วาณิช จรุงกิจอนันต์ : นักเขียนโชว์ห่วย

วาณิช จรุงกิจอนันต์

          ร้านขายของเบ็ดเตล็ดหรือร้านขายของชำที่ดำเนินการโดยคนจีนมีอีกชื่อหนึ่งว่าร้านโชว์ห่วย ร้านเหล่านี้มีสินค้าเพื่อจำหน่ายมากมาย และส่วนใหญ่จัดเรียงอย่างไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย สันนิฐานกันอย่างขำๆว่านี่อาจจะเป็นที่มาของชื่อร้านโชว์ห่วย คือโชว์สินค้าได้ห่วยจริงๆ นักเขียนซึ่งเป็นแขกของเราในครั้งนี้ไม่ได้มีอาชีพเสริมเป็นเจ้าของร้านโชว์ห่วย หากแต่เขาสามารถเขียนงานได้หลากหลายทั้งนิยาย เรื่องสั้น บทกวี คอลัมน์ บทละคร ฯลฯ หลายเรื่องหลายรส เหมือนตนเองเป็นเจ้าของร้านสำดวกซื้อที่มีสินค้าเป็นต้นฉบับ จะหยิบจับสิ่งใดก็เขียนเป็นเรื่องเป็นราวได้

          วาณิช จรุงกิจอนันต์คือบุคคลที่กล่าวถึง เขาเกิดที่สุพรรณ เรียนจบคณะจิตรกรรมฯ ที่ ม.ศิลปากร เป็นนักเขียนรางวัลซีไรท์ปี 2527 จากหนังสือรวมเรื่องสั้น “ซอยเดียวกัน” ปัจจุบันเป็นคอลัมน์นิสต์หนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับ และเป็นที่ปรึกษาบริษัท แกรมมีเอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด เย็นวันหนึ่งปลายเดือนเมษาที่บ้านพักย่านรามคำแหง วาณิช จรุงกิจอนันต์ได้ร่ำเมรัยโดยมีบทสนทนาของเราเป็นกับแกล้ม

 

ตอนนี้คุณทำงานอะไรอยู่บ้าง
อยู่บ้านเขียนหนังสือ เขียนคอลัมน์ ในมติชนสุดสัปดาห์ มติชนรายวัน เกี่ยวกับอาหาร เขียนในข่าวสดเกี่ยวกับเพลงลูกทุ่งเก่าๆ เป็นเรื่องทั่วๆไป หลักๆคือเขียนพวกนี้ แต่ที่ตั้งใจจะทำคือเขียนนิยาย เรื่องสั้น และเขียนงานอย่างอื่นที่เป็นชิ้นเป็นอัน

ตอนนี้เขียนนิยายหรือเรื่องสั้นอะไรอยู่หรือเปล่า
ไม่ได้เขียนสม่ำเสมอ แต่มีความคิดว่าจะเขียน หรือเขียนไปแล้วยังไม่ได้ดั่งใจ ต้องรีไรท์ใหม่ หรือมีโปรเจคมาให้ อยากจะเขียนแต่ยังไม่ได้ลงมือ

โปรเจคที่ว่าเป็นยังไง
เช่นเขาให้เขียนวรรณคดีไทยเก่าๆ ให้เป็นนิยาย เขียนพระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผนให้เป็นนิยาย ทำนองนี้นั่งพิจารณาแล้วยังลังเลว่าจะเขียนดีหรือไม่ เขียนแล้วจะสำเร็จไหม จะดีไหม ไม่ค่อยแน่ใจ โปรเจคอื่นๆอาจจะมีคนมาให้เขียนบทละครโทรทัศน์ ซึ่งก็หยุดไปนาน ยังไม่แน่ใจว่าตนเองอยากจะทำหรือมีเวลาทำ หรือถ้าทำแล้วจะทำได้ดีถ้าอยากจะหางานทำเกี่ยวกับหนังสือมีตลอด

