แดนอรัญ แสงทอง : นักเขียนที่มองไกลกว่า ‘ซีไรต์’

แดนอรัญ แสงทอง

ประกาศผลเป็นที่เรียบร้อยไปแล้วสำหรับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2557 ออล แม็กกาซีน ขอแสดงความยินดีกับ ‘แดนอรัญ แสงทอง’หรือ ‘เสน่ห์ สังข์สุข’ และได้ขอนัดพบอีกครั้งท่ามกลางบรรยากาศงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 19 เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองว่าด้วยชีวิตและผลงานของนักเขียนคนหนึ่งที่กว่าจะคว้าชัยในประเทศ ผลงานของเขาก็โลดแล่นบนแผงหนังสือของต่างประเทศเป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว

 

แดนอรัญ แสงทอง

 

‘อสรพิษและเรื่องอื่น ๆ’ ประกอบด้วยเรื่องสั้นทั้งหมด 12 เรื่อง ถือเป็นการหมุนเวียนของเรื่องเล่าไร้กาลเวลา ผ่านภาษาที่ผู้อ่านต้องละเมียดอย่างช้า ๆ เพื่อซึมซับพลังของเรื่องเล่าที่ย้อนอดีตจากเทพปกรณัม นิทานชาดกหรือตำนานโบราณต่าง ๆ อย่างมีสัมพันธบท เช่นเรื่อง‘อสรพิษ’ เป็นเรื่องราวของเด็กพิการผู้ต่อสู้กับงูจงอาง ด้วยการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เมื่อเขาหมดพลังศรัทธากับการเอาชีวิตรอดด้วยความฉ้อฉล ชีวิตก็ถึงแก่หายนะ ซึ่งไม่ใช่เพราะพิษงู แต่เป็นฝีมือของอธรรมที่แฝงอยู่ในมายาคติความเชื่อเรื่องการทำลาย ความโดดเด่นของเรื่องสั้นชุดนี้ยังมีภาษาที่วิจิตร และพลังสะเทือนอารมณ์ ด้วยน้ำเสียงหนักแน่นเฉกเช่นนักเขียนที่เรากำลังสนทนาอยู่ ณ เวลานี้

All : จุดเริ่มต้นที่ทำให้ ‘แดนอรัญ แสงทอง’ อยากจะโลดแล่นบนเส้นทางวรรณกรรม
แดนอรัญ แสงทอง
: ตอนอายุประมาณ 8 – 9 ขวบได้อ่านหนังสือ ฟังวิทยุ AM ก็จะมีรายการต่าง ๆ เช่น ละครวิทยุ แล้วผมก็ได้ฟังรายการวรรณกรรมทางอากาศ เขาอ่านพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน เป็นภาษาไทยปนภาษาอังกฤษฟังก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง พอตกเย็น รายการก็จะอ่านเป็นตัวบทวรรณกรรมแท้ ๆ พอเริ่มอ่านหนังสือออกก็อ่านหมดเกลี้ยงที่มีอยู่ในบ้าน และได้อ่านนิตยสารบางกอก, ผดุงศิลป์, เดลิเมล์ วันจันทร์ ที่บ้านเป็นหมอยาแผนโบราณ มีตำราเยอะ เช่น สมุดข่อย ใบลาน ก็อ่านหมด โตมาหน่อยเริ่มอ่านวรรณกรรมปัญญาชนในสมัยนั้น ผมซึมซับจากอะไรพวกนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่เมื่อได้อ่านเรื่องสั้นที่เขียนลงในนิตยสารเดลิเมล์เกี่ยวกับไอ้หนุ่มคนหนึ่งที่อยากเป็นนักเขียน แล้วตัวละครก็ฝันว่าตัวเองจะเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง มีเงินทอง มีเกียรติยศ นอกจากนี้ก็ได้อ่านนวนิยายแปล เมื่อเข้าสู่วงการวรรณกรรม ผมน่าจะได้รับอิทธิพลจากคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ หลังจากที่ได้อ่านนิตยสารฟ้าเมืองไทย

