ร้านหนังสือกาลครั้งหนึ่ง อุทัยธานี : อุดมคตินักอ่านสู่เจ้าของร้านหนังสือเล็กๆ

ร้านหนังสือกาลครั้งหนึ่ง อุทัยธานี

แม่น้ำสะแกกรังไหลเอื่อยเฉื่อยในวันอากาศดี แดดไม่เริงร้อนจนแผดเผา ณ ใจกลางเมืองอันสุขสงบในทางภาคกลาง เยื้องไปทางตะวันตกของ ประเทศ อำเภอเมืองอุทัยธานี กรุ่นกลิ่นกาแฟจากร้านหนังสือเล็กๆ ของที่นี่ดูจะหอมหวน ชวนให้ดื่มเป็นพิเศษ แกล้มกับหนังสือดีๆ จากร้านนี้สักเล่ม เพลิดเพลินกับการอ่านได้ไปครึ่งค่อนวัน นั่นอาจจะเป็นมุมมองของผู้มาเยือนหรือลูกค้าที่ผ่านมาจากเมืองหลวงที่ชอบบรรยากาศของร้านหนังสืออิสระขนาดเล็กของจังหวัดเล็กๆ แต่ผู้ ประกอบการตัวจริงที่วิ่งไล่ตามความฝันของตัวเอง ในฐานะเจ้าของร้านหนังสือขนาดกะทัดรัดจะเป็นอย่างไรในเชิงธุรกิจที่จะต้องทำให้ได้ดุลยภาพกับความฝัน

ร้านหนังสือกาลครั้งหนึ่ง อุทัยธานี ซึ่งมีเจ้าของเป็นชายหนุ่มที่เป็นนักอ่าน นักเขียน และนักฝัน วุฐิศานติ์ จันทร์วิบูล จะมาบอกเล่าถึงร้านหนังสือของเขาที่เปิดมา 2 ปีกว่าๆ ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงวันนี้ว่าเป็นอย่างไร เพื่อเป็นต้นทางความฝันให้กับคนตัวเล็กๆ ที่อยากเป็นเจ้าของร้านหนังสืออิสระเล็กๆ ในจังหวัดเล็กๆ ได้เรียนลัดเพื่อจะอยู่รอดในโลกธุรกิจที่ไม่สวยงามนักสำหรับคนทุนน้อย..

+ ร้านหนังสือเล็กๆ ที่อยู่ในจังหวัดเล็กๆ อย่างอุทัยธานี มีแนวคิดเริ่มต้นอย่างไร ความคิดเริ่มแรกคือ ผมอยากทำร้านหนังสือที่มีส่วนผสมของเครื่องดื่มพวกชา กาแฟ และร้านขายของที่ระลึกอยู่ด้วยกัน แต่แน่นอนเราอยากให้มีหนังสือเป็นหลัก อย่างอื่นเป็นส่วนในการช่วยเติมสีสันให้กับร้าน ผมคิดเรื่องการทำร้านอยู่ 1 ปี ก่อนที่จะออกจากงานกองบรรณาธิการที่นิตยสารสานแสงอรุณ

 

ช่วงนั้นผมก็อาศัยวันว่างชวนนุช (นุชจรีย์ มณีจักร หุ้นส่วนชีวิตและหุ่นส่วนร้าน) ไปเที่ยวตามตลาดเก่า ตลาดน้ำ ตลาดโบราณ พร้อมๆ กับมองหาทำเลการทำร้านหนังสือไปด้วย เพราะผมคิดว่าการทำร้านหนังสืออย่างเดียว สำหรับตัวเองแล้วคงจะอยู่ค่อนข้างลำบาก เพราะเราไม่ใช่คนมีสะตุ้งสตางค์อะไรมากนัก ที่มีมากก็น่าจะเป็นความฝันที่เราอยากลองทำให้มันเป็นจริงขึ้นมาเท่านั้น จึงมองว่าหากร้านหนังสือของเราตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย ก็น่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสรอดให้กับร้านมากขึ้น