ทราบว่าเมื่อก่อนเขียนบทละครจักรๆวงศ์ๆ
บทละคร สมัยนั้นยังไม่เป็นละคร เป็นหนังโทรทัศน์ ผมเขียนบทละครครั้งแรกให้ท่านมุ้ย ช่องเจ็ด ตอนนั้นละครยังถ่ายทำในสถานที่อยู่ เขียนเรื่องห้วงรักเหวลึก และจดหมายจากเมืองไทย เป็นครั้งแรกที่ท่านมุ้ยรับกำกับละคร ผมเป็นคนเขียนบท หยุดไปสักพักเขาก็มาให้เขียน ทางดาราวีดีโอเขาก็มาให้เขียน บทหนังเรื่องจักรๆวงศ์ๆเขียนยาก และคนที่เขียนอยู่ก็เขียนช้า ผมเขียนเรื่องแรกคือเรื่องสี่ยอดกุมาน ก็ประสพความสำเร็จดี และก็มาเขียนขวานฟ้าหน้าดำ แล้วก็เขียนสิงหไกรภพทำอยู่ 3 เรื่องก็เบื่อแล้วหยุดไป

ทำไมถึงหยุดครับ
มีสิ่งเดียวที่ผมไม่ชอบคือการเร่งเร้า เร่งรัดตัวเอง ผมเป็นคนอยากอยู่สบายๆ เขียนบทละครก็ได้เงินเยอะ แต่เป็นความกดดันให้กับตนเองว่าเดี๋ยวต้องทำให้ทัน เขียนให้ทัน ส่งให้ทัน บางครั้งเรานึกอะไรไม่ออกก็ต้องวนเวียนกลัดกลุ้ม ทำไงถึงจะนึกออก ทำไงจึงจะเขียนต่อไปได้ ซึ่งเมื่ออายุเยอะและวัยเปลี่ยน จึงไม่อยากเจอสิ่งเหล่านี้ สมัยยี่สิบปีก่อนเรื่องเหล่านี้ทนได้ ทำได้ สู้ได้ แต่เมื่ออายุมากก็เฉื่อยๆ มีภาระกิจอย่างอื่นที่สนุก สบายกว่า ไม่ค่อยอยากลำบาก อยากรวยแต่ไม่อยากทำงานหนัก

ชีวิตนักเขียนเป็นอย่างที่เคยคิดไหม
ผมไม่เคยคิดมาก่อน ไม่เคยวางแผน กำหนด หรือเข้าใจว่านักเขียนต้องเป็นอย่างไง จริงๆแล้วนักเขียนแต่ละคนก็แตกต่างกันไป บางคนขยันทำงานบางคนมีระเบียนวินัยกับตนเอง เขียนได้โดยไม่เดือดร้อน บางคนมีชีวิตสังคมแบบหนึ่ง บางคนชอบอยู่กับบ้าน บางคนชอบออกไปข้างนอก บางคนฝีมือไม่ถึง สารพัดสารเพ บางคนเลี้ยงตัวไม่ได้จากงานเขียน บางคนได้เงินพอที่ละเลี้ยงตัวได้ บางคนเป็นที่รู้จักมีชื่อเสียงบางคนไม่มี เขียนแล้วก็จมๆอยู่ เราไม่เคยคิดว่าเป็นนักเขียนแล้วจะดำเนินชีวิตยังไง มันมาเอง เป็นเอง ไม่ได้คาดหวังหรือคาดหมาย พอเป็นนักเขียนเริ่มต้นมาก็หาเงินไม่พอใช้ ผมเป็นนักเขียนแบบหนึ่งที่แตกต่างจากนักเขียนทั่วๆไป ไม่ได้เขียนนิยายเป็นหลัก ไม่ได้เขียนบทละครเป็นหลัก เขียนโน่นเขียนนี่ เขียนคอลัมน์ รายได้ยุคแรกๆก็ฝืดเคือง ต่อมาเขียนงานมากขึ้น เขียนคอลัมน์ เขียนบทโทรทัศน์ เป็นที่ปรึกษา มีเงินเดือนก็เรียกว่าอยู่ได้ ไม่เป็นรูปแบบที่ชัดเจนหรอก สมัยหนึ่งอาจจะมีนะ สมัยที่นักเขียนยังมาจากนักหนังสือพิมพ์ จับกลุ่มกันต่างคนต่างเขียน เขียนเรื่องสั้น นวนิยาย อยู่โรงพิมพ์ด้วยกัน เย็นมาก็จับกลุ่มกินเหล้า อาจะมีรูปแบบกันอยู่แต่ผมไม่ได้เป็นอย่างนั้น มีรูปแบบชีวิตของตนเองซึ่งอาจจะไม่เหมือนคนอื่น

