์ทุกราย เขาเห็นพ้องและให้โอกาสมา เราก็รู้สึกว่าเขาต้องเห็นอะไรบางอย่างว่าเราต้องทำได้ เลยคิดว่า การที่เราจะปฏิเสธคงดูไม่สุภาพกับการที่เขาไว้วางใจเราขนาดนี้ เลยลองดู ซึ่งถ้าไม่ได้จริง ๆ ก็ให้เขาเปลี่ยนคนแค่นั้นเอง
all : ตอนเป็นโค้ชในปีแรก โดนคอมเม้นต์หนักมาก เคยท้อบ้างไหม
แสตมป์ : จริง ๆ แล้วก็ยังโดนตลอดนะ (ยิ้ม) ปีนี้ก็ยังโดน ก็เครียดนิดหน่อย ผมว่าในเกมมันเครียดอยู่แล้ว และการนั่งเก้าอี้โค้ช ทำให้ตายยังไงก็โดนด่าอยู่ดี ซึ่งมันก็จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น อย่างปีนี้ก็สบายใจขึ้น และปรับใช้ได้กับทุกงานด้วย ไปทำงานอื่นก็ปรับอารมณ์ได้มากขึ้น จัดการกับคนได้มากขึ้น เพราะว่าเราโดนมาหนักแล้ว เวลาเราเจอคนเยอะมาก เจอคนหกสิบล้านคน ยังไงก็ต้องมีคนด่า พอมาเจองานอื่น สบายไปเลย ผมเชื่อว่ายิ่งงานยากเท่าไหร่ เราจะยิ่งแข็งแกร่งขึ้นเท่านั้น เวทีนี้ทำให้ผมได้ฝึกหนักมาก ๆ ที่นี่เป็นโรงเรียน เป็นการสอบ แต่อย่าเรียกว่าการสอนเลย เพราะโค้ชไม่ใช่ทั้งอาจารย์และกรรมการ เป็นแค่การแนะนำ ซึ่งคนที่มาอยู่กับเรา เขาก็ต้องเลือกเรา เขาจะมีเคมีบางอย่างที่คิดว่าตรงกับเรา ชอบเพลงแบบเรา สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากผมคนเดียว ตัวผมเองจะมีทีมงานโค้ชของผมดูแลเขา เราเป็นแค่คนรับหน้า บางครั้งออกมาพังก็จะโดนด่า ซึ่งผมก็รับไว้ การเป็นโค้ชเวทีนี้ ไม่ได้สอนอะไรมาก แล้วก็ไม่ได้สั่งด้วย แต่จะเป็นแบบคุยกัน ทดลองกัน ไม่เวิร์คก็เปลี่ยน บางทีเราลองกันแบบเต็มที่แล้ว แต่พอถึงหน้างาน มันเกิดความผิดพลาดที่ไม่สามารถควบคุมได้ เราก็ต้องยอมรับในจุดนั้น แต่ก็ดีที่ทำให้ผมได้เรียนรู้อุปสรรคใหม่ ๆ ตลอด ทำให้รู้ว่า เมื่อเกิดปัญหาแบบนี้ เราต้องแก้ไขอย่างนี้ ได้เรียนรู้เซ้นต์ของการเป็นผู้นำไปในตัว
all : ผ่านงานด้านดนตรีมาขนาดนี้ คิดว่า ดนตรีให้ อะไรกับชีวิตแสตมป์บ้าง
แสตมป์ : ผมว่าดนตรีคือน้ำหวานหล่อเลี้ยงชีวิตนะ มัน ทำให้เรามีวิญญาณมากขึ้น ผมไปบางประเทศที่เขาก็ไม่ได้ ต่างอะไรจากเรา แต่เขาเปิดเพลงทั้งเมืองเลย ผมรู้สึกว่าเมืองนี้น่าอยู่มาก ไปร้านกาแฟก็เปิดเพลง ไปขึ้นกระเช้าก็เปิดเพลง ผมเลยรู้สึกว่า เพลงทำให้ชีวิตชุ่มชื้นขึ้น พอกลับจากเมืองนั้น ผมอยากกลับมาตั้งใจทำเพลง แม้ว่าเอาเข้าจริง เพลงคงเปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนแปลงประเทศไม่ได้ แต่ผมก็ยังเชื่อว่าประเทศที่เปิดเพลงกับประเทศที่ไม่เปิดเพลง ชีวิตคนในประเทศนั้น มันต่างกัน และผมคิดว่า ถ้าเพลงดีอารมณ์คนก็ต้องดี ในเพลงมันเหมือนมีเวทมนตร์บางอย่าง เราก็อยากจะทำเวทมนตร์ของเราให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
all : อยากฝากถึงน้อง ๆ ที่สนใจเดินบนเส้นทางดนตรีอย่างไรบ้าง
แสตมป์ : อยากบอกว่า ไม่ต้องกังวลมาก ทุก ๆ อย่างคือการเรียนรู้ และการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการลงมือทำ เด็กที่เริ่มใหม่อย่างผมจะเกร็งมากเลยว่าจะทำยังไงให้มันเพราะ ทำยังไงให้คนยอมรับ ทำยังไงให้มันดัง ณ จุดนี้ ผมว่ายังไม่จำเป็นนะ ถ้าเรามัวแต่ไปคิดว่าทำยังไงให้คนยอมรับ แล้วสิ่งที่เราทำคืออะไร เรามัวแต่ไปดูว่า คนชอบอะไร แล้วหันไปทำสิ่งนั้น ผมว่ามันเสียโอกาสหลายอย่าง แค่เรามีความตั้งใจว่า จะทำสิ่งที่ตัวเองอยากฟัง สมมติน้องมีเพลงที่ชอบที่สุดในชีวิตอยู่สิบเพลง ลองถามตัวเองดูว่าทำไมเราถึงชอบเพลงนี้ เราชอบเมโลดี้หวาน ๆ จากเพลงนั้น เราชอบจังหวะของเพลงนี้ เราชอบความไทย ๆ ของเพลงนี้ เราชอบเนื้อหาลึกซึ้งแบบนี้ แล้วลองทำเพลงใหม่ที่รู้สึกว่า มันคือทุกอย่างที่เราชอบ ลองทำสิ่งที่ตัวเองชอบ ซึ่งแต่ละคนจะไม่เหมือนกันเลย แล้วมันจะเกิดลายเซ็นของตัวเองขึ้นมา แต่ถ้ามัวแต่ไปมองว่า ต้องทำยังไงให้มันฮิต มันก็คงเหมือน ๆ กันหมด ผมเชื่อว่าเรื่อง Passion สำคัญที่สุด และมันคือทุกอย่าง ถ้าเราทำเพลงที่ทำให้เรามีไฟ ผมเชื่อว่าทุกคนน่าจะชอบ
จากคำบอกเล่าของแสตมป์ทั้งหมดข้างต้น คงรู้สึกเหมือนกันว่า ผู้ชายคนนี้คือ ตัวโน้ตที่มีชีวิต และใช้ชีวิตบนตัวโน้ต และเราคงได้ฟังเพลงของเขาต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันสิ้นสุด ตราบเท่าที่เขายังมีลมหายใจอยู่...
“...ผมไม่ได้ต้องการรางวัลหรือคำชื่นชมเท่ากับการที่ได้ทำเพลงต่อ...” “…เพลงที่ชอบที่สุดคือเพลงต่อไปที่เขียน เพราะถ้าเราคิดว่ามันดีอยู่แล้วก็จะไม่อยากทำเพลงต่อไป…”
นอกจากเรื่องผลงานเพลงของแสตมป์แล้ว ยังมีผลงานหนังสือ " ก่อนความฝันจะล่มสลาย" ให้ได้ติดตามกันด้วยนะคะ
ที่มา : http://www.all-magazine.com/
คอลัมน์ : เรื่องเด่นประจำเดือน
เรื่อง : รินคำ // ภาพ : วิลาสินี เตียเจริญ