“จงมองภาพนี้อย่างตั้งอกตั้งใจ เพื่อจะได้แน่ใจว่าจะจำภาพนี้ได้ ถ้าหากวันหนึ่งคุณมีโอกาสเดินทางไปในแอฟริกา ในทะเลทราย และถ้าบังเอิญคุณมีโอกาสผ่านไปทางนั้น ฉันขอร้องคุณอย่ารีบร้อนไป รอสักครู่หนึ่งตรงจุดใต้ดวงดาวนั้น ถ้าหากมีเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่งมาทักคุณ ถ้าเขาหัวเราะ ถ้าเขามีผมทองถ้าเขาไม่ตอบคำถามของคุณเวลาคุณถาม คุณจะเดาได้ทันทีว่าเขาคือใคร ได้โปรดกรุณาเถิดช่วยส่งข่าวถึงฉันด่วนว่าเขากลับมาแล้ว อย่าปล่อยให้ฉันเศร้าโศกต่อไปเลย”
นั่นคือตอนจบของวรรณกรรมเยาวชนแฝงปรัชญาเรืองนามที่ชื่อว่า Le Petit Prince หรือในฉบับภาษาไทยชื่อ เจ้าชายน้อย โดยสำนวนแปลของ อำพรรณ โอตระกูล เจ้าชายน้อย จะกระเดื่องไปทั้งโลกหรือไม่หนอ ถ้าฉากสุดท้ายของชีวิตผู้เขียนวรรณกรรมเรื่องนี้ไม่เศร้าสร้อยเหมือนตอนจบในวรรณกรรม นั่นคือเขาหายสาบสูญไปหลังจาก เจ้าชายน้อย ได้รับการตีพิมพ์ประมาณ ๑ ปี
“๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ที่จริงเป็น พ.ศ. ๒๔๘๗) เขาได้ออกบินลาดตระเวนเหนือดินแดนฝรั่งเศสแถบเมืองเกรอนอง เขาออกบินแต่เช้า จนบ่ายก็ยังไม่กลับ ทุกคนตระหนักดีว่าในเวลานั้นน้ำมันต้องหมดแล้ว จึงสรุปว่าเครื่องบินของเขาต้องประสบอุบัติเหตุ หรือไม่ก็ถูกเครื่องบินขับไล่ของเยอรมันยิงตก…”
เขาคนนั้นในตอนท้ายของประวัติแซงเตกซูเปรีในหนังสือ เจ้าชายน้อย ฉบับ อำพรรณ โอตระกูล ก็คือ อองตวน เดอ แซงเตกซูเปรี ผู้เป็นทั้งนักเขียนวรรณกรรมอันเป็นที่รักของผู้อ่านทั่วโลก และนักบินฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๒ การหายตัวไปอย่างลึกลับเป็นเวลา ๖๔ ปีของแซงเตก-ซูเปรีก่อให้เกิดข้อสันนิษฐานต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับสาเหตุการตายของเขา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินถูกข้าศึกยิงตก เครื่องบินประสบอุบัติเหตุ หรือแม้กระทั่งฆ่าตัวตายบัดนี้ปริศนานี้ได้รับการคลี่คลายแล้ว
อองตวน เดอ แซงเตกซูเปรี
อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี (Antoine de Saint-Exupery) หรือที่ใคร ๆ เรียกกันว่า “แซงเตก”(Saint-Ex) เกิดที่เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๐๐ เริ่มเป็นนักบินอาชีพด้วยการบุกเบิกเที่ยวบินการขนส่งไปรษณีย์ระหว่างประเทศ เส้นทางบินแรก ๆ ของเขาคือ ตูลูส-ดาการ์-คาซาบลังกา ต่อมาเขาถูกส่งไปเป็นหัวหน้าประจำอยู่ที่สถานีแหลมจูบีในโมร็อกโก จากประสบการณ์เหล่านี้เขาได้นำมาเขียนเป็นนวนิยายเรื่องแรกซึ่งมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Southern Mail (๑๙๒๙)
