“สันติสุข โสภณสิริ” เป็นนักเขียนที่มีความรู้ความสามารถมากมายหลายด้าน นอกจากเขียนและแปลหนังสือแล้ว ก็ยังเป็นทำงานร่วมกับมูลนิธิแพทย์แผนไทย และเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมตัวยงคนหนึ่งอีกด้วย แต่ถึงอย่างไรผลงานเขียนของเขาก็ยังทรงคุณค่าจนคว้ารางวัลเซเว่นบุ๊คอะวอร์ด มาถึงสองเล่มด้วยกัน นับได้ว่าผลงานเขียนของเขาเป็นแบบอย่างที่ดี และมีคุณค่าทั้งในแง่วรรณกรรมและงานวิจัย ในขณะที่บ้านเมืองเราหานักเขียนที่ทุ่มเทงานในด้านอุดมคติแบบนี้ยากขึ้นทุกที
เริ่มต้นเขียนหนังสือได้อย่างไร
ก่อนอื่นก็ต้องเริ่มจากการอ่านก่อน คนเราจะเขียนหนังสือได้ก็ต้องผ่านการอ่าน ส่วนการแปลนั้นตามมาทีหลัง จำได้ว่าครั้งแรกที่เริ่มอ่านหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือเรียนก็ตอน ป.4 เรียนอยู่ที่โรงเรียนสตรีสมบูรณ์วิทยา แล้วที่โรงเรียนก็มีห้องสมุด เด็ก ๆ เราก็จะอ่านนิทานเป็นหลัก แล้วก็มีห้องสมุดของวัดอนงค์คารามซึ่งถือว่าเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เราสนใจด้านงานเขียนเรื่องพระพุทธศาสนาขึ้นมา เพราะว่าวัดอนงค์เขามีห้องสมุดประชาชนที่ใหญ่มาก ที่สนใจพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็กก็เพราะว่าเราเป็นหลานของสมภารเจ้าวัด แล้วก็ไปเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ตั้งแต่สมัย ป.5 เคยอ่านมิลินทปัญหามาตั้งแต่เด็ก เพราะอ่านง่ายแล้วก็เป็นเรื่องที่สนุก ด้วยเหตุนี้ก็เลยผูกพันกับหนังสือและพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ส่วนเรื่องเขียนหนังสือนั้น เริ่มตั้งแต่ตอนเรียนเขาจะให้เขียนเรียงความซึ่งตัวเองก็เขียนแต่ยังไม่มีจุดเด่นอะไรมาก งานเขียนหลัก ๆ ที่เริ่มเขียนจริง ๆเลยก็คือตอนอยู่ที่สวนกุหลาบตอน มศ.2 เป็นกิจกรรมวิชาภาษาไทยของโรงเรียน เป็นงานเขียนที่เป็นบทกวี ชื่อว่า
“มธุรสกวี” ซึ่งจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องการทความดี แง่คิดเกี่ยวกับธรรมมะ เพราะว่าเราอยู่กับวัดมาตลอด ซึ่งตอนนั้นได้เป็นบรรณาธิการ และเป็นงานชิ้นแรกที่ได้จัดพิมพ์เป็นเล่ม ปัจจุบันนี้ก็น่าจะยังมีเก็บไว้อยู่ในโรงเรียนสวนกุหลาบ พอมาอยุ่ มศ. 3 ก็เริ่มมาทำกิจกรรมเกี่ยวกับสังคมศาสตร์ เขาก็จะเริ่มให้มีการไฮปาร์ค วิจารณ์การเมือง เมื่อขึ้นมา.4 จึงรวมกลุ่มกันขึ้นมาชื่อว่า “ยุวชนสยาม” แล้วก็มาคิดกันว่าเราน่าจะทำหนังสือออกมาเพื่อให้เพื่อน