ถนนชีวิตสู่จักรวาลทางเลือก 'อัญชัน' อัญชลี วิวัธนชัย : ผู้คว้า 'ชมนาดเกียรติยศ' คนแรกในบรรณพิภพ

ถนนชีวิตสู่จักรวาลทางเลือก 'อัญชัน' อัญชลี วิวัธนชัย

     ถือเป็นนักเขียนคนแรกผู้ประเดิมรางวัลชมนาดเกียรติยศ สำหรับ อัญชลี วิวัธนชัย หรือ “อัญชัน” นักเขียนหญิงผู้สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องและเจ้าของรางวัลซีไรต์ พ.ศ.2533 รับโล่คริสตัลบนเวที 60 ปีประพันธ์สาส์น ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50

     รางวัลดังกล่าว มอบให้นักเขียนสตรีที่สร้างผลงานคุณภาพสู่สาธารณะมากกว่า 3 ทศวรรษ เจ้าของนามปากกา “อัญชัน” เข้าเกณฑ์อย่างสมศักดิ์ศรีในทุกด้าน ด้วยผลงานหนังสือเผยแพร่กว่า 20 เรื่อง ซึ่งล้วนเป็นที่ยอมรับของนักอ่าน และผู้คนในวงการ ไม่ว่าจะเป็นรวมเรื่องสั้น บทละคร บทกวี สารคดี และนวนิยาย เป็นต้น

 

จาก ด.ญ.อัญชลี นักเขียนในใจเพื่อนร่วมห้อง สู่ ‘อัญชัน’ เจ้าของรางวัลซีไรต์

    ย้อนหลังไปก่อนมีผลงานตีพิมพ์สู่บรรณพิภพ ใครจะทราบว่า ด.ญ.อัญชลี เริ่มมีงานเขียนมาตั้งแต่อายุเพียง 8 ขวบ

“ดิฉันเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นประถมต้น เขียนเพื่ออ่านกันเองในหมู่เพื่อนร่วมห้องเรียน ปรากฏว่าพอเวียนกันอ่าน ดิฉันถูกรบเร้าให้เขียนเรื่องใหม่ให้อ่านอีก จนเขียนเป็นตอนๆ แบบให้ตามอ่านต่อเนื่องกันเลย ดิฉันยินดีที่เพื่อนๆ รู้สึกสนุกกับเรื่องที่เขียน จนดิฉันขึ้นชั้นมัธยมผลการเรียนเริ่มถดถอย ต่ำเตี้ยลดลง คุณพ่อดิฉันเลยบอกให้เลิกเขียนและโฟกัสกับการเรียน การสอบ” อัญชันเล่า

     หลังจากกลับมาตั้งใจเรียน จึงสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท สำเร็จ จากนั้นก็สอบเข้าเรียนต่อได้ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลือกเอกภาษาไทย โทภาษาอังกฤษ ระหว่างเรียนปริญญาตรีไม่ได้เขียนหนังสือเลย แต่ยังคงรักการอ่านหนังสือนอกตำราเรียน

     “ช่วงเรียนคณะอักษรศาสตร์ ดิฉันรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่ได้โอกาสเสมือนปลดปล่อยสู่โลกกว้าง และหลอมหล่อสู่โลกแห่งจินตนาการที่งดงามยิ่ง”

     ต่อมาเมื่อเรียนจบปริญญาตรี จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตก็มาถึง เนื่องจากทั้งครอบครัวย้ายไปตั้งรกรากยังสหรัฐอเมริกา เนื่องจากคุณพ่อซึ่งเป็นนักธุรกิจมีโอกาสไปเยือนนิวยอร์ก คุณแม่ซึ่งเป็นนางพยาบาล พบว่าที่นั่นต้องการพยาบาลวิชาชีพอย่างจริงจัง มีค่าตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าเมืองไทยหลายเท่าตัว

