ศุ บุญเลี้ยง : ชอบบทกวีมากจนไม่อยากเขียนมัน

ศุ บุญเลี้ยง

ชื่อของเขาอาจจะเป็นที่คุ้นหูในฐานะ "ศิลปินนอนแปล" นักร้อง นักดนตรี และนักแต่งเพลง เพราะมีผลงานดนตรีมากกว่าผลงานหนังสือ แต่เขาคืออดีตเจ้าสำนักศิษย์สะดือผู้ผลิตหนังสือเล่มเนื้อหาแหวกแนว และนิตยสารขวัญใจวัยรุ่น "ไปยาลใหญ่" ปัจจุบันคนในสำนักศิษย์สะดือเติบโตอยู่ในหลายวงการอาทิ บินหลา สันกาลาคีรี , เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย , ' ปราย พันแสง, บัวไร,อรินธรณ์ และฝ่ายศิลป์อย่างอุดม แต้พานิช หรือพิง ลำพระเพลิง

ศุ บุญเลี้ยงเคยมีผลงานหนังสือขายดีหลายเล่ม เช่นหนุ่มนักโบกกับสาวขี้บ่น ด้วยรักแกมรำคาญ ไม่มีปี่มีแต่ขลุ่ย ฯลฯ ห่างหายจากวงการหนังสือไปนาน ข่าวแว่วมาว่ากำลังจะเขากำลังจะกลับมาอีกครั้งให้หายคิดถึง ด้วยผลงานรวมเล่มล่าสุด และนิยายที่อยากเขียนเหลือกำลัง เราจะไปคุยกับเขาในเรื่องนี้กัน

ทราบว่ากำลังจะมีผลงานหนังสือชื่อ "นักอยากเขียน" ใช่ไหมครับ
ใช่ นักอยากเขียนรวมจากคอลัมน์ในนิตยสารไรท์เตอร์ รวมเสร็จแล้ว กำลังรอเซ็นสัญญากับสำนักพิมพ์นานมี

เป็นยังไงครับนักอยากเขียน
นักอยากเขียนเนื้อหาพูดถึงนักอยากเขียนหนังสือ ในโลกนี้มีนักเขียน 100 คนอาจจะมีนักอยากเขียนอยู่ 1 หมื่นคนก็ได้ นักอยากเขียนคือคนที่เริ่มรู้สึกอยากเขียนหนังสือหรือเขียนมานิดหน่อย แล้วไม่รู้ว่าจะหนทางจะไปสู่นักเขียนเป็นอย่างไร พี่จะตัดช่วงชีวิตของตัวเองตอนที่เริ่มหัดเขียนหนังสือ เนื้อหาพูดถึงการเขียนหนังสือในยุคแรก แต่วิธีคือการเล่าผ่านประสบการณ์ของตนเอง

เข้าใจว่านักอยากเขียนจะเขียนตามความรู้สึก ไม่พยายามจะทำให้เป็นวินัยเหมือนนักเขียนใช่ไหม
ใช่ แล้วเขาก็ไม่กล้าจะเรียกตัวเองว่านักเขียน เพราะรู้สึกว่ามันดูดีไป เกินกว่าที่ตัวเองเป็นได้ จึงเลี่ยงไปใช้คำอื่นแทน

ตอนนี้พี่จัดตัวเองเป็นนักเขียนหรือนักอยากเขียน
ช่วงนี้ไม่เป็นทั้งสองอย่างเลย เพราะว่าไม่ค่อยได้เขียน

เพราะไปทำงานเขียนเพลงมากกว่าใช่ไหมครับ
ใช่ ว่ากันที่จริงงานเขียนเพลงก็คือการเขียนนั้นแหละ และเราเขียนหนังสือไว้บ้างเหมือนกัน แต่จะไปมีปัญหาตอนรวมเล่ม เพราะว่าคอนเซ็ปท์มันไม่อยู่ในเล่มเดียวกัน สมมติว่าต้นฉบับที่มีอยู่ถ้าเขียนเพิ่มอีก 5 เรื่องเราอาจจะมีหนังสือออกมา 5 เล่มก็ได้ แต่ที่มีอยู่ 20-50 เรื่องมันไม่มีคอยเซ็ปท์แข็งแรงพอที่จะรวมเล่ม เพราะฉะนั้นเลยรู้สึกว่าเรื้อไปนานเหมือนกัน