ต่อมาเมื่อไปประจำในอเมริกาใต้โดยปฏิบัติการบินตอนกลางคืนด้วย ทำให้เขาเขียนนวนิยายชื่อ Night Flight (๑๙๓๑) ในปี ๑๙๓๕ เขาประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกในทะเลทรายซาฮาราในเขตประเทศลิเบีย และคงจะเสียชีวิตไปแล้วหากไม่มีคนผ่านมาช่วยชีวิตไว้ได้ทันหลังจากติดอยู่กลางทะเลทราย ๓ วันเต็ม ๆ หลังจากนั้นแซงเตกหันไปสนใจการถ่ายภาพยนตร์โฆษณา และต่อมาก็ถูกส่งตัวไปยังกรุงมอสโกเพื่อเขียนบทความให้แก่หนังสือพิมพ์ Paris Soir จากนั้นเขากลับมาเป็นนักบินอีกครั้งเมื่อมีการเปิดเส้นทางบินไปสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาได้ร่วมบุกเบิกเส้นทางบินใหม่นี้ด้วย ในปี ๑๙๓๙ เขาเขียนหนังสือที่มีชื่อเสียงแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา เรื่อง Wind, Sand and Stars
แซงเตกยังคงบินและเขียนแม้ในช่วงเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลังจากฝรั่งเศสถูกยึดครองโดยนาซีในปี ๑๙๔๐ เขาก็ย้ายไปอยู่อเมริกา เขาเขียนและวาดภาพประกอบ เจ้าชายน้อย ที่นั่น ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๓ เจ้าชายน้อย ภาคภาษาฝรั่งเศสก็ได้รับการตีพิมพ์ในสหรัฐฯ ช่วงเวลา ๖๕ ปีที่ผ่านมา เจ้าชายน้อย ได้รับการแปลไปกว่า ๑๘๐ ภาษาและพิมพ์ขายทั่วโลกแล้วไม่ต่ำ กว่า ๕๐ ล้านเล่ม เป็นรองก็เฉพาะ คัมภีร์ไบเบิล และ วิมานลอย เท่านั้น
หลังจากอาศัยอยู่ในอเมริกานาน ๒ ปีกับอีก ๑ เดือน แซงเตกซูเปรีกลับมายังยุโรปเพื่อบินให้ขบวนการปลดปล่อยฝรั่งเศสและพันธมิตร โดยประจำที่ฐานทัพทะเลเมดิเตอร์เรเนียนขณะนั้นเขามีอายุ ๔๓ ปี สูงวัยกว่านักบินเกือบทุกคนมิหนำซ้ำยังมีอาการกระดูกร้าวจากการประสบอุบัติเหตุหลายครั้ง
แซงเตกซูเปรีบนเครื่องบินลาดตระเวณ ซึ่งเป็นเครื่องบินสองเครื่องยนต์คล้าย P-38 Lightning ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี ค.ศ ๑๙๔๔ โดย John Philips
ในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ แซงเตกซูเปรีได้รับมอบหมายให้ขับเครื่องบิน P-38 Lightning ซึ่งถูกมองว่าเป็นเครื่องบินที่ “อิดโรยจากสงครามและเป็นยานที่ไม่มีค่าทางอากาศ” คำสั่งสุดท้ายที่เขาได้รับมอบหมายคือ สืบความลับจากกองทหารเยอรมัน เขาทะยาน P-38 Lightning ขึ้นจากฐานทัพที่เกาะคอร์ซิกาในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และจากไปอย่างไม่มีวันกลับ