     “อัญชัน” ลัดฟ้าไปสหรัฐ ทำงานในแวดวงค้าเพชรค้าพลอย โดยเป็นคนส่องดูคุณภาพของเพชรที่จะซื้อจะขาย แต่พบว่าชีวิตเสมือนปลาอยู่ผิดน้ำ

     “ดิฉันทำงานอย่างโดดเดี่ยวและรู้สึกเหงา นิวยอร์กเป็นมหานครที่ใหญ่โตมากและน่าสะพรึงกลัว ในขณะเดียวกันก็รู้สึกแปลกแยกกับมัน นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ดิฉันหันกลับมาเขียนหนังสือได้อีก และพบว่าการได้เขียนหนังสือนั้นเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงใจ ในทุกครั้งที่ได้เขียน ดิฉันรู้สึกเสมือนดื่มด่ำเป็นอันหนึ่งอันเดียวขณะที่เขียนงาน”

 

     ด้วยความรู้สึกเช่นนี้ จึงเป็นที่มาของธีมเรื่องมากมายที่เธอนำมาสร้างสรรค์เรื่องราวต่างๆ ในงานเขียน ย้อนไปนับแต่ พ.ศ.2523 “อัญชัน”เขียนเรื่องสั้นเรื่องแรก “แม่ครับ” ซึ่งได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่น ประจำปี 2528 จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

     ต่อมารวมเรื่องสั้นเล่มแรก “อัญมณีแห่งชีวิต” คว้ารางวัลซีไรต์ประจำปี 2533 ก่อนที่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลชมนาด จะประกาศจารึกชื่อ อัญชลี วิวัธนชัย บนโล่คริสตัลดีไซน์สวยงาม ว่าเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับรางวัล “ชมนาดเกียรติยศ” อันเป็นรางวัลที่ให้เฉพาะบุคคลหรือสตรีที่สร้างสรรค์งานเขียนเชิงคุณภาพให้เป็นที่ประจักษ์ ต่อเนื่องทั้งชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ

    การจัดมอบรางวัลครั้งนี้ สอดคล้องกับการครบรอบหกทศวรรษของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายผลงานของ “อัญชัน” ทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษตลอดมา

      ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้เกียรติเป็นผู้มอบรางวัลสำคัญในครั้งนี้ โดยมีสักขีพยานทั้งเบื้องหน้าเวทีแบบ on ground และ online ผ่านแพลตฟอร์ม VIRF.IO โดย Elite Literary Agency เผยแพร่เกียรติคุณของนักเขียนสตรีท่านนี้สู่สายตานานาชาติ

 

 

พัฒนาการบนบรรณพิภพ ความท้าทายในหลากไอเดีย

 

     เมื่อมองผลงานที่ผ่านมาของ “อัญชัน” ย่อมได้เห็นถึงความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสารคดีกึ่งบันทึกความทรงจำ อย่าง “นิวยอร์ก นิวยอร์ก” ซึ่งถ่ายทอดประสบการณ์หลังจัดที่จัดทางให้ตนเองได้ในโลกต่างแดน, รวมบทกวี “ลายสือ” ที่บรรจงถักทออักษร แสดงออกถึงความประทับใจแต่ละแง่มุมของชีวิตในเมืองใหญ่ที่เคยแปลกแยก นอกจากนี้ ยังมีผลงานเป็นดราม่าเชิงจิตวิทยา ทั้งการถ่ายทอดความสัมพันธ์ทางใจระหว่างแม่และลูกน้อย รวมถึงงานเขียนในช่วงที่เติบโตทางวุฒิภาวะ สะท้อนลึกถึงจิตวิญญาณของมนุษย์ยิ่งขึ้น ดังสังเกตได้จากเรื่องสั้นยุคหลังๆใน Elite+ magazine อาทิ “หน้ากาก” (The mask) ซึ่งตัวเอกของเรื่องต้องดำเนินชีวิตในนรก หรือเรื่อง “กุหลาบคือกุหลาบ” (A Rose is a Rose) ซึ่งตั้งคำถามถึงบทบาทของชายหญิงและความรัก

