กฤษณา อโศกสิน ฝากถึงผู้จัด อยากให้ทำเรื่องใหม่ๆ บ้าง : ทำเรื่องซ้ำๆ เบื่อ... มีฝีมืออยู่แล้วไม่ต้องกลัวเรื่องเรทติ้ง

กฤษณา อโศกสิน ฝากถึงผู้จัด อยากให้ทำเรื่องใหม่ๆ บ้าง

มี โอกาสได้พบกับ “กฤษณา อโศกสิน” ในงานเสวนาวิเคราะห์ “ปูนปิดทอง” พร้อมกับเปิดตัวฉบับภาษาอังกฤษ โดย “รศ.ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร” อดีตนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย, “ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์” อาจารย์ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ บนเวทีพูดถึง นวนิยายเล่มนี้ว่า

 

กฤษณา อโศกสิน ฝากถึงผู้จัด อยากให้ทำเรื่องใหม่ๆ บ้าง

 

“รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร”
“เรื่องนี้เคยดูที่เป็นภาพยนตร์เมื่อ 30 ปีก่อน คนอ่านเล่มนี้ ถ้าไม่ใช่คนไทยจะได้เห็นความเป็นไทย ที่เปรียบมารดาบิดาเสมือนพระในบ้าน คนรุ่นใหม่ที่เกิดจากครอบครัวแตกแยก เจ็บแค้นอยากโต้กลับทำตัวเลวร้าย ทำตัวติดยาเสพติด เรื่องมากผัวหลายเมียยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทย เรื่องนี้ให้ความสำคัญกับรักแท้ นางเอก พระเอก ไม่อยากแต่งงานเพราะกลัวจะมีปัญหาเหมือนพ่อแม่ พระเอกก็ไม่ใช่คนสมบูรณ์แบบ

จะมีเสียงของพุทธศาสนา วาทกรรมพุทธศาสนา เป็นเสียงนำทาง พระเอกนางเอกไม่ใช่บัวเหนือน้ำ เป็นดอกบัวที่เกิดจากโคลนตม เราสามารถฟันฝ่าโคลนตมได้ ไม่ว่าจะเจอปัญหาใดๆ พอเป็นภาษาอังกฤษก็เป็นสิ่งที่ดี อยากให้วรรณกรรมไทยเผยแพร่ไปต่างประเทศ เล่มนี้ให้แง่คิดคนที่มีปัญหาครอบครัว ทางสว่างในชีวิตยังมี อยู่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและความแน่วแน่ของตัวเอง”

“ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์”
“สภาพสังคม 30 ปีที่แล้วกับปัจจุบันไม่ต่างกันเลย ทุนนิยม เงินตรา การพิสูจน์ตัวเองว่าประสบความสำเร็จ ทำตามตัณหาตัวเอง ผู้เขียนดึงสิ่งโน้นสิ่งนี้มาแล้วเสนอทางออก ใช้พุทธศาสนามาชโลมใจ เรื่องนี้ทันสมัยมาก คู่นางเอกพระเอกพยายามอยู่ก่อนแต่ง ไม่มีเพศสัมพันธ์ หยุดซึ่งตัณหา เพราะสองคนผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน

ปัจจุบันอะไรก็ได้มาง่ายๆ ทำให้มันช้าลง ความสุขของการรอคอย จนถึงจุดๆ หนึ่งที่พร้อมแล้ว ในสายตาของนักอ่านนานาชาติที่เหมือนคือ เมือง ความสัมพันธ์ ทุนนิยม ได้มาง่าย ทิ้งง่าย เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เล่มนี้ต้องการนำเสนอการรอ คุณค่าของการรอ มีประโยชน์มาก มีคุณค่า

ที่สำคัญมากคือการให้อภัย การเยียวยา ตัวละครกลับไปคุยกับพ่อกับแม่อีกครั้งหนึ่ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่คุยกัน เป็นความพยายามสื่อสาร แก้ปัญหา มีสำนวนหนึ่งที่ชอบคือ ความสัมพันธ์จะเลือกแบบไหน เป็นไม้ขีดจุดแล้วดับหรือเป็นตะเกียงส่องแสงยาวนาน ฉบับภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ไม่ยาก อ่านแล้วผมยังลุ้นเลยว่าคู่นี้จะจบยังไง”

“กฤษณา อโศกสิน”
"ที่มาของเรื่อง “ปูนปิดทอง” เคยสังเกตชีวิตครอบครัวคนไทยที่แตกแยกว่า ส่วนใหญ่จะลงโทษเด็ก ว่าเป็นเด็กเกเรไม่เอาถ่าน แต่ไม่ได้สาวไปถึงสาเหตุที่เด็กเกเรหรือมีความเก็บกด ดิฉันก็เลยผูกเรื่องหลายๆ ครอบครัวแตกแยกมารวมกัน ส่วนที่เล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษ เพราะ “คุณอาทร เตชะธาดา” มาซื้อ แล้วก็ขอแปลเป็นภาษาอังกฤษ"

