คุยนอกรอบกับ ‘หมอตุ๊ด’ นพ.อุเทน บุญอรณะ : เจ้าของหนังสือ WAKE UP ชะนี ที่ถูกสร้างเป็นซีรี่ส์จนโด่งดัง

คุยนอกรอบกับ ‘หมอตุ๊ด’ นพ.อุเทน บุญอรณะ

      ‘หมอตุ๊ด’ และ ‘รังสิมันต์’ คือนามปากกาของ นพ.อุเทน บุญอรณะ หรือหมอแพท อายุรแพทย์ระบบสมองและประสาท ผู้เป็นเจ้าของเพจหมอตุ๊ดที่มีคนติดตามร่วมสามแสน และเป็นเจ้าของหนังสือ WAKE UP ชะนี! ที่ถูกนำไปสร้างเป็นซีรี่ส์จนโด่งดัง แต่ไม่เฉพาะแค่ในไทยเท่านั้น ผลงานนิยายของหมอแพทยังโกอินเตอร์ไกล ถูกนำไปแปลและจำหน่ายทั้งในประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันอีกด้วย

 

      “แพทเป็นหมอด้านประสาทวิทยา ด้านโรคสมองนี่แหละครับ จริงๆ ก่อนที่จะสอบเรียนหมอเราอยากเป็นนักเขียน อยากเป็นนักวาดการ์ตูน พอมาเริ่มทำงานเป็นหมอเฉพาะทางมันจะมีบางช่วงที่ว่างก็เลยลองวาดการ์ตูนดู ชื่อการ์ตูนคุณหมอเกาลัด เป็นตัวการ์ตูนตลกๆ มีหัวเป็นเกาลัด นำเสนอมุกตลกในชีวิตประจำวันของหมอ เปิดเพจก็มีคนรู้จักพอสมควร มีคนติดตามประมาณ 7-8 หมื่น แต่ปัญหาตอนนั้นคือโดนเพจใหญ่บางเพจที่เขาวาดการ์ตูนเหมือนกันมาก๊อปมุกตลกไป พอเราไปทวงเครดิตก็โดนเขาบล็อก แถมโดนคนในเพจเขาตามมาด่าที่เพจเราอีก รู้สึกหมดกำลังใจมาก เลยคิดว่าไม่เอาแล้ว ไม่วาดการ์ตูนแล้วเพราะมันถูกก๊อปได้ง่าย ก็เลยเปลี่ยนมาเปิดเพจใหม่ชื่อ ‘หมอตุ๊ด’ เป็นเพจที่เล่าเรื่องด้วยตัวอักษรเท่านั้น เป็น text only เล่าเรื่องตลกๆ ในชีวิตแพทย์ เล่าเรื่องชีวิตและบทเรียนที่เราเรียนรู้จากคนไข้ครับ”

 

หมอตุ๊ด อุเทน

 

ผลงานเขียนเล่มแรกในชีวิต

     “ถ้าเป็นผลงานนิยายเล่มแรกคือ The our story เรื่องรักของเรามันเข้าท่า ออกกับเฮอร์พับลิชชิ่งครับ แต่ถ้าเป็นผลงานเขียนเล่มแรกจริงๆ คือ กว่าเจ้จะเป็นหมอ ตอนนั้นออกกับสยามอินเตอร์บุ๊คส์ เล่มนี้เป็นปกิณกะ เล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองว่าสุดท้ายก่อนที่จะจบหมอเป็นยังไง ปีแรกที่เริ่มเป็นหมอเป็นยังไง เล่าในเชิง storytelling มีความสนุก มีความตลก มีความดราม่าปนนิดๆ ถัดมาก็เป็นเล่ม wake up ชะนี ที่ออกกับเฮอร์พับลิชชิ่ง อันนี้จะเป็นความเรียง และ wake up ชะนีนี่แหละครับที่ถูกซื้อลิขสิทธิ์เอาไปดัดแปลงเป็นซีรี่ส์ที่มีพี่ป๋อมแป๋มแสดงเป็นตัวแพท”