     ส่วนเรื่องสั้น We are the Living คืออีกครั้งที่นักเขียนท่านนี้สอบทวนแนวคิดเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย รวมถึง when the whistle blow ซึ่งนำเสนอการตีความด้านการแสวงหาการบรรลุธรรมหรือนิพพาน

     “ดิฉันได้แรงบันดาลใจจากงานเขียนของ เรย์ แบรดบูรี่ เรื่องสั้นที่เรย์เขียนเป็นงานผสมผสานร่วมกับสไตล์การเขียนบทกวี เป็นงานเขียนที่เพ่งเห็นอันตรายของเทคโนโลยี และหวนรำลึกความหลังในวัยเยาว์ ยังมีงานของ Toni Morrison เป็นสไตล์งานเขียนที่ชวนตื่นตกใจ แต่ดิฉันชอบที่จะอ่านภาษาของเธอ มีถ้อยคำที่ดูรุนแรงชนิดที่ดิฉันอยากใช้คำว่า ความรุนแรงที่งดงาม และนักเขียนอีกท่านที่ดิฉันชื่นชมได้แก่ Kurt Vonnegut คนนี้เก่งทางปรุงความจริงหลากหลายแง่มุมให้สื่อออกมาได้อย่างกลมกลืน” อัญชันเล่า

     ทั้งนี้ 4 เรื่องสั้นของ “อัญชัน” ดังที่กล่าวมาข้างต้น สามารถดาวน์โหลดหาอ่านได้จากแอพพลิเคชั่น Elite Plus Magazine

     ถามถึงงานเขียนประเภทเธอชอบทำที่สุด อัญชันยิ้ม ก่อนให้คำตอบว่า

     “ชอบความท้าทายที่ต้องสลักเสลางานประเภทเรื่องสั้น ในขณะที่มีหลากหลายไอเดียในหัว อย่างไรก็ต้องจัดออกมาให้ได้เรื่องสั้นกะทัดรัด ลงตัวพอเหมาะพอดี ดิฉันว่าเป็นงานคล้ายนิยายแต่ต้องโฟกัสออกมาให้สั้นตามประเภทงาน นับว่าท้าทายต่อคนทำงานสร้างสรรค์

 

 

2 ผลงานใหม่ในสายตา 2 ผู้ทรงคุณวุฒิ เสน่ห์ลึกล้ำและความ ‘ไม่บังเอิญ’

     ล่าสุด มีการเปิดตัวงานเขียนนวนิยายภาษาอังกฤษ 2 เรื่องของ “อัญชัน” ที่ยังไม่วางจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ได้แก่ The Sheltering Skies และ Once Upon A Dream โดยมี ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร อดีตนายกสมาคมภาษาและหนังสือฯ และ ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านศึกษาวรรณคดีเปรียบเทียบ ร่วมวิจารณ์ผลงานดังกล่าวบนเวที 60 ปีประพันธ์สาส์น

     ดร.ตรีศิลป์ มองว่าผลงานใหม่ของ “อัญชัน” เป็นงานเขียนคุณภาพที่มีเสน่ห์มากๆ ของนักเขียนหญิงท่านนี้ที่กล่าวถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ จินตนาการถึงโลกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตสุดขั้ว แต่ยังสะท้อนถึงเหตุการณ์ในโลกปัจจุบันของเรา เช่น ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงในภาวะที่โลกขาดแคลนออกซิเจน อำนาจรัฐต้องเลือกกำจัดคนที่อ่อนแอกว่า และความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมทางสังคมหลากหลายแง่มุม ความเป็นปิตาธิปไตย (อำนาจชายเป็นใหญ่) ผู้มีอำนาจอาศัยอยู่ในโดม (หอคอยงาช้าง) แต่ผู้เขียนสะท้อนได้แนบเนียนด้วยชั้นเชิงวรรณศิลป์

