ชวนคิด ชวนตั้งคำถาม กับ กษิดิศ อนันทนาธร
ช่วงเวลาบ่าย ๆ แดดร่มลมตกของวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 อาจารย์กษิดิศ อนันทนาธร ได้ชักชวนนักศึกษาและผู้สนใจประวัติศาสตร์ ล้อมวงชวนคิด ชวนคุย และตั้งคำถาม ณ ห้องเสวนา 307 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเรียนรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อเข้าใจบริบทในปัจจุบัน โดยมีจุดเริ่มต้นจากงานเขียนหนังสือ ระบอบพระมหากษัตริย์ ที่มีประชาธิปไตยเป็นการปกครอง ว่าด้วยเรื่อง การร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 เป็นสารตั้งต้น
อาจารย์กษิดิศ กล่าวว่า การมองหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นการเสมือนการมองผ่านแว่น ในหลักฐานชิ้นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าแว่นตาของคนคนนั้นจะมองแบบไหน จะตีความกันอย่างไร ซึ่งการเห็นต่างกันคนละแบบนี้ เป็นความท้าท้ายยิ่ง เป็นเสน่ห์ของการศึกษาประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการเห็นบริบทแวดล้อม เอกสารที่อ่าน ตัวละครในประวัติศาสตร์ เราจะเห็นมิติที่ท้าทาย มีสีสันมากกว่าเดิม
การตั้งชื่อหนังสือ ระบอบพระมหากษัตริย์ ที่มีประชาธิปไตยเป็นการปกครอง เป็นจุดเริ่มต้นที่อาจารย์ต้องการศึกษาการร่างรัฐธรรมนูญปี 2492 โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจ หรือต่ำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะในรัฐธรรมนูญ 2492 เป็นครั้งแรกที่มีการตั้งชื่อระบอบการปกครองว่า ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย เว้นวรรค มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะทั้งพระมหากษัติย์เป็นประมุขและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ต้องอยู่คู่กัน
แต่ในความคุ้นเคยและรับรู้กันโดยทั่วไปคือ ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเป็นคำขยาย แต่ถ้าพูดในทางกลับกัน เอาเข้าจริงแล้วเรามีพระมหากษัตริย์ที่เป็นประมุขเป็นหลักต่างหาก และมีคำว่าประชาธิปไตยเป็นคำขยาย นี่จึงเป็นคำถามสำคัญ
อาจารย์กษิดิศ ได้มองรัฐธรรมนูฐไทยในช่วง 20 ปีแรกเพื่อศึกษาพลวัตร และวิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญในปี 2492 เพื่อขยายให้เห็นการพัฒนารัฐธรรมนูญไทยว่าอยู่ตรงไหน และประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นความสัมพันธ์ที่ไปด้วยกันได้หรือไม่อย่างไร ถือเป็นคำถามที่ร่วมสมัย ซึ่งอาจารย์และอีกหลายคนกำลังพยายามที่จะหาคำตอบกันอยู่ ซึ่งตัวรัฐธรรมปี2492 เป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งคนในยุคนั้นพยายามหาคำตอบ…
ดังนั้น หนังสือเล่มนี้ที่มองผ่านแว่นของอาจารย์กษิดิศ อนันทนาธร จึงเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายไทย จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในปี 2492 เป็นเสมือนต้นแบบของบทบัญญัติหมวดพระมหากษัตริย์ที่รัฐธรรมนูญในภายหลังต่อ ๆ มาได้นำมาบัญญัติ โดยใช้การบันทึกรายงานการประชุมรัฐสภาที่พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นขอบเขตหลักในการศึกษา อาจารย์กษิดิศจึงเจาะลึกลงไปให้เห็นถึงข้อถกเถียง ว่ามีพลวัตร และวิวัฒนาการอย่างไร
คำถามที่ว่า พระมหากษัตริย์จะมีสถานะ มีความชอบธรรมทางการเมือง หรือไม่เพียงใด ถือเป็นคำถามนี้มีมาตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคำถามสำคัญเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญ 2475 ถือเป็นคำถามที่ท้าท้าย เพื่อให้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มีอยู่ในระบอบรัฐธรรมนูญ เป็นไปอย่างชอบธรรมไร้ข้อครหาไม่ระคายเคืองเบื้องพระยุลบาท
ฉะนั้นคนที่ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องตระหนักและสวมแว่นมองประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ตีความด้วยความเข้าใจ เพราะคนที่มีอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นมา คนที่มีอำนาจนี่แหละคือคนที่จะเป็นคนกำหนดว่า กติกาต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญจะเป็นแบบไหน พูดอีกแบบหนึ่งก็คือว่า คนที่มีอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญมีอุดมการอย่างไร ก็เป็นการตั้งคำถามให้ชวนคิดกันต่อไป และจะต้องถกเถียงกันบนพื้นฐานข้อมูลและบริบทสังคมทั้งที่ผ่านมาจนปัจจุบัน โดยผ่านแว่นตาของหลาย ๆ คนที่สวม ซึ่งจะเห็นว่าข้อถกเถียงในอดีตที่เคยสามารถถกเถียงกันได้ในรัฐสภา เป็นเสน่ห์ที่ทำให้เราเห็นเนื้อหาที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด ที่ทำให้เรารู้จักปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือข้อถกเถียงในอดีตมีความถูกต้องมากน้อยแค่ไหน หากเรามองในบริบทปัจจุบัน ซึ่งมันน่าเศร้าใจว่าเวลาผ่านมานานเราน่าจะได้ใช้ประโยชน์จากอดีตไปได้ไกลกว่านี้
จากนั้นอาจารย์ก็ชวนคิดต่อว่า ไม่มีเหตุผลใดที่เราจะเลิกระบอบพระมหากษัตริย์นี้ออกไปจากการเมืองไทย เพราะมองไม่ออกว่า ถ้าหากเลิกระบอบพระมหากษัตริย์ออกไปประเทศไทยจะได้อะไรขึ้นมา เพราะระบอบพระมหากษัตริย์ยังเป็นระบอบที่มีคุณค่า ถ้าเราทำให้สถานะของสถาบันเหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตย
และรัฐธรรมนูญทุกฉบับยืนยันชัดเจนว่าเราจะแก้ความเป็นราชอาณาจักรไม่ได้
หากใครอยากรู้ว่าในรัฐสภายุค 2492 มีข้อถกเถียงกันในเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าอย่างไรบ้าง ดุเด็จเผ็ดร้อนเช่นไร หาอ่านได้ที่ หนังสือ ระบอบพระมหากษัตริย์ที่มีประชาธิปไตยเป็นการปกครอง โดย อาจารย์ กษิดิศ อนันทนาธร