All : ‘แรงบันดาลใจ’ ที่ทำให้อยากเป็นนักเขียนอาชีพ
แดนอรัญ แสงทอง
: ผมอ่านนิตยสารฟ้าเมืองไทยของพี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ถือเป็นแบบอย่างในการทำนิตยสารคุณภาพที่สร้างแรงบันดาลใจแก่นักเขียน ในสมัยนั้นถ้าเรื่องสั้นหรืองานแปลได้ตีพิมพ์ในนิตยสารฟ้าเมืองไทยหรือฟ้าเมืองทอง คุณจะรู้สึกดีมาก ๆ เพราะพี่อาจินต์จะคอยให้กำลังใจ ให้คำแนะนำ ติติง และทำให้นักเขียนเป็นคนที่มีคุณค่ามาก แม้ว่าจะดูเหมือนดุ แต่ก็ถือเป็นการสร้างนักเขียน ตอนที่ส่งงานเขียนไปลงที่ฟ้าเมืองไทย งานของผมก็ลงตะกร้าเป็นส่วนใหญ่ ตามสโลแกนที่ว่า ‘ตะกร้าสร้างนักเขียน’ จริง ๆ ‘แดนอรัญ แสงทอง’ นักเขียนที่มองไกลกว่า ‘ซีไรต์’

All : กว่าจะเป็นนักเขียน นักแปลเช่นทุกวันนี้ บ่มเพาะตัวเองอย่างไรบ้าง
แดนอรัญ แสงทอง
: ผมเป็นเด็กเกเรสอบติดที่ไหนก็เรียนที่นั่น ตอนเรียนวรรณคดีอังกฤษที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) ขยันอ่านหนังสือมาก และได้ศึกษาวรรณกรรมทั้งตะวันตก – ตะวันออก ได้เรียนบทละครของเชคสเปียร์โดยอาจารย์มาร์ติน กรอส ชาวอังกฤษ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนวิชาการละคร ผมเป็นสานุศิษย์ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ชอบอ่านงานของต่างประเทศ และรับได้อิทธิพลจากงานของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ประโยคในการเขียนของผมจึงเป็นประโยคภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ แต่ใช้ภาษาไทยแท้ดั้งเดิม ผมน่าจะเป็นคนเดียวที่ยังใช้ภาษาไทยแท้ ๆ ในงานเขียน ภาษาไทยแท้ ๆ จะมีเสียงถึง 5 ระดับคือ เสียงเอก โท ตรี จัตวา เป็นภาษาที่มีมาตรฐานมาก ๆ หรือภาษาพูดของเราก็เป็นภาษาที่ไพเราะมาก ๆ ถ้าคนพูดเขาพูดเป็น เช่น ดีเจบางคนพูดน่าฟังจนลิงหลับ ภาษาเป็นศาสตราวุธของนักเขียน เพราะนักเขียนไม่ได้จับปืน แต่นักเขียนจับปากกา ก็ต้องมั่นใจในการใช้ภาษาของตนเอง ผมคิดว่าร้อยแก้วของผมเป็นร้อยแก้วที่ไพเราะมาก ๆ และเป็นร้อยแก้วที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เพราะผมไม่เคยวางมือจากงานเขียน ยังคงทำงานหนักทุกวัน

All : ในแต่ละวันมีกำหนดตายตัวหรือไม่ ว่าต้องเขียนงานให้ได้วันละกี่หน้า
แดนอรัญ แสงทอง
: ไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไร เขียนไปเรื่อย ๆ บางวันก็อ่านหนังสือทั้งวัน แต่เวลาจะทำงานเขียนต้องเงียบมัน จึงจะเกิดความเข้มข้นทางความคิด ถ้าตรงไหนเสียงดังผมก็จะย้ายบ้านหนี เพราะผมต้องทำงานทุกวัน แม้ไม่ได้แข่งขันอะไร หรือกับใคร แต่เราก็ทำงานของตัวเองไป และไม่ได้ลงทุนอะไรมากแค่ซื้อปากกา ซื้อสมุด แล้วก็ลงมือเขียนอย่างจริงจัง ด้วยความซื่อตรงต่อความคิด ผมยังใช้วิธีเขียนด้วยมือ แก้แล้วแก้อีก อ่านซ้ำไปซ้ำมา จนกว่าจะพอใจ แล้วค่อยพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์

All : อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นนักเขียนอาชีพ
แดนอรัญ แสงทอง
: มันเป็นธรรมชาติไปแล้วละ เวลาจะเขียนอะไรก็ต้องศึกษาข้อมูล ภาษาก็เป็นสิ่งสำคัญที่นักเขียนใช้เป็นศาสตราวุธในการเขียน ผมจะชอบงานของอุษณา เพลิงธรรม (ประมูล อุณหธูป) ในฐานะครู เวลาว่าง ๆ ก็จะอ่านงานของเขาเยอะมาก อ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมว่างานเขียนทุกประเภท อันดับแรกภาษาต้องดี การที่จะเป็นนักเขียนสิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องเป็นสไตลิสต์ หมายถึงเป็นคนที่มีท่วงที ลีลาในการเขียนที่เป็นแบบฉบับของตนเอง เหมือนการเป็นนักร้อง อันดับแรกคุณต้องร้องเพลงให้เพราะก่อน ไม่ใช่แค่หน้าตาหล่อ สวย คุณจะเป็นนักเขียนต้องเขียนด้วยภาษาที่ดี อย่างงานของพี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ ก็จะเน้นที่แอ๊คชั่น โครงเรื่อง มีไดอะล็อกที่กระชับและคมคาย ส่วนของอุษณา เพลิงธรรมจะเน้นที่บรรยากาศ ความพลิกผัน เปลี่ยนแปลงหรือเชิงจิตวิทยาของตัวละคร ก็เป็นจริตของนักเขียนแต่ละคน ส่วนผมจะเอียงไปทางอุษณา เพลิงธรรมแม้จะพยายามทำให้เหมือนครู แต่สุดท้ายผมก็กลับมาเป็นตัวเอง ครูยังสนใจสตรีเพศเพียงอย่างเดียว (หัวเราะ) ส่วนผมมียังมีความสนใจในธรรมะ

All : เห็นว่าช่วงหลัง ๆ หันมาสนใจในพระพุทธศาสนาและกำลังจะเขียนเรื่องพระป่าใช่หรือเปล่า
แดนอรัญ แสงทอง
: การทำงานถ้าคุณมีความรักที่จะทำ งานมันก็ออกมาสนุก และถ้าวันหนึ่งผมหลงรักในพระพุทธศาสนาก็จะศึกษาให้ถึงที่สุด ความน่าเบื่อเป็นบาปอันร้ายแรง สิ่ง หนึ่งที่สำคัญมากของพุทธศาสนา คือเรื่องอนุสติ 10 ประการ และช่วงนี้กำลังว่าจะเขียนนิยายเกี่ยวกับพระป่า ซึ่งเป็นเรื่องซีเรียสมาก การเป็นพระไม่ต้องทำมาหากิน และพระในปัจจุบันก็เป็นกาฝากทางสังคมเป็นส่วนใหญ่ การเขียนเรื่องนี้ค่อนข้างซีเรียส เพราะเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณ การแสวงหาความหลุดพ้นจากโลกใบนี้

 

 

All : ผลงานเขียนที่ทำให้นักอ่านเริ่มคุ้นชื่อ ‘แดนอรัญ แสงทอง’ มีเล่มไหนบ้าง
แดนอรัญ แสงทอง
: ผมเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อว่า ‘เพลงศพ’ ตี พิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ หลังจากนั้นก็เขียนมาเรื่อย ๆ เช่น เรื่องสั้น ‘ทุ่งร้าง’ ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่นจากนิตยสารฟ้าเมืองทอง ผลงานรวมเล่มคือ ผู้ถูกกระทำ, ยามพราก, เงาสีขาว, อสรพิษ, เพลงรักคนพเนจร, เจ้าการะเกด, ดวงตาที่สาม ส่วนเรื่องที่ผมอยากจะแนะนำให้คุณไปหาอ่านคือ ‘เรื่องรักที่หมาย’ เรื่อง สั้นที่มีเวลาเป็นตัวกำหนด คุณต้องใช้เวลาอ่าน 6 นาที เพราะผมใช้วิธีการเขียนแบบล็อคเวลาเอาไว้ ภาษาจะลื่นไหลตามจังหวะ เมื่ออ่านจบก็ใช้เวลา 6 นาทีพอดี ‘แดนอรัญ แสงทอง’ นักเขียนที่มองไกลกว่า ‘ซีไรต์’