การสร้างตัวละคร นางเอก บาลี มาอย่างไร
"ตัวบาลี เห็นคนหลายคนเป็นแบบนี้ ตัวดิฉันก็พยายามที่จะรวบรวมความนึกคิดของเขา ตัวพี่ข้างนอกเรียบร้อยแต่ข้างในเปรึ้ยวเลยพอจะทราบว่าคนเปรี้ยวคิดยังไง พอเราผูกเรื่องมาหลายบุคลิก ก็ต้องไปสรรหาความเปรี้ยวในแบบต่างๆ มาไว้ในตัวละครตัวใดตัวหนึ่งหรือหลายๆ ตัว แล้วถ้าเราอยู่ในสถานะนั้นเราจะทำอย่างไร

พี่เคยได้ยินหญิงสาวคนหนึ่ง ก็คงจะเปรี้ยวเหมือนกัน เขาพูดว่าไม่ชอบเลย การได้กันเร็วๆ เพราะได้กันแล้วมันเซ็ง พี่ก็เลยตกใจ ดีนะ มีคนคิดอย่างนี้ ก็เอาบุคลิกนี้มาสอดแทรกในคนใดคนหนึ่งที่เรา อยากจะให้เขาโดดเด่นขึ้นมา เป็นนางเอกของเรา แต่ไม่ใช่นางเอกลักษณะที่เป็นพาฝัน เป็นนางเอกที่โรแมนติกก็ไม่สันทัด เพราะอย่างนั้นก็ชอบมากเลยที่ได้ยินเด็กคนนั้นพูดแล้วก็ฝังใจจำมา แต่เก็บเอาไว้ในใจ ต้องแช่อิ่มก่อน แล้วถึงวันใดวันหนึ่งที่เราต้องใช้ ก็แล้วแต่ ค่ะ บางทีเราอาจจะเขียนเรื่องอื่นไปก่อน แต่ใจก็สั่นๆ นะว่าเมื่อไรจะได้เขียนถึงตัวละครนี้สักที"

อยากรู้วิธีคิดชื่อเรื่องนี้
"พอเราจะตั้งใจจะผูกเรื่องครอบครัว ความแตกแยก ความแตกแยกเกิดจากพ่อแม่ไม่ใช่ลูก แล้วลูกทุกครอบครัวต่อต้านพ่อแม่ เลยนึกขึ้นมาเราเปรียบพ่อแม่เป็นพระอยู่แล้ว พระพุทธรูปที่เป็นพระปลอมก็มี (เรื่องมาก่อน ชื่อมาทีหลัง)

ชื่อตัวละคร ดิฉันจะเฟ้นมากเลยค่ะ กว่าจะได้ชื่อแต่ละตัวนี่ก็คิด คิดหนัก ให้จิตใจตัวเองด้วย มีความหมาย แล้วก็หลายอย่าง กว่าจะลงตัว บางทีตั้งชื่อมาเรียงลำดับเลยนะ แล้วก็มาเลือกเอา ชื่อไหนจะเหมาะกับบุคลิกลักษณะของตัวละคร อย่างชื่อ บาลี นี่ฟังแล้วจำได้ง่าย ดิฉันจะเลือกชื่อที่จำง่าย แล้วก็เก๋

ไม่ซ้ำกับเพื่อนนักเขียน เราไม่อยากได้ชื่อว่าไปลอกเลียนเขา พยายามเลี่ยงทุกวิถีทาง เดี๋ยวเขาจะว่าได้ ดิฉันจะถือสามากค่ะ ถ้าทราบว่าใครตั้งแล้วจะไม่ตั้ง โดยเฉพาะตัวเอกนะคะ การตั้งชื่อมาจากเนื้อหาที่เราผูกขึ้น เราต้องผูกเรื่องก่อนแล้วก็มาตั้งชื่อ บางทียากมาก เป็นเดือนๆ ก็ยังไม่ได้ ส่งเรื่องก็ไม่ได้ เพราะว่าไม่มีชื่อ บางทีเขียนไปสองสามตอนก็ยังตั้งไม่ได้"

