ธุรกิจในฝันที่เกิดจากความรักในการอ่านและหนังสือ นั่นคือร้านหนังสือที่ตัวเองจะได้คลุกอยู่กับสิ่งที่รักตลอดเกือบ 24 ชั่วโมงใน 1 วัน ว่ากันไปแล้ว การทำร้านหนังสืออิสระหรือร้านหนังสือขนาดเล็กในยุคปัจจุบัน เป็นความสุ่มเสี่ยงในเชิงที่จะไม่สามารถอยู่รอดทางธุรกิจที่ค่อนข้างสูง ซึ่งก็ต้องบอกว่า เป็นเรื่องของหัวใจที่มาก่อนสมองในการกระโดดลงสนามที่ต้องใส่ใจทุกรายละเอียด เพื่อหาสมดุลระหว่างอุดมคติหรือคุณค่าทางจิตใจและรายได้ที่จะเข้ามาในทางธุรกิจ
คุณดวงฤทัย เอสะนาชาตัง บรรณาธิการสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด และเจ้าของร้านหนังสือก็องดิด (Candide Bookstore) ซึ่งในอดีตเคยตั้งอยู่บนถนนตะนาว ใกล้กับสี่แยกคอวัว กรุงเทพฯ แต่ตอนนี้ได้เปิดใหม่อีกครั้ง ในโครงการ The Jam Factory ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ใกล้ไม่ไกลไปจากท่าเรือคลองสานเท่าไหร่นัก
“ที่ย้ายจากที่เก่าที่เดิม เพราะเจ้าขอไม่ยอมต่อสัญญาเช่าค่ะ เขาให้เราอยู่แบบเดือนต่อเดือน ซึ่งตอนนั้นก็อยู่ไปแบบพะวักพะวงมาก มีข่าวมาตลอดว่าห้องที่เราเช่า มีคนมาติดต่อขอเซ้งหลายราย เราไม่มีเงินที่จะเซ้งอยู่แล้ว ประกอบกับช่วงนั้นน้ำกำลังทะลักเข้ามากรุงเทพ ปี 2554 ที่กรุงเทพน้ำท่วมใหญ่ เราหวั่นใจมากว่า น้ำจะท่วมแถวร้านหรือเปล่า ประกอบกับอะไรอีกหลายๆ อย่าง พอปรึกษาหุ้นส่วนแล้ว เลยตัดสินใจปิดชั่วคราว” คุณดวงฤทัยบอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงในการย้ายสถานที่ตั้งร้านหนังสือก็องดิด
สำหรับความเป็นมาของร้านหนังสือแห่งนี้ แรกเริ่มเกิดมาจากการรวมตัวของกลุ่มเพื่อน 3-4 คนที่ทำสำนักพิมพ์ด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว ต่อมาคุณดวงฤทัยกับเพื่อนรุ่นพี่ ได้เข้ามาสานต่อกิจการ และปรับบรรยากาศใหม่ด้วยการตกแต่งที่ดูเป็น Boutique Bookstore เพิ่มมุม Café ที่บริการกาแฟ น้ำผลไม้ ไปจนถึงไวน์ ทำให้มีภายในร้านมีบรรยากาศน่านั่งอ่านหนังสือหรือนั่งทำงานเงียบๆ
พอย้ายร้านสู่ที่ตั้งใหม่ คุณดวงฤทัยได้ฉายภาพให้เห็นว่า แตกต่างจากร้านเดิมที่ถนนตะนาว ซึ่งเป็นเพียงเป็นร้านในตึกแถวเก่าแก่แค่ห้องเดียว “ความที่ร้านใหม่ถูกปรับปรุงมาจากโกดังเก่า ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำ ร้านใหม่ที่อยู่ในโครงการ The jam factory ก็มีลักษณะของโกดังเก่า เพดานสูง มีห้องโล่งๆ ร้านใหม่นี่ไม่ค่อยกังวลเรื่องการตกแต่งมากนัก เจ้าของโครงการที่เราไปเช่าอยู่ คือคุณดวงฤทธิ์ บุนนาค ตกแต่งด้วยตัวเองค่ะ” เมื่อย้อนกลับในอดีตร้านหนังสืออิสระหรือร้านหนังสือเล็กๆ แห่งนี้ มีแนวคิดเริ่มต้นที่เกิดจากคนที่รักการอ่านและหนังสืออย่างแท้จริง เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่จรรโลงปัญญาและจิตใจ