พอใจชีวิตอย่างนี้มั้ย
พอใจเพราะว่า ผมเป็นคนขี้เกียจ อยากอยู่สบายๆ ไม่อยากทำงานหนักเพื่อที่จะได้เงินเยอะๆ ไม่มีนิสัยอย่างนั้น แค่อยู่ได้ เลี้ยงครอบครัวได้ ตัวเองมีชีวิตพอสมควรก็พอใจ

ไม่เห็นบทกวีของคุณมานานแล้ว
ผมไม่ค่อยได้เขียนเป็นสิบกว่าปีมาแล้ว เพราะไม่นึกอยาก บทกวีที่เขียนในระยะที่ว่านี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่คนมาขอให้เขียนในวันสำคัญต่างๆ โดยพื้นฐานทั่วไป เมื่อไปมองที่ไหน อยู่ที่ไหน เห็นที่ไหน มุมมองต่างๆผมมักนำมาเขียนในคอลัมน์ รู้สึกอย่างไรคิดอย่างไรก็นำมาเขียนในคอลัมน์ มันไม่แปลงมาเป็นบทกวี ไม่รู้สึกนึกอยากเขียนบทกวี

อย่างนี้จะพูดได้ไหมว่าคุณจะเขียนงานตามความอยาก ไม่อยากก็ไม่ทำ
มันคงไม่ใช่แค่นั้น เพราะจริงๆแล้วความอยากที่จะเขียน ยังคงมีอยู่ แต่วิถีการคิดหรือการดำเนินชีวิต หรือวิถีการทำงาน มันไม่สอดคล้องไปทั้งหมด ไม่สามารถเป็นไปได้ทั้งหมด อย่างบทกวีสมัยหนึ่งเขียนมาก เพราะเรายังเขียนเรื่องสั้นหรือนิยายไม่เป็น อะไรที่ผ่านเขามาจึงคิดในรูปของบทกวี พอเราเขียนนิยายได้ ก็เขียนนิยายในเงื่อนไขอันจำกัด เราอยากเขียนนิยายในแบบที่รู้สึกอยากจะเขียน เรารู้สึกมีใจ เราอยากจะเขียนเรื่องนี้ ไม่ใช่พอเขียนนิยายได้ก็เขียนที 5 เรื่อง ลงหนังสือพิมพ์ ก็ทำไม่ได้ ทำไม่เป็น หรือเรื่องสั้น สมัยที่อยู่ในแวดวงนักเขียน เราก็ยังไม่เข้าใจจริงจังว่าเรื่องสั้นเป็นอย่างไร มีแรงบันดาลใจอะไรมาก็เขียนเรื่องสั้น เว้นไว้สักระยะหนึ่งความโลภมันก็มา เราก็ยากเขียนเรื่องสั้นที่ไม่ใช่ดาดๆธรรมดาทั่วไป หรืออยากจะเขียนเรื่องสั้นที่คนอ่านแล้วจะจำเลย เรื่องสั้นที่แรงๆใหญ่ๆ เรื่องสั้นที่เป็นอมตะ โลภคิดทางนั้น ซึ่งมันก็ยาก ทำให้เพลาๆ เขียนน้อยลงหรือแทบไม่ได้เขียนเลย แต่ในความคิดทุกวี่ทุกวัน ยังอยากจะเขียนนิยาย ยังอยากจะเขียนเรื่องสั้น เขียนพล็อต ประเด็นต่างๆไว้เยอะ เพียงแต่ยังไม่ลงมือทำ

แล้วเมื่อไหร่จะลงมือเขียน
มันเหมือนกับว่ารอฟ้าดินอย่างเดียวเลย จริงๆเขียนเลยก็เขียนได้ แต่คิดไปแล้วมันไม่ลงตัว มันไม่ได้อย่างที่คิดว่าเขียนแล้วน่าจะได้ มันมีอยู่เสมอ เมื่อเป็นนักเขียนก็อยากจะเขียนให้มันเด่นขึ้นมาไม่ใช่ว่าดาดๆทั่วไป