หมายความว่าเขียนเก็บไว้เยอะ แต่เนื้อหากระจัดกระจาย
ใช่ เพราะไม่ได้มีเวลา หรือไม่ได้มีบอกอมาคัดสรรตัดทิ้ง หรือแต่งเติมอย่างจริงจัง

พี่จุ้ยเขียนหนังสือถี่แค่ไหน
ถ้าเขียนเล่นๆเขียนทุกวัน เดี๋ยวนี้กลายเป็นนักเขียนรับเชิญ มติชนชวนเขียนเรื่องหนึ่ง ปตท.ชวนเขียนเรื่องหนึ่ง ไม่ดีหรอกนะแต่ก็ดีกว่าไม่เขียนเลย

สงสัยว่าทำไมพี่ไม่พิมพ์ผลงานของตัวเอง
ไม่มีพนักงาน ไม่มีคนจัดการ ไม่มีคนทำอาร์ตเวิร์ค คนตรวจงาน คนจ่ายเงิน ถ้าเสร็จออกมาแล้วก็ไม่มีคนไปติดต่อสายส่ง ไม่มีคนไปเก็บตังค์ ไม่มีคนวางแผนโปรโมชั่น ไม่มีสรรพกำลังพอที่จะทำ

บริษัทกะทิกะลาของศุ บุญเลี้ยงทำอะไรเป็นหลัก
รับจ้างแต่งเพลง เปิดอบรมบ้าง เช่น จัดอบรมนักเขียน เรื่องการแต่งเพลง ทำอัลบั้มให้ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ ช่วยดูแลศิลปินบางคนที่เขามีผลงานดีๆแต่ไม่มีช่องทาง ก็เป็นช่องทางหนึ่งให้เขา

ในเว็ปไซท์กะทิกะลามีเรื่องนิตยสารไปยาลใหญ่ด้วย
มีน้องคนหนึ่งที่เขาอ่านไปยาลใหญ่มาเยอะๆเขาอยากทำ

จะรื้อนิตยสารเล่มนี้กลับมาทำใหม่ไหมครับ
ไม่มีสรรพกำลัง กะทิกะลามีพนักงานประจำอยู่หนึ่งคน วันจันทร์ลากิจไปแล้ว ก็หมดแล้ววันนี้บริษัทก็แทบจะไม่ต้องทำงาน ขาดคน

เรื่องคนเติมได้นี่ครับถ้าอยากจะทำจริงๆ
น่าจะได้ อาจจะเพราะไม่อยากจะทำจริงๆ เหมือนกับว่าบางอย่างเราก็เลยเวลามาแล้ว เราทำสำนักพิมพ์มาแล้ว เราเคยเขียนหนังสือเยอะๆมาแล้ว เคยทำสัมภาษณ์ เคยทำนิตยสารมาแล้ว พออายุขนาดนี้ถามตัวเองว่าเราอยากกลับไปทำอย่างนั้นมั้ย ตอบว่าน่าจะเขียนหนังสือ แต่เขียนให้มันดีๆมีเวลาหาข้อมูลเยอะๆ นานๆออกมาเล่มหนึ่งแต่ให้มีความหนักแน่นให้เท่ากับสิบเล่มที่เราเขียนมา อย่างเมื่อก่อนเขียนปีละเล่ม เว้นมาสิบปี ออกมาสักทีก็น่าจะให้มันมีน้ำหนัก สมควรชวนอ่านเท่ากับสิบเล่มที่ผ่านมาหรือขายดีเท่ากับสิบเล่ม

คือความมุ่งหวังทะเยอทะยานมันไปอีกมิติหนึ่งแล้ว เมื่อก่อนนั่งเขียนคนเดียว บางทีหนึ่งประโยคของนิยายอาจจะต้องใช้ข้อมูลหนังสือหนึ่งเล่ม หรือใช้เวลาสามวัน เพื่อที่จะบอกว่าเธอทำงานปลูกกาแฟอยู่ในที่ระดับเหนือน้ำทะเลกี่ฟุต กี่ฟุตที่ปลูกกาแฟแล้วรสชาติดี ดีกว่าบอกว่าตัวละครของเราทำงานอยู่บนดอยเฉยๆ เราอาจจะต้องเสียเวลาหาที่อยู่ให้นางเอก ดอยช้าง ดอยวาวี อยู่ไหน ไม่ได้เขียนโดยใช้จินตนาการไปเรื่อย