หมอตุ๊ด อุเทน

‘รังสิมันต์’ นามปากกาที่ได้มาจาก ‘ทมยันตี’

      “ตอนนั้นนิยายเรื่องเผยใจรักวางขายในงานสัปดาห์หนังสือ เราก็ไปนั่งอยู่ที่บูธสำนักพิมพ์ แล้วคุณหญิงวิมลนามปากกาทมยันตีท่านมาเยี่ยมที่บูธ พี่ประวิทย์เจ้าของสำนักพิมพ์ก็เรียกให้เราไปสวัสดีท่าน คุณยายทมยันตีท่านก็ถามว่าเราเขียนเล่มไหน พอเราชี้ให้ดูท่านก็ถามว่าทำไมใช้นามปากกาว่าหมอตุ๊ดล่ะ เราเลยตอบว่าเพราะเราเป็นหมอแล้วก็เป็นตุ๊ดด้วย ท่านบอกว่าก็ดีไม่ใช่ไม่ดีนะ แต่มันไม่ค่อยเหมาะ ท่านมองหน้าเราแล้วบอกว่า งั้นยายให้นามปากกาชื่อว่ารังสิมันต์ เป็นเจ้าหลวงแห่งนครกาสิกในเรื่องดั่งดวงหฤทัย เป็นพระเอกเลยนะ ถ้าชอบก็เอาไปใช้เลย แล้วเวลาใครถามก็บอกไปเลยว่าท่านเป็นคนให้ แต่มันมีเรื่องน่าขนลุกตรงที่ว่า คำว่ารังสิมันต์แปลว่าดวงอาทิตย์ ซึ่งแพทเกิดวันอาทิตย์ แล้วชื่ออุเทนก็แปลว่าดวงอาทิตย์เหมือนกัน เราก็แบบ โหย ทำไมมันบังเอิญอย่างนี้ หลังจากนั้นเล่มแรกที่ใช้นามปากการังสิมันต์คือเรื่องรักนาย My ride ก็ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปทำเป็นซีรี่ส์ ถัดมาคือ My Imaginary Boyfriend ถัดมาคือเจ็ดวันก่อนวาเลนไทน์ เรื่อง I love/kill you แล้วก็ใครในกระจก ก็มีความเชื่อนิดหนึ่งเหมือนกันว่านามปากกายายก็ดูศักดิ์สิทธิ์เหมือนกันนะ แล้วทุกครั้งที่เล่มไหนถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปทำซีรี่ส์ก็จะเอาเล่มนั้นไปหายายที่ร้านหนังสือชื่อ The Author ตรงเกษตร-นวมินทร์ ซึ่งตอนนี้ยายไม่อยู่แล้วนะ ก็ไปนั่งคุยกับรูปยายว่าเขามาซื้อลิขสิทธิ์ไปทำซีรี่ส์อีกแล้วนะ ขอบคุณนะยาย หนูแวะมาคุยกับยายนี่แหละ เอาหนังสือมาให้ดู”

 

หมอตุ๊ด อุเทน

 

ไม่ได้สร้างพล็อตจากแรงบันดาลใจแต่ใช้วิธีตั้งคำถาม

     “แพทไม่ได้เป็นคนที่เขียนนิยายด้วยแรงบันดาลใจ แต่ว่าเขียนนิยายด้วยคำถามว่าแล้วมันจะเป็นแบบนี้ได้ไหม อาจจะเป็นเพราะว่าใช้ชีวิตแบบไปเจอโน่นเจอนี่อยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่เราเจอมันสะกิดคำถามได้เสมอ คือเจออะไรในชีวิตเยอะ ตั้งคำถามในชีวิตเยอะ ก็ได้พล็อตเยอะครับ แล้วเวลาคิดพล็อตคือจะตั้งแต่ต้นจนกระทั่งจบว่าเริ่มต้นยังไง midpoint ยังไง crisis ยังไง ตอนจบยังไง resolution ของเรื่องคืออะไร ตัวเอกจะมีการเดินทางยังไง การเปลี่ยน attitude เขาจะเป็นตอนไหน การคิดพล็อตค่อนข้างง่ายครับ ยากขึ้นมานิดหนึ่งก็คือการเขียนให้จบ อุทิศเวลาให้เขียนจนกระทั่งเขียนจบยาก ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องรีเสิร์ชด้วยก็จะใช้เวลา เพราะฉะนั้นเรื่องที่สามารถเขียนได้จบไวๆ มักจะเป็นเรื่องที่วนๆ อยู่รอบๆ ตัว เช่น เรื่องเกี่ยวกับเนื้อหาทางการแพทย์ เกี่ยวกับคนไข้ที่เป็นโรคต่างๆ ถ้าตัวเอกเป็นหมออย่างนี้ง่ายสุด ก็จะเขียนได้ง่าย เขียนได้ไวครับ”