กว่าจะมาถึงอุทัยธานี เราก็ไปดูไปเห็นหลายที่หลายแห่ง โดยเฉพาะช่วงหลังออกจากงานแล้ว ผมเตร็ดเตร่ไปตามเมืองริมฝั่งแม่น้ำ เพราะผมชอบแม่น้ำ เรียกได้ว่าเอาแผนที่ประเทศไทยออกมากางแล้วดูว่าจังหวัดไหนอยู่ติดแม่น้ำก็เลือกที่จะไปดูไปหาที่ทำร้านในจังหวัดนั้น ตอนนั้นผมตั้งหมุดหมายไว้คือ เป็นเมืองเล็กๆ มีแม่น้ำไหลผ่าน อยากได้เป็นอาคารไม้ ประตูบานเฟี้ยมอะไรประมาณนี้แหละ ก็เดินทางเลาะไปตามเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขงจากเขมราฐขึ้นไปจนถึงเชียงคาน รอบสองเลาะตามริมโขงจากเลย ผ่านหนองคาย โอ๊ย! เมืองนี้ผมโดนหมากัดแทบตาย แล้วมานครพนมจนถึงมุกดาหาร สายเหนือขึ้นไปน่าน ลำพูน สุโขทัย และอีกหลายจังหวัด เรียกได้ว่าไปจนทั่วร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ จนมีน้องคนหนึ่งโทร.มาไถ่ถามว่าหาที่ทำร้านได้หรือยัง จากนั้นจึงแนะนำเมืองเล็กๆ ริมฝั่งแม่น้ำที่อุทัยธานี พอมีโอกาสได้มาดูก็ โอ๊ะ! นี่มันเมืองในฝันของเราเลย

 

ครั้งแรกมาอุทัยธานี ผมใช้เวลาเดินทาง 4-5 ชั่วโมง เพราะไปขึ้นรถ บขส.จากสถานีหมอชิต มาลงที่สถานีขนส่งชั่วคราว พอมาถึงก็จับทิศจับทางเดินเข้าหาแม่น้ำทันที ทันทีที่แม่น้ำสะแกกรังปรากฏอยู่ตรงหน้า แสงแห่งยามเย็นสะท้อนประกายวิบวับกับผืนน้ำ เรือนแพจอดเงียบสงบริมฝั่ง ผมโคตรจะตื่นเต้นเลยว่ายังมีแม่น้ำอย่างนี้เหลืออยู่อีกหรือ พอมาถึงตลาดริมฝั่งแม่น้ำ มองเห็นวัดโบสถ์ทรงยุโรปตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนฝั่งตรงข้าม ผู้คนยิ้มแย้มทักทาย อาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นห้องแถวไม้สองชั้น ประตูบานเฟี้ยม อะโห! ผมรู้สึกว่ามันน่าถูกใจไปเสียหมด อยากกดไลค์เป็นร้อยครั้ง ยิ่งตอนนั้นเขาเริ่มทำถนนคนเดินที่ตรอกโรงยา เราก็มองว่าที่นี่มีศักยภาพที่จะเป็นเมืองท่องเที่ยวได้สบาย และไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากด้วย

แต่ตอนนั้นผมก็ยังไม่ตัดสินใจเสียทีเดียว เพราะมีตัวเลือกที่สุโขทัยอีกที่หนึ่งอยู่ติดเมืองเก่าเลย แต่พอคืนนั้นผมนอนที่โรงแรมในตัวเมือง ตกดึกได้ยินเสียง ก๊อง ก๊อง ก๊อง ก๊อง คนยามตีเกราะบอกเวลา เสียงแห่งวัยเยาว์ที่ผมไม่ได้ยินมาเกือบ 30 ปีแล้ว แต่กลับมาดังอยู่ที่นี่อีกครั้ง เพียงได้ยินเสียงคนยามตีเกราะ ผมก็เทใจให้อุทัยธานีเสียแล้ว หลงรักจนถอนตัวไม่ขึ้น และเลือกที่จะเปิดร้านหนังสือเล็กๆ ในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ โดยที่ไม่รู้ว่าอุทัยธานีมีประชากรกี่คน มีมหาวิทยาลัยหรือไม่ เรียกได้ว่าไม่รู้อะไรเกี่ยวกับอุทัยธานีเลยจริงๆ

