ร้านหนังสือ เค. เค. [ K. K. BOOK HOUSE] : ร้านหนังสือ เค. เค. [ K. K. BOOK HOUSE] :ทำร้านหนังสือต้องมีความอดทน

ร้านหนังสือ เค. เค. [ K. K. BOOK HOUSE]

ร้านหนังสือ เค. เค.

 

คุณเกียรติ สุขกุล ผู้จัดการร้าน ได้บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเปิดร้านแห่งนี้ว่า เริ่มแรกคุณพ่อได้เป็นสายส่งหนังสือพิมพ์ , วารสาร อยู่ หลังจากนั้นก็เริ่มมีสำนักพิมพ์นำหนังสือมาติดต่อเพื่อจะให้วางจำหน่าย หลังจากนั้นจึงทำหน้าร้านขึ้นมา ซึ่งการทำหนังสือสมัยก่อนทางโรงพิมพ์หรือสำนักพิมพ์จะเป็นฝ่ายเข้ามา ติดต่อเพื่อวางหนังสือจำหน่ายที่ร้าน แต่การทำร้านหนังสือในปัจจุบัน ทางร้านค้าต้องเป็นฝ่ายไปติดต่อสำนักพิมพ์เอง ในการเปิดร้านครั้งแรกใช้ชื่อร้านว่า ร้านหนังสือ ก. บรรณกิจ จากนั้นจึงเปลี่ยนมาเป็นร้านดวงกมล (เนื่องจากมีญาติทำร้านดวงกมลที่อยู่กรุงเทพฯ จึงเสมือนเป็นการขยายร้านดวงกมลมาที่อุดร) แต่ใช้ชื่อนี้ได้ไม่นานก็ถูกทาง ดวงกมล ติงเรื่องลิขสิทธิ์ในการใช้ชื่อร้านว่าดวงกมล ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก เลยเปลี่ยนชื่อร้านมาเป็น K.K. ซึ่งย่อมาจาก คุณเกียรติ นับถึงวันนี้ก็ 13-14 ปี แล้ว ซึ่งก็มีความลำบากพอสมควรโดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นตั้งร้านใหม่ เพราะว่าต่างจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งร้าน ยังไม่มีมหาวิทยาลัย ทำให้การอ่านของผู้คน การศึกษาค้นคว้า และกลุ่มผู้อ่านก็ยังมีไม่มาก และทำให้ต้องใช้ความอดทนพอสมควรในการเฝ้าร้าน เพราะการเฝ้าร้านหนังสือเองก็เป็นสิ่งที่น่าเบื่อ เนื่องจากไม่มีคนมาซื้อ ถ้าเบื่อมาก ๆ ก็หยิบหนังสือมาอ่านเองเป็นการฆ่าเวลา และได้รับความรู้ด้วย แต่ปัจจุบันนี้ทุกอย่างก็เริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น ลูกค้าเริ่มเยอะขึ้น

ในด้านการบริหารจัดการร้านเองก็ได้มีการลองผิดลองถูกมาโดยตลอด ดีบ้างไม่ดีบ้าง เพราะว่าตลาดหนังสือไม่หยุดนิ่ง มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขของสำนักพิมพ์ ซึ่งทำให้การสั่งหนังสือกับแต่ละสำนักพิมพ์ไม่เหมือนกัน รวมตลอดถึงผู้อ่านซึ่งมีความพึงพอใจในการอ่าน การเลือกซื้อ กำลังทรัพย์ที่จะซื้อหนังสือที่แตกต่างกันด้วย

นโยบายของร้าน

"ทางร้านต้องเตรียมพร้อมสำหรับลูกค้าตลอดเวลา นั้นคือทำร้านให้มีความเป็นระเบียบ สะอาดเรียบร้อย พร้อมที่จะต้อนรับลูกค้าเสมอ"

อะไร คือ จุดเด่นของร้าน

จากที่ร้านมีประสบการณ์ มาร่วม 10 กว่าปี ทำให้ทางร้านมีความได้เปรียบกว่าร้านหนังสือที่เปิดใหม่ จึงมีจุดเด่นทางด้านการจัดร้าน การจัดหมวดหมู่ การวางหนังสือให้เลือกง่าย หยิบง่าย สะดวกต่อลูกค้า ถึงแม้ว่าร้านจะอยู่ในทำเลที่ไม่ค่อยเหมาะสมแต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจที่ลูกค้ายังมาใช้ซื้อหาหนังสือกับทางร้าน ด้วยเหตุผลของความเป็นระเบียบของร้านค้า เพราะทางร้านเองคิดว่า "คนที่เข้าร้านหนังสือเป็นคนระดับปัญญาชน คนที่เป็นระดับปัญญาชน จะต้องการความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะฉะนั้นการจัดร้านต้องเป็นระเบียบ"

หนังสือที่ทำรายได้ให้กับร้านมากที่สุด คือ หนังสือประเภทเบาสมอง อ่านเล่น ราคาไม่แพง คือไม่เกิน 100 บาท หรือ 100 บาทต้น แต่ถ้าเป็นช่วงเช่นมีการสอบบรรจุ การสอบแข่งขัน หนังสือที่เกี่ยวข้องก็จะขายได้เยอะ แต่ปัจจุบันพ็อกเก็ตบุ๊ค ก็เป็นหนังสือที่ค่อนข้างมีราคาแพง คนที่ซื้อก็จะต้องพิจารณาพอสมควรว่าคุ้มค่าสำหรับการอ่านสำหรับเขาหรือไม่