เรียกว่าความทะเยอทะยานหรือเปล่า
ผมไม่ทะเยอทะยานแล้ว ถ้าเป็นเด็กกว่านี้อาจจะเรียกว่าความทะเยอทะยาน มันเป็นเรื่องที่ว่าอย่างนี้เราทำมาแล้ว อย่างนี้ใครๆก็เขียนได้ เราเขียนควรจะดีกว่านั้น ควรจะใหญ่ เด่นกว่านั้น

เรียกว่ากำลังอยู่ในช่วงบ่มหรือเปล่า
ผมสุกมานานแล้ว ผมเชื่อว่าผมสุกแล้ว ผมแน่ใจว่าผมตกผลึกแล้ว เพียงแต่ว่าผลึกที่ได้เล็ก ไม่ใหญ่พออย่างที่ผมอยากเห็นอยากได้ เอามาใช้ยาก เมื่อเล็ก ใจเราก็ไม่ค่อยมีแล้ว

ก็เลยยังไม่มีคำตอบสำหรับนักอ่านใช่ไหมว่าจะได้อ่านเมื่อไหร่
ไม่มี แต่ว่ามีแน่ คือในภาวะที่เป็นอยู่ไม่มี แต่มีแน่ ถ้าผมยังมีอายุอยู่ ใจมันมี และเชื่อว่าจะต้องมี

ไม่เคยคิดที่จะหยุดเขียนหนังสือใช่ไหม
เดี๋ยวนี้ผมอายุ 56 ย่าง 57 ทำเก่งอยู่อย่างเดียวคือเขียนหนังสือ ทำอะไรอื่นไม่เป็นแล้ว เพราฉะนั้นจึงเขียนหนังสือไปเรื่อยๆ เราเคยมีความใฝ่ฝัน มีความทะเยอทะยานอย่างอื่นมากมายในการเติบโตมา แต่เมื่อมาถึงวัยหนึ่ง พบว่าเราทำอะไรไม่ได้ดีไปกว่าการเขียนหนังสือ ผมคิดมาได้นานแล้วว่าการเขียนหนังสือเป็นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดในชีวิตของเรา เราจะไม่ไปเขียนรูป ทำงานรับจ้าง ไม่ไปทำงานโฆษณา ไม่ไปกินเงินเดือนที่ไหนแล้ว ความคิดนี้ไม่ใช่ว่าจู่ๆก็มา แต่ใช้เวลา เราเคยคิดว่าจะไปทำงานรับจ้างกินเงินเดือน แต่พบว่าเราไม่ชอบตื่นเช้า เงินเดือนเยอะแค่ไหนก็ตามถ้าต้องตื่น 8 โมงเช้า เลิกงาน 5 โมงเย็นมันขัดแย้งกับนิสัย ซึ่งเรารู้แล้วว่านิสัยเราไม่ใช่อย่างนั้น แรกๆอาจจะยังไม่รู้ แต่เมื่อรู้แล้วเราก็พอใจที่ตื่นเช้ามาเราไม่ต้องออกไปทำงานที่ไหน ทำอยู่กับบ้าน

เชื่อเรื่องพรสวรรค์ไหม
ผมเชื่อ ทั้งๆที่ไม่ควรจะเชื่อ แต่ผมเชื่อเพราะว่าผมมีประสบการณ์มาเยอะเกี่ยวกับการเขียนหนังสือ ผมเคยสงสัยว่าทำไมบางคนถึงเขียนหนังสือไม่ได้ บางคนเขียนหนังสือไม่ดี ทำไมคนที่ได้รับการบอกเล่า ครั้งแล้วครั้งเล่า บอกซ้ำบอกซาก ก็ยังไม่สามารถพัฒนางานเขียนของตนเองได้ เขียนมายังไงก็ยังเขียนอย่างนั้นแม้จะขยัน ตั้งใจ อยากเขียนงานให้ดีกว่าเดิมแต่ไม่สามารถทำได้ พรสวรรค์ก็มีข้อจำกัด ผมมีพรสวรรค์ แต่มีข้อจำกัดในพรสวรรค์ของผม คือผมก็เขียนได้แค่นี้ ได้เท่าที่เห็นแต่คนที่มาเขียนให้ได้อย่างผมก็มีน้อย

