“Pocket Book” คือโลกศิลปะ
“e-book” คือคำตอบของโลกอนาคต
แนวรบสองโลกที่ต้องสร้างสรรค์ไปด้วยกัน!
โดย...นันทพร ไวศยะสุวรรณ์
ในงานครบรอบ 60 ปีสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นที่ผ่านมา มีกิจกรรมดีๆ หลายรายการ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีการเสวนาหัวข้อที่น่าสนใจ “บันทึก 60 ปี : จากบรรณาธิการแอนะล็อก สู่วรรณกรรมออนไลน์” โดยเชิญนักเขียน และบรรณาธิการ รวมทั้งเจ้าของธุรกิจหนังสือบนโลกออนไลน์ ร่วมพูดคุย
ไล่เรียงจากรุ่นใหญ่ เริ่มที่ “เกด-การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์” อดีตบรรณาธิการ นักเขียนนวนิยายและคอลัมนิสต์ที่ผันตัวใช้ชีวิตที่บ้านเกิด พร้อมกับก่อตั้งเมืองต้นแบบ “สิริเมืองพร้าว” ที่เน้นวิถีชุมชนท้องถิ่นควบคู่ไปกับการเขียนคอลัมน์ประจำ ส่วนสาวอีกคนมีผลงานกวาดรางวัลมาแล้วมากมาย “ทราย-พึงเนตร อติแพทย์” อดีตบรรณาธิการสำนักพิมพ์เลมอนที และเจ้าของนามปากกา "แซนดี้" ซึ่งทั้งสองคนเก่งพูดคุยผ่านระบบ ZOOM
ส่วนที่มานั่งร่วมพูดคุย มี “ปิ๋ว-ชัชฎาพร นิ่มอนงค์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์บีเวล และ “ไช้-รวิวร มะหะสิทธิ์” ผู้ผลิตแอพพลิเคชั่นขายหนังสือออนไลน์ MEB ดำเนินรายการโดย นันทพร ไวศยะสุวรรณ์
เปิดวงด้วยการโยนคำถามไปที่อดีตคนทำงานสำนักพิมพ์โดยตรง ถึงบทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการแอนะล็อก ว่าต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง ซึ่ง การะเกต์ อดีต บ.ก.สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ในยุคที่ 3 รับหน้าที่บรรณาธิการนิตยสาร ”วัยหวาน” ที่โด่งดังในยุค 80 ถือว่าเป็นยุคทองของนิตยสารวัยรุ่น
“เข้ามาทำช่วงราวๆ ปี 2533 ยุคนั้นก็จะแหวกแนวนิตยสารวัยรุ่นทั่ว ๆ ไปเลยนะ เรามาจากคนสายวรรณกรรม จึงสร้างพื้นที่สำหรับนักคิดนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ให้เขาส่งงานเขียนมาลง เขียนกลอน มีคอลัมน์ปรึกษาปัญหาชีวิต รวบรวมถามตอบปัญหานักเขียนรุ่นใหม่ยุคนั้นส่งต้นฉบับมาให้บรรณาธิการคึกคักทีเดียวค่ะ”
ต่อเนื่องกับรุ่นที่รับไม้ต่อในรุ่นที่ 4 ของประพันธ์สาส์น อย่าง ชัชฎาพร ที่เน้นดูแลการผลิตพ็อกเกตบุ๊ก ที่บอกไม่ต่างกันว่า บรรณาธิการคือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดทำหนังสือ ตั้งแต่ต้นทาง คือติดต่อประสานงานนักเขียน คัดเลือกแนวงานเขียน ควบคุมทิศทาง รับต้นฉบับ ตรวจแก้ ซึ่งในยุคของสื่อสิ่งพิมพ์ หรือแอนะล็อก หน้าที่ของ บ.ก.ต้องรับผิดชอบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ให้สำเร็จออกมาเป็นรูปเล่มที่สมบูรณ์