+ คนที่เปิดร้านหนังสือ ส่วนมากเป็นคนรักการอ่าน พื้นฐานรักการอ่านของคุณมีการปลูกฝังมาแบบไหน ความจริงผมเป็นคนที่ไม่ค่อยมีพื้นฐานการอ่านสักเท่าไหร่ ผมอยู่ในครอบครัวค้าขายธรรมดาครอบครัวหนึ่ง พ่อแม่เรียนจบชั้นประถมฯ ในบ้านไม่มีหนังสืออะไร นอกจากหนังสือเรียนของพี่ชายกับพี่สาวซึ่งผมมารับช่วงต่อ ตอนผมเป็นเด็กพ่อกับแม่มีเรือต่อแบบกระแชงลำหนึ่ง ขึ้นล่องไปซื้อมะพร้าวจากสวนย่านบางแค อัมพวา เอามาขายที่ตลาดบ้านแพน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตอนเด็กๆ เราก็อยู่ในเรือกับพ่อแม่ พอเข้าโรงเรียนก็จะย้ายไปอยู่กับตายายในหมู่บ้านหลังโรงเรียน จำได้ว่าตามีหิ้งเล็กๆ มีหนังสือเก่าๆ วางอยู่ประมาณ 10 เล่ม เวลาว่างตาก็จะหยิบหนังสือออกมาอ่าน แต่พวกเราไม่ค่อยอ่านอะไรกันหรอก ก็เล่นกันตามประสาเด็ก โชคดีที่พ่อแม่ กับตาชอบเล่านิทานให้เราฟังอยู่เสมอ บางทีกลางคืนก็จะจับกลุ่มเด็กๆ ข้างบ้าน (ลูกพี่ลูกน้อง) แล้วเล่าเรื่องผีให้กันฟังบ้างเท่านั้น

พอตากับยายไม่อยู่ เราก็ต้องอยู่กันตามลำพังกับพี่กับน้อง มีเงินเหลือจากไปโรงเรียนก็จะซื้อหนังสือการ์ตูนมาอ่านบ้าง นานๆ ก็จะรื้อหนังสือเรียนเก่าๆ (มานีมานะ) ที่เก็บเอาไว้ออกมาอ่านบ้าง ไปโรงเรียนก็ไม่ค่อยได้เข้าห้องสมุดเท่าไหร่ (ไม่ค่อยถูกกับครูบรรณารักษ์) และตอนนั้นก็ไม่เคยสนใจเรื่องการอ่านอยู่แล้ว ครูก็ไม่ได้สนับสนุนแนะนำอะไร จนเริ่มโตเรียนสูงมากขึ้น ตอนนั้นผมเรียนอยู่วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา เรียนสายช่าง พอว่างๆ เพื่อนก็จะชวนกันเข้าห้องสมุด แต่ส่วนใหญ่ก็ค้นคว้าเรื่องเรียนมากกว่า รู้สึกว่าตอนนั้นเริ่มรู้จักนิตยสารไรเตอร์ ตามอ่านบ้างสองสามฉบับแรกๆ แต่ก็ไม่ได้จริงจังอะไร

พอจบจากวิทยาลัยครู เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ หน้าปากซอยย่านคลองตันจะมีรถเข็นขายหนังสือเก่า ผ่านมาผมก็แวะซื้อบ้าง ไม่รู้จักหรอกครับว่าหนังสือใครบ้าง แต่จำได้ว่าสองเล่มแรกที่ซื้อคือ ‘ฤดูกาล’ ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล กับ ‘ทางเสือ’ ของศิลา โคมฉาย เล่มละ 5-6 บาท อ่านแล้วเรารู้สึกติดใจยังไงไม่รู้ มันเหมือนกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงๆ หลังจากนั้นก็ได้อ่านบทกวีของจ่าง แซ่ตั้ง อ่าน ‘เวลา’ ของชาติ กอบจิตติ เริ่มจะรู้จักนักเขียนมากขึ้นก็จากพ่อค้านั่นแหละ

