ด็อกเตอร์ บุ้คส์ : ด็อกเตอร์ บุ้คส์ : สาระสาส์นสู่ร้านหนังสือ

ด็อกเตอร์ บุ้คส์

ด็อกเตอร์ บุ้คส์

โลกของหนังสือมิได้จำกัดอยู่เพียง นักเขียน ผู้อ่าน และสำนักพิมพ์ หากแต่ยังมีผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่าง 3 องค์กร นั่นคือ ร้านค้าหนังสือ ในสภาพความเป็นจริงแล้วผู้อ่านไม่สามารถเข้าถึง นักเขียน หรือสำนักพิมพ์ได้โดยตรงแต่เขาเหล่านั้นได้อาศัยร้านหนังสือทำความรู้จักกับนักเขียนที่ชื่นชอบ จากการยืนอ่านหนังสือในร้านขายหนังสือจนแน่ใจว่าตรงกับความต้องการของตัวเองแล้วจึงตัดสินใจเลือกเล่มที่เหมาะที่สุด

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนรักหนังสือหลายคนอยากจะสร้างร้านหนังสือเป็นของตนเอง ได้อยู่ท่ามกลางกองหนังสืออย่างที่ใฝ่ฝัน ว่ากันว่างานขายหนังสือเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เข้าไปมีส่วนในการสร้างคนสร้างความคิด แม้หนังสือที่ขายอาจไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดีทุกเล่ม แต่อย่างน้อยแทบทุกเล่มก็มีคุณค่าในตัวของมันเอง

นี่อาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้งานขายหนังสือถูกมองว่าแตกต่างจากร้านค้าทั่วไป หากแต่เป็นแหล่งรวมภูมิปัญญาย่อม ๆ ของชุมชน อย่างแท้จริง

วันนี้ผมมีโอกาสไปเยี่ยมเยือน ร้านหนังสือ ด็อกเตอร์ บุ้คส์ ในห้างอิมพีเรียลเวิล์ด ลาดพร้าว ชั้น 3 บนเนื้อกว่า 300 ตารางเมตร (ขนาดห้องประชุมใหญ่ที่จุคนได้ประมาณ กว่า 100 คน) ภายในร้านรวบรวมหนังสือไว้หลากหลายประเภท เรียกว่าถ้ามาร้านนี้แล้วไม่ผิดหวังได้หนังสือกลับไปแน่นอน

ร้านด็อกเตอร์ บุ้คส์ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ใครเลยจะบอกได้ดีกว่าคุณ จิรายุ พืชผล เจ้าของร้าน แม้ว่าเหตุผลหลักในการเปิดร้านขายหนังสือเมื่อครั้งแรกนั้น จะไม่ได้มาจากความต้องการสานฝันของคนรักหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว เพราะวัตถุประสงค์หลักก็คือ ต้องการจำหน่ายหนังสือของสำนักพิมพ์สารสาส์น มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว ดังสูตรสำเร็จทั่ว ๆ ไปของสำนักพิมพ์ที่ต้องการมีแหล่งระบายสินค้าของตน

พี่จิรายุเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนร้าน ด็อกเตอร์ บุ้คส์ ตั้งอยู่ที่ห้างสรรพสินค้า นิวเวิล์ด รัตนาธิเบศ ตอนนั้นลงทุนตกแต่งร้านเกือบ 2 ล้านบาท แต่ทำได้อยู่ไม่นานห้างสรรพสินค้าแห่งนั้นก็ปิดกิจการลง แม้ว่าความฝันครั้งแรกจะพังทลายลงอย่างรวดเร็ว จนเกือบต้องปิดกิจการ แต่จากเดิมที่ตั้งใจจะทำเพื่อต้องการจำหน่ายหนังสือของตน พอได้มาทำจริง ๆ กลับไม่ได้เป็นจุดสำคัญอีกต่อไปแล้ว มันกลับเกิดเป็นความรักความผูกผัน จนมิอาจที่จะยอมแพ้โดยไม่ใช้ความพยายามให้ถึงที่สุดเสียก่อน

การจัดการความฝันให้เป็นจริง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 10 ปี ร้านหนังสือแห่งนี้มิได้เกิดขึ้นมาจากเป้าหมายของการค้าแต่เพียงจุดประสงค์เดียวอีกต่อไปแล้ว มันค่อย ๆ เติบโตขึ้นพร้อมกับความรักความใฝ่ฝัน ของคนรักหนังสือคนหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิดฝันเลย

หลังจากพบความล้มเหลวในการทำงานครั้งแรกมาแล้ว ร้านนี้จึงอยู่ระหว่างทางสองแพร่งที่ต้องเลือกเดินระหว่างความฝัน และความเป็นจริง เป้าหมายสูงสุด คือเพื่อความอยู่รอด ต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ทำเลที่ตั้ง การแข่งขัน การตั้งเป้าหมายในการขาย ความหลากหลายของสต็อกหนังสือ การบริการลูกค้า สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องควบคุมงบประมาณ