 

 

ตั้งใจสร้างนิยายวายที่ไม่มีเซ็กซ์ซีน

      “ไม่มีเซ็กซ์ซีนเลยครับ ซีโร่เลย แต่มันมีความรัก ทุกเรื่องมีความรักอยู่ มีความรักมากด้วย ในเลเวลที่อ่านแล้วรู้สึกว่าหวานหรือเขินได้เลยแต่ไม่มีเซ็กซ์ซีน คือคนอื่นเขาเขียนแล้ว และเขาเขียนเก่ง เขาเขียนได้ดีกว่า ก็คงจะไปเขียนสู้เขาไม่ได้ งั้นเราสู้ด้วยเรื่องอื่นแทนก็แล้วกัน เรานำเสนอความรักด้วยกลวิธีอื่นที่ไม่จำเป็นต้องมีเซ็กซ์แล้วกัน แพทคิดอย่างนี้ อีกอย่างคือเราเติบโตมากับการอ่านหนังสือ การอ่านนิยาย บางทีพ่อแม่ก็จะมาสกรีนว่าลูกเราอ่านอะไร เราอยากให้หนังสือของเราเป็นหนังสือที่เมื่อพ่อแม่มาสกรีนดู หยิบจับอ่านดูแล้วรู้สึกว่าโอเค พอจะไว้วางใจได้ ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่หรือคุณพ่อคุณแม่ยุคโบราณก็ตาม แต่ว่าไม่ได้แอนตี้ฉากมีเซ็กซ์นะครับ รู้สึกว่าดี แต่เนื่องจากว่าเราเขียนไม่เก่ง ก็ขอไม่เขียนสิ่งที่ตัวเองไม่เก่งก็แล้วกันครับ”

 

หมอตุ๊ด อุเทน

 

เขียนเองพิมพ์เองอย่างตั้งใจจนดังไกลถึงญี่ปุ่น

      “ตอนนั้นแพทเขียนนิยายเรื่อง My Imaginary Boyfriend แฟนผม(ไม่)มีตัวตน ส่งให้สำนักพิมพ์หนึ่ง เขาบอกว่าต้องใช้เวลาพิจารณานะ ห้าเดือนผ่านไปไม่มีฟีดแบ็คอะไรกลับมาเลย ก็เลยรู้โดยนัยว่าเขาคงไม่เอาเราแล้วล่ะ ถ้าเรายังอยากเห็นเรื่องนี้เป็นนิยาย เราต้องจัดการเอง เราก็เลยพิมพ์ออกมาโดยใช้งบตัวเอง จ้างอิดิเตอร์เอง จ้างคนออกแบบปกเอง แล้วเอาไปวางขายที่ B2S นายอินทร์ Kinokuniya และเรายังจ้างแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วเอาไปวางขายใน Amazon ด้วย แล้วเล่มนี้ก็เป็นเล่มที่ไปเข้าตาสำนักพิมพ์คาโดกาวะที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้คาโดกาวะติดต่อมาขอซื้อลิขสิทธิ์แปลนิยายเป็นฉบับภาษาญี่ปุ่น หลังจากนั้นพอได้ตีพิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่นแล้ว ทางคาโดกาวะประเทศไต้หวันเห็นเล่มนี้เหมือนกันเลยขอซื้อลิขสิทธิ์ตีพิมพ์เป็นฉบับภาษาจีนไต้หวันด้วย ส่วนฉบับภาษาไทยตอนนี้ขายหมดไปเรียบร้อยแล้ว ไม่มีตีพิมพ์ซ้ำครับ”
 