ๆ ในโรงเรียนอ่าน จึงมีความคิดที่จะทำหนังสือพิมพ์ จากนั้นก็ไปขออนุญาตอาจารย์ใหญ่ หนังสือนี้ชื่อว่า “หนามกุหลาบ” ซึ่งเป็นการทำร่วมกันแต่เราเป็นตัวเขียนหลัก ทีนี้งานเขียนของเรานั้นเป็นการวิจารณ์เรื่องภายโรงเรียน โดยที่เราคิดว่าน่าจะเขียนเรื่องที่น่าสนใจในโรงเรียนให้เพื่อน ๆ อ่านก่อน อันที่จริงเราก็มีความคิดเกี่ยวกับการเมืองข้างนอกแล้ว รู้จักการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองกันแล้ว ซึ่งตอนนั้นจะมีเรื่องความไม่เป็นธรรมในการสอบเข้าโรงเรียน เพราะมีการฝากเด็กเข้าเรียนกันเยอะ เด็กฝากส่วนใหญ่ก็จะเป็นลูกท่านหลานเธอแล้วก็จะเสียค่าบำรุงโรงเรียน แต่เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงจึงไม่ค่อยมีใครว่าอะไรมาก เราก็มาคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี ไม่ชอบธรรมต่อเด็กคนอื่น ก็เลยเขียนเปิดโปงเรื่องนี้ พอเขียนออกมาแล้วก็เอาไปให้อาจารย์ตรวจก็ไม่ผ่าน แถมยังโดนอาจารย์ใหญ่เรียกไปพบกลายเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเขาหาว่าเป็นเรื่องโจมตีโรงเรียน จนให้ให้พระอาจารย์ที่วัดอนงค์ฯมารับรองความประพฤติให้
ผลงานงานเขียนและแปลที่ผ่านมา
ที่เริ่มมาเป็นจริงเป็นจังก็คือตอนเข้ามหาวิทยาลัยมหิดลก็มาทำหนังสือกับพวกรุ่นพี่ เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ ของเขาซึ่งเป็นหนังสือโรเนียว แล้วก็เขียนลงในอนุสรณ์โรงเรียน แล้วก็เขียนเป็นเรื่องสั้นชื่อว่า วันหนึ่งแห่งชีวิตนักศึกษา ตอนหลังก็มาแปลหนังสือให้อ.สุลักษณ์ เล่มแรกที่แปลน่าจะเป็น “ลังกาวิจิตร” ซึ่งเวลาแปลจะไม่ค่อยใช้ชื่อจริงหรือนามปากกาอะไร ตอนหลังก็มาพิมพ์ที่สำนักพิมพ์โกมลคีมทอง ซึ่งคนติดใจมาก แล้วก็นำมาลงในปาจารยสาร ฉบับของคุณพิภพ ธงชัย ช่วงที่เขาก่อตั้งปาจารยสารก็นำมาลงให้ ซึ่งเขาจะชอบเรื่องแนวความคิดและปรัชญาการศึกษา ช่วงนั้นก็แปลงานเยอะมาก ก็ได้เงินบ้างไม่ได้บ้างบางทีก็แปลให้ฟรี แล้วหลังจากนั้นก็มาเป็นสาราณียกรอยู่ที่ปาจารสารเสียเอง นอกจากแปลแล้วก็มาเขียนลงในปาจารยสาร ใช้นามปากกาเยอะแยะไปหมด ถ้าเป็นบทกวีก็จะใช้ สร้อยสุมาลี , ศรีผ่อง แล้วก็ใช้ชื่อ สงบ งามมงคล ถ้าเป็นงานที่ต้องใช้ความรับผิดชอบมากหน่อยก็จะใช้ชื่อจริง ช่วงที่ทำปาจารสารอยู่ก็ถือว่าได้ทำหนังสือเล่มขึ้นมาจริง ก็คือทำออกมาแล้วขาย
เห็นว่าชอบบทกวีเคยรวมเล่มไหม
ความจริงชอบทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง อาจจะชอบร้อยกรองมากกว่าด้วย แต่ว่าไม่เคยเขียนรวมเล่มหรือจะไปแข่งขันอะไรกับเขา เพราะถ้าจะเขียน ๆ ต้องอุทิศตัวให้กับกวี อย่างอ.เนาวรัตน์ ที่เขามุ่งแต่เรื่องเดียว แต่เรามันสนใจเรื่องอื่น ๆ หลายเรื่อง ก็เลยไปทำตรงนั้นไม่ได้
ผลงานที่ได้รางวัลจากเซเว่นบุ๊คอะวอร์ด
หนังสือที่ได้รางวัลอย่างเรื่อง “พระพุทธเจ้าของฉัน” จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้สนใจที่จะส่งประกวด พอดีว่าน้องชายเป็นคนจัดการให้แล้วก็เลยได้รางวัลมา ความจริงการเขียนหนังสือสำหรับผมเป็นงานอดิเรก งานจริง ๆ ก็คือความเคลื่อนไหวทางสังคมซะมากกว่า ที่เขียนเรื่องพระพุทธเจ้านั้นเพราะเห็นว่า ไม่ค่อยมีหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าให้เด็กอ่าน แต่ถึงจะเขียนให้เด็ก ๆ อ่านแต่ผมก็กล้าที่จะให้พระพรมคุณาพรท่านตรวจ เพราะท่านถือว่าเป็นพระปราชญ์อันดับหนึ่งของไทยคู่ ๆ กับท่าพุทธทาส ท่านก็จะติงเรื่องไม่ค่อยมีคำราชาศัพท์ แต่ผมก็บอกว่าเขียนให้เด็กอ่าน ท่านก็ไม่ว่าอะไร เรื่องนี้ผมจะจับเรื่องเมตตาคุณ เรื่องปัญญาจะไม่ค่อยเขียน เพื่อให้เด็กเข้าใจง่าย จากนั้นสำนักพิมพ์โกมลคีมทองก็พิมพ์ออกมา ส่วนเรื่องพวกประวัติบุคคลก็เขียนมาเยอะ ซึ่งการเขียนของเรานั้นก็ไม่ได้เขียนตามใจตัวเอง พล็อตของเรื่องนั้นเราอาจจะเดินเรื่องเอง แต่แนวนั้นเขาจะระบุให้เขียน ว่าเขียนถึงตัวท่านนะ เขียนเป็นแนวประวัติศาสตร์ ซึ่งตรงนี้ก็เลยกลายเป็นงานวิจัยไปเลย ส่วนเรื่อง “ลูกผู้ชายชื่อบรรลุ” เป็นหนังสือเล่มใหญ่ ความจริงประวัติบุคคลเหล่านี้มีเรื่องราวที่มีสีสันในตัวเองอยู่แล้ว อ.บรรลุท่านเป็นหมอที่อุทิศตัว เราก็เขียนในเชิงบันทึกของเขาเอง เราก็มาเรียบเรียงสิ่งที่แกบันทึก แล้วมันก็ไม่ใช่หนังสือที่คนทั่วไปจะอ่านเพราะมันไม่ได้วางขาย แต่เป็นหนังสือที่มูลนิธิแพทย์ ชนบทให้ทำ พอน้องเขามาอ่านเขาก็ว่าดีก็เลยเอาไปส่งประกวดเซเว่นฯ ก็เลยได้รางวัลมา ก็แบ่งรางวัลให้น้องชายด้วยเพราะเขาเป็นคนจัดการเรื่องส่งประกวดเราไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วยเลย
พอใจในงานเขียนชิ้นไหนมากที่สุด
งานเขียนที่เราทำเหมือนกับทำอย่างอาสาสมัคร เราเป็นสำนักพิมพ์รับจ้างไม่ได้ทำเรื่องของเราเอง สิ่งที่ภูมิใจที่สุดก็คงจะเป็นเพราะเรื่องของเรามีอิทธิพลต่อนักเขียน ไปกระตุ้นให้คนเขียนหนังสือ ตรงนี้สำคัญกว่าเพราะในการเขียนหนังสือของเรามันไม่ได้มีอะไรมาก เวลาของเราจะหมดไปกับ งานพวกกิจกรรมต่าง ๆ เช่น 14 ตุลา 6 ตุลา เขาจัดงานเราก็ต้องไปร่วม แล้วการผลักดันให้คนเขียนหนังสือได้นี่มันภาคภูมิกว่าที่ตัวเองเขียนเองซะอีก เพราะมันเหมือนกับว่างานบรรณาธิการก็ดี หรือการไปกระตุ้นให้เขาเขียนก็ดี มันเป็นงานของเราอย่างหนึ่ง แต่เราไม่ได้เขียนเองก็เท่านั้น เหมือนกับเราไปไขความคิดให้คนอื่นให้เขาเขียนมันออกมา นี่คือหน้าที่ของบรรณาธิการ แต่ก็ไม่ใช่ว่าให้เขียนตามใจเขา เราจะหล่อหลอมไอเดียไปด้วยกัน แต่แน่นอนว่าชื่อเป็นชื่อของเขา
งานส่วนใหญ่เป็นการกระตุ้นให้เขาเขียนเพื่อสังคมไม่ได้เขียนให้เรา ซึ่งมันก็ไม่ง่ายนะเพราะผู้ใหญ่บางคนที่เขาไม่ได้มีงานเขียนเป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งเราก็ต้องมานั่งถอดเทป ทำให้งานเขียนของเราจริง ๆ นั้นมีไม่มาก แล้วประวัติของบุคคลนี่ก็ไม่ได้ทำง่าย ๆ มันเหมือนกับงานวิจัยเลย เมื่อก่อนต้องแกะเทปเองด้วยแต่เดี๋ยวนี้ก็ดีเพราะมีคนช่วยแกะให้ นอกจากนี้เราก็ยังทำงานเคลื่อนไหวทางสังคมไปด้วย เรื่องร่างใบปลิว คำประกาศนี่ก็เยอะมาก คือไม่ได้มีงานอะไรที่เป็นอาชีพจริง ๆ สักอย่าง แต่ที่ใจรักถ้ามีเวลาสงบ ๆ ก็อยากจะเขียนนิยายดี ๆ สักเรื่องหนึ่ง หรือถ้ามีเวลาก็อยากจะเขียนบทกวีแต่ก็คงไม่ถึงกับซีไรต์ เพราะซีไรต์เขาเขียนได้ดี การเขียนหนังสือนี่เราอย่าไปนึกถึงพวกรางวัล คิดว่าเขียนแล้วมีความสุขที่เราได้ถ่ายทอดสิ่งที่เป็นตัวตนส่วนหนึ่งของเรา
ทำไมถึงหันมาสนใจเรื่องสมุนไพร
เพราะช่วงชีวิตหนึ่งเคยอยู่ในชนบท อยู่ในป่า ได้คลุกคลีกับหมอทางใต้ เขาจะรู้เรื่องยาเยอะมาก โดยพื้นของเราก็เรียนมาทางวิทยาศาสตร์ แล้วก็สนใจเรื่องสุขภาพมาก่อนหน้านี้ด้วย อย่างโครงการสมุนไพรฯ ก็ทำมาตั้งแต่ปี 2520 มาช่วยงานตรงนี้จนกระทั่งเป็นแพทย์แผนไทย มีใบประกอบศิลปะแพทย์แผนไทย แล้วก็มาคลุกคลีอยู่กับวรรณกรรมทางด้านการรวบรวมตำรับตำราเกี่ยวกับสมุนไพรค่อนข้างมาก แล้วก็อยู่ในวงการแพทย์แผนไทยด้วย ถ้ามีเปเปอร์อะไรเกี่ยวกับแพทย์แผนไทยก็จะเอามาให้เราวิจารณ์ แล้วก็มีหน้าที่ควบคุมในเรื่องวิชาการ ในแง่จรรยาบรรณและโภชนาการด้วย เพราะฉะนั้นงานจะหลากหลายมากเลย ใครถามว่าทำอาชีพอะไรก็คงตอบไม่ถูก แต่เรามีใบประกอบวิชาชีพศิลปะแพทย์แผนไทย ก็คงต้องตอบว่าเป็นแพทย์แผนไทย
ทำงานหลายอย่างแบบนี้แบ่งเวลาให้ครอบครัวอย่างไร
ความจริงเราก็ทำงานด้วยกันนะ อย่างคุณรสนาก็อยู่ที่ร้านสุขภาพไทยด้วยกัน ไปไหนก็พาเขาไปด้วย คุณรสนาเขาก็เป็นผู้บริหารร้านด้วย เราก็ทำยา แล้วก็เอาไปขาย เพราะ NGO มันก็ไม่ใช่อาชีพ แล้วNGO อย่างเรามันต้องพึ่งตัวเอง เพราะเราทำโครงการสมุนไพรให้ชาวบ้านพึ่งตัวเอง เฉะนั้นราก็จะหารายได้จากการทำยา ทำสมุนไพรต่าง ๆ ให้องค์กร ให้องค์กรอยู่ได้ก่อน พอองค์กรอยู่ได้แล้วพวกเราก็อยู่ได้ โดยองค์กรของเราไม่ได้ขอทุนจากที่ไหนเราทำของเราเอง ส่วนเรื่องคุณรสนานี่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะจะเห็นว่าเขาทำงานมากกว่าผมอีก ต้องไปถามเขาดีกว่าว่ามีเวลาให้ผมไหม เราก็แบ่งเวลากันรับลูก อาจจะใช้เวลาอยู่กับลูกบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดา คือให้เห็นว่าคนธรรมดาสามัญเราทำกิจกรรมอย่างน้ำได้ แต่ตามหลักพุทธแล้วเราต้องทำอะไรให้องค์กรที่ใหญ่กว่าเราด้วย อย่างเรามีองค์กรของเรา แล้วก็ทำงานให้มูลนิธิอีกหลายที่
เชื่อมั่นในระบบบรรณาธิการในปัจจุบันมากแค่ไหน
ผมว่าอาชีพของบรรณาธิการ คนทำสำนักพิมพ์หรือนักเขียนนั้น มันต้องเป็นอิสระในตัวเองอยู่แล้ว คือจะดีจะชั่วนั้นมันขึ้นอยู่กับผู้อ่าน ผู้เสพย์วรรณกรรมเหล่านั้นเขาจะเป็นคนตัดสินเอง แต่เราก็พบว่าบ่อยครั้ง ๆ หนังสือดี ๆ ไม่ค่อยมีใครซื้ออ่าน ตรงนี้ก็ช่วยไม่ได้ ของดีก็ต้องทำให้มีสีสันน่าสนใจด้วย แล้วเดี๋ยวนี้มันก็ออกมาเยอะมากกว่าสมัยก่อน แต่ของที่มีมากผมคิดว่ามันมีข้อดีมากกว่านะ เพราะว่ามันมีความหลากหลายแต่ถ้ามีน้อยแล้วไม่ดีมันก็ยุ่ง แล้วยิ่งมากก็ยิ่งทำให้เกิดการแข่งขันกันในตัว ผมเชื่อในเรื่องทฤษฎีนะ แต่ในทางปฏิบัติมันก็ขึ้นอยู่กับนายทุนด้วยื โดยเฉพาะนิตยสารถ้าไม่มีนายทุนหนุนหลังก็จะวางแผนยากมาก เดี๋ยวนี้ก็เลยมีแต่หนังสือแนวป๊อบ ๆ ธรรมดาออกมา ส่วนหนังสือที่มีอุดมคติผมก็เห็นว่าเขาพยายามทำกันนะ แต่มันก็คงจะสู้เรื่องทุนรอนไม่ได้เพราะว่าในการทำหนังสือก็ต้องใช้ทุนมากเหมือนกัน
ฝากถึงนักเขียนหน้าใหม่หรือคนที่อยากเขียนหนังสือ
ความจริงผมเองก็ไม่ได้ถือว่าตัวเองเป็นนักเขียน แต่เป็นแค่คนเขียนหนังสือคนหนึ่ง พอดีที่ได้รางวัลมา เพราะคนอื่นเอาไปส่งประกวดมากกว่า ไม่ใช่รางวัลที่ตั้งใจอะไร แต่เราคิดว่าเราเขียนเพื่อให้มีคุณค่ากับคนที่เราทำให้เขา เช่น อ.เกษม, อ.บรรลุ เพื่อให้เขาพอใจสบายใจว่ามีคนทำให้ ส่วนในแง่นักเขียน อันดับแรกในการเขียนหนังสือนั้น ถึงแม้ผมจะไม่ได้เขียนในสิ่งที่ผมอยากจะเขียน แต่ผมก็เขียนเพื่อความสุขเพื่อคนที่ให้ผมเขียน แล้วพอมีเวลาผมก็เขียนในสิ่งที่ตัวเองอยากเขียน พูดง่าย ๆ ว่ามันมีความสุขในสิ่งที่ตัวเองทำลงไป แล้วก็ให้สิ่งที่ดีที่สุดในเวลาที่มีจำกัด
ผมว่างานนักเขียนอาชีพเป็นงานที่ลำบากในสังคมไทย มันอยู่ได้ด้วยตัวเองยาก ยิ่งนักเขียนอุดม หรือบรรณาธิการอุดมคตินั้นแทบจะไม่มีที่ยืน ผมไม่ว่าใครหรอกกว่าจะเขียนอะไรโดยเฉพาะนักเขียนไทย เราไม่เหมือนต่างประเทศที่จะรวยด้วยการเขียนหนังสือได้ คนไทยอ่านหนังสือน้อยลงมาก เมื่อก่อนนี้จำนวนการพิมพ์อยู่ที่ประมาณ 2,000 เล่ม เดี๋ยวนี้ก็ยังพิมพ์อยู่ 2,000-3,000 เล่ม ทั้ง ๆ ที่จำนวนคนเพิ่มขึ้นเป็นล้าน แถมบางทีก็ยังขายไม่หมดอีก แต่ถึงยังไงเราก็ต้องทำ เพื่อฝึกนักเขียนนักแปลรุ่นใหม่ที่เขายังมีอุดมคติอยู่ ให้เขาได้มีที่ยืน แต่เราจะเลี้ยงเขาได้นานเท่าไหร่เราไม่รู้ เพราะฉะนั้นอันดับแรกผมก็จะบอกว่าเขียนไปเถอะ ผมไม่ว่าอะไร ไม่มีมาตรการอะไรไปวัดเขา เพียงแต่ว่าให้เขาได้มีที่ยืนในฐานะนักเขียนให้ได้ก่อน จะเขียนเรื่องตลกโปกฮา เขียน อย่างที่เขาเรียกว่าใช้ภาษาแอ๊บแบ๊ว แอ๊บบ๊อง อะไรผมไม่ว่าเลย แต่ให้มีคนอ่านก่อนก็แล้วกัน เพราการที่ได้อ่านหนังสือเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว สิ่งที่ได้จากการอ่านคือการได้ใคร่ครวญ ผมคิดว่าอนาคตอาจจะไม่มีคนอ่านหนังสือบนหน้ากระดาษแล้วด้วยซ้ำแต่จะหันไปอ่านในเน็ตกันหมด เมื่อตอนนี้ตัวอักษรบนกระดาษยังมีคนอ่านเราก็ควรทำ ถึงแม้ว่าคุณอ่านหนังสือโป๊ มันก็ยังได้ใคร่ครวญได้คิด หรืออ่านหนังสือตลกลามกอะไรก็ช่าง ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะเขาไม่รู้จะหากินอะไร เราก็ไม่ได้เห็นด้วย แต่คุณเขียนไปเถอะ แต่ถ้าวันใดที่มีเงินมากแล้วก็ขอให้คุณทำสิ่งดีเพื่อสังคมบ้าง ๆ บ้างก็พอ เพราะผมรู้มาว่าเจ้าของสำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ หลาย ๆ คนก็มาจากหนังสือพวกนี้เหมือนกัน
สำหรับคนที่มุ่งมาทางอุดมคติก็อย่าท้อถอย เราไม่มีโอวาทใดจะให้เขานอกจากบอกให้พยายามยืนหยัดต่อไป เมื่อเรามาในแนวนี้แล้วก็อย่าไปเขียนแนวประโลมโลกมาก เพราะคนที่เขียนแนวประโลมโลกมันเป็นแนวของเขา หากวันหนึ่งเขาอยากจะเขียนเรื่องดี ๆขึ้นมาบ้าง เขาก็จะไม่มีแบบอย่าง ไม่มีต้นแบบทางอุดมคติดี ๆ เหลืออยู่เลย เพราะไม่มีใครทำเอาไว้