ชอบฉายา “นักเขียนโชว์ห่วย” ที่เขาตั้งให้ไหม
ไม่ใช่ว่าชอบหรือไม่ แต่ว่ามันเหมาะ คือถ้าคิดในแง่คนเขียนหนังสือคนที่เหมาะที่จะได้รับฉายานี้มากที่สุดคือผมนั่นแหละ ถ้าดูนักเขียนทั่วไปไม่มีใครเขียนเรื่องหลากหลายเท่าผม จำไม่ได้แล้วว่าใครตั้งให้ ไม่ถึงกับชอบหรือไม่ชอบ แต่รู้สึกว่ามันจริง ผมว่ามีผมคนเดียวเท่านั้นที่เหมาะกับฉายานี้ คนอื่นมองไม่เห็น

จริงไหมที่ว่าเขียนเรื่องส่วนตัวให้น่าอ่านมันยาก
ผมไม่เคยรู้สึกว่ามันยาก แต่คนที่มองๆเข้ามาจะรู้สึกว่ามันยาก ผมเขียนเรื่องแบบนี้ได้ ผมรู้สึกรีแลกซ์และกล้าเขียน กล้าเล่าเรื่องส่วนตัวมาจากการที่ผมเคยทำงานกับอาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง สมัยสตรีสาร ทำกับท่านอยู่สักปี สองปีเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ นั่งอ่านต้นฉบับ อ่านต้นฉบับที่ท่านอ่านแล้วนำไปเรียงพิมพ์ ก็พบว่ามีการแก้ มีเรื่องนั่น เรื่องนี่ สารพัด สารเพ บางเรื่องเลือกลง บางเรื่องไม่ลง วันหนึ่งหลังจากทำงานมาพักหนึ่ง ผมถามท่านว่า อาจารย์มีหลักอย่างไรในการเลือกเรื่องลงพิมพ์ อาจารย์นิลวรรณตอบว่า “คุณก็ดูสิ เรื่องที่ลงไปคนอ่านๆแล้วได้อะไร” ตรงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นประเด็นสำคัญทำให้ผมเข้าใจเรื่องการเขียนหนังสือ ผมจะเป็นนักเขียนได้หรือไม่ ยังไงไม่รู้ แต่ผมว่าผมเป็นบรรณาธิการได้ อ่านแล้วรู้ว่าเรื่องนี้ควรลง เรื่องนี้ลงเลย เพราะเรารู้ว่าเรื่องนี้คนอ่านอ่านแล้วได้อะไร ฉะนั้นเมื่อผมมาเขียนหนังสือในเวลาต่อๆมาผมรู้ว่าเมื่อผมเขียนเรื่องส่วนตัวของผมเอง คนอ่านๆแล้วได้อะไรหรือเปล่า ผมรู้สึกว่าผมเข้าใจตรงนี้ ถึงแม้ผมเขียนเรื่องส่วนตัวของผม แต่คนอ่านๆแล้วได้ประเด็น ความคิด ได้ความสนุก ซึ่งมันจะแฝงมากับตรงนั้น คนอื่นอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากแต่ผมว่าเป็นเรื่องง่ายที่จะเล่าเรื่องตนเอง การเล่าเรื่องตนเองมันมีเทคนิกซึ่งผมไม่รู้ แต่มันมาจากนิสัยส่วนตัวที่เป็นอยู่ จะบอกว่าเขียนถึงเรื่องของตนเองต้องถ่อมตัว ถ่อมตลอดก็ไม่ได้ ต้องมีอวดตัวบ้างในจังหวะที่เหมาะสม จะเขียนอ้อนเอาใจคนอื่น คนอ่านๆแล้วก็จะรำคาญ จะเขียนเป็นนักเลงก้าวร้าวก็ทำไม่ได้ตลอด มันต้องมีจังหวะ เรื่องไหนเราพูดได้ขนาดไหน ผมเป็นนักเขียนที่รู้ตนเองเสมอ ว่ารู้อะไรแค่ไหน พูดเรื่องนี้ได้แค่ไหน รู้ตัวเองว่าไม่รู้อะไรจริงสักอย่าง แม้กระทั่งวรรณกรรมที่ทำอยู่ ก็รู้ได้ประมาณหนึ่งเข้าใจได้ประมาณหนึ่ง พูดมากกว่าที่รู้และเข้าใจไม่ได้ มีโอกาสจะโดนเขายันกลับมาสูงมาก