แสดงว่ากำลังจะเขียนนิยาย
เป็นความมุ่งหวัง ตอนนี้ระหว่างเขียนนิยายหนึ่งเรื่องกับการทำหนึ่งสำนักพิมพ์ ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงเลือกทำสำนักพิมพ์ แต่ตอนนี้เลือกเขียนนิยาย ถ้านิยายเราไม่มีสำนักพิมพ์ใดพิมพ์ค่อยสร้างสำนักพิมพ์มารองรับ

เมื่อก่อนศิษย์สะดือเป็นแหล่งเพาะบ่มคนเก่งๆเยอะเลย เพราะอะไรครับ
โดยพันธกิจแล้วเราไม่ได้ต้องการสร้างนิตยสารที่ทำกำไรสูงสุดให้องค์กร แต่เราคิดว่าจะทำนิตยสารชวนอ่านที่บุคลากรเติบโตไปกับหนังสือ ภารกิจคือทำหนังสือ พันธกิจคือปลูกฝังเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นต่อให้คุณมานั่งทำอาร์ตเวิร์คอยู่ที่ศิษย์สะดือ คุณก็ต้องอ่านหนังสือมากมาย ไม่อย่างนั้นจะคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง เราก็จะกดดันให้เขารู้สึกว่าแย่จัง คุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง เฮ้ยหนังเรื่องนี้ดีนะ ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเล่มนี้ แต่สร้างออกมาแล้วยังไม่ดีเท่าหนังสือ พอคุยกัน คนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นก็ต้องอึดอัด ต้องไปอ่าน ดูหนัง ฟังเพลง

ต้องรู้จักอารักษ์ อาภากาศ เพราะเพลงเขาแปลกดี ต้องไปแตะฟุตบอลกับนิตยสารสีสัน เพื่อจะได้ใกล้ชิดกับน้าทิวา ไม่ใช่แค่การทำงาน ถามว่าทำไมเขาเติบโต อาจเป็นเพราะเราวางแผนไว้ด้วย สนุกกับการทำอย่างนั้นด้วย ซึ่งพอถึงวันนี้ไม่ได้อยากทำแล้ว แต่มันอาจจะแปรรูปไป เพราะทุกวันนี้เราสอนเขียนหนังสือเพราะเราตั้งคอนเซ็ปท์ไว้ว่า เขียนด้วยใจคงไม่พอ แล้วถ้างั้นต้องมีอะไรบ้าง จึงเปิดคอสมาเรียนกันอย่างจริงจัง แต่ไม่ได้มาอยู่ร่วมกัน มาเรียนเสร็จก็กลับบ้าน ทำการบ้าน นี่ก็เป็นอีกภาระกิจหนึ่ง

การเขียนหนังสือสอนกันได้หรือ
ทุกอย่างในโลกนี้สอนกันได้หมด แต่ทำได้แค่ไหนก็อีกเรื่อง คนเก่งก็ทำในสิ่งที่คนธรรมดาทำไม่ได้ คนที่พิเศษก็ทำในสิ่งที่คนเก่งทำไม่ได้ คนที่เป็นอัจฉริยะก็ทำในสิ่งที่คนพิเศษทำไม่ได้ ก็มีระดับชั้น แต่ถามว่าสอนได้มั้ย สอนได้ เรียนได้มั้ย ยิ่งได้ใหญ่เลย ถ้าเด็กคนหนึ่งหัดเขียนหนังสือแล้วเรียนรู้ด้วยการอ่านหนังสือจำนวนมหาศาล เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะเขียนได้เท่าเดิม เป็นไปไม่ได้ ถ้าจับเด็กที่ไม่รู้ภาษาจีนไปอยู่ประเทศจีนสามปี ต้องพูดจีนได้เพราะผ่านกระบวนการเรียนรู้ การกิน การหิว การเอาชีวิตรอด แต่ถ้าเรียน สอนอย่างเป็นขั้นตอน เขาก็จะไม่ต้องเสียเวลาสามปี อาจะย่นเวลาเหลือหกเดือน ความเชื่อเราเป็นอย่างนี้

