ปกรณ์ ทวีสิน ประธานกรรมการ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) : "การอ่าน" สำคัญไฉน... เรามีคำอธิบายจากประสบการณ์ตรง ที่ได้จากการอ่านของคุณปกรณ์ ทวีสิน

ปกรณ์ ทวีสิน ประธานกรรมการ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

"การอ่าน" สำคัญไฉน... นี่คงไม่ใช่คำถามสำคัญสำหรับวันนี้ที่เราจะมาถามท่านผู้อ่าน แต่เรามีคำอธิบายจากประสบการณ์ตรง ที่ได้จากการอ่านของคุณปกรณ์ ทวีสิน ประธานกรรมการ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่จะทำให้เราเข้าใจอย่างชัดเจนขึ้นมาว่า การอ่านนั้นสำคัญกับชีวิตของเราอย่างไร...

"การอ่านหนังสือ... คล้ายๆ กับผมได้รับการอบรมมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าควรจะอ่านหนังสือ ผมอ่านหนังสือทุกชนิด แต่สมัยอยู่แบงก์กิ้งผมกลับมาเมืองไทยประมาณ ค.ศ. 1965 สมัยนั้นแบงก์กิ้งบ้านเราเพิ่งจะเริ่มจริงๆ สมัยสงครามโลก หลังสงครามเกาหลี มีแบงก์เกิดขึ้นมามากพอสมควร สมัยนั้นแบงก์ไทยมีประมาณ 15 แบงก์ คนที่ทำงานแบงก์ค่อนข้างจะเยอะ แต่ธุรกิจสมัยนั้นเราทำธุรกิจกับต่างประเทศเยอะ ทั้ง Export , Import มันก็มีการติดต่อในเรื่องแบงก์กิ้ง ผมคิดว่าในสมัยนั้นธุรกิจแบงก์กิ้งของเรา คนอ่านหนังสือมีน้อยมาก เขาใช้วิธีรุ่นพี่สั่งมาว่าทำอย่างไรก็ให้ทำอย่างนั้น เทคโนโลยีในเรื่องแบงก์กิ้งสมัยนั้นเราค่อนข้างจะไม่ก้าวหน้ามากนัก ผมโชคดีที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือและผมก็สะสมตำราแบงก์กิ้งไว้เยอะเหมือนกัน ซึ่งขณะนี้มันหายไปไหนบ้างไม่รู้ เพราะผมเคยตั้งห้องสมุดที่ธนาคารไทยทนุ และผมก็ยกหนังสือทั้งหมดให้กับธนาคารไทยทนุ ตอนนี้มันเป็นธนาคารทหารไทยแล้ว ไม่รู้หรือมันยังอยู่หรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่สิ่งที่อยากจะพูดก็คือว่า ไม่ได้อวดอ้างตัวเอง เพราะสมัยเด็กๆ ผมตั้งเวลาให้กับตัวเองว่าอาทิตย์หนึ่งผมจะทำอะไรบ้าง ตอนนั้นอาทิตย์หนึ่ง 3 คืน ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องอ่านหนังสือทั้ง 3 คืน อ่านหนังสือแบงก์กิ้ง มันทำให้เราเข้าใจธุรกิจการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างได้ลึกซึ้งและก็มาก เวลาที่เราใช้ในขณะที่คนไปทานเลี้ยงแต่เรามาอ่านหนังสือและศึกษา ทำให้ชีวิตการงานของเราไปได้มั่นคงและก็...อาจจะใช้คำว่าเร็วพอสมควร เพราะว่าเราได้เปรียบ ในการที่เราไม่ทิ้งและเราเสาะแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ได้พูดโอ้อวดนะ สมัยนั้น 1.ถ้าเรารู้ภาษาอังกฤษ 2.ถ้าเราเสาะแสวงหาว่าหนังสือที่สำคัญ และควรจะหาที่ไหน อย่างไร ก็สั่งเข้ามาเรื่อยๆ และก็อ่าน ทำให้เราได้เปรียบเพื่อนทำงานของเรา ทำอย่างนั้นมาเป็นเวลา 10 ปีเหมือนกัน คนเราอย่างที่สมัยนี้เขาพูดกัน มันไม่มีวันที่เรียนจบมันต้องเสาะแสวงหาความรู้ตลอดเวลา สมัยนี้อย่างที่เรารู้กัน ว่าเทคโนโลยีมันง่ายนิดเดียว อยากจะรู้อะไรก็แค่เคาะนิดเดียว สมัยนั้นโอกาสแบบวันนี้มันมีน้อยมาก มันต้องอ่าน ต้องเสาะแสวงหาหนังสือดีๆ สมัยนี้ ถ้าเราสนใจจริงๆ โอกาสที่เราจะก้าวหน้ามีเยอะมาก แต่เราจะหยุดไม่ได้กับการที่จะเสาะแสวงหาความรู้"

หนังสือเล่มไหนที่ประทับใจ อ่านแล้วรู้สึกว่ามันเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาวิธีคิด มีเล่มไหนบ้าง

"ดีที่สุดที่ผมเคยอ่านเป็นหนังสือไทยแต่งโดยอาจารย์ประยูร จินดาประดิษฐ์ เขาตั้งชื่อหนังสือว่า การธนาคารพาณิชย์ในเมืองไทย เป็นหนังสือเล่มหนาประมาณ 3 นิ้วได้ พูดง่ายๆ ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นคัมภีร์ ถ้าใครอ่านหนังสือนั้นได้เต็มทั้งเล่ม ซึ่งผมอ่านแล้ว แบงก์ครบทั้งเล่ม คุณจะเป็นแบงก์เกอร์ได้สมบูรณ์ที่สุด เป็นหนังสือที่เป็นตำราในสมัยนั้น เป็นแบงก์กิ้งที่ธรรมศาสตร์ , จุฬาฯ ในเล่มนี้ แต่ผมยังสงสัยว่ามีใครอ่านได้ถึงเล่มหรือเปล่า แต่ผมอ่านได้ครบ เรียกว่ารวมแบงก์กิ้งทั้งหมด หนาประมาณ 3 นิ้วได้ เป็นเบสิคแบงก์กิ้งที่ถูกต้อง แต่แบงก์กิ้งสมัยนี้มันก็ต่างกันเยอะ เพราะมันมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง วิธีแบงก์กิ้งก็เปลี่ยนไปพอสมควร ถ้าพูดถึงสมัยนั้นเล่มนี้ถือว่าสมบูรณ์ที่สุด รวมทั้งการบัญชีมันรวมทุกอย่างอยู่ในนั้นหมด เป็นเล่มเดียวที่ผมอ่าน และผมไม่เห็นใครให้ลูกน้องอ่าน สมัยนั้นมีอยู่หลายเล่ม ผมซื้อมาตุนไว้ให้ลูกน้องอ่าน แต่เสียดายมีคนอ่านบ้างไม่อ่านบ้าง ทุกๆ อย่างถ้าเราอ่านและเข้าใจและให้เวลากับมัน เป็นประโยชน์ทั้งนั้น"

Writer

Ampaporn Borworn