เทศ จินนะ นักเขียนที่มีหัวใจ "รักป่า" และ "อยู่กับป่า" มาเกือบครึ่งชีวิต ทำให้เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ที่หลากหลาย จึงถ่ายทอด "ทุกเรื่องราว" ออกมาได้อย่างเข้มข้น ด้วยลีลาเฉพาะตัว สะท้อนให้เห็นถึงดวงใจในการหวงแหนธรรมชาติ การล่าสัตว์ เพื่อยังชีพมากกว่าการล่าเพื่อความสนุกสนาน ตัวอย่างผลงานเช่น ตำนานไพร, สัญชาตญาณไพร, ล่าทุยโทน และอาถรรพณ์กลางดงลึก เป็นต้น ปัจจุบันเกษียณอายุราชการและยังเขียนหนังสือทั้งในแนวนวนิยายและเรื่องสั้น อยู่ที่ไร่จังหวัดตาก เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งค่ะที่คุณเทศได้ให้ความเป็นกันเองสละเวลาคุยนอกรอบกับ www.praphansarn.com คุณเทศกล่าวว่า "แต่ละคำตอบเกิดขึ้นในอดีตทั้งสิ้น นานกว่าสี่สิบปีแล้ว แต่ความทรงจำของผมยังคงแจ่มชัด…"
คุณเทศ ได้บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของความคิดในการถ่ายทอดเรื่องราวงานเขียนออกมาเป็นตัวอักษรว่า ได้รับแรงบันดาลใจจากการที่เคยอ่านเรื่อง "เขียดขาคำ" ของลาว คำหอม ประมาณปี พ.ศ. 2503 ซึ่งได้กล่าวถึง ข้าราชการที่ข่มเหงประชาชนผู้ด้อยการศึกษา ซึ่งคุณเทศคิดว่าตนก็เป็นบุคคลหนึ่งที่ถูกกระทำเช่นนั้น จึงได้ลองเขียน เรื่องสั้น เช่น พรานแย้, เลือดสีแดงยังไม่จาง, วันลาป่วยของสำราญ ลงในนิตยสารประชาบาล ใช้นามแฝงว่า เทพ อารยธรรม
"ผมอ่านหนังสือเรื่องป่าของหมอบุญส่ง เลขะกุล และน้อย อินทนนท์ รู้สึกซาบซึ้ง กอปรกับเมื่อครั้งยังวัยรุ่นก็เคยผ่านการล่าสัตว์ป่ามาถึง 6 ปี จึงอยากจะเขียนบ้าง แต่ยังไม่มีโอกาส พอดีประมาณปี 2527 คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ ประกาศรับเรื่องสั้นแนวป่าของนักเขียนหน้าใหม่ ผมจึงเขียนส่งมาที่ฟ้าเมืองทอง ฟ้าเมืองไทย โดยคุณลำเนา ศรีมังคละ ผู้ช่วยบรรณาธิการ ได้มีจดหมายมาให้กำลังใจผมด้วย ผมจึงเขียนมาจนทุกวันนี้"
ถามถึงประสบการณ์ที่ประทับใจที่สุด จากการที่ได้อยู่กับป่ามานาน คุณเทศ ได้บอกเล่าผ่านประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นไว้หลายเรื่อง แต่ที่น่าตื้นเต้นและเร้าใจที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องนี้
"ประมาณ 20.00 น. ของวันหนึ่งในอดีตที่ผ่านมา ได้มีเสือโคร่งเข้ามาคาบควายรุ่นในคอก ชนรั้วพัง แล้วลากเข้าป่า เผอิญขณะนั้นถ่านไฟฉายหมด กว่าจะหายืมเพื่อนบ้านมาได้ก็ผ่านไปนานประมาณ 3 ชั่วโมง ผมฉายไฟให้ปู่ ตามรอยหยดเลือดผ่านสวนกล้วยน้ำว้า เข้าดงหญ้าดอกขาว ผ่านไร่ข้าว ถึงชายดงกอคาย เสือนอนหน้าอกทาบบนพื้นดิน แทะกินเนื้อที่กล้ามขาหลัง โฟกัสไฟฉายที่ดวงตาเขียวพลั่ด ปืนคำรามเปรี้ยง เสือโคร่งดิ้นตีแปลงพลั่ด ๆ ร้องฮืก ไม่ถึงครู่ก็เงียบ
น่าแปลกใจว่า ควายรุ่นอายุสามขวบ ตัวโตกว่าเสือสามเท่า แต่ลายพลาดกลอน ลากไปได้ไกลประมาณ 800 เมตร เสือโคร่งแข็งแรงอย่างไม่น่าเชื่อ"
อีกเรื่องหนึ่ง คือ "ผู้ร้ายชาวบ้านตำบลนาอิน เขตอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เข้ามาปล้นควายชาวบ้าน เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2498 เรายิงคนร้ายด้วยหน้าไม้ถูกที่ท่อนขาใกล้สะโพก จับเป็นได้ แทนที่จะส่งให้ตำรวจ หรือยิงทิ้ง เราเอาผู้ร้ายมาที่หลังหมู่บ้าน ขณะนั้น ผมกับลุงพุ่มดักจักจั่นได้เสือดำขังไว้ หมายจะขายส่งในเมืองพิษณุโลก ปรึกษากันในหมู่พรานกับผู้ใหญ่บ้าน ถ้าหากปล่อยตัวไป มันจะกลับมาปล้น ฆ่าอีก จึงมีมติให้ผู้ร้ายเป็นเหยื่อเสือดำ เราหามกรงมาหลังหมู่บ้าน จับผู้ร้ายผูกตา มัดแขนขา เปิดกรงทางช่องด้านบน จับผู้ร้ายหย่อนลงให้เสือดำกัดแทะกิน เราไม่เอาเสือไปขายตามที่ตั้งใจไว้ แต่ปล่อยมันเป็นอิสระในวันรุ่งขึ้น เราเผาซากผู้ร้ายกับกรงเสือทิ้งพร้อมกัน ฆาตกรรมอันหฤโหดครั้งนี้ มีคนไม่ถึงสิบคนรู้เห็น หมู่บ้านของเราอยู่ในดง ข่าวจึงไม่เล็ดลอดออกมาภายนอก"