“แนวคิดเริ่มต้นที่อยากทำร้านหนังสือ เพราะต้องการเข้าใจภาพรวมของการทำหนังสือสักเล่มหนึ่งให้ครบวงจร เราทำสำนักพิมพ์มาก่อน การทำสำนักพิมพ์กระบวนการทำหนังสือมันจบตอนที่หนังสือจากโรงพิมพ์ไปส่งที่สายส่ง แต่สำหรับร้านหนังสือ มันคือการเดินทางของหนังสือต่อจากสายส่งมาที่คนอ่าน”
“ทีนี้เราก็ได้เห็นแล้วว่าการเดินทางของหนังสือเล่มหนึ่งๆ จากต้นฉบับไปจนถึงมือคนอ่าน มีกระบวนการทั้งหมดอย่างไรบ้าง คือชีวิตนี้ passion ทั้งหลายมันก็จืดจางไปบ้างตามกาลเวลา เมื่อก่อนเราจะเป็นคนที่สนใจกว้างมาก หนัง ละคร ดนตรี เวทีสัมมนางานวิชาการต่างๆ และหนังสือ พอเวลาผ่านไป passion ที่จะไปรู้ ไปสนใจเรื่องอื่นๆ ลดลงไปแล้ว แต่สำหรับเรื่องหนังสือมันไม่เคยจืดจาง ชีวิตทั้งชีวิตเราคงอุทิศให้หนังสือจริงๆ”
หากว่าไปแล้ว พื้นฐานรักการอ่านของคุณดวงฤทัยมีการปลูกฝังจากครอบครัว ซึ่งมาจากครอบครัวต่างจังหวัด “มีพ่อเป็นครู และเป็นประธานสมาชิกสภาจังหวัด (ปัจจุบันน่าจะเทียบเท่ากับประธานองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ.) พ่อจะปลูกฝังเกี่ยวกับการอ่านหนังสือการเมือง คือจะว่าปลูกฝังก็ไม่เชิง แต่เราเห็นพ่ออ่าน ด้วยความแก่แดด เราก็หยิบมาอ่านด้วย สมัยเด็กๆ อ่านหนังสือที่วิเคราะห์การเมือง พวกหนังสือเฉพาะกิจ เจาะลึกส.ส.โน้นนี่ อ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างก็อ่านไป ซึ่งพอโตขึ้นเราก็พบว่าเราสนใจเรื่องการเมืองก็เพราะพ่อนี่เอง บางทีก็ตามพ่อไปฟังการอภิปรายหาเสียงของการสมัครส.ส.จังหวัดบ้าง ทำให้เราสนใจหนังสือเกี่ยวกับการเมืองสังคม ส่วนแม่อ่านหนังสือนวนิยาย ที่บ้านเป็นสมาชิกนิตยสารสกุลไทย กับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ นอกจากเรื่องการเมืองแล้ว ก็เติบโตมากับการอ่านนวนิยายในสกุลไทย ถึงตอนนี้ก็ยังรู้สึกคิดถึงการอ่านนวนิยายเป็นตอนๆ ในสกุลไทยมาก”
การเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด ในอีกภาคหนึ่งของคุณดวงฤทัย กับการมีร้านหนังสืออิสระเป็นของตัวเอง ซึ่งช่วยเกื้อหนุนกัน นี่คือเคล็ดลับของร้านหนังสือก็องดิด ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนให้ร้านมีบุคลิกพิเศษขึ้นมา เพราะด้วยประสบการณ์ยาวนานในวงการหนังสือเป็นต้นทุนที่สำคัญและหาซื้อไม่ได้ จากความชำนาญและเป็นมืออาชีพในการผลิตหนังสือช่วยให้เจ้าของร้านรู้จักประเภทหนังสือหลากหลาย รู้จักสำนักพิมพ์ และติดต่อกับสายส่งได้ง่าย ช่วยย่นระยะเวลาการเรียนรู้และขั้นตอนการนำหนังสือเข้าร้านไปได้มากโข