ฉายานักทำลายฝันของพี่จุ้ยมายังไง
มาจากเวลาที่เพื่อนๆเอางานมาให้วิจารณ์ เราก็จะวิจารณ์อย่างจริงจัง คนฟังก็แทบจะหมดแรงเลย ประมาณว่าอยากหมดกำลังในก็เอางานมาให้วิจารณ์ จริงๆการวิจารณ์อย่างจริงจังเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังที่ไม่ขี้ใจน้อย เขาไม่จำเป็นต้องเชื่อคำวิจารณ์ก็ได้ คนฟังมีแต่ได้กำไร

นิยายที่พี่จะเขียนเป็นยังไง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเราเอาพล็อตหนังไปคุยกับพี่จิก(ประภาส ชลศรานนท์) พล็อตคือผู้หญิงคนหนึ่งส่งโปสการ์ดผิดไปให้เพื่อน คนที่อ่านโปสการ์ดเขาคือคนที่ไม่อยากให้อ่าน โปสการ์ดเขาก็ไปเปลี่ยนแปลงความคิดของคนอ่าน ซึ่งมันต้องมีการเดินทาง ในเรื่องวางไว้ว่าตัวละครต้องไปที่เนปาล ปัญหาคือพี่จิกชอบ แล้วยุว่าไปเขียนเป็นนิยายเลยไป มึงไปเนปาลเลยจุ้ย เราก็ฮึกเหิมเพราะพี่จิกก็เหมือนอาจารย์เรา แล้วลูกศิษย์กับอาจารย์ก็ไม่ต้องพูดกันเยอะ พี่จิกก็ระดับปรมาจารย์ เขาให้เราไปเนปาลเขียนนิยาย แล้วเขาจะให้ทีมงานสร้างหนัง แล้วเรามาออกพร้อมกัน โอโหท้าทาย แต่เมื่อมาอ่านข่าวหนังสือพิมพ์เนปาลตอนนี้คล้ายภาคใต้ มีสงครามทางความเชื่อซึ่งเพื่อนที่เป็นนักเดินทางแบบคุณบินหลา (สันกาลาคีรี) แนะนำว่ายังไม่ควรไป ผมเลยต้องมาคิดว่าเปลี่ยนประเทศให้ตัวละครหรือจะรอเหตุการณ์สงบแล้วค่อยไป ยากตรงนี้เพราะทุกวันนี้เวลาเขียนหนังสือไม่ได้ยากตรงจะหาคำใดมาเขียน แต่ยากตรงกำหนดสถานการณ์

แต่มันก็คืออุปสรรคอันหนึ่งในการเขียน นักเขียนมือใหม่จะไม่มีปัญหานี้ นักเขียนใหม่จะไปมีปัญหาเรื่องการใช้คำ แต่เราจะไปมีปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น ถ้าคุณเปลี่ยนจากเนปาลเป็นบาหลีแล้ว แรงดลใจในการตามหา ตัวละคนที่แวดล้อม เช่น ผมมีตัวละครเป็นลูกหาบ แล้วบาหลีมันมีลูกหาบไหมล่ะ หลวงพระบางมีไหม มันยากตรงนี้ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนว่าจะไปเจออีกประเทศ เพราะตอนเจอเนปาลเราเก็บข้อมูลมามากพอสมควรแล้ว

เรื่องนี้เขียนมาได้กี่มากน้อยแล้ว
แต่เดิมผมเขียนเป็นพล็อตให้เขาไปสร้างหนัง ไม่ได้ตั้งใจเขียนเป็นนิยาย แต่ทีนี้อาจารย์ผมบอกว่าให้ไปเขียนนิยายก็ไม่ได้พูดกันละเอียด พูดกันเหมือน "เซ็น" ไม่ได้ถามว่าถ้าเขียนเสร็จพี่จะพิมพ์ให้ผมไหม จะได้กี่เปอร์เซ็นต์ นานมั้ยกว่าจะเสร็จ แล้วระหว่างนั้นผมจะหาอะไรกิน