“รับหน้าที่ บ.ก. ช่วงปี 2538 เป็นยุคผลิตต้นฉบับด้วยการเขียน และพิมพ์ดีด ทันได้เห็นการส่งเรียงพิมพ์ที่เป็นเสน่ห์ของยุคนั้น แต่ก็ใช้เวลานานกว่าจะออกมาเป็นเล่ม ขั้นตอนปรู๊ฟต้นฉบับต้องทำถึง 2-3 รอบ เพราะถ้าผิดพลาดจะต้องแก้ไขเพลทที่มีค่าใช้จ่ายสูง” ชัชฎาพร ปูพื้นเล่าเรื่องราว พร้อมกับบอกว่า ประทับใจช่วงที่เป็น บ.ก.ให้กับนักเขียน-นักการเมืองชื่อดังอย่าง คุณปองพล อดิเรกสาร เจ้าของนามปากกา “พอล อดิเรกซ์” (Paul Adirex)
“ตอนนั้นได้ดูแลนวนิยายเรื่อง โจรสลัดตะรุเตา ซึ่งในเวลานั้นท่านเขียนเป็นภาษาอังกฤษ เราก็ต้องหานักแปลและตรวจดูต้นฉบับ ขัดเกลาสำนวนให้ไปในสไตล์เดียวกับสำนวนต้นฉบับภาษาอังกฤษ ส่วนนักเขียนนวนิยายระดับอาวุโสท่านอื่นๆ เช่น คุณกฤษณา อโศกสิน คุณอิราวดี นวมานนท์ หรือน้ำอบ แต่ละท่านเป็นนักเขียนใหญ่ที่งานเขียนนำไปสร้างละครทีวีหลายเรื่อง นักเขียนระดับใหญ่ๆ ก็จะต้องนัดพบปะเป็นทางการ เพื่อขอต้นฉบับมาพิมพ์ จึงใช้เวลาผลิตค่อนข้างนานมากตั้งแต่เริ่มต้น”
ขยับกลับไปที่ Zoom อีกครั้ง “ทราย พึงเนตร” นักเขียน และกวีที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังให้กับสำนักพิมพ์ใยไหมในรุ่นแรก โดยในปี 2545 มีพ็อกเกตบุ๊กติดอันดับเบสเซเลอร์ เรื่อง “ห่างหนึ่งก้าว...รักเราเท่าเดิม” และ ก้าวมาเป็น บ.ก.สำนักพิมพ์เลมอนทีในเวลาต่อมา ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าถือเป็นคนทำหนังสือที่มาจากยุคแอนะล็อกอีกคน
“บ.ก.ทำหน้าที่เลือกนักเขียน ดีลฝ่ายผลิต ดูปก อาร์ตเวิร์ค ติดต่อฝ่ายการตลาด รับผิดชอบครบรอบด้านค่ะ มาถึงยุคอนนไลน์ มีอีบุ๊ค Meb เกิดขึ้นมา และให้ความสำคัญกับการตลาดซื้อขายวรรณกรรม มีระบบหลังบ้านบริการนักอ่านนักเขียนดีมาก นี่คือความตั้งใจที่เราฐานะนักเขียนก็อยากส่งงานเราไปลงที่นี่ นักเขียนมีนักอ่านก็ตามไปด้วย เด็กสมัยนี้ไม่ได้อ่านหนังสือน้อยลง ถ้าดูจากยอดโหลดอีบุ๊ก เขามีการรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ สร้างแนวการอ่านเฉพาเจาะจง ซึ่งจากการอ่านเป็นเล่ม มาเป็นการอ่านออนไลน์ ก็จะมีสังคมการอ่านแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ด้วย”
โยนประเด็นมาที่อีบุ๊กแล้ว ต้องให้ รวิวร ผู้บุกเบิกและก่อตั้ง Meb สร้างสรรค์การอ่านบนโลกออนไลน์ ต่อเลย ถึงแม้งานที่ทำจะไม่เกี่ยวกับด้านวิศวะที่ร่ำเรียนมา แต่ผู้ชายคนนี้ก็เอาหัวใจที่รักหนังสือเป็นต้นทุน โดยเฉพาะการอ่านนวนิยายไซไฟ เป็นแรงผลักดัน