เพื่อค้นหาตัวผู้ที่อาจยิงเครื่องบินของแซงเตกซูเปรี ลิโน ฟอน การ์ตเซิ่น นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันเคยโทรศัพท์หาอดีตนักบินของกองทัพอากาศเยอรมนี หรือญาติของนักบินเหล่านั้นประมาณ ๑,๒๐๐ ครั้ง จนกระทั่งในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.๒๐๐๖ เขาต้องตกตะลึงเมื่อโทร. หา ฮอร์สต์ ริปเพิร์ต หนึ่งในนักบินเยอรมันคนท้าย ๆ ที่ประจำอยู่ในฐานทัพทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสในฤดูร้อนปี ๑๙๔๔ ริปเพิร์ตตอบการ์ตเซิ่นในทันทีว่า “คุณยุติการค้นหาได้แล้ว ผมเองที่เป็นคนยิงเอกซูเปรี”
การค้นหานายริปเพิร์ตและการสาธยายเหตุการณ์ซึ่งนำไปสู่การตายของแซงเตกซูเปรี บรรจุอยู่ในหนังสือภาษาฝรั่งเศสซึ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ ชื่อ Saint-Exupery: L’Ultime Secret (Saint-Exupery: the Final Secret) เขียนโดย ลุค วองแรลล์ นักดำน้ำในทะเลลึกชาวฝรั่งเศส ผู้ตามร่องรอยของแซงเตกตลอดมา และนักข่าวนาม ฌากส์ ปราแดลล์
ก่อนปี ๑๙๙๘ ยังไม่มีการค้นพบร่องรอยใด ๆ เกี่ยวกับการหายตัวไปของแซงเตก-ซูเปรี จนกระทั่งในปีนั้นชาวประมงชื่อ ฌอง-โคล็ด บิอองโก ซึ่งทำงานอยู่ที่ชายฝั่งทางตอนใต้ของเมืองมาร์แซย ประเทศฝรั่งเศส ได้พบกำไลเงินสลักชื่อ Antoine de Saint-Exupery, Consuelo ภรรยาของเขา และ Reynal and Hitchcock สำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์ผลงานของเขา
ลุค วองแรลล์(ซ้าย) และ ฌอง-โคล็ด บิอองโก(ขวา) ผู้ค้นพบหลักฐานที่ช่วยไขปริศนาการหายตัวไปของ แซงเตกซูเปรี (ภาพ : Nigel Dickinson / The New York Times)
กำไลเงินที่ ฌอง-โคล็ด บิอองโก ค้นพบ
วองแรลล์นักดำน้ำลึกในถิ่นนั้นจึงเริ่มทำการค้นหาซากเครื่องบินของแซงเตก-ซูเปรีไปตามชายฝั่งของมาร์แซย ในปี ๒๐๐๐ เขาค้นพบซากเครื่องบิน P-38 Lightning นอนอยู่ที่ก้นทะเลลึก ๘๐ เมตรใกล้กับเกาะริอูในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พอถึงเดือนเมษายน ค.ศ. ๒๐๐๔ กรมโบราณคดีใต้น้ำของฝรั่งเศสจึงออกมายืนยันว่าจากหมายเลขเครื่องที่ปรากฏบนซากเครื่องบินที่ค้นพบ ทำให้ระบุได้ว่าเป็นเครื่องบินของแซงเตกซูเปรี
ใกล้กับซากเครื่องบินของแซงเตก วองแรลล์พบซากเครื่องบินเยอรมันที่ผลิตโดยบริษัทเมสเซอร์ชมิตต์…หรือเครื่องบินของแซงเตกซูเปรีจะชนกับเครื่องบินของศัตรูกลางอากาศ ? เขาติดต่อไปยัง ลิโน ฟอน การ์ตเซิ่นนักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกองทัพอากาศเยอรมนี การ์ตเซิ่นติดต่ออดีตนักบินของกองทัพแห่งนี้นับร้อยคนก่อนจะตีวงให้แคบเข้าเหลือเพียง ๕ คน และในที่สุดก็ได้พบกับ ฮอร์สต์ ริปเพิร์ตจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย การ์ตเซิ่นใช้เวลาอีกถึง ๒ ปีในการตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนออกมาประกาศต่อโลกว่า ริปเพิร์ตเป็นผู้ยิงเครื่องบินของแซงเตกซูเปรีตก