“ช่วยเกื้อหนุนในแง่ที่เราได้ปฏิสัมพันธ์กับคนอ่านหนังสือ ได้รับฟังความคิดเห็นของคนอ่านหนังสือ แต่ในแง่กระบวนการ พี่คิดว่าการเป็นบรรณาธิการกับการเป็นเจ้าของร้านหนังสือ ค่อนข้างใช้ทักษะที่ต่างกัน การเป็นบรรณาธิการต้องการความละเอียด ความเอาใจใส่ต่อต้นฉบับ อยู่กับงานตัวหนังสือตรงหน้า ทำให้มันเป็นรูปเล่มที่สวยงาม แต่การทำร้านหนังสือมันเป็นงานเชิงบริการ มีการพูดคุยกับคนอ่าน จัดกิจกรรมเพื่อการอ่าน เสวนาต่างๆ พบปะผู้คนมากกว่า พูดง่ายๆ คืองานบรรณาธิการจะต้องการ ‘ความนิ่ง’ แต่งานเป็นเจ้าของร้านหนังสือต้องการ ‘ความเคลื่อนไหว’ นั่นเอง”
จุดเด่นหรือจุดขายของหนังสือที่มีอยู่ในร้านซึ่งให้นักอ่านสนใจมาเยี่ยมเยือน คือการคัดสรรหนังสือที่เหมาะกับร้าน โดยทำความรู้จักประเภทของหนังสือและสำนักพิมพ์ให้ดี เพราะสำนักพิมพ์แต่ละแห่งตีพิมพ์หนังสือในแนวที่ต่างกัน ฉะนั้น คุณดวงฤทัยจึงรู้ว่าสำนักพิมพ์ไหนอยู่กับสายส่งใด จะได้เลือกติดต่อได้ถูกต้อง ยิ่งถ้ามีเงินทุนจำกัดก็ยิ่งต้องเลือกสายส่งให้ดี เพราะแต่ละสายส่งจะเรียกเงินประกันหนังสือ หากใช้สายส่งมากเจ้า เงินทุนก็ยิ่งทวีคูณขึ้นไปตามลำดับ
“คือหนังสือที่ไม่สามารถพบเห็นได้มากนักในร้านหนังสือเชนสโตร์ คือหนังสือเล่มเดียวกันถ้าอยู่ในร้านหนังสือคนละร้าน ยิ่งโดยเฉพาะร้านหนังสือที่มีรูปแบบต่างกันๆ มันก็จะถูกพรีเซนต์ต่างกัน เวลาเราเข้าร้านหนังสือเชนสโตร์ สิ่งแรกที่พบเมื่อเข้าไป ในร้านหนังสือ คือหนังสือขายดี หนังสือออกใหม่ แต่ในร้านหนังสือก็องดิด เราก็อาจจะหยิบหนังสือที่ขายไม่ดีมาวาง เด่นหน้าร้าน เราอาจจะเอาหนังสือที่ขายไม่ดี แต่เราคิดว่าน่าสนใจมาพรีเซนต์ให้คนอ่านได้พบเห็น ตรงร้านเก่าบางทีลูกค้าที่เข้ามาในร้านมักจะบอกว่า เฮ้ย! มีหนังสือแบบนี้ด้วย ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย”
การอยู่รอดในเชิงธุรกิจและต้องพยายามสร้างสมดุลในเชิงอุดมคติในแง่มุมของร้านหนังสืออิสระเล็กๆ ที่มีคุณภาพ ทำให้ร้านหนังสือก็องดิดมีเสน่ห์ที่ไม่เหมือนร้านหนังสือทั่วไป ซึ่งเป็นจุดขายที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติของเจ้าของร้านเองที่เป็นเช่นนี้
“เสน่ห์ของร้านหนังสืออิสระ คือคนอ่านสามารถเดินมาคุยกับเจ้าของร้านได้เลย มีหนังสือที่ไม่ค่อยได้พบเห็นมากนักในร้านหนังสือเชนสโตร์ มีพนักงานประจำร้านที่สนใจและ ‘รู้จัก’ หนังสือจริงๆ มีงานเสวนาหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ มีการพบปะนักอ่าน นักเขียน ส่วนการอยู่รอดในเชิงธุรกิจ เราก็ต้องผนวกอย่างอื่นเข้ามาในร้าน และโชคดีที่มันเป็นสิ่งที่เราชอบด้วย นั่นคือการมีมุมกาแฟภายในร้าน การดื่มกาแฟยังช่วยให้เกิดการสนทนาภายในร้าน ซึ่งตรงกับคอนเซ็ปต์ร้านด้วยไม่ใช่เป็น Bookshop อย่างเดียว แต่มันเป็น Café มีคนอ่านมานั่งสนทนา มานั่งอ่านหนังสือ”
