วิทิดา ดีทีเชอร์ เจ้าของนามปากกา จันทรังสี : เล่าชีวิตผู้หญิงหลากหลาย ผ่านนวนิยาย รอยบาศ

วิทิดา ดีทีเชอร์ เจ้าของนามปากกา จันทรังสี

 

      วิทิดา ดีทีเชอร์ หลังจากสำเร็จการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มีโอกาสได้ทำงานกับนิตยสาร 3 แห่ง จากกองบรรณาธิการตัวเล็กๆ ในนิตยสาร Thailand Executive Profile ได้เรียนรู้กระบวนการทำหนังสือครบวงจรที่นิตยสาร Silk Magazine และที่สุดนั่งในตำแหน่งบรรณาธิการที่ Telecom User Guide นิตยสารในเครือสำนักพิมพ์ 100 วัตต์ ราวปี 2539 ความที่อายุยังน้อยเธอตัดสินใจเปิดโลกใบใหม่ก้าวสู่โลกกว้าง ลาออกไปศึกษาต่อด้านวรรณกรรมที่ประเทศเยอรมัน และพบรักกับหนุ่มยุโรป แต่งงาน กลายเป็นแม่บ้านเต็มตัว มีลูกสาว 1 คน จนกระทั่งวันหนึ่งความรู้สึกอยากเขียนหนังสือเกิดขึ้นอีกครั้ง จึงเริ่มงานเขียนส่งไปลงเวทีครั้งแรกที่ Dek-D.com และสนุกกับงานเขียนเรื่อยมา กระทั่ง 1 ปีให้หลังได้รับการทาบทามจากคุณประวิทย์ สุวณิชย์ “เป็นหนึ่งสำนักพิมพ์” ให้เขียนนิยายจีนไปตีพิมพ์ จึงทำงานกับสำนักพิมพ์แห่งนี้มาโดยตลอด

 

       ปัจจุบันเจ้าของนามปากกา ‘จันทรังสี’ ในวัยเลข 5 ตอนต้น มีผลงานเป็นที่รู้จักในแวดวงนักอ่านทั้งออนไลน์และออฟไลน์หลายต่อหลายเรื่อง อาทิ “วันเกิดของเค้าโมง” นิยายเยาวชนภายใต้นามปากกา ‘จันทรังสิ์’ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศแว่นแก้ว ครั้งที่ 14 ปี 2561 และยังได้รับรางวัลชมเชย หมวดหนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่นจากสพฐ. เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และหนังสือเล่มเดียวกันนี้ยังได้รองชนะเลิศอันดับหนึ่งจากเซเว่นบุ๊คอวอร์ดอีกด้วย

 

      สายนวนิยายจีนโบราณจะรู้จักเธอเป็นอย่างดีในนามปากกา ‘เย่วกวงไหน่ไน’ ผลงานเรื่อง “กาลครั้งหนึ่ง กาลครั้งไหน”, “ฝ่าบาท หม่อมฉันเป็นนกฮูก!”, “กระเรียนเหลืองลาลับไม่หวนคืน”, “สาวจอมคลั่ง ป่วนวังข้ามมิติ”, “คุณหนูใหญ่ตระกูลจางแต่งงาน (แล้ว)” ฯลฯ

 

     กับผลงานเรื่อง “รอยบาศ” เธอบอกถึงความตั้งใจว่า เป็นการเล่าชีวิตผู้หญิงหลายๆ คนผ่านสายตา “นิรมล” และ “โบตั๋น”

 

     “ดิฉันอยากเขียนถึงผู้หญิงในสังคมไทย ตั้งแต่คนรวย คนจน การศึกษาต่ำ การศึกษาสูง มีอาชีพการงานดี จนถึงคนที่ไม่มีทางออก คนเดินทางผิด รวมไปถึงคนที่มีโอกาสดีแต่เลือกทำสิ่งที่ไม่ดี ผสมผสานไปกับแนวคิดของคนไทยเราที่ทุกสิ่งทุกอย่างไปเกี่ยวพันกับทางพุทธ โดยไม่ได้มีเป้าหมายจะสอนเรื่องพุทธ เรื่องกรรม แต่อย่างใด แต่ถ้าเล่าเรื่องชีวิตผู้หญิงมาโดดๆ มันก็จะไม่ตื่นเต้น ดิฉันจึงวางพล็อตให้ตัวเอกมาเกิดใหม่ในอดีต ทำให้เป็นปริศนาว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น” พร้อมกับเปิดใจว่า รู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจกับรางวัลชมนาดมาก นอกจากเป็นรางวัลที่มอบให้เฉพาะกับนักเขียนหญิง เมื่อย้อนกลับไปดูผู้รับรางวัลในปีก่อนๆ พบว่า มีความหลากหลาย ตั้งแต่บุคคลในอาชีพที่สังคมไทยมองว่ามีเกียรติ เช่น แพทย์ พยาบาล ไปจนถึงบุคคลในอาชีพขายบริการ รวมไปถึงนักเขียนที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่เจ็ด ดิฉันทึ่งมาก เคารพมาก แต่ละคนเขียนประสบการณ์ของตัวเอง มีทั้งเรื่องดี เรื่องไม่ดี เรื่องที่เป็นอุทาหรณ์ สะท้อนให้เห็นสังคมไทยในหลากหลายด้าน ดีใจที่ได้เป็นหนึ่งในคนที่เข้ามาอยู่ใน “ทำเนียบ” แห่งนี้

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