All : ทราบมาว่างานเขียนของ ‘แดนอรัญ แสงทอง’ มียอดขายในต่างประเทศค่อนข้างสูง มีหลักการเขียนนิยาย หรือเรื่องสั้น ให้ได้มาตรฐานที่ต่างชาติยอมรับอย่างไรบ้าง
แดนอรัญ แสงทอง
: ฝรั่งเขาอ่านงานของนักเขียนไทยทุกคน คุณมาแซล บารังส์ เป็นชาวฝรั่งเศส อยู่เมืองไทย 40 กว่าปี แกเจอเรื่องสั้นหรือนิยายดี ๆ ก็จะแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส แต่ผมไม่ทราบว่าคนอื่นเป็นอย่างไรบ้าง แต่งานของผมรอด อย่างในทวีปยุโรปหรืออเมริกาตามห้องสมุดใหญ่ ๆ เขามีหนังสือจากประเทศไทยอ่าน เช่น มติชน สยามรัฐ ฯลฯ งานเขียนของศิลปินหลายคนจากประเทศไทยหกล้มตายทั้งนั้น เพราะมันจืด คุณต้องมีจุดแข็ง ต้องกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวมาก ๆ และที่เรายึดถือค่านิยมทางวรรณกรรมต้องมีกฎเกณฑ์ทางมารยาท นี่การประกวดวรรณกรรม ไม่ใช่ประกวดนักเขียนมารยาทงาม อย่างตัวละครในเรื่อง ‘เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง’ มันคันไข่ ก็เลยเกาไข่ของมัน เขาก็เป็นคนลักษณะอย่างหนึ่งในสังคมนี้เหมือนกัน จะต้องเขียนเรื่องที่ถูกศีลธรรมเป็นแบบอย่างเดียวหรือ ออสคาร์ ไวล์ดเคยพูดไว้ว่า มันไม่มีหรอกเรื่องที่ถูกศีลธรรมหรือผิดศีลธรรม มีแต่งานเขียนที่ดีหรือไม่ดีเท่านั้น

All : แสดงว่า ‘ยอดขาย’ ในต่างประเทศสามารถเลี้ยงชีพในปัจจุบันได้ใช่หรือเปล่า
แดนอรัญ แสงทอง
: ก็น่าจะประมาณนั้น ถ้าคุณคิดว่าเขียนหนังสือแล้วขายไม่ได้ก็ไปทำอย่างอื่น แต่สำหรับผมมันไม่ใช่ ผมเลือกที่จะเขียนหนังสือและจะเขียนให้ดีด้วย ผมไม่ได้หวังอะไร เอาเป็นว่าผมมีงานเขียนตีพิมพ์เกือบ 100,000 เล่ม ในทวีปยุโรป อย่างเรื่อง ‘เจ้าการะเกด’กับเรื่อง ‘เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง’ เริ่มต้นที่ 7,000 เล่ม แล้วยังมีเรื่อง ‘เงาสีขาว’ ที่ แปลเป็นภาษาสเปน ทำเป็นอีบุ๊คฉบับภาษาอังกฤษ คุณมาแซล บารังส์ เขาเลือกงานของผมไปแปล แล้วขายดีในทวีปยุโรป เขาก็จะรอเล่มต่อไปอีก (หัวเราะ) งานของเราไปอยู่ในตลาดโลกก็ต้องแข่งกับตลาดหนังสือคุณภาพของยุโรปอีกมากมาย ถ้าเขียนเรื่องน้ำเน่าจะไปแข่งอะไรได้ มันสะตึ (ไม่มีค่า) งานเขียนต้องเข้มข้น ฉะนั้นจะมาอ้อแอ้ไม่ได้ คุณต้องเข้มแข็งมาก ๆ ไม่อย่างนั้นคุณก็เป็นแค่นักฟุตบอลระดับจังหวัด ไปแข่งระดับโลกไม่ได้สักที สิ่งสำคัญคือ ต้องทำให้ได้มาตรฐาน ถ้าทำได้คุณก็อยู่ได้ กีฬาในยุโรปและอเมริกามีการแข่งขันสูงมาก งานวรรณกรรมก็เช่นเดียวกัน ช่วงหนึ่งทางมหาวิทยาลัยวอชิงตันในอเมริกา ติดต่อมาหาผมทางคุณมาแซล บารังส์ เขาเลือกวรรณกรรมประจำชาติจากทั่วโลกมาแปล โดยใช้ทุนของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซึ่งของประเทศไทยมีหนังสือส่งไป 2 เรื่องคือ ‘ขุนช้างขุนแผน’ กับ ‘เงาสีขาว’ แต่เงาสีขาวแพ้ขุนช้างขุนแผน ก็ไม่เป็นไร เราแพ้วรรณกรรมประจำชาติ ผมไม่เสียใจอะไรเลย (หัวเราะ) ไม่แน่อีก 1,000 ปี เรื่องเงาสีขาวก็อาจจะเป็นวรรณกรรมประจำชาติก็ได้ (หัวเราะ) งานวรรณกรรมมันก็เหมือนการวิ่งผลัด ผมก็รับไม้ต่อจากครูบาอาจารย์