ในความรู้สึกเกี่ยวกับกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้ป่าไม้ต้องถูกทำลายลงทุกวัน และในที่สุดธรรมชาติก็กลับมาทำลายมนุษย์ เช่น อุทกภัย โคลนถล่ม เป็นต้น คุณเทศ บอกว่ามีความรู้สึกอยู่ 2 อย่าง คือ
1. เศร้าใจ คนจำนวนค่อนประเทศไทยไร้ความตะหนัก ป่า คือ สถาบันหลักของความไพบูลย์ทั้งมวล ถ้าหากป่าเป็นคน ก็หมายถึง คนพูดด้วยการรังสรรค์งานคุณภาพ ซึ่งตรงข้ามกับคนเอาแต่พูด มือไม่ทำ อุทกภัยกับโคลนถล่ม เป็นการกระทำที่ไม่พูด ส่วนอีกนัยหนึ่งเป็นการสอนมนุษย์โฉดเขลาด้วยการทำลาย "ถ้าหากจะเรียกอุทกภัยกับโคลนถล่มว่า ธรรมชาติตอบโต้ตัณหาของมนุษย์ก็ไม่ผิดนัก"
2. สะใจมวลมนุษย์ที่พูดและคิดเป็นแต่ภาษาผลประโยชน์
สำหรับความหวังที่จะให้ผู้อ่านได้รับ หรือเรียนรู้อะไรจากผลงานที่เขียน คือการที่ประสงค์ ให้ผู้อ่านได้รับรู้ความลี้ลับของดงในอดีต และพฤติกรรมของสัตว์ป่าแต่ละพันธุ์ ที่ผมเคยมีประสบการณ์ตรงเมื่ออยู่ในวัยรุ่น ส่วนความหวังกับงานเขียนนั้นคุณเทศกล่าวว่า "ผมมิได้หวังให้ป่าฟื้นตัวดั่งป่าพรหมจรรย์ ขณะที่ผมเป็นวัยรุ่นนะครับ หวังเพียงป่าเสื่อมโทรมในปัจจุบัน คงไม่โทรมลงไปกว่านี้ และหวังว่าคนรุ่นลูก รุ่นหลาน คงจะอนุรักษ์ต้นไม้รุ่นเยาว์ให้เจริญงอกงาม และหวังให้งานเขียนของผมทุกเล่ม ซึมซับเข้าไปในสถาบันการศึกษาทุกถิ่นเยาวชน ผู้เสพคงได้จิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่า เพื่อจะได้ไม่ล้มละลายทางธรรมชาติ (นี่คือความหวังลึก ๆ ของผม)
คุณเทศได้บอกผ่านความรู้สึกในความสนุกสนานและน่าสนใจของการถ่ายทอดเรื่องราวของป่าออกมาเป็นตัวอักษรว่า ความสุข ความสนุกในการถ่ายทอดนั้นก็คือ การที่ได้พลิกฟื้นความทรงจำเก่า ๆ ขึ้นมาเก็บไว้ในสมองอีกครั้ง
ในส่วนตัวของคุณเทศ จินนะ ในปัจจุบัน คือ การใช้ชีวิตในการพักผ่อนด้วยการเดินป่า ถ้าอยู่ที่บ้านชานเมือง ก็จะไปที่น้ำตกลานสาง เดินชมทิวป่าที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ถางเส้นทางไว้ให้ผู้เข้าไปเที่ยวเดินชมน้ำตก หากนอนอยู่ที่ไร่ จะชอบเดินกลางไร่ในยามค่ำคืน ชมต้นไม้ที่ปลูกเอง
สุดท้ายคุณเทศได้ฝากข้อคิดถึงคนรุ่นหลัง ในการปลุกกระแสการอนุรักษ์ป่า ไว้น่าคิด ดังนี้ "ป่าเสื่อมโทรม ป่าว่างเปล่าไม่มีเสียงนกร้อง ซากหินวางเกลื่อนระกะ ขาดสีสันของชีวิตไพร ตรงข้ามกับป่าเขียวสดสล้าง มีนกน้อยบินฉวัดเฉวียน กรองกลิ่นป่าสะอาด หากเยาวชนรุ่นหลังท่านใดเบื่อมลพิษ รถติดและน้ำครำของดงแท่งปูน จงเข้าไปเที่ยวน้ำตก สวนสัตว์ โตรกธารกลางโขดเขินเนินไศล ป่านอกจากให้ความอภิรมย์ ยังสะท้อนไปถึงหม้อข้าว หม้อแกงใบใหญ่"
มนุษย์…มีมือที่เอื้อมมาปลูกต้นไม้ ทะนุถนอมให้ยืนต้นเอาไว้ได้ แต่มนุษย์…ก็มีมือสำหรับการทำลาย ระรานทุกสิ่งทุกอย่าง ควรหรือยังที่มนุษย์จะหันกลับไปมองสรรพชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัวบ้าง ว่ายังมี "ชีวิต" เหลืออยู่อีกสักเท่าไร หรือ "ลมหายใจ" กำลังจะขาดสิ้นไปหมดแล้ว