      ด้าน ดร.สุรเดช ย้อนเล่าว่า ได้อ่านผลงานของ “อัญชัน” ตั้งแต่ยังเป็นนิสิตจุฬาฯ ปีแรกๆ โดยเริ่มต้นจากเรื่อง “อัญมณีแห่งชีวิต” ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์ในปี 2533 รวมถึงเรื่องสั้นและบทกวีที่เข้ารอบสุดท้ายแทบทุกเรื่อง

     “ผมเป็นแฟนคลับผลงานของอัญชันมาตั้งแต่เป็นนิสิต พอต้องมาวิจารณ์เรื่อง The Sheltering Skies และ Once Upon A Dream สิ่งแรกที่ผมอยากเอ่ยถึงคือผลงานทุกเรื่องของอัญชันที่ผมได้อ่าน มีลักษณะการวางพล็อตเรื่องอย่างมีที่มาที่ไป เป็นนักเขียนที่ทำการบ้านวางพล็อตดีทุกเรื่อง วางเรียบร้อยตั้งแต่ต้น จะไม่มีลักษณะบังเอิญ เช่น ตัวละครหรือเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย” ดร.สุรเดชวิเคราะห์ ก่อนกล่าวถึงเรื่อง Once Upon A Dream เพิ่มเติมว่า เป็นงานสร้างสรรค์เชิงโศกนาฏกรรมให้คนอ่านได้คิดอ่านและซึมซับความรู้สึกไปพร้อมๆ กัน ในโลกความเป็นจริงอันสลับซับซ้อนภายนอกกับโลกแห่งความฝันที่เด็กอยากอาศัยอยู่

     “เด็กที่เป็นตัวละครเอกในเรื่อง ยิ่งน่ารักกับคนรอบข้าง รวมถึงจิตแพทย์เท่าไหร่ นอกจากสร้างความสะเทือนใจแล้ว ยังท้าทายให้คนอ่านคิด ว่าโลกความจริงแบบไหนน่าอยู่มากกว่ากัน” ดร.สุรเดชกล่าว

 

 

อีกก้าวหนึ่งสู่ ‘จักรวาลทางเลือก’

 

     จากนั้นมีการอ่านกิตติกรรมประกาศเชิดชูความเป็นเลิศด้านงานวรรณศิลป์ และการสร้างศิลปวรรณกรรมมาต่อเนื่องตลอดชีวิต ก่อนปิดท้ายด้วยความในใจของ “อัญชัน” เจ้าของรางวัลชมนาดเกียรติยศคนแรกในประวัติศาสตร์

“ดิฉันยากจะสามารถดำเนินชีวิตต่อไปเป็นปกติได้ถ้าไม่สามารถเขียนหนังสือได้อีกแล้ว แม้จะเพียบพร้อมด้วยสามี และลูกชาย ตลอดจนเพื่อนๆ อันเป็นที่รักยิ่งในเมืองซานดิเอโก แต่ดิฉันก็ยังพลัดหล่นในความเปลี่ยวเหงา ในช่วงขณะที่ไม่ได้ทำงานเขียน ความรู้สึกอาจคล้าย Rain Penarai ที่หลบหนีความโดดเดี่ยวดังกล่าวได้โดยการทำงานเขียน ดิฉันย่างก้าวสู่อีกหนึ่งจักรวาลทางเลือกแล้ว แม้ไม่แน่ใจอยู่เสมอด้วยว่าทางเลือกเช่นนี้จะนำดิฉันไปสู่หนไหน อายุดิฉันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนหนีไม่ได้ที่จะสนใจเรื่องจิตวิญญาณ และลงลึกค้นหาความหมายของชีวิต การสร้างงานเขียนเป็นการสร้างความสามารถในการสอบทวนความหมายของสิ่งที่ต้องการหา และยังได้แบ่งปันระหว่างผู้อ่านที่สนใจร่วมในเป้าหมายเดียวกัน”

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