สมัยนี้มีพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวเยอะขึ้น คิดจะเขียนเรื่องคนสมัยนี้ไหม
"พี่คงเขียนไม่ได้หรอกค่ะ เขียนยากมากเลย เคยคิดเหมือนกันว่าจะเขียนเรื่องสังคมปัจจุบันสักเรื่องหนึ่ง แต่ยังรวบรวมความจริง แล้วก็จินตนาการให้ผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกันไม่ได้ ยังนึกอยู่ว่าจะจัดสรรตัวละครยังไงให้ผู้อ่านไม่เบื่อ แล้วนี่คือสังคมที่ปรากฎในปัจจุบันนี้ คือมันยากเหมือนกัน

มันยากกว่าที่เขียน "ปูนปิดทอง" เยอะ คือการนำตัวละครที่หลากหลายมากแล้วเขาก็ไม่มีอุดมคติที่แน่นอน คือเมื่อก่อนนี้คนยังมีอุดมคติที่แน่นอน ก็เขียนง่าย แต่พอไม่มีอุดมคิตปั้บเนี่ย นักเขียนจะเขียนยากทันทีเลย คือเขียนไปได้ แต่คนอ่านจะรู้สึกตามหรือเปล่า เนี่ยมันสำคัญตรงนี้ ผู้อ่านจะซาบซึ้งและคิดตาม ตรงกันกับนักเขียนหรือไม่"

นวนิยายใหม่เรื่องจ้าวอสุริน เกี่ยวกับโหราศาสตร์ การสร้างตัวละครต้องผูกดวงด้วยไหม
"ต้องผูกค่ะ ถ้าเผื่อเป็นโหราศาสตร์ ต้องผูกดวงทุกตัวเลย ผูกเฉพาะเรื่องโหราศาสตร์นะคะ คือเราจะต้องกำหนดว่าตัวละครอายุเท่าไร ก็ไปหาตามปฏิทินว่าจะ ในบุคลิกลักษณะแบบนี้มันจะลงล็อคกับดวงตรงไหน ก็จะเป็นทำนองนั้น ท้ายที่สุดพอได้ดวงแล้ว เราก็จะได้วันเดือนปี เวลาตกฟากพร้อมกันไปด้วย แล้วเราต้องดูด้วยว่าปีนั้นที่เกิดเหตุในท้องเรื่อง ดาวดวงไหนไปถึงไหน แล้วก็ทับดาวอะไร คือเราสามารถที่จะอ้างอิงได้"

ล่าสุดเรื่อง "เสื้อสัีฝุ่น" ถูกสร้างเป็นละคร รู้สึกอย่างไร
"เรื่อง “เสื้อสีฝุ่น” เป็นละครเย็น ทางช่อง 3 (นามปากกากัญญ์ชลา) เขาทำออกมาก็ดีค่ะ น่ารักดี เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตกรรมกร เขียนนานแล้ว คือวันหนึ่งดิฉันเห็นกรรมกรอยู่บนยอดตึก ก็มีความรู้สึกว่า กรรมกรนี่เขามีบุญคุณกับเรานะ เพราะเขาจะสร้างตึกให้คนที่มีระดับ มีฐานะขึ้นไปอยู่ ก็เลยเอามาเขียน พอดีเห็นเด็กคนหนึ่งเป็นสามล้อ ขับรถผ่านหน้าบ้านอยู่ตลอดเวลา หน้าตาสวยขำ วันหนึ่งเขาใส่หมวกปีกกว้าง ปิดเห็นตาคม โดดเด่นออกมา ก็เลยอยากให้เขาเป็นนางเอก

ข้อมูลกรรมกรได้มาอย่างไร
“กรรมกรนี่ ดิฉันคุ้นมากเพราะว่าที่บ้านซ่อมบ้านอยู่เรื่อย ก็จะมีกรรมกรมาอยู่ในบ้าน เข้ามาทุกวัน บ้านของเพื่อนก็เคยทำ ปลูกเพิงให้เขาอยู่ในบ้านเพื่อว่าเขาจะได้ค้างคืนที่บ้าน เช้าตื่นมาก็ทำงานเลย ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ก็เลยได้ไอเดียสองอย่าง กรรมกรที่บ้านเราด้วย กรรมกรที่บ้านเพื่อนด้วย ตอนนั้นสร้างบ้านใหม่เพราะว่าฝนตกลง ฝนตกนะ ไม่ใช่เกิดจากน้ำท่วมคราวปี 54 ดิฉันตัดสินใจรื้อบ้านเก่าสร้างบ้านใหม่ แล้วไปเช่าบ้านอยู่ ก็มีแรงงานเข้ามาในบ้านเยอะมากให้ลูกเป็นคนคุมงานแล้วมารายงานให้ฟัง"