พี่จุ้ยจะทำงานกี่คน
ผมอยากทำเป็นทีม อยากมีผู้ช่วยไปด้วย อยากมีคนแปลภาษา อยากมีคนปีนเขาแทนด้วยในบางที เพราะถ้าผมไปปีนเองปีนได้สองวันแล้วผมก็ป่วย แต่ตัวละครผมควรจะสักหนึ่งสัปดาห์ค่อยป่วย จึงต้องจ้างคนปีนแทน แง่การทำงานผมไม่อยากทำคนเดียว อยากทำเป็นทีม

อย่างนี้พี่จะทำยังไงต่อ
เบื้องต้นผมคงกลับไปที่เวิร์คพ้อยท์แล้วบอกว่าผมอยากเปลี่ยนเรื่องได้มั้ย เพราะมีบางเรื่องไม่ต้องไปเนปาล ไปแค่โรงเรียนนานาชาติก็พอ ผมอาจจะเสนอเรื่องอื่นที่มีความน่าสนใจใกล้เคียงกัน แต่ผมไม่ต้องไปเนปาล ผมอาจจะแค่ไปดอยวาวีหรือดอยช้างที่ว่า ถ้าไม่ผ่าน ผมก็จะมาดูว่าจะเปลี่ยนจากเนปาลเป็นอะไร ทิเบตได้มั้ยสมมติ ถ้าไม่ได้จริงๆผมก็ต้องไปเนปาล ไปทั้งๆที่ปฏิวัติกันนี่แหละ ไม่ใช่บ้าระห่ำ แต่ถ้าเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะให้ได้งาน ผมก็ต้องไป เพราะมันคงไม่ได้ยิงกันทุกจังหวัดหรอก เหมือนบ้านเราคงยิงกันบางที่ แต่การเดินทางอาจจะไม่สะดวก ซึ่งอาจจะไม่ใช่ปัญหาของเรื่องนี้ก็ได้

แล้วเรื่องสั้นและบทกวียังสนใจที่จะทำมันอยู่ไหม
สนใจมาก บทกวีชอบมันมากจน ไม่อยากเขียนมัน นอกเสียจากมันเขียนตัวของมันออกมาเอง คือผมไม่มีหนทางใดในการเขียนบทกวี นอกเสียจากว่ามันจะไหลออกมาเอง ไม่มีความรู้หรือทักษะพอที่จะเขียนเป็นบทกวี จนกระทั่ง สายตาของเราไปเห็น เรารู้สึก จนผุดพรายออกมากลายเป็นบทกวี แต่เรื่องสั้นไม่ใช่อย่างนั้น มันต้องขับเคี่ยวกับมันอย่างจริงจัง สำหรับวันนี้ผมกำลังสู้กับมัน เป็นการสู้ที่เงียบกริบด้วยเพราะไม่ต้องการเสียงเชียร์ เราเลยช่วงนั้นมาแล้ว

บทกวีก็สอนกันได้ไหม
ผมไม่มีปัญญา แต่น่าจะสอนได้เพราะว่า อย่างหนังเรื่อง เดอะโพสแมน ที่สอนบุรุษไปรษณีย์ให้เขียนบทกวี แต่ว่ามีความละเอียดมาก ต้องไปสอนภายในจิตใจเลย ไปฟังเสียงทะเลสิ ไปบอกรักผู้หญิงที่รัก ศิลปะของการบอกความในใจ คนจะเป็นกวีเขาว่าต้องมีดวงตาที่สาม ใจต้องเป็น คงสอนได้ แต่ไม่ง่าย ผมสอนไม่ได้

เพลงกับกวีอย่างไหนยากกว่ากัน
เพลงเขียนได้ กวีเขียนไม่ได้ เพลงจะมาเอาพรุ่งนี้ผมก็เขียนให้ได้

เพลงใช่คีตกวีมั้ย
น่าจะใช่ ถ้าถึงขั้น เพลงอาจจะเป็นกวีหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าเพลงที่ดีเป็นคีตกวี ที่ผมทำให้ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ ผมก็ว่าเป็นนะ เป็นเพลงที่มีมิติลึก งดงามถึงขั้นกวี ..

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