เชื่อว่าการเขียนหนังสือสอนกันได้ไหม
ได้ระดับหนึ่ง ก็เหมือนทั่วๆไป เขียนรูป เล่นดนตรี ก็สอนกันได้แต่ได้ระดับหนึ่ง เหมือนการเล่นกีฬาเริ่มเล่นพร้อมๆกัน อีกคนเก่งเลย อีกคนหนึ่งเก่งไปได้ระดับหนึ่งแล้วหยุด นี่เป็นเรื่องทักษะ การสอนได้ในแง่ที่เป็นการเสริมทักษะ สอนให้มากกว่านั้นคงไม่ได้ มีทักษะแล้วจะไปพัฒนาอะไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง พอเข้าไปสู่งานศิลปะ ทักษะเป็นเรื่องงานฝีมือ ฝีมือดีแล้วก็ไปอีกสภาวะหนึ่ง ไปไกลได้ขนาดไหน การสอนทำได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถทำให้บรรลุธรรมไปทั้งหมด

เห็นชาติ กอบจิตตั้งโรงเรียนสอนนักเขียนหรือ ศุ บุญเลี้ยงก็เปิดคอร์สสอนการเขียน
โรงเรียนสอนนักเขียนของชาติผมว่าเป็นเจตนาที่ดีมาก เขาเชื่อว่าสมัยที่เขาเขียนหนังสือเขาอยากเจอนักเขียนจริงๆ นักเขียนรุ่นใหญ่เพื่อที่จะได้รับคำแนะนำต่างๆ เมื่อเขามาถึงตรงนี้ เขาก็อยากทำในสิ่งที่เขาเคยอยากมีอยากเห็นอยากเป็นอยากได้รับ ซึ่งผมก็ว่าเป็นสิ่งที่ดี

แต่คุณจะไม่สอนเรื่องการเขียนกับใครใช่ไหม
หนึ่งผมไม่รับลูกศิษย์ ผมสอนไม่เป็น สองผมไม่เคยคิดว่าจะไปหานักเขียนผู้ใหญ่คนไหนเลย เรื่องเจอคนนั้นคนนี้เพื่อหวังว่าจะได้รับคำแนะนำ ผมไม่มีความคิดนั้นเลย ผมใช้วิธีอ่านหนังสือ

ปกติคุณเขียนหนังสือตอนไหน
ถ้าอยากจะเขียนเขียนได้ตลอดเวลา บางทีเป็นภาระที่จะต้องส่งแต่ยังไม่รีบก็ยังไม่เขียน ส่วนใหญ่ไม่ได้ออกจากบ้านหรือออกค่ำๆ และก็นอนดึก นอนดูทีวีบ้าง หรือนั่งทำงานเขียนหนังสือไปบ้าง นอนตี 3 ตี 4 ตื่นมาก็เที่ยงกว่าจะเสร็จธุระ อ่านหนังสือพิมพ์บ้างอะไรบ้าง ก็บ่ายสอง บ่ายสามกินข้าวแล้วก็ขึ้นไปทำงาน เว้นแต่ในกรณีที่เขียนบทละคร เวลาก็จะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ใช้เวลาเยอะกว่าปกติ ทีวีก็อาจจะดูน้อยลง อาจจะนอนสว่าง ตื่นมาทำงานเท่าที่เวลาอำนวย แต่เอาเวลาสะดวกสะบายของตนเองตั้งไว้ก่อน เราชอบตื่นสายเพราะฉะนั้นเราตื่นสายแน่ ไม่ใช่ตื่นเช้ามาทำงาน ไม่เคยทำ ในชีวิตนี้ นอกจากทำจนเช้าอย่างนี้มี

เห็นด้วยกับคำพูดที่ว่าการเดินทางเป็นสายตาของนักเขียนไหม
ไม่ว่านักเขียนหรือใครผมว่าการเดินทางเป็นสิ่งที่ดี ได้มองเห็นเปรียบเทียบกับสิ่งที่จำเจซ้ำซากอยู่ ได้เห็นภาพใหม่ๆสิ่งใหม่ๆ ทำให้เปรียบเทียบกับสิ่งเก่าๆที่เคยเห็นผมว่านักเขียนต้องเปรียบเทียบเสมอนะ อย่างไปกินข้าวที่ปักกิ่งต่างจากกินข้าวที่บ้านเราไหม เรื่องนี้เป็นธรรมชาติของคนเขียนหนังสือ ผมว่าแต่ละคนก็น่าจะมีมากหรือน้อย และการเขียนมันเป็นประสบการณ์ ถ้าคุณไม่เคยเห็นนิวยอร์คคุณจะพูดถึงนิวยอร์คยังไง คุณอ่านหนังสือเห็นรูปไม่เหมือนหรอก ต้องไปกินไปนอนที่นั่นสักพักถึงจะรู้ เพราะได้เห็นของจริง