เกณฑ์ในการคัดเลือกหนังสือเข้าร้าน

ทางร้านก็จะดูว่าเป็นหนังสือที่ขายได้เรื่อย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือตามกระแส เพราะถ้าเป็นหนังสือตามกระแสทางสำนักพิมพ์จะส่งให้ร้านของตนเองอยู่แล้ว ส่วนการจัดหนังสือของร้านก็จะพยายามจัดเป็นหมวดหมู่ แต่อาจมีผิดพลาดบ้าง แต่จากประสบการณ์ที่ทำบ่อย ๆ จะทำให้มีความผิดพลาดน้อยลง ส่วนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ก็มีอาทิเช่น ซื้อหนังสือครบ 300 บาท มีคูปองลด 10 % ซึ่งจะจัดในช่วงที่กิจการของร้านซบเซา ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเข้าร้านมาขึ้น

สิ่งที่ทำให้ลูกค้าพึงพอใจร้าน

คือ ความเป็นระเบียบ การบริการลูกค้า และเจ้าของร้านก็ลงมาขายเอง ให้มีโอกาสได้สัมผัสกับลูกค้าโดยตรง หากลูกค้ามีปัญหาหรือต้องการอะไรก็สามารถตัดสินใจได้ มีการแนะนำหนังสือให้กับลูกค้าด้วย

ทำอย่างไรร้านหนังสือเล็ก ๆ ถึงจะอยู่ได้

คุณเกียรติ ได้ให้ทัศนะไว้ว่า สำคัญที่สุดก็คือ อย่าสต๊อกหนังสือไว้มากจนเกินไป แต่ให้หมั่นตรวจสอบและสั่งซื้อกับทางสำนักพิมพ์ และควรสั่งเฉพาะที่คาดว่าจะจำหน่ายได้ ไม่ต้องตั้งความหวังว่าสักวันลูกค้าจะมาซื้อเยอะ ต้องดูตลาดหนังสือในขณะนั้นประกอบด้วย และให้มีหนังสือที่จะถูกส่งคืนสำนักพิมพ์น้อยที่สุด คือไม่เกิน 10-15 % ของที่สั่ง ซึ่งจะช่วยลดค่าขนส่งด้วย ซึ่งจะทำให้ทางร้านไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา ตลอดจนจะเป็นการช่วยรักษาผลประโยชน์ ของสำนักพิมพ์ด้วย ในการลดการเสียโอกาสในการนำหนังไปวางจำหน่ายที่อื่น

มองทิศทางร้านหนังสือในบ้านเราเป็นอย่างไร… ธุรกิจร้านหนังสือก็ไปได้เรื่อย ๆ แต่อย่าคาดหวังความร่ำรวยจากธุรกิจนี้ เพราะว่าทุกวันนี้เท่าทำอยู่ก็ให้พอคุ้มทุน แต่ส่วนลึกที่ได้ก็คือการได้ทำเพื่อสังคม ให้คนได้มีแหล่งในการศึกษา หาความรู้ มีหนังสือดี ๆ ให้ประชาชนอ่าน

สำหรับคนที่มีความฝันอยากมีร้านหนังสือเป็นของตนเอง

คุณเกียรติก็บอกว่าก็สามารถทำได้ แต่อาจจะไม่ได้กำไรมากนัก เพราะราคาหนังสือถูกกำหนดมาจากสำนักพิมพ์ บางครั้งอาจต้องขายถูกกว่าราคาที่กำหนดมาเสียอีก

ปัจจุบันนี้สำนักพิมพ์ต่าง ๆ เริ่มขยายกิจการใหญ่ขึ้น และเริ่มมีการตั้งร้านหนังสือของตนเองขึ้น ทำให้มีผลกระทบต่อร้านหนังสือทั่วไปอย่างไร … คุณเกียรติบอกว่า ก็มีผลกระทบพอสมควร โดยเฉพาะการจะติดต่อขอรับหนังสือไปจำหน่ายก็จะมีเงื่อนไขมากมาย ซึ่งดูไม่ค่อยยุติธรรมสักเท่าไหร่ แนวหนังสือที่อยากให้สำนักพิมพ์ผลิตมากที่สุด ก็คือหนังสือประเภทแนะแนวการศึกษา เพราะเท่าที่สังเกตดูจะพบว่าจะจำหน่ายได้มาก

สุดท้ายคุณเกียรติ ได้ฝากข้อคิดสำหรับคนทำร้านหนังสือไว้ว่า "การทำร้านหนังสือก็เหมือนกิจการที่คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า ขอแนะนำร้านค้าที่กำลังจะเปิดใหม่ ก็สามารถทำได้แต่อย่างอย่าคาดหวังในกำไรมากเกินไป ให้มีความอดทนสูง แม้การทำร้านหนังสือจะเป็นงานที่ง่าย แต่ก็น่าเบื่อ หากความอดทนไม่มากพอก็อาจจะล้มเลิกในกลางคันได้ สำหรับผู้อ่านที่จะไปซื้อหนังสืออย่าได้พิจารณาที่รูปเล่มสวยงาม เพียงอย่างเดียว ให้ดูที่เนื้อหาด้วย หรือหนังสือบ้างเล่มมีรูปแบบการนำเสนอที่ส่อไปการส่งเสริมให้เยาวชนได้รับรู้ถึงความรุนแรงในสังคม ก็ดูไม่ค่อยเหมาะสมที่จะนำมาวางจำหน่ายบนแผงหนังสือ"

ทางสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ขอขอบพระคุณทางร้านหนังสือ เค.เค. ที่ได้กรุณาเสียสละเวลาให้สัมภาษณ์ ทำให้เราได้รับรู้ถึงทัศนะ และความจริง ตลอดจนข้อคิดเห็นจากคนทำร้านหนังสือจริง ๆ ในครั้งนี้ด้วยครับ...

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