“ผมเปิดสำนักพิมพ์ขึ้นมาเพื่อรับต้นฉบับ จัดหน้า ส่งเข้าโรงพิมพ์ ขับรถแบกหนังสือขายสายส่งด้วยตัวเอง ผมเริ่มต้นเข้ามาทำหนังสือด้วยระบบแอนะล็อก แล้วจึงก้าวเข้าสู่ระบบอีบุ๊ก เพราะคนอ่านนวนิยายวิทยาศาสตร์ในไทยถือว่ามีกลุ่มจำกัดน้อยมาก สำนักพิมพ์ทั่วไปก็ไม่ค่อยยอมรับพิมพ์เพราะขายไม่ดี ผมจึงคิดหาพื้นที่เพื่อให้นักเขียนสามารถมีที่ปล่อยของ เขียนแล้วมีคนอ่าน 200-300 คน นักเขียนก็ดีใจมากแล้วครับ”
ไช้ รวิวร ยืดอกย้ำว่า ตัวเองเหมือนเป็นคนสองโลก ทำทั้งหนังสือเล่มยุคแอนะล็อก และทำธุรกิจอีบุ๊ก และที่ปรับตัวมาเปิดตลาดหนังสืออีบุ๊ก เพราะเห็นความต้องการของตลาดทั้งคนอ่านคนเขียน ใครอยากเขียนอะไรก็เขียนได้เลย ไม่มีข้อจำกัดเรื่องสไตล์การเขียน และขั้นตอนการจัดรูปเล่มแบบเดิมๆ
สอดคล้องกับความคิดของนักเขียนผู้โด่งดังในด้านพยากรณ์ไพ่ทาโรต์ อย่าง เกด การะเกต์ ที่ขอเลือก Meb เป็นอันดับแรก เมื่อคิดส่งต้นฉบับให้อีบุ๊ก เพราะเชื่อมั่นในการบริหารงาน และรักการอ่านเช่นเดียวกัน
“ดิฉันทำสำนักพิมพ์สะพาน ผลิตหนังสือเล่มขายอยู่แล้ว แต่เมื่อคิดจะลงอีบุ๊ก ก็ต้องเลือกส่งงานเขียนไปที่ที่มีความจริงใจต่อนักเขียน ให้ความสำคัญทั้งกับคนอ่านและคนเขียน ที่ยังมีปัญหาเทคโนโลยีไม่เข้าใจมากพอ มีความชัดเจนโปร่งใสในเรื่องค่าตอบแทน ซึ่งความจริงใจคือสิ่งที่จะพัฒนาวงการวรรณกรรมได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นยุคไหนค่ะ”
การะเกต์ สรุปชัดๆว่า ทุกวันนี้โลกก้าวไปพร้อมเทคโนโลยี อีบุ๊กคือคำตอบของโลกอนาคต แต่หนังสือเล่มก็คือโลกศิลปะ มีความยูนีค มีเอกลักษณ์เฉพาะแต่ละเล่ม แต่ยังเชื่อว่าสองโลกนี้ต้องเดินควบคู่กันไป
จากการอ่านเป็นเล่มเปลี่ยนรูปแบบมาอ่านเป็นไฟล์ เจ้าของอีบุ๊ค Meb รวิวร กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อวันนี้มีสื่อต่างๆ มาแย่งเวลาคนอ่านหนังสือไปเยอะแล้ว การสร้างพื้นที่จึงต้องสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสรรค์ผลงานทั้งโลกหนังสือกระดาษ และโลกออนไลน์
“คนหยิบมือถือขึ้นมาเขาต้องเลือกได้ทั้งดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ เป็นพันธกิจของคนในวงการวรรณกรรมที่ต้องหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านก็ได้ หรือถ้าอยากโหลดอ่านก็ต้องหาอ่านได้ไม่ยากด้วยนะครับ เป็นอีกแนวรบที่ผมคิดว่าเราต้องสร้างสรรค์ทั้งสองโลกนี้ไปพร้อมๆ กัน"
เป็นการจบประเด็นที่ชัดเจน และเห็นภาพรวมของวงการผลิตหนังสือยุคแอนะล็อก และยุคออนไลน์ ได้อย่างแจ่มแจ้งที่สุด นับว่าเป็นวงเสวนาที่มีประโยชน์ และสร้างสรรค์อีกงานหนึ่งทีเดียว