All : มองวงการวรรณกรรมในบ้านเราเป็นอย่างไรบ้าง
แดนอรัญ แสงทอง
: วงการเรื่องสั้นมันไม่ตายหรอก ผมเขียนงาน ‘อสรพิษ’ ยังขายในยุโรปได้ 70,000 กว่าเล่ม ผมไม่ได้สนใจรางวัลอะไรทั้งสิ้น คุณทำงานได้มาตรฐานโลกหรือเปล่าล่ะ นักเขียนก็ต้องเขียนเรื่องให้มันดีก่อน วงการวรรณกรรมจึงจะอยู่ได้ แล้วคนอ่านเขาจะหาอ่านเอง ถ้าเขาไม่หาอ่านก็มีคนอื่นมาบอก เช่น มีนักวิจารณ์หรือเพื่อนฝูง ลูกหลานแนะนำกันอ่าน เรื่องสั้นไม่มีวันตายหรอก ยกเว้นความรักในหนังสือ หรือความรักในงานวรรณศิลป์อาจจะตายไปจากจิตใจคน นักเขียนก็อย่าไปเขียนเพื่อหวังเอารางวัลเพียงอย่างเดียว

All : เมื่อปี 2551 ‘แดนอรัญ แสงทอง’ ได้เครื่องอิสริยาภรณ์ด้านศิลปะและอักษรศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และในปีนี้ ได้รับรางวัลซีไรต์ มีความรู้สึกอย่างไรกับรางวัลที่ได้รับ
แดนอรัญ แสงทอง
: มันก็เป็นเรื่องทางสังคม ผมไม่ได้รู้สึกอะไรกับเรื่องพวกนี้ เขาให้ก็ไปรับ แต่ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมอะไร แค่ทำงานของตัวเองอย่างเข้มแข็ง และเต็มที่ก็เพียงพอแล้วครับ ก็จะยุ่ง ๆ หน่อยในช่วงนี้เพราะต้องให้สัมภาษณ์หลายสื่อ แล้วก็มาเซ็นหนังสือในบูธ ตามคำขอของสำนักพิมพ์เพื่อให้เสร็จสิ้นกิจกรรมทางสังคม ‘แดนอรัญ แสงทอง’ เป็นนามปากกาของ ‘เสน่ห์ สังข์สุข’ ผู้ได้รับฉายาว่า ‘ขบถวรรรณกรรม’ สำเร็จการศึกษาด้านวรรณคดีอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เคยทำงานเป็นล่ามให้กับองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา หรือUSAID (United States Agency for International Development) และ เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงทวีปยุโรป จนกระทั่งปี 2551 รัฐบาลฝรั่งเศสมอบเหรียญอิสริยาภรณ์ชั้นเชอวาลิเย่ร์ (Chevalier De L'Ordre Des Arts Des Lettres) ด้านศิลปะและอักษรศาสตร์ จากกระทรวงวัฒนธรรม และล่าสุดได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2557 กับเรื่อง ‘อสรพิษและเรื่องอื่น ๆ’

 

ขอบคุณที่มา : http://www.all-magazine.com

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