อย่างคุณถือว่าเดินทางเยอะไหม(เห็นว่าชอบอยู่บ้าน)
พอประมาณ เพราะไม่ใช่นักเดินทาง ไปมืองนอก ไปยุโรป ไปเมืองจีน ไปโน่นไปนี่ ถือว่าไปพอสมควร แต่การไปของเราเป็นแบบตามๆไป ไม่ได้มีประเด็นหลักว่าไปแล้วจะทำอะไรกับงานเขียน มีประเด็นน้อยมาก ไม่ค่อยจด ใช้วิธีจำๆแล้วมาเขียน การเดินทางมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ ไม่ใช่แค่นักเขียนเท่านั้น

เคยรู้สึกตันบ้างไหม
บ่อย แต่ความเป็นมืออาชีพมันมีอยู่ อย่างเขียนคอลัมน์ในมติชนสุดสัปดาห์ก็มีตันใช้เวลา 5-6 วันเขียน บางทีนึกไม่ออก แต่เมื่อถึงเวลา ถ้าหลุดจากนี้จะส่งต้นฉบับไม่ทันแล้ว ก็จะเขียนได้ ด้วยความชำนาญหรืออะไรสักอย่าง เราจะรู้สึกเอง ถ้าเราเขียนดีก็อยากจะอ่านต้นฉบับที่เราเขียน ถ้าเขียนไม่ดีก็จะรู้สึกไม่อยากอ่าน เป็นนักเขียนมันก็ตันด้วยกันทั้งนั้น แต่ตันแล้วหาทางออกได้หรือเปล่า

แล้วคุณหาทางออกยังไง
นั่งคิดไปเรื่อยๆ ดูทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ เขียนบทละครบางทีมันตันนึกไม่ออก ไม่กล้าเขียนต่อ ไม่รู้ว่าถ้าไปแล้วมันจะเป็นยังไง ก็นั่งคิดไปเรื่อยๆ ถ้าคิดไม่ออกจริงๆ ก็เขียนไปเลยแล้วไปว่ากันข้างหน้า

คิดยังไงกับการเขียนแนวทดลอง
ผมว่าดี เขียนไปเหอะ แต่ถ้าทดลองสักแต่ว่าทดลองมันไม่มีประโยชน์ บางคนทดลองแล้วคิดว่าแบบนี้จะเป็นรูปแบบอมตะ งานศิลปะในโลกนี้จริงๆมันค่อนข้างจะเซ็ทเทิลดาว์นแล้ว เหมือนรูปเขียนคุณก็เขียนอะไรไม่ได้ไปกว่าที่เขียนๆกันมาหรอก

 

ประวัติ

     วาณิช จรุงกิจอนันต์ (9 สิงหาคม พ.ศ. 2491 - 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553) เป็นนักเขียนและกวีชาวไทย ได้รับรางวัลซีไรต์ ในปี พ.ศ. 2527 จากรวมเรื่องสั้น "ซอยเดียวกัน" มีความสามารถทางการเขียนรอบตัว ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และบทความ เป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี จบการศึกษาจาก คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีผลงานมากมาย เริ่มมีชื่อเสียงจากการเขียนบทความ ชื่อ "จดหมายถึงเพื่อน" ตีพิมพ์เป็นประจำในนิตยสารลลนาระหว่างเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา

     ผลงานที่มีชื่อเสียงมากอีกเรื่อง คือ นวนิยายเรื่อง แม่เบี้ย ตีพิมพ์ในนิตยสารลลนา เมื่อนำมารวมเล่มก็ได้รับความนิยม และถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และละครเวที นอกจากนี้ยังเขียนคอลัมน์ให้กับนิตยสารหลายฉบับ และเป็นกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)

     วาณิช เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ด้วยโรคลูคีเมียเฉียบพลัน

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