ริปเพิร์ตทบทวนความหลังว่า ในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ ขณะขับเครื่องบินลาดตระเวนอยู่เหนือน่านฟ้าทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสซึ่งเป็นเขตยึดครองของเยอรมนี เขาเห็นเครื่องบิน P-38 Lightning บินต่ำอยู่ลำเดียวบริเวณท้องทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเบื้องล่าง เครื่องบินบ่ายหน้าจากตูลูสไปยังมาร์แซย นักบินขับเครื่องบินโดยปราศจากความระมัดระวัง ประหนึ่งเขากำลังอยู่ในความรื่นรมย์ เขาบินต่ำเพียงประมาณ ๖,๐๐๐ ฟุต
“ถ้าคุณเคยอยู่ในการต่อสู้ทางอากาศอย่างหนักหนาสาหัส นั่นไม่ใช่สิ่งที่ธรรมดา…เขามองไปรอบ ๆ…ดูเขาไม่ถูกรบกวนด้วยการปรากฏตัวของผม…เขาแล่นไปเหนือทะเลและบินตรงไปยังแผ่นดินใหญ่ ผมพูดกับตัวเองว่า “โอเค ไอ้หนู ถ้าแกไม่หายตัวไปละก็ ฉันจะยิงแก” ผมขับเครื่องบินไปในทิศทางเดียวกับเขา และยิง ไม่ใช่ที่ลำตัวเครื่องบิน แต่เป็นที่ปีกทั้งสอง ผมยิงโดนเขา เครื่องบินตกลงไปในทะเล ไม่มีใครกระโดดออกมา “ผมมองไม่เห็นนักบิน แต่ถึงแม้จะเห็น มันก็เป็นไปไม่ได้สำหรับผมที่จะรู้ว่านั่นคือแซงเตกซูเปรี…”ริปเพิร์ตกล่าว
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จบลง ริปเพิร์ตยังคงเป็นนักบินต่อไป ก่อนจะหันมาเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ประกาศข่าวกีฬาทางวิทยุและโทรทัศน์ ในช่วงหลังสงครามโลกนี้เองที่เขาได้ข้อมูลว่าเครื่องบินของ อองตวน เดอ แซงเตกซูเปรี หายไปในวันเดียวและบริเวณเดียวกับที่เขายิงเครื่องบินลำนั้นตก
ริปเพิร์ตเชื่อว่าเขาเป็นคนยิงเครื่องบินของแซงเตก-ซูเปรีตก ทว่าเขาก็ปรับทุกข์เรื่องนี้ไว้ในสมุดบันทึกเท่านั้นและไม่เคยยอมพูดเรื่องนี้กับสาธารณะ จนกระทั่งวันที่การ์ตเซิ่นโทรศัพท์ไปหาเขา ความคิดที่ว่าเขาอาจเป็นคนยิงแซงเตกซูเปรีสร้างความเจ็บช้ำให้แก่ริปเพิร์ตมาโดยตลอด นั่นก็เพราะว่าแซงเตกซูเปรีคือบุคคลในอุดมคติของเขา ปัจจุบันริปเพิร์ตมีอายุ ๘๘ ปี เขากล่าวถึงความประทับใจที่มีต่อผลงานของแซงเตกซูเปรีว่า “เมื่อครั้งที่พวกเรายังเป็นเด็กนักเรียน เราต่างอ่านและชื่นชมหนังสือของเขา เขารู้ว่าจะบรรยายถึงท้องฟ้า ความคิดและความรู้สึกของนักบินอย่างไร งานของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเราหลายคนฝันอยากเป็นนักบินมืออาชีพ พวกเขาบอกผมภายหลังว่านั่นคือแซงเตก-ซูเปรี…โอ มันเหมือนกับหายนะ” “ผมหวัง และยังหวังว่านั่นไม่ใช่เขา”
ขอขอบคุณ : คุณ Udo Kruger และคุณอัชราวัลย์ หิริโอตัปปะ
ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 281 กรกฎาคม 2551
ขอบคุณที่มา http://www.sarakadee.com/2008/08/19/le-petit-prince/