เริ่มมาอ่านเยอะจริงๆ ตอนมาเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รู้จักกับกลุ่มศิลปวรรณกรรม กลุ่มคนหนุ่มสาวที่ชอบอ่าน ชอบคิด ชอบเขียน เราเข้าไปก็กลายเป็นน้องใหม่ คนที่อยู่มาก่อนก็จะแนะนำหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ มีหนังสือให้หยิบยืมก็เลยได้อ่านมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่ผมเลือกมาเรียนรามฯ นั้น ผมไม่ค่อยได้ขอเงินทางบ้าน เพราะเราเลือกที่จะเรียนเอง ก็ต้องหางานพิเศษทำ เป็นคนเดินโต๊ะอาหารบ้าง บริกรบ้าง รับจ้างตบมือตามรายการทีวีบ้าง จนเริ่มมองเห็นลู่ทางการหาหนังสือมือสองมาขายหน้ามหาวิทยาลัย เราก็หาหนังสือขายมาเรื่อยจนเรียนจบ ได้เจอหนังสือแปลกๆ ใหม่ๆ มากมาย นับว่าเป็นช่วงชีวิตที่สนุกสนานที่สุด แม้จะทุกข์ยากบ้างก็ตาม

+ จุดเด่นหรือจุดขายของหนังสือที่มีอยู่ในร้านซึ่งให้นักอ่านสนใจมาเยี่ยมเยือนคืออะไร จุดเด่นของร้านหนังสือเล็กๆ ผมคิดว่าน่าจะเป็นพื้นที่ที่ไม่ใหญ่จนเกินไป ดังนั้นเจ้าของร้านจำต้องคัดเลือกหนังสือบางเล่มเข้ามาวางขายในร้าน ซึ่งมักจะเป็นหนังสือที่เจ้าของร้านมีความชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สำหรับร้านหนังสือกาลครั้งหนึ่ง เราจะเน้นหนักไปทางหนังสือวรรณกรรมมากกว่า มีทั้งวรรณกรรมไทย และวรรณกรรมแปล โนเบล คลาสสิก เพราะผมมีความชอบเป็นการส่วนตัว โดยมีหนังสือปรัชญา ศาสนา สังคม การเมือง และศิลปะรองลงมา จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเราคือมีหนังสือมือสอง หนังสือเก่าหายากบางเล่มที่หาไม่ได้ตามท้องตลาด ลูกค้าบางคนมาแล้วได้พบหนังสือที่ตามหามานาน บางคนมาแชร์มาแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดกัน ซึ่งผมก็ไม่ใช่คนที่มีความรู้อะไรมากมายนักหรอก ผมอาจจะแค่รู้ว่าถ้าต้องการหนังสือเล่มนี้ ควรจะไปหาจากที่ไหน อยากหาความหมายของคำคำนี้ ต้องไปหาจากที่ไหน อย่างมีคุณลุงคนหนึ่งแกอยากรู้ความหมายของคำว่า ‘กรีส’ แกว่าเป็นพื้นที่รอบต้นศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ถามใครก็ไม่มีใครรู้ สงสัยมาเป็นปี ผมจึงค้นจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 ให้ ‘กรีส (กะหรีด) (แบบ) น. มาตราวัดพื้นที่ มีอัตราเท่ากับ 4 อัมพณะ หรือ 125 ศอก, กำหนดเนื้อที่ทำนาได้ข้าวประมาณ 44 ทะนาน. (ลิปิ)’ พอรู้คุณลุงดีใจมาก ทำให้เราพลอยดีใจไปด้วย รู้สึกว่าร้านหนังสือของเราพอจะมีประโยชน์ให้กับคนที่นี่บ้าง