“ตอนหลังพี่มาทำร้านหนังสือโดยตรง ส่วนสำนักพิมพ์ก็เลยยกให้น้องชายเขาไป จริง ๆ พี่ก็ชอบทำหนังสือ ทำร้านขายหนังสือ ทั้ง ๆ ที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เพราะว่าจริง ๆ แล้ว กำไรที่ได้จากตรงนี้หักค่าใช้จ่ายแล้วมันไม่ค่อยเหลือ”

เมื่อลองผิด ลองถูก อยู่ได้ระยะหนึ่งพี่จิรายุ จึงต้องปรับการวางแผนใหม่ทั้งหมด แยกงบประมาณให้ชัดเจนลงไปว่า ส่วนใดไว้ซื้อหนังสือ ค่าลูกจ้าง พิจารณาจากขนาดของร้าน และสต็อกหนังสือที่ต้องแบกภาระไว้

นอกจากนั้นแล้วการเลือกหนังสือเข้าร้านก็ยังมีส่วนสำคัญ แม้หนังสือบางตัวจะนำมาซึ่งยอดขายในร้าน แต่ถ้าเป็นพวกหนังสือ ลามก อนาจาร ร้านแห่งนี้จะไม่ยินดีต้อนรับเข้าร้านเด็ดขาด

ถึงแม้การจัดแต่งภายในร้านจะเรียบ ๆ แต่กลับมองดูโปร่งสบาย และรวบรวมหนังสือไว้หลายประเภท ที่ดูจะมากเป็นพิเศษคงเป็นหนังสือประเภทเสริมความรู้ทั่วไป

พี่จิรายุเล่าให้ฟังว่า “เนื่องจากทำเลที่ตั้งของร้านถูกรายล้อมไปด้วยโรงเรียนชื่อดัง ลูกค้าส่วนมากจะเป็นเด็กนักเรียน ทางร้านจึงเน้นให้มีหนังสือวิชาการ เสริมความรู้ คู่มือเตรียมสอบ ซึ่งหนังสือเหล่านี้ราคาไม่สูงมากนัก จึงเป็นอีกประเภทหนึ่งที่ทำยอดให้กับทางร้านได้ดี นอกจากนั้นยังมีหนังสือสุขภาพ หนังสือเด็ก รวมทั้งงานวรรณกรรมอีกด้วย “

จะสังเกตได้ว่า เมื่อลูกค้าเข้ามาในร้านนี้ จะไม่เสียเวลาในการหาหนังสือมาก ซึ่งดูได้จากพฤติกรรมของลูกค้าหลายคนที่เข้ามาในร้านแล้วสามารถเดินตรงไปหยิบหนังสือที่ตัวเองต้องการได้อย่างรวดเร็ว พี่จิรายุจึงเล่าเสริมว่า

“หนังสือทุกเล่มที่เข้ามาในร้าน พี่จะแยกหมวด แยกประเภทก่อน ถ้าเป็นหนังสือใหม่ จะถูกจัดไว้ในตำแหน่งที่เห็นชัดเจน ประมาณ 2 สัปดาห์ จึงจะย้ายมาขึ้นชั้น พอเริ่มซาแล้วมีหนังสือใหม่เข้ามา ก็เอาเล่มนั้นย้ายไปขึ้นวางบนชั้นในระดับระดับสายตา จน 1 - 2 เดือน ถึงจะปลดลงมาอยู่ชั้นล่าง”

นอกจากจะมีการจัดระบบในการทำงานเช่นนี้แล้วในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ช่วงปีใหม่ วันพ่อ หรือช่วงเด็กปิดเทอม ทางร้านก็จะลงหนังสือเกี่ยวกับเทศกาลนั้น ๆ มาจำหน่ายและทำการโปรโมชั่นให้สำนักพิมพ์ต่าง ๆ หมุนเวียนกันจัดโปรโมชั่น ตั้งโต๊ะลดราคา ทุกเดือน หนึ่งเดือนอาจจะ 2 - 3 สำนักพิมพ์ ดังนั้นการติดต่อประสานงานกับสำนักพิมพ์จึงเป็นเรื่องที่หลีกหนีไม่ได้

ทุกวันนี้แม้ห้างอิมพีเรียลเวิล์ดจะประสบปัญหา ร้านที่อยู่รายล้อมต่างล้มลุกคลุกคลาน และบางร้านก็ต้องปิดตัวลงกันไปเกือบหมดแล้ว แต่ร้านนี้ก็ยังคงอยู่และทำหน้าที่เป็นแหล่งภูมิปัญญาให้กับชุมชนต่อไป “ด็อกเตอร์บุ้คส์”…

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