3 วิธีเริ่มต้นลงมือเขียนแบบลืมกลัว : ปัญหาอย่างหนึ่งที่นักเขียนหน้าใหม่ทุกคนต้องเจอ ก็คือความรู้สึกที่ว่าการเขียนหนังสือช่างเป็นเรื่องน่ากลัว!

3 วิธีเริ่มต้นลงมือเขียนแบบลืมกลัว

เชื่อว่านักอยากเขียนส่วนใหญ่ต่างก็มีความกระตือรือร้นที่จะลงมือเขียนด้วยกันทั้งนั้น แต่แน่นอนว่าปัญหาอย่างหนึ่งที่นักเขียนหน้าใหม่ทุกคนต้องเจอ ก็คือความรู้สึกที่ว่าการเขียนหนังสือช่างเป็นเรื่องน่ากลัว!

เพียงแค่มองดูหนังจอคอมพิวเตอร์หรือแผ่นกระดาษที่ว่างเปล่า ก็ทำให้รู้สึกปั่นป่วนว้าวุ่นใจได้แล้ว ยิ่งถ้ามีคำถามตามมาอีก ว่าถ้าเกิดเขียนๆ ไปแล้วคิดคำไม่ออกจะทำยังไงดี? หรือเขียนๆ ไปแล้วดันไม่รู้ว่าจะเอามาเขียนต่อดี? แล้วถ้าคนอ่านต่างพากันมองว่างานที่เราเขียนนั้น มันห่วยสุดแสนจะห่วย?

หรือที่น่ากลัวกว่าทุกข้อที่ว่ามา คืองานเขียนของเราเป็นที่ชื่นชอบของคนอ่าน แต่เราจะมีปัญญาเขียนงานแบบนั้นออกมาได้อีกมั้ย? ก็อย่างที่มีคนเคยพูดไว้ ว่าหนทางเดียวที่จะเอาชนะอุปสรรค คือต้องบุกตะลุยฝ่ามันออกไป เพราะงั้น สิ่งที่เราควรต้องทำคือ สูดลมหายใจเข้าลึกๆ และเริ่มต้นลงมือเขียน ต่อไปนี้คือคำแนะนำที่อาจช่วยคุณได้

1. เขียนไปก่อน อย่าสนใจว่ามันจะแย่สักแค่ไหน : ไม่ว่าคุณจะเขียนหนังสือด้วยความรู้สึกหาญกล้าหรือขลาดกลัว ขอให้เขียนโดยไม่ต้องกังวลสิ่งใด ทั้งการสะกดคำหรือใช้ภาษาไม่ถูกต้อง เขียนลงไปก่อน แม้ว่าสิ่งที่เขียนนั้นจะไม่เข้าท่า หรือไม่เห็นเหตุเปนผลก็ตาม ด้วยว่าบางครั้ง เราอาจค้นพบเรื่องที่เราต้องการบอกเล่าในขณะที่กำลังลงมือเขียนก็ได้ เพราะฉะนั้น สิ่งเดียวที่คุณควรกังวลให้มากๆ คือการไม่ยอมลงมือเขียนสักทีต่างหาก

2. อุ่นเครื่องก่อน : ถ้าคุณห่างเหินจากการวิ่งหรือการออกกำลังกายมานานปี คุณก็ไม่ควรผลีผลามไปลงแข่งวิ่งมาราธอน แต่ควรจะเริ่มต้นด้วยการออกกำลังกายแบบเบาๆ ด้วยการเดินไปเรื่อยๆก่อน การเขียนหนังสือก็เช่นเดียวกัน ขอให้คุณเริ่มต้นอย่างง่ายๆด้วยการเขียนในสิ่งที่คุณรู้จักดี ไม่ว่าจะเปนครอบครัว, หน้าที่การงาน หรือเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัวคุณ ใช้เวลาในการเขียนสัก 10-15 นาทีก็พอ แต่ถ้าเขียนไม่ออกก็ไม่ต้องเค้นมันออกมา เพราะมันจะเปนการกดดันตัวเองมากเกินไป

3. หาสมุดบันทึกคู่ใจสักเล่ม : ขอแนะนำนักเขียนใหม่ทุกคนให้ลองเขียนหนังสือด้วยลายมือ เพราะมันคือวิธีการเขียนที่ให้ความรู้สึกเปนส่วนตัว น่าเชื่อถือ เปนกันเอง และซื่อสัตย์จริงใจ การเขียนหนังสือลงในสมุดจะช่วยให้คุณรู้สึกมั่นใจ และทำให้มองเห็นจุดประสงค์ในการเขียนยิ่งขึ้น ลองเขียนให้ได้สักเล่มหนึ่งสิ แล้วคุณจะค่อยๆเรียนรู้ด้วยตนเอง

นักอยากเขียนส่วนใหญ่ที่เริ่มต้นเขียนหนังสือ ก็เหมือนผีเสื้อที่เพิ่งหลุดออกจากเปลือกดักแด้ ปีกทั้งสองข้างยังบอบบาง ไม่มั่นคง และกระพือได้ช้า ซึ่งต้องใช้เวลาฝึกฝนในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและปลอดภัย การเขียนหนังสือก็ไม่ต่างกัน มันต้องอาศัยเวลา และที่สำคัญที่สุดคือการเริ่มต้นลงมือ ซึ่งถ้าฝึกฝนตัวเองบ่อยๆ ไม่นานคุณจะเปนผีเสื้อที่โบยบินได้อย่างงดงาม...

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