+ มองวัฒนธรรมการอ่านในสังคมไทยและคนในอุทัยธานีอย่างไรบ้าง วัฒนธรรมการอ่านในบ้านเรา ความจริงแล้วควรจะเริ่มมาพร้อมกับการออก หนังสือจดหมายเหตุ หรือ บางกอกรีคอร์เดอร์ ของหมอบรัดเล่ย์ แต่มันเป็นเช่นนั้นหรือเปล่าผมยังสงสัย เพราะการเข้าถึงหนังสือพิมพ์หรือหนังสือในยุคเริ่มแรกของสังคมไทยมาจากพวกชนชั้นสูง ขุนน้ำขุนนาง ค่อยขยายวงมาสู่ปัญญาชนที่เรียนจบมาจากนอก จนเริ่มมีโรงเรียน ทำให้คนไทยอ่านออกเขียนได้แพร่ขยายออกไปสู่สังคมวงกว้างมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้วัฒนธรรมการอ่านของเราแพร่หลายออกไปมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าทุกคนที่อ่านออกเขียนได้จะรักการอ่าน คนที่จบ ป.4 หรือชั้นประถมฯ อย่างพ่อแม่ผม จะมีสักกี่คนที่อ่านหนังสือ เพราะทุกคนก็มัวแต่ยุ่งกับการทำมาหากิน หรือจนมาถึงยุคปัจจุบัน คนที่จบปริญญาตรีจะมีสักกี่คนที่ชอบการอ่าน เมื่อชอบอ่านแล้ว อ่านอะไร...

บางคนบอกว่าสังคมไทยเรามีวัฒนธรรมการฟังและการชมมาก่อนการอ่าน สมัยเด็กผมฟังนิทาน ดูหนัง ดูงิ้ว ดูลิเก มากกว่าที่จะอ่านหนังสือ เพราะหนังสือสมัยก่อนก็ใช่ว่าจะถูก คนหาเช้ากินค่ำไหนเลยจะซื้อหนังสือมาอ่าน ซึ่งก็ไม่ต่างจากยุคนี้เท่าไหร่นัก ยุคนี้มีสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากมาย คนก็เลือกเสพในสิ่งที่ง่ายกว่า สะดวกสบายกว่าก็เท่านั้น ผมคิดว่าเรื่องเวลาก็สำคัญนะ ปัจจุบันคนเราใช้เวลาไปกับอย่างอื่นมากกว่าเลยไม่ค่อยได้มีเวลามาอ่านหนังสือ หลายคนแปลกใจว่าทำไมผมไม่มีทีวี ไม่ดูทีวีหรือ ความจริงผมก็อยากมีอยากดูอยู่เหมือนกัน แต่ถ้ามีทีวีเวลาของผมอย่างน้อยหลายชั่วโมงจะหมดไปกับการดูทีวี ขนาดไม่มีทีวี เวลาในอ่านหนังสือของผมยังถูกเบียดบังไปด้วยอินเตอร์เน็ตและอย่างอื่นเลย ผมคิดว่าวัฒนธรรมการอ่านกับวัฒนธรรมการซื้อหนังสือของคนไทยเป็นคนละเรื่องเดียวกัน คนไทยเริ่มเคยชินกับการซื้อหนังสือราคาถูก ซื้อหนังสือจากงานลดราคา ลูกค้าหลายคนที่เข้ามาในร้านมักจะบอกเหมือนกันว่าหนังสือใหม่ราคาแพง ขนาดเราลดราคาแล้วก็ยังแพง หลายคนที่เข้ามาเลยถามว่าหนังสือให้เช่าหรือเปล่า ถ้าผมให้เช่าหนังสือก็อาจจะมีลูกค้ามากกว่านี้ก็ได้ แต่อย่าเลยครับ ผมสงสารหนังสือ เพราะคนอ่านหนังสือแต่ละคนไม่เหมือนกัน สำหรับการอ่านในอุทัยธานีก็มีความน่าสนใจนะ แม้จะมีลูกค้าแวะเวียนมาเยือนเราไม่มากนัก แต่ในจังหวัดเล็กๆ ริมฝั่งแม่น้ำแห่งนี้ กลับมีแผงขายหนังสือ แผงขายนิตยสาร ตลอดจนถึงร้านหนังสือเล็กๆ และร้านหนังสือทางเลือกแบบเรา นับรวมกันได้หลายแห่งทีเดียว ซึ่งเขาก็อยู่กันได้ดี

+ การอยู่รอดในเชิงธุรกิจและต้องพยายามสร้างสมดุลในเชิงอุดมคติในแง่มุมของร้านหนังสืออิสระเล็กๆ ที่มีคุณภาพ มีกลเม็ดเคล็ดลับอย่างไร ความจริงก็ไม่ได้มีกลเม็ดเคล็ดลับอะไรหรอก อาจเป็นเพราะเราไม่ได้คิดถึงมันในเชิงธุรกิจมากนักก็ได้ เพียงแต่เราคิดว่าจะทำยังไงให้อยู่รอดได้มากกว่า ทำร้านมาได้สองปีครึ่งแล้ว ความจริงถ้ามองไม่เห็นช่องทางอะไรอยู่ก็คงเลิกทำตั้งแต่สามเดือนหกเดือนไปแล้ว แต่ที่พอทำทนอยู่ได้เพราะเราพอมีช่องทาง อย่างที่บอกตอนแรกว่าเราตั้งใจทำร้านขายหนังสือ ขายกาแฟ และขายของที่ระลึก ทำร้านหนังสือเพียวๆ อย่างเดียวในเมืองนี้สำหรับผมแล้วคงอยู่ไม่ได้หรอก ลูกค้ามาซื้อหนังสือที่ร้านมีไม่เยอะนัก โดยเฉพาะคนพื้นที่ยิ่งมีน้อยมาก เรามีลูกค้ารายสัปดาห์อยู่สองสามคน มาประมาณสัปดาห์ละครั้ง แต่บางทีก็หายไปนาน เรามีลูกค้ารายปักษ์สักสองคน ลูกค้ารายเดือนอีกสองสามคน จากชัยนาท นครสวรรค์บ้าง รายสองสามเดือนอีกสักคนสองคน รายปีก็มีเหมือนกันนะ

ลูกค้าอีกกลุ่มจะเคยรู้จักกันบ้างอาจจะผ่านหน้าเฟซบุ๊กบ้าง เป็นกลุ่มเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ บ้าง และเป็นกลุ่มคนที่มาเที่ยวและได้มีโอกาสเดินมาเจอร้านบ้าง ซึ่งมาช่วยเติมสีสันให้รายได้ประจำเดือนของเราไม่ถึงกับกระพร่องกระแพร่งจนเกินไป

แต่ที่ทำให้เราพออยู่รอดผอมโซมาได้ตลอดสองปีครึ่งมีอยู่สองส่วน ส่วนแรกคือการขายหนังสือผ่านเว็บไซด์ www.oncebookk.com ขายทั้งหนังสือเก่าและหนังสือใหม่ ซึ่งการขายแบบออนไลน์ช่วยทำให้เรากล้ายิ้มกับสำนักพิมพ์และสายส่งที่เชื่อใจส่งหนังสือมาฝากขายที่ร้านเราได้บ้าง บางสำนักพิมพ์ผมไปรับเองแบกเองถึงที่ บางสำนักพิมพ์ส่งมาเก็บเงินปลายทาง และมีบ้างบางสำนักพิมพ์ที่จัดส่งมาถึงร้าน ซึ่งทั้งหมดเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่ไม่ใหญ่โตมากนัก ต้องขอบคุณทุกสำนักพิมพ์และรวมถึงสายส่งเพียงแห่งเดียวที่ไว้เนื้อเชื่อใจเรามา ณ ตรงนี้ด้วย

อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เราพอหายใจหายคอได้คล่องบ้างคือการขายเสื้อที่ระลึก ซึ่งเป็นเสื้อที่เราออกแบบและสกรีนเอง ขายได้เฉลี่ยเดือนละ 50-80 ตัว แม้จะไม่ได้เยอะมากนักแต่ก็ถือว่าเป็นรายได้หลักอย่างเป็นทางการของร้านหนังสือกาลครั้งหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นการขายผ้าเอาหน้ารอดจริงๆ