เพราะกำหนดแนวของหนังสือไว้ชัดเจน จึงมีลูกค้าประจำซึ่งเป็นนักอ่านคอวรรณกรรมอยู่จำนวนหนึ่ง โดยลูกค้ากลุ่มนี้จะซื้อหนังสือคราวละมากๆ ประกอบกับการกระจายข่าวผ่านสื่อและโซเชียล มีเดีย ได้รวดเร็ว ทำให้ลูกค้าที่แสวงหาร้านหนังสือแบบนี้อยู่แล้วมุ่งมาที่ร้านนี้โดยเฉพาะ “ที่เดิมที่ถนนตะนาว ความที่ที่ตั้งอยู่ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ใกล้อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มากนัก ลูกค้าร้านเก่าจึงมักเป็นผู้ที่สนใจสังคมการเมือง หนังสือเชิงความเรียง บทวิเคราะห์การเมือง และหนังสือวรรณกรรม แต่สำหรับสถานที่ใหม่ เราก็คงต้องไปเรียนรู้ใหม่ คิดว่าบริบทที่รายล้อมร้านหนังสือจะเป็นตัวแปรสำคัญ แต่ไม่ว่าทีไหนก็ตามร้านก็องดิด ก็ยังคงสนใจหนังสือเชิงวรรณกรรมให้เป็นจุดเด่นของร้านมาตลอด ทั้งวรรณกรรมไทยและวรรณกรรมแปล”
แน่นอน ในฐานะที่คุณดวงฤทัยคร่ำหวอดอยู่ในวงการหนังสือมายาวนานหลายสิบปี เมื่อให้เธอมองวัฒนธรรมการอ่านในสังคมไทย เธอก็บอกว่า “ยังมองโลกในแง่ดี คิดว่าคนไทยชอบการอ่านนะคะ เพียงแต่ว่าตัวเลือกในการอ่านหนังสือ หรือสิ่งที่กำหนดตัวเลือกให้คนอ่านหนังสือได้หลากหลายชนิดยังมีน้อย เช่น ร้านหนังสืออิสระ หรือหนังสือเฉพาะทางน่าจะมีมากขึ้น ให้คนอ่านรู้ไปเลยว่าถ้าเขาจะซื้อหนังสือแนวสังคมการเมืองเขาควรมาร้านนี้ หรือถ้าต้องการหนังสือแนวนวนิยาย แนวเรื่องแต่ง เขาควรไปร้านไหน”
อุปสรรคของร้านหนังสือก็องดิด ซึ่งจะอยู่ในที่ใหม่ คุณดวงฤทัย มองโจทย์ที่จะต้องฝ่าให้พ้นเพื่อสร้างกลุ่มลูกค้าและนักอ่านที่มีคุณภาพขึ้นใหม่ให้ได้ รวมถึงฐานลูกค้าเก่าที่จะติดตามกันไป “คิดว่าอุปสรรคที่ต้องฝ่าฟันของร้านหนังสืออิสระ คือการหาคาแร็กเตอร์ของร้านที่ชัดเจน ซึ่งร้านก็องดิดที่เดิมก็ได้วางคาแร็กเตอร์ไว้ชัดเจนแล้วว่า เราจะเป็นร้านหนังสือที่มีลักษณะของคาเฟ่ด้วย มีการพูดคุยสนทนา และกิจกรรมทางวรรณกรรมอยู่บ่อยครั้ง ยิ่งร้านใหม่มีพื้นที่มากกว่าเดิม เราก็จัดอะไรได้มากขึ้น อุปสรรคสำคัญตอนนี้คือทำอย่างไรให้คนอ่านรู้ว่าสถานที่ใหม่ของเรามาไม่ยากเลย แม้นมันจะตั้งอยู่ในทำเลที่เรียกว่าฝั่งธนฯ แต่แค่ชั่วข้ามแม่น้ำก็ถึงแล้ว ร้านใหม่อยู่ติดกับตลาดคลองสานเลยค่ะ”
เมื่อถามว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมา การที่รัฐบาลประกาศให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ และกรุงเทพฯ ได้รับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลก คิดว่าจะมีผลต่อร้านก็องดิดไหม คุณดวงฤทัยบอกว่า “ณ เวลานี้ ยังไม่เห็นผลที่เป็นรูปธรรมต่อร้านก็องดิดนะคะ อาจจะเป็นเพราะเราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากร้านเก่าไปร้านใหม่ การปฏิสัมพันธ์ต่างๆ อาจหยุดชะงักไปบ้าง แต่ก็ยังมองโลกในแง่ดีอยู่บ้างว่า ถ้ากรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก จะกระตุ้นให้คนอ่านหนังสือได้มากขึ้นจริงๆ อย่างไรก็ต้องมีผลต่อร้านหนังสือ เพียงแต่ว่ากรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก จะมองเห็นร้านหนังสืออิสระหรือเปล่าเท่านั้น”
ในฐานะที่ร้านก็องดิดอยู่ในเครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก (คสล.) ที่ผ่านมา ร้านก็องดิด โดยตัวคุณดวงฤทัยเองก็ร่วมมือและสนับสนุนในเครือข่ายตรงนี้อย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง “ตอนงานสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติครั้งแรก ที่คสล.จัดขึ้น ร้านใหม่เรายังไม่เปิด งานครั้งแรกเราจึงเป็นผู้สนับสนุนเสียมากกว่า และสำหรับปีหน้า ทางคสล.ก็ได้เลือกร้านก็องดิดเป็นร้านสำหรับแถลงข่าว งานสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติ ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนของทุกปี”
การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีมาสู่อีบุ๊ก ร้านหนังสือก็องดิดจะมีการปรับตัวตามหรือรับมือกับเทรนด์การอ่านใหม่นี่อย่างไร คุณดวงฤทัยวิเคราะห์ว่า “คิดว่า ณ เวลานี้ร้านหนังสือยังไม่ต้องปรับตัวมากนัก เท่าที่เราลองสำรวจ ด้วยความที่ทำงานสำนักพิมพ์ด้วย และสำนักพิมพ์ก็มีหนังสือในรูปแบบอีบุ๊กจำหน่ายด้วย ยอดจากอีบุ๊กยังน้อยมาก เมื่อเทียบกับการขายหนังสือเล่มจริงๆ คิดว่าการขายหนังสืออีบุ๊กยังไม่น่ากลัวเท่ากับการขายหนังสือทางออนไลน์ ซึ่งร้านค้าเปิดได้ 24 ชั่วโมง คุณไม่ต้องออกจากบ้านก็สั่งซื้อหนังสือได้ แต่ร้านก็องดิดได้เตรียมรับมือกับปัญหานี้ไว้แล้ว ต่อไปร้านก็องดิดก็จะเปิดขาย หนังสืออนไลน์ด้วย แต่ยังไงเสีย คิดว่าธุรกิจร้านหนังสือยังคงเป็นที่ต้องการอยู่ในรอบทศวรรษนี้”
นี่คือ ความเคลื่อนไหวล่าสุด ของร้านก็องดิด ที่เปิดใหม่แล้วใน The jam factory ทางฝั่งธนบุรี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากท่าเรือคลองสานเท่าไหร่นัก การเดินทางสะดวกสบาย รอให้แฟนานุแฟนทั้งใหม่และเก่าร่วมสร้างวัฒนธรรมการอ่านผ่านร้านหนังสือเล็กๆ ที่มีอิสระทั้งความคิดและไม่ผูกติดกับธุรกิจมากเกินไป...
สถานีหนังสือ : เจริญ ศรัทธาทิตย์