นิยายที่เขียนแล้วถูกทำเป็นละคร ชื่นชอบเรื่องไหนเป็นพิเศษ
“เรื่อง "ข้ามสีทันดร" เขาทำออกมาได้ดีมาก นักแสดงทุกคนก็แสดงได้ดีมาก จนกระทั่งต้องโทรศัพท์ไปชม นักแสดงที่คัดเลือกมากก็ดีมาก ส่วนเรื่อง "เสื้อสีฝุ่น"เอาวัยรุ่นมาแสดงก็ดี ตอนแรกก็ไม่คุ้นกับเขา แต่ดูๆ ไปก็น่ารักดี"

มีเรื่องไหน อยากให้ทำเป็นละครบ้างไหม
"หลายเรื่องเลย “จำหลักไว้ในแผ่นดิน” เป็นเรื่องเกี่ยวกับสงครามเขมรกับญวน หนีมาเป็นผู้อพยพ ตอนที่ผู้อพยพกัมพูชา หลั่งไหลเขามาที่ชายแดนไทย ช่วง พ.ศ.2518 - 2522 แล้วก็มีอีกหลายเรื่อง

ส่วนใหญ่แล้วละครจะทำซ้ำ ตัวเราก็เบื่อ ไม่อยากขาย ก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง อยากให้ซื้อเรื่องใหม่ๆ บ้าง ลองทำดู ดิฉันมีความเห็นว่าน่าสนใจ ท้าทาย ให้เขาลองดู ส่วนใหญ่แล้วคณะละครก็มีฝีมืออยู่แล้ว ตอนนี้ก็พัฒนาไปไกลมาก ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะขายไม่ได้ หรือไม่มีเรทติ้ง

แล้วก็เรื่องนี้ “ปูนปิดทอง” เคยทำเป็นละครแล้ว 2 ครั้ง นานแล้ว คุณนิรุตต์ ศิริจรรยา กับ เดือนเต็ม สาลิตุลย์ สมัยนั้น ดีมาก อยากให้ทำเรื่องนี้อีกครั้ง อยากดูเรื่องนี้ด้วย อยากให้ดีกว่าเก่า แต่ไม่รู้ว่าจะหานักแสดงที่ไหน เคยทำนานมากแล้ว จำพ.ศ.ไม่ได้แล้ว อยากให้ทำเรื่องใหม่ๆ มีหลายเรื่องที่ท้าทาย เช่น ชุดล้านนา ก็อยากให้ทำ คือ “ เวียงแว่นฟ้า ขุนฟ้าดินเดียว ขุนหอคำ” "

ตอนนี้เขียนเรื่องอะไรอยู่บ้าง
"ที่เพิ่งจบไปคือเรื่อง "จ้าวอสุริน" แนวโหราศาสตร์ แล้วต่อด้วยเรื่อง “ดวงตาสีอำพัน” เป็นเรื่องจิตวิญญาณ ดิฉันไม่ได้คิดทำเองนะ เพื่อนคนหนึ่งที่เสียชีวิตไปแล้ว ก่อนเขาเสีย เขาส่งโครงเรื่องคร่าวๆ มาให้ ดิฉันก็ขอต่อเติม แล้วเขาก็เสียชีวิตไปภายใน 1-2 เดือนที่เขาส่งมาให้ ดิฉันเลยต้องเขียน ปกติไม่เคยเขียนเรื่องจิตวิญญาณเลย เรื่องประมาณผีๆ ไม่เคยเขียน เรื่องนี้สั้นนะคะ 15 ตอนจบ"

ปัญหา ครอบครัวในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากทัศนะต่อความเป็นครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป ”ปูนปิดทอง”เล่มนี้อาจจะมีคำตอบที่กำลังหาอยู่ก็เป็นได้

(“กฤษณา อโศกสิน” เป็นนามปากกาของ “สุกัญญา ชลศึกษ์” นักเขียนที่พัฒนางานเขียนตนเองตลอดเวลาจากเริ่มต้นเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรก ตอนอายุ 15 ผ่านไปร้อยกว่าเรื่องเปลี่ยนมาเขียนนวนิยาย ในปีพ.ศ. 2528 “ปูนปิดทอง” ได้รางวัลซีไรท์ (S.E.A. WRITE AWARD) หลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นละครและภาพยนตร์ อาทิ “เรือมนุษย์, ดวงตาสวรรค์, ฝันกลางฤดูฝน, น้ำผึ้งขม, เมียหลวง, ไฟหนาว, เสื้อสีฝุ่น, ข้ามสีทันดร, หน้าต่างบานแรก, คาวน้ำค้าง, เนื้อนาง, ลายหงส์, ปีกทอง, ห้องที่จัดไม่เสร็จ” และได้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาวรรณศิลป์ ด้านนวนิยาย เมื่อปี พ.ศ.2531)

 

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 14 พฤศจิกายน 2557

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