ผู้ที่จะเขียนบทวิจารณ์ควรมีคุณสมบัติดังนี้
1. ต้องมีความรอบรู้ กล่าวคือ ต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่จะวิจารณ์เป็นอย่างดี เช่น จะวิจารณ์ดนตรีก็ควรมีพื้นฐานความรู้ดนตรี จะวิจารณ์ละครเวทีก็ต้องเข้าใจลักษณะของละครเวที มิใช่เอาละครโทรทัศน์ไปเปรียบกับละครเวทีแล้ววิจารณ์ว่าผู้แสดงละครเวทีแสดงเกินจริง เป็นต้น ดังนั้นผู้วิจารณ์ควรศึกษาเพื่อให้เกดความรู้ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อนรวมทั้งศึกษาถึงหลักการวิจารณ์งานประเภทต่าง ๆ ด้วยจึงจะทำให้บทวิจารณ์น่าเชื่อถือ
2. ต้องติดตามความเคลื่อนไหวของวงการที่จะวิจารณ์ การอ่าน การฟัง การดู การชม อย่างสม่ำเสมอ ทำให้เป็นผู้มีความรู้รอบ ทำให้มีมุมมองกว้างขวางขึ้น เกิดความเข้าใจ เห็นใจ หาเหตุผลมาแสดงทัศนะไม่ค่อนข้างต่างประเด็น เช่น การวิจารณ์ภาพยนตร์ไทยเปรียบเทียบกับ ภาพยนตร์ต่างประเทศถ้าผู้วิจารย์เข้าใจกระบวนการสร้าง และปัจจัยที่เป็นปัญหาในการสร้าง ภาพยนตร์ไทย ก็จะไม่โจมตีหรือติเตียนแต่ด้านเดียว ความเป็นธรรมจึงเกิดขึ้น ผู้อ่านก็จะเข้าใจ เห็นใจวงการภาพยนตร์ไทย เป็นต้น
3. ต้องมีญาณทัศน์ คือ ความคิดเฉียบแหลม หยั่งรู้ถึงแก่นเรื่องไม่พิจารณาแต่เพียง ผิวเผิน และด่วนสรุปเอาง่าย ๆ การจะฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้มีญาณทัศน์ทำได้โดยการสังเกต การลองตั้งคำถาม ตั้งสมมติฐาน และติดตามหาคำตอบด้วยความตั้งใจ
4. มีความเที่ยงธรรม การเป็นผู้วิจารณ์ที่ดีต้องตั้งตัวเป็นกลางไม่ชมเพราะเป็นเพื่อนหรือเพราะมีแนวคิดเหมือนกัน หรือเป็นพวกเดียวกัน ไม่ติเพราะไม่ชอบ ไม่ถูกรสนิยมผู้เขียน ต้องตัดอคติออกไปเอาเหตุผลและหลักการมาเป็นที่ตั้ง
ความเป็นกลางและจริยธรรมของผู้วิจารณ์ เป็นหัวใจสำคัญของงานวิจารณ์ ในปัจจุบัน วงการหนังสือ ดนตรี ละครหรือสื่อบันเทิงต่าง ๆ มีคุณค่าทั้งทางด้านศิลปะและเพื่อการค้า บทวิจารณ์จึงเป็นช่องทาง (Channel) หนึ่งที่จะช่วยชี้แนะให้ผู้อ่านเลือกสรรของดีมีคุณค่าประดับสติปัญญา หากผู้วิจารณ์ขาดความรับผิดชอบขาดคุณธรรมข้อนี้ วงการวิเคราะห์คงไม่ได้รับความเชื่อถือ
ผู้เขียนบทวิจารณ์จึงควรตระหนักในเรื่องจริยธรรม ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับคุณธรรมและมโนธรรม ซึ่งอริสโตเติล (Aristotle) ได้กล่าวถึงคุณธรรม 4 ประการ ที่มนุษย์พึงปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกัน ดังนี้
- ความรอบคอบ (Prudence)
- ความรู้จักประมาณ (Temperance)
- ความกล้าหาญ (Courage)
- ความยุติธรรม (Justice)
เมื่อนักวิจารณ์ทำหน้าที่สื่อมวลชน นักวิจารณ์จึงต้องตระหนักในคุณธรรมดังกล่าว นอกจากนี้ เสถียร พันธรังษี ยังได้ย้ำถึงคุณธรรมของนักหนังสือพิมพ์ว่า “ หนังสือพิมพ์ คือ ผู้บันดาลโลก หนังสือพิมพ์ต้องเป็นฝักฝ่ายของธรรมะ ไม่ใช่ของตัวกู ไม่ใช่ของคณะกู ไม่ใช่แม้แต่ประเทศของกู นักหนังสือพิมพ์ต้องอุทิศตนเป็นสมบัติของมนุษย์ทุกคน ทำอะไรต้องไต่ถามธรรมะก่อน ธรรมะที่สำคัญได้แก่ สำนึกแห่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดี อันมนุษย์อันพึงปฏิบัติต่อตนเองและผู้อื่น หมายถึง หิริ ( ความละอายต่อบาป ) และโอตัปปะ ( ความเกรงกลัวความชั่ว )
สมัครเข้าร่วมโครงการ : http://www.praphansarn.com/scholarships
ขอบคุณที่มา : http://www.huso.kku.ac.th