+ คิดว่าเสน่ห์ของร้านหนังสือแบบนี้อยู่ที่ไหน

เสน่ห์ผมคิดว่า ร้านหนังสือเล็กๆ ของคนเล็กๆ แบบเราบ่งบอกว่า มันเป็นการงานแห่งความรักอย่างแท้จริง เพราะคนที่จะทำร้านหนังสือต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจทำ ซึ่งคนที่ได้มาสัมผัสก็จะรับรู้ได้ หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งว่าร้านหนังสือคือตัวตนของเจ้าของร้าน สะท้อนบุคลิกลักษณะ ความชอบ กระทั่งอาจเรียกได้ว่าเป็นอุดมคติก็ว่าได้ ซึ่งย่อมมีความแตกต่างจากร้านหนังสือทั่วไป

+ บรรดาลูกค้าของร้านหนังสือกาลครั้งหนึ่ง ส่วนมากเป็นกลุ่มใด และมีรสนิยมอ่านหนังสืออย่างไร ลูกค้าส่วนใหญ่ของเราจะมีรสนิยมการอ่านแบบค่อนข้างเข้มข้น เพราะคนที่ชอบอ่านแนวแบบหวานแหววแต๋วจ๋าเข้ามาในร้านก็จะทำหน้าเอ๋อเหรอ! “หนังสืออะไรกันนี่ มีหนังสือแบบนี้อยู่ในโลกด้วยหรือ” อะไรประมาณนั้น อาจเป็นเพราะว่าหนังสือในร้านกาลครั้งหนึ่งมีความเฉพาะตัวค่อนข้างสูง อย่างที่บอกว่าเราเน้นหนังสือวรรณกรรมเป็นหลัก ซึ่งเป็นหนังสือวรรณกรรมในความหมายดั้งเดิม หรือที่ วาด รวี ชอบใช้คำว่า ‘หนังสือวรรณกรรมซีเรียส’ ซึ่งหนังสือก็จะทำหน้าที่ในการสกรีนคนอ่านไปในตัว

กลุ่มคนอ่านเรามีไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ เหมือนที่ตอบไปแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นคนวัยทำงานหรือผู้สูงอายุ ที่ยังสนใจใฝ่รู้ชอบคิดชอบอ่านกันอยู่ เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียนคนหนึ่ง เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่อยู่นครสวรรค์ ทนายความที่ทำงานอยู่พิษณุโลกกลับมาบ้านทุกเสาร์-อาทิตย์ คุณลุงวัยเกษียณที่เป็นคนอยุธยาที่มาตามเก็บงานของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ และหนังสือของสุพจน์ ด่านตระกูล เด็กหนุ่มที่เพิ่งทำงานจากชัยนาท กลุ่มนี้ถือได้ว่าเป็นลูกค้าประจำ ถ้าลองให้นับนิ้วดู ผมว่านับไม่หมดหรอก นิ้วมือน่ะ และก็จะมีอีกกลุ่มหนึ่งเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถมฯ และมัธยมฯ บางคนที่สนิทกัน มานั่งอ่านหนังสือในร้าน มายืมหนังสือกลับไปอ่าน โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องรีบอ่านเพื่อจดบันทึกการอ่านส่งครู โดยที่ร้านผมจะมีบางมุมที่มีหนังสือนิทานกับวรรณกรรมเยาวชนให้ยืมอ่านได้ฟรี (กลุ่มนี้เราจึงไม่ได้เงิน)

+ การที่รัฐบาลประกาศให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ และกรุงเทพฯ ได้รับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลก คิดว่าจะมีผลต่อร้านกาลครั้งหนึ่งไหม คิดว่าไม่น่าจะมีผลในการดำเนินไปของร้านสักเท่าไหร่ แต่ก็รู้สึกดีที่เรื่องเหล่านี้ยังมีคนพยายามส่งเสริมกันอยู่ มีเรื่องที่ทำให้หัวใจของเราได้มีโอกาสพองโตบ้าง ก็ดีนะ

+ มองอุปสรรคที่จะต้องฝ่าให้พ้นเพื่อสร้างกลุ่มลูกค้าและนักอ่านที่มีคุณภาพอย่างไร เราคงต้องสื่อสารกับผู้อ่านให้มากขึ้น เชิงปริมาณคือ พอมีคนรู้จักเรามากขึ้น ปริมาณลูกค้าก็น่าจะมากขึ้นด้วย มีคนอยากแวะมาหามาเยี่ยมเยือนมากขึ้น ในเชิงคุณภาพคือ เราทำให้ความเป็นตัวของเรา ความเป็นร้านหนังสือของเรามีความชัดเจน ลูกค้าก็เข้ามาหาได้ตรงจุดประสงค์ ตรงแนวหนังสือที่ต้องการ โชคดีที่มีสังคมในโลกเสมือนไว้ให้คอยได้สื่อสารกัน ซึ่งมีส่วนช่วยได้เยอะเหมือนกัน

+ การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีมาสู่อีบุ๊ก จะมีการปรับตัวอย่างไร ถึงวันนี้ เทคโนโลยีมาถึงจุดที่สามารถทำได้แล้ว แต่อีบุ๊กก็ยังไม่เกิดขึ้นอย่างที่เคยตื่นตัว ตื่นกลัวกันนักกลัวกันหนาเหมือนตอนแรกเริ่มมีข่าว เราก็ยังคงอยู่ของเราไป ไม่ต้องปรับตัวอะไร เพราะต้นสายของการเปลี่ยนแปลงน่าจะมาจากผู้ผลิต ซึ่งก็คือสำนักพิมพ์ เราเป็นเพียงแค่ห่วงโซ่ข้อหนึ่งในวงจรหนังสือเท่านั้น หากถึงเวลาของมัน ไม่มีใครพิมพ์หนังสือเล่มกันอีกแล้ว เราก็คงเอาหนังสือเล่มที่เก็บไว้ออกมาขายในฐานะหนังสือที่ระลึก ซึ่งเมื่อถึงยุคนั้นจริงๆ (ยุคที่ไม่มีการผลิตหนังสือเล่มอีกต่อไป) คนก็จะต้องหันกลับมาหาหนังสืออย่างหวนหาอาลัย เหมือนที่คนในปัจจุบันโหยหาของเก่า หนังสือแบบเรียนมานีมานะ หรือบรรยากาศเก่าๆ อย่างตลาดน้ำ ตลาดโบราณ

+ อยากจะให้สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย มีนโยบายช่วยเหลือร้านหนังสืออิสระเล็กๆ อย่างไรบ้าง อยากให้ช่วยทำให้ผู้อ่านได้รู้ว่า ร้านหนังสืออิสระขนาดเล็กมีความสำคัญอย่างไร ตอนนี้มี คสล. (เครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก) เป็นพื้นที่หนึ่งที่จะโยงให้ร้านหนังสือเล็กๆ และสำนักพิมพ์เล็กๆ ได้รู้จักกัน ได้สื่อสารสาระที่สำคัญของเราออกไป ผมชื่นชมสำนักพิมพ์ที่ผลิตงานมีคุณภาพ ให้เราได้มีหนังสือดีๆ เข้ามาวางในร้าน สามารถนำเสนอต่อลูกค้าได้โดยไม่เหนียมอาย ชื่นชมทุกร้านหนังสืออิสระขนาดเล็ก ที่ยืนระยะมาก่อนหน้าเราและก้าวไปด้วยกัน ขอบคุณลูกค้าและกำลังใจที่ส่งมาหาเราเสมอ

 

ร้านหนังสือกาลครั้งหนึ่ง อุทัยธานี ก่อตั้งเดือนสิงหาคม 2553 เปิดร้านอย่างเป็นทางการ (มีพิธีเปิด) 18 กันยายน 2553

เจ้าของ วุฐิศานติ์ จันทร์วิบูล และหุ้นส่วนความฝัน นุชจรีย์ มณีจักร์ เว็บออนไลน์ www.oncebookk.com

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