 

หมอตุ๊ด อุเทน

 

นิยายที่ดีคือนิยายที่เขียนจบ

      “หลังจากที่เป็นนักเขียนมา 7-8 ปี ทำให้ได้เรียนรู้มาว่านิยายที่ดีคือนิยายที่เขียนจบ เพราะว่าเดี๋ยวคนอ่านเขาจะไปหาข้อดีของนิยายเราเองได้ ขอให้เราเขียนให้จบเถอะ มันจะกลายเป็นนิยายที่ดีเลย เพราะว่าเขียนจบแล้วมันก็จะได้ออกสู่ตลาด ออกสู่คนอ่าน แต่เราจะเขียนจบได้ก็ต่อเมื่อเรามีเวลาเขียนถูกไหมครับ และเราจะมีเวลาเขียนได้ก็ต่อเมื่อเรามีวินัยในการจัดเวลา เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่นักเขียนต้องมีคือวินัย หาเวลาเขียนให้จบ งานเขียนที่เขียนจบแล้วและมันได้เผยแพร่หรือเราได้อ่านเองหรืออะไรก็ตาม มันจะเป็นตัวที่ย้อนมาพัฒนาเราเอง นักเขียนจะเก่งขึ้นเสมอในทุกเล่มที่เขียน โดยที่ไม่ต้องให้ใครมาสั่งสอนเลย เพราะว่าหนังสือเล่มที่เราเขียนจบนี่แหละจะเป็นตัวสั่งสอนเราเอง เพราะฉะนั้นจงมีวินัยเพื่อที่จะได้เขียนจนจบ และรับรองว่าจะเก่งขึ้นแน่ๆ”

 

 

เป้าหมายต่อไปในอาชีพนักเขียน

      “อยากลองเปิดอคาเดมีสอนการเขียนครับ เพราะว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคของนักเขียนจริงๆ ไม่ใช่การคิดพล็อตนะ แต่เป็น writer’s block ครับ คือเขียนๆ ไปแล้วหยุด เขียนต่อไม่ได้ แล้วหลายคนไม่สามารถตอบตัวเองได้ว่าทำไมฉันเขียนต่อไม่ได้ ฉันไปติดตรงไหน คือเคยมีโอกาสได้เป็นที่ปรึกษาให้นักเขียนหลายๆ คนที่เขาติดขัด เราก็ได้สอนเรื่องโครงสร้าง เรื่องหลักการบ้าง เรื่อง sign ในการเขียน แล้วพบว่าวิธีที่เราสอนมันช่วยเขาได้จริงๆ คือแพทจะใช้ sign เยอะในการเขียนนิยาย ก็เลยอยากจะเอา sign บวก art บวก experience ของตัวเองมาลองเปิดอคาเดมีสอนดูบ้าง อย่างแพทเป็นหมอโรคสมองเนอะ ก็สงสัยว่าทำไมเราอ่านนิยายแล้วถึงอิน ทั้งๆ ที่เราก็รู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องแต่ง มันไม่มีตัวละครตัวนี้จริงๆ เราเลยจะอ่านงานวิจัยเรื่องพวกนี้เยอะมาก เรื่องเล่าที่มีสตรัคเจอร์แบบไหนถึงจะซึมเข้าสู่สมองได้มากกว่า หรือว่าสตอรี่แบบไหนที่คนดูดูแล้วอินได้มากกว่า มันมีงานวิจัยรองรับ เราก็เลยอยากจะเอาเรื่องพวกนี้มาลองถ่ายทอดดู คนอื่นๆ ที่เขาเปิดอคาเดมีเขาจะเน้นสอนอาร์ต เน้น creativity thinking แต่เราอยากลองเปิดอคาเดมีที่เน้นสอน sign ดูบ้างครับ”

 

 

Writer

Au Thitima

Content Creator ผู้รักในการอ่าน ชอบในการเขียน และคลั่งไคล้สัตว์สี่ขาที่เรียกว